เรื่องมันฟ้อง โดย กรงเล็บ
ยังคาใจกันไม่หายถึงสาเหตุที่ทำให้การประชุม “คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ” หรือ ก.ตร. เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อข้าราชการตำรวจระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.ทั่วประเทศ ต้องเจอโรคเลื่อนอย่างไม่มีกำหนด
หลังจาก พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รักษาราชการแทน ผบ.ตร.ปิดห้องจัดทำโผร่วมกับ สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง นานหลายวัน
หากพิจารณาจากรายชื่อผู้ที่ได้รับการขยับตำแหน่งขึ้นทั้ง 15 ตำแหน่ง จะเห็นชัดเจนว่า
เกิน 90% เป็นไปโผที่ สุเทพ ในฐานะปฏิบัติราชการแทน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และ เนวิน ชิดชอบ จัดวางไว้
แต่ปัญหาที่ทำให้ขบเหลี่ยมกันจนถึงขั้น มีการเดินเกมผ่านเพื่อนร่วมรุ่นของ พล.ต.อ.พัชรวาท ใน ก.ตร. เพื่อล้มโผนี้ มีสองตำแหน่งหลักที่พลาดเป้าไปเป็นปัจจัยสำคัญ
ตำแหน่งแรกคือ พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งฟากฝั่งสีน้ำเงิน หมายมั่นปั้นมือให้กระโดดค้ำถ่อกินตำแหน่ง “รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” แต่ “พล.ต.อ.ธานี” ไม่เห็นด้วยและคัดค้าน
โดยที่ พล.ต.ท.สมยศ ก็รู้ดีว่าไม่สามารถก้าวกระโดดได้ด้วยแรงดันจากฝ่ายการเมืองในคราวนี้ จึงวิ่งทางลัดเข้าหลังบ้าน พา “นายกสมาคมค้าทอง”ไปพบคนใกล้ตัว “พล.ต.อ.ธานี” เพื่อขอแรงสนับสนุนอีกทางหนึ่ง
ทำเอา “พล.ต.อ.ธานี” ถึงกับกุมขมับ สุดท้ายจึงตัดสินใจแก้ปัญหาตำแหน่งรองผบ.ตร.ที่ไม่ลงตัว ด้วยการเสนอชื่อตามลำดับอาวุโส 1-4 เสียเลย
การใช้วิธีดังกล่าว ข้อดีคือ ตัดการเจริญเติบโตแบบบ่มแก๊สของ “พล.ต.ท.สมยศ” ซึ่งรู้กันดีว่าถูกวางตัวเป็นทายาทรุ่นสี่ในตำแหน่ง ผบ.ตร.ต่อจาก พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ตามแผนของฝ่ายสีน้ำเงิน ที่ตั้งใจจะยึดครองตำแหน่ง ผบ.ตร.ไปอย่างน้อยจนถึงปี 2558 ด้วยที่ “พล.ต.ท.สมยศ” เกษียณอายุราชการปี 2558
แต่ผลลบของเรื่องนี้ ก็ทำให้ “พล.ต.อ.ธานี” ผิดคำพูดกับผู้ใต้บังคับบัญชาคือ พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่แต่งตัวรอในตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.เช่นเดียวกัน
เพราะหากดัน “พล.ต.ท.อัศวิน” โดยงดเว้นหลักอาวุโส ก็ไม่มีเหตุผลจะไปหักล้างกับคนที่ต้องการผลักดัน “พล.ต.ท.สมยศ”
ง่ายที่สุดก็คือ ไม่ต้องให้ได้ทั้งคู่ จึงเป็นทางที่ “พล.ต.อ.ธานี” เลือกเดิน
คำถามคือ ตัดสินใจอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ แก้ปัญหาได้จริงหรือเปล่า ถ้าบัญชีนี้ผ่านการประชุมของ ก.ตร. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช.จะได้ รอง ผบ.ตร.ที่มีคุณภาพหรือก็เปล่าเลย
ไล่ชื่อดูก็ได้ เริ่มจาก พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต ที่ปรึกษา (สบ 10) เทียบเท่า รอง ผบ.ตร. นรต.รุ่น 28 เป็นนายตำรวจที่ได้ดิบได้ดีในยุคระบอบทักษิณเรืองอำนาจ สนิทสนมกับ นช.ทักษิณตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ยอมลดตนเป็นคนขับรถให้ นช.ทักษิณมาตั้งแต่ติดยศแค่นายพัน รองมือรองเท้ากันมาขนาดนี้จึงไม่แปลกที่ นช.ทักษิณจะยกให้เป็นมือกฎหมาย จนถูกเอาไปเก็บเข้ากรุ ที่ปรึกษา (สบ 10) กระทั่ง พล.ต.อ.ธานีไปขุดออกมาจากหลุม
ส่วนตำรวจภาพดีอย่าง พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ซึ่งตีปี๊บร้องป่าวว่ามีผลงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ใครจะรู้บ้างว่าเมื่อครั้งที่ผิดหวังตำแหน่งรอง ผบ.ตร. ถูก พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ แซงหน้าไป ก็ไม่เป็นอันทำงาน ขนาดบ้านเมืองอยู่ในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานอย่างช่วงสงกรานต์แดงถ่อย ผู้บังคับบัญชาเรียกตัวมาช่วยดูแลสถานการณ์ประคับประคองบ้านเมือง กลับดูดายไม่มาช่วยงานซะงั้น
เลวร้ายกว่านั้นมีคนเห็น ตำรวจภาพดีบางคนกับพวก เปิดไวน์ฉลองในวันที่แดงล้มประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่พัทยาด้วย
ถ้าหากประพฤติตัวอย่างนี้จริง อย่าว่าแต่ตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.เลย แม้แต่เป็นภารโรงถ้าไม่รู้จักทำหน้าที่ของตัวเองละก็ ตำแหน่งภารโรงก็ไม่ควรได้เป็น
อีกรายชื่อหนึ่งที่รับไม่ได้จริงๆ คือ พล.ต.ท.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ซึ่งรู้กันดีว่าในยุคระบอบทักษิณเรืองอำนาจ ก็เป็นมือเป็นไม้พัวพันกับการอุ้มฆ่าทนายสมชาย นีละไพจิตร อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาคใต้ลุกเป็นไฟดับไม่ได้มาจนถึงทุกวันนี้
ที่สำคัญ พล.ต.อ.ธานี เป็นหัวหน้าชุดรับงานจาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้คลี่คลายคดีทนายสมชาย ข้อมูลว่ามีใครพัวพันกับเรื่องนี้บ้าง จะไม่รู้เบื้องลึกบ้างเลยเชียวหรือ?
เคราะห์ดีที่บัญชีรายชื่อนี้ไม่ผ่านการเห็นชอบของ กตร. ไม่เช่นนั้นคนกุมขมับก็คือประชาชน
อีกตำแหน่งหนึ่งที่เป็นจุดแตกหักทำให้ฝ่ายสีน้ำเงินล้มโผนี้ผ่านสุเทพ คือ ตำแหน่งของ พล.ต.ต.จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อนซี้ เนวิน ชิดชอบ ที่ถูกวางตัวให้ขึ้นตำแหน่ง ผู้บัญชาการประจำสำนักงาน ผบ.ตร. (ทนท.ประสานงานนายกรัฐมนตรี) แต่ พล.ต.อ.ธานี ไม่ยอม เนื่องจากมีข้อมูลชัดเจนว่า เป็นนายตำรวจที่อื้อฉาวเกี่ยวกับอบายมุขบ่อนการพนัน และตู้ม้า
เมื่อไม่ได้ดั่งใจในสองตำแหน่งสำคัญที่เปรียบเสมือนกล่องดวงใจ แม้จะได้ตามเป้าประสงค์เกิน 90% แต่คนเล็งผลเลิศอย่าง เนวิน มีหรือจะยอม เพราะยังหวังว่า ผบ.ตร.คนใหม่จะชื่อ “จุมพล มั่นหมาย” จึงขออดเปรี้ยวไว้กินหวาน เพื่อให้ได้เต็มร้อยอย่างที่ตัวเองต้องการแทน
นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ สุเทพ รับงานมาล้มโผนายพลครั้งนี้
การต่อสู้จึงคืนสู่สังเวียนตำแหน่ง ผบ.ตร.อีกครั้ง โดยเกมที่ฝ่ายสีน้ำเงินเดินผ่าน สุเทพ-นิพนธ์ คือพยายามที่จะผลักดันให้ “อภิสิทธิ์” ตั้ง “พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ” ทำหน้าที่รักษาราชการแทน ผบ.ตร. หลังจาก พล.ต.อ.ธานี เกษียณอายุ โดยอ้างเหตุผลเดิม ๆ ว่า เพื่อไม่ให้ขัดใจ สัญญาณพิเศษ
แล้วค่อยเกลี้ยกล่อมให้ “อภิสิทธิ์” ยอมเสนอชื่อ “จุมพล” อีกที
เกมนี้ “อภิสิทธิ์” ต้องหนักแน่น อย่าวางใจมิตรที่เป็นเสมือนไส้ศึกของศัตรูอย่าง “สุเทพ – นิพนธ์” เด็ดขาด โจทย์วันนี้คือ การยืนหยัดในความถูกต้องซึ่ง “อภิสิทธิ์” สู้มาแล้วสองยก แม้จะยังตั้งคนที่เหมาะสมมาเป็น ผบ.ตร.คนใหม่ไม่ได้ แต่อีกฝ่ายก็ยังไม่สมใจหมายเช่นเดียวกัน
ลองตรองให้ดีว่า หากวันนี้สัญญาณพิเศษหนุน พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ ถามว่าฝ่ายสีน้ำเงินจะอ้างความภักดีหนุน “พล.ต.อ.ปทีป” ด้วยไหม?
ตอบได้เลยว่าไม่มีทาง เพราะ “พล.ต.อ.ปทีป” เป็นคนละขั้วกับ “พล.ต.อ.พัชรวาท” ชนิดผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ ดังนั้นสัญญาณพิเศษแม้มีอยู่จริงหรือไม่ไม่มีใครล่วงรู้แน่ แต่ก็เป็นเพียงข้ออ้างที่คนเหล่านี้นำมาหักล้างกับ “อภิสิทธิ์” เพื่อให้ได้ชื่อ “จุมพล” เท่านั้น
สิ่งที่ “อภิสิทธิ์” ควรทำหลังจากนี้คือ ยืนให้มั่นตามความคิดของตัวเอง ตั้ง “พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ” เป็นรักษาราชการแทน ผบ.ตร. และพยายามประสานความคิดให้ “พล.ต.อ.ปทีป” ผ่านการเห็นชอบของ กตช.ให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.ตัวจริงโดยเร็ว
เพราะนั่นหมายถึงระบบรัฐตำรวจที่ฝ่ายสีน้ำเงินวางไว้ โดยไม่คำนึงถึงหลักคุณธรรมก็จะล้มครืนไปด้วย บัญชีการแต่งตั้งโยกย้ายที่คาราคาซังอยู่ ก็จะถูกจัดเรียงใหม่
ย้อนศรให้กลุ่มขั้วอำนาจใหม่ได้รู้จักสุภาษิตที่ว่า “โลภมากมักลาภหาย” ก็คงจะดีไม่น้อย
แต่จะให้ดีที่สุด “อภิสิทธิ์” ต้องดึง สตช. จาก “สุเทพ” กลับมาดูแลเอง เพราะหากยังปล่อยให้ สตช.อยู่ในมือของ “สุเทพ” ก็จะเป็นอุปสรรคสำคัญในการทลายรัฐตำรวจ ซึ่งจะเป็นหายนะสำหรับพรรคประชาธิปัตย์เองในอนาคต