xs
xsm
sm
md
lg

“ศิษย์หลวงตาบัว” ยื่นหนังสือร้อง กทช.แก้ไข พ.ร.บ.คลื่นความถี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เครือข่ายมูลนิธิเสียงธรรมของหลวงตาบัว ยื่นหนังสือร้อง “นายกฯ” สั่ง กทช.ทบทวน พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ชี้ปิดกั้นภาคประชาชนเปิดเครือข่ายระดับชาติ หลังร่างกำหนดห้ามภาคประชาชนทำวิทยุระดับชาติ วอนเร่งปรับปรุง ช่วยเปิดกว้างการรับข้อมูลข่าวสารภาคประชาชน เชื่อที่สุดต้องร้องศาลให้คุ้มครองให้ปล่อยสัญญาณเสียงก่อน หลัง 24 ส.ค.ขีดเส้นจดทะเบียน เผยห่วงปัญหาทับซ้อนไทย-เขมร วอนรัฐเร่งเคลียร์ปัญหา หวั่นเสียทีเขมร

วันนี้ (6 ส.ค.) ที่บ้านพระอาทิตย์ บริษัท เอเอสทีวีผู้จัดการ เครือข่ายมูลนิธิเสียงธรรม พร้อมเครือข่ายพระสงฆ์มูลนิธิเสียงธรรม ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนของพระธรรมวิสุทธิมงคล หรือ หลวงตาบัว เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด และประธานมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน ต่อ “เอเอสทีวีผู้จัดการ” กรณี พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้ โดยระบุว่าเครือข่ายมูลนิธิเสียงธรรมได้ก่อตั้งสถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชนขึ้นที่บ้านตาด ต.บ้านตาด จ.อุดรธานี และได้ถ่ายทอดรายการไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ จำนวนกว่า 110 สถานี โดยถือว่าเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ให้บุคคลมีเสรีภาพในการถือศาสนา เสรีภาพ ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 มาตรา 26 บัญญัติว่า ผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง มี 3 ประเภท ได้แก่ ภาครัฐ ภาคประชาชนและภาคเอกชน ดังนั้น คลื่นวิทยุเสียธรรมเพื่อประชาชน จึงเป็นกิจการวิทยุโดยภาคประชาชน ที่ดำเนินการในเครือข่ายระดับชาติเช่นเดียวกับวิทยุรัฐสภาและสถานีเครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อสาธารณประโยชน์ ด้านศาสนาโดยไม่แสวงการกำไรทางธุรกิจ

ประธานมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน ระบุว่า แต่ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ในมาตรา 10 มาตรา 17 และมาตรา 78 ระบุให้วิทยุเสียงประชาชนเป็นสถานีวิทยุในระดับวิทยุชุมชน ทั้งที่เป็นเครือข่ายวิทยุระดับชาติที่มีส่งสัญญาณไปทั่วประเทศและมีเนื้อหาเหมือนกันหมด การจะให้จดแจ้งขอขึ้นทะเบียนแยกกันเป็นเอกเทศจึงเป็นไปไม่ได้ เพราะเนื้อหาของสถานีเหมือนกันหมดทั้ง 110 สถานี จึงต้องขอจดแจ้งแบบเครือข่ายระดับชาติ เนื่องจากข้อเท็จจริงคลื่นวิทยุมีหลายระดับ ภาครัฐมี 3 ระดับ คือ ระดับชาติ ระดับภาค และท้องถิ่น เช่นเดียวกับภาคเอกชนที่มี 3 ระดับ แต่เมื่อเป็นภาคประชาชนกลับตัดภาคประชาชนออกไป เหลือเพียงวิทยุชุมชนเท่านั้น ไม่มีระดับชาติและระดับภาค ดังนั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงไม่เอื้อต่อคลื่นวิทยุเสียงธรรมที่เป็นบริการสาธารณะ ไม่ใช่วิทยุชุมชน ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เพื่อให้เปิดกว้างและเอื้อต่อวิทยุชุมชนในระดับชาติที่ไม่เฉพาะสาระด้านศาสนา แต่รวมถึงสาระความรู้ด้านอื่นๆ ด้วย ทั้งเรื่องป่าชุมชน ยา โรคภัยไข้เจ็บ ที่ไม่เฉพาะฟังแต่ในชุมชนแต่เปิดกว้างไปยังชุมชนอื่นๆ ด้วย

เครือข่ายหลวงตาบัว ระบุอีกว่า เราจึงได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐสภา เพื่อให้พิจารณาแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ให้ประชาชนได้มีเครือข่ายวิทยุระดับชาติ ที่หลากหลายมากขึ้น อย่าจำกัดแค่ให้ภาคเอกชนเท่านั้นที่ได้ทำวิทยุระดับชาติ ควรเปิดกว้างให้ภาคประชาชนด้วย ทั้งนี้ ระเบียบ พ.ร.บ.กำหนดให้สถานีวิทยุทั่วประเทศ ยื่นจดทะเบียนภายในวันที่ 24 ส.ค.นี้ โดยทางเครือข่ายมูลนิธิเสียงธรรมเตรียมยื่นจดทะเบียนพร้อมกันทั้งเครือข่าย 110 สถานีในวันที่ 11 ส.ค.นี้ ทั้งที่ พ.ร.บ.กำหนดให้จดทะเบียนแยกแบบเอกเทศ แต่เรายืนยันว่าจะยื่นเป็นเป็นพวง แต่หาก กทช.ไม่รับจดแจ้ง ก็คงต้องยื่นขอใช้อำนาจศาลปกครองเข้ามาจัดการ ซึ่งไม่ใช่ความขัดแย้ง แต่อยากให้คนกลางเข้ามาดูแล อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าถึงที่สุดอาจจะต้องขอความคุ้มครองจากศาลปกครองในการขอให้คุ้มครองชั่วคราวให้คลื่นวิทยุเสียงธรรมได้ถ่ายทอดสัญญาณเสียงไปก่อน เพราะระยะเวลาระหว่างนี้หากมีการแก้ไข พ.ร.บ.จริงคงไม่ทันเวลาวันที่ 24 ส.ค.นี้ ทั้งนี้ก็หวังว่า กทช.จะพิจารณารับเรื่องนี้ไว้

นอกจากนี้ พระสงฆ์มูลนิธิเสียงธรรมยังแสดงความวิตกต่อการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลของไทยและกัมพูชาว่า ดูเหมือนรัฐบาลจะปล่อยเรื่องนี้เงียบหายไป ไม่มีความคืบหน้า ทำให้ภาคประชาชนวิตกกันว่าจะไปเสียทีให้กับกัมพูชาหรือไม่ จึงอยากให้ทางรัฐเร่งจัดการในเรื่องนี้ ทั้งนี้ ทางคณะสงฆ์มูลนิธิเสียงธรรมก็อยากให้กำลังใจรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในการเร่งแก้ไขปัญหาของทั้งสองฝ่าย
ตัวแทนพระสงฆ์มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน ของหลวงตามหาบัว

กำลังโหลดความคิดเห็น