xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 6-12 ก.ย.2552

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. มือมืด ปาระเบิดใส่บ้าน “ป.ป.ช.” หลังชี้มูลความผิด “สมชาย-ชวลิต-พัชรวาท-สุชาติ”กรณีสลายม็อบ 7 ตุลาฯ !
เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน ตรวจเหตุระเบิดบ้านพักของนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.
เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ได้ลงมติชี้มูลความผิดผู้เกี่ยวข้องกับการสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 จำนวน 4 คน ประกอบด้วย 1.นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ โดย ป.ป.ช.มีมติ 8 ต่อ 1 ชี้มูลความผิดทางอาญามาตรา 157 เนื่องจากนายสมชายได้เรียกประชุม ครม.นัดพิเศษเมื่อวันที่ 6 ต.ค.และเรียก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าประชุม พร้อมสั่งการให้ดำเนินการให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมเพื่อรับฟังการแถลงนโยบายของรัฐบาลให้ได้ในวันที่ 7 ต.ค. นอกจากนี้เมื่อมีการสลายการชุมนุมเพื่อเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมแล้ว นายสมชายยังไม่สั่งให้ตำรวจหยุดยิงแก๊สน้ำตา ทั้งที่เห็นว่ามีผู้บาดเจ็บแขน-ขาขาดในช่วงเช้าแล้ว กลับปล่อยให้ตำรวจกระทำการดังกล่าวซ้ำอีกจนถึงช่วงค่ำ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ส่วนที่นายสมชาย อ้างว่า ขณะนั้นตนยังไม่ได้แถลงนโยบาย ยังไม่มีอำนาจสั่งการใดใดนั้น ป.ป.ช.ชี้ว่า อำนาจของนายกฯ มีนับแต่วันที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ และถวายสัตย์แล้ว

2.พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ ป.ป.ช.มีมติ 6 ต่อ 3 ชี้มูลความผิดทางอาญามาตรา 157 เนื่องจาก พล.อ.ชวลิตได้รับมอบหมายจาก ครม.ให้ติดตามและกำกับดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในวันประชุมรัฐสภา และได้สั่งการให้ตำรวจต้องสลายการชุมนุมเพื่อเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมได้เช่นกัน “พรุ่งนี้(7 ต.ค.) ต้องใช้รัฐสภาเป็นที่ประชุม โดยพยายามเอาตำรวจเข้าไปเพื่อรักษาสถานที่ก่อน จะทำอย่างไร จะเอากำลังเข้าไปเท่าไหร่ก็ได้ สิ่งที่สำคัญจะต้องเปิดเส้นทางให้ ส.ส.และ ส.ว.เข้าไปให้ได้ในเวลา 09.30น.” ทั้งนี้ ป.ป.ช.ชี้ว่า การที่ พล.อ.ชวลิตประกาศลาออกจากตำแหน่งรองนายกฯ หลังตำรวจปฏิบัติการสลายการชุมนุมจนมีผู้บาดเจ็บจำนวนมากแล้ว ก็ไม่สามารถทำให้พ้นความผิดได้ “คำปฏิเสธว่าลาออกแล้ว พิจารณาจากผลการกระทำของตำรวจจนทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง การแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก หาได้พ้นความรับผิดในฐานะสั่งการไม่ ซึ่งการกระทำดังกล่าว พล.อ.ชวลิตได้ติดตามโดยตลอด โดยให้ พล.ต.อ.บุญฤทธิ์ รัตนพร นายตำรวจนอกราชการ และ พล.ต.ต.สุรพงศ์ ศิริภักดี ผู้บังคับการตำรวจรถไฟ เป็นผู้ติดตามสถานการณ์โดยตลอด การที่ พล.อ.ชวลิตอ้างว่า ไม่ได้รับรายงานและทราบข่าวจากสื่อมวลชนตอนเช้านั้นจึงฟังไม่ขึ้น การตัดสินใจลาออกจึงเป็นการหลีกหนีความรับผิดชอบ”

3.พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ป.ป.ช.มีมติ 8 ต่อ 1 ชี้มูลความผิดทางอาญามาตรา 157 และผิดวินัยร้ายแรง เพราะกระทำการอันได้ชื่อว่า “ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง” เนื่องจาก พล.ต.อ.พัชรวาทไม่สั่งการให้ตำรวจหยุดการกระทำที่รุนแรงต่อผู้ชุมนุม ทั้งที่เห็นว่ามีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก “พล.ต.อ.พัชรวาทกลับเพิกเฉย ไม่สั่งการให้หยุดยั้งการกระทำ หรือยอมกระทำที่เป็นการเสี่ยงให้ประชาชนได้รับอันตราย เพื่อสนองนโยบายของฝ่ายการเมือง การอ้างว่าไม่สามารถขัดขืนได้นั้น เป็นการไม่รับผิดชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ของตัวเอง ที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก”

4.พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.) ป.ป.ช.มีมติ 8 ต่อ 1 ชี้มูลความผิดทางอาญามาตรา 157 และผิดวินัยร้ายแรงเช่นกัน เนื่องจาก พล.ต.ท.สุชาติถือว่าเป็นผู้บังคับบัญชาเหตุการณ์ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่เกินกว่าเหตุจนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต โดยไม่มีการทบทวนหรือหยุดยั้งการกระทำดังกล่าว

สำหรับ ป.ป.ช.เสียงข้างน้อย ก็คือ น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล ทั้งนี้ ป.ป.ช.จะส่งรายงานและความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อฟ้องนายสมชาย-พล.อ.ชวลิต-พล.ต.อ.พัชรวาท-พล.ต.ท.สุชาติ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป รวมทั้งจะส่งเรื่องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ(ก.ต.ช.)และประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) เพื่อพิจารณาโทษทางวินัย พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ ภายใน 30 วัน ซึ่งโทษฐานผิดวินัยร้ายแรงมีเพียงไล่ออกหรือปลดออกเท่านั้น

ส่วนตำรวจอีก 5 นาย ที่ถูกร้องว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม 7 ต.ค.ประกอบด้วย พล.ต.อ.วิโรจน์ พหลเวชช์ รอง ผบ.ตร. และรอง ผบช.น.อีก 4 คน คือ พล.ต.ต.ลิขิต กลิ่นอวล ,พล.ต.ต.เอกรัตน์ มีปรีชา ,พล.ต.ต.วิบูลย์ บางท่าไม้ ,พล.ต.ต.จักรทิพย์ ชัยจินดา นั้น ป.ป.ช.มีมติว่า พล.ต.อ.วิโรจน์ ไม่มีความผิด เนื่องจากไม่พบหลักฐานว่ามีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุม ส่วน พล.ต.ต.ลิขิต ,พล.ต.ต.เอกรัตน์ ,พล.ต.ต.วิบูลย์ และ พล.ต.ต.จักรทิพย์ ป.ป.ช.ก็ชี้ว่าไม่มีความผิดเช่นกัน เนื่องจากเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา

ด้านนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ รีบโวยว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก ป.ป.ช. โดยอ้างว่า ตนไม่มีโอกาสได้แก้ข้อกล่าวหา และอยู่ระหว่างฟ้องศาลปกครองเพื่อขอตรวจสอบเอกสาร พยานและหลักฐานที่ ป.ป.ช.ใช้ในการกล่าวหาตน แต่ ป.ป.ช.กลับรีบชี้มูลโดยไม่รอศาลปกครอง นายสมชาย ยังประกาศด้วยว่า “หลังจากนี้ ผมจะขอต่อสู้ทางกฎหมายตั้งแต่ชั้นอัยการจนถึงชั้นศาล เพื่อแสดงว่าผมไม่ได้กระทำผิดตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูล” ด้าน ป.ป.ช. ยืนยันว่า ได้ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาแก้ข้อกล่าวหาแล้ว โดยนายสมชายได้ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร ขณะที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ บอกว่า รู้สึกผิดหวังกับมติของ ป.ป.ช. พร้อมยืนยัน ตนไม่เคยสั่งให้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม ทั้งนี้ พล.อ.ชวลิต ยืนยันว่า จะต่อสู้ในชั้นศาลต่อไป

ด้าน พล.ต.อ.พัชรวาท วงศ์สุวรรณ ผบ.ตร. ยืนยัน จะปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายต่อไป จนกว่าจะมีคำสั่งตามกฎหมายออกมา ทั้งนี้ สังคมจับตาว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ จะพิจารณาโทษหรือปลด พล.ต.อ.พัชรวาททันทีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลเลยหรือไม่ ซึ่งตอนแรกนายอภิสิทธิ์บอกว่า คงต้องรอให้ ป.ป.ช.ส่งเรื่องมาก่อน แต่เมื่อนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช.ออกมาส่งสัญญาณว่า นายกฯ ในฐานะผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งพักงาน พล.ต.อ.พัชรวาทได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอหนังสือยืนยันมติจาก ป.ป.ช. ปรากฏว่า นายอภิสิทธิ์ จึงได้มีคำสั่งสำนักนายกฯ ให้ พล.ต.อ.พัชรวาทไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายฯ เมื่อวันที่ 9 ก.ย. พร้อมตั้ง พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รอง ผบ.ตร.ให้รักษาราชการแทน ผบ.ตร. โดยก่อนมีคำสั่งย้าย พล.ต.อ.พัชรวาท นายอภิสิทธิ์ได้หารือกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงแล้ว รวมทั้งได้โทรศัพท์หารือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีกลาโหม พี่ชาย พล.ต.อ.พัชรวาทแล้ว ซึ่งนายอภิสิทธิ์ บอกว่า พล.อ.ประวิตรบอกว่า เป็นเรื่องที่ตนต้องคุยกับทาง พล.ต.อ.พัชรวาท ซึ่งตนก็ได้โทร.คุยกับ พล.ต.อ.พัชรวาทก่อนจะเซ็นคำสั่งแล้ว

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ พูดถึงกรณีที่มีข่าวว่า ตนตกลงกับ พล.อ.ประวิตรก่อนจัดตั้งรัฐบาลว่าจะให้ พล.ต.อ.พัชรวาทอยู่ในตำแหน่ง ผบ.ตร.จนเกษียณอายุราชการว่า “ไม่เป็นความจริง เพราะการจัดตั้งรัฐบาลได้ประสานกับพรรคร่วมรัฐบาลเสร็จเรียบร้อยทั้งหมดก่อนที่ตนและนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกฯ จะไปเชิญ พล.อ.ประวิตรมารับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม และครั้งนั้นไม่ได้พูดถึงเงื่อนไขใดใดเลย”

ทั้งนี้ เย็นวันเดียวกัน(9 ก.ย.) พล.ต.อ.พัชรวาท เผยหลังได้รับคำสั่งให้มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกฯ ว่า ตนยอมรับโดยดี พร้อมยื่นหนังสือลาออกจากราชการไปถึงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะประธาน ก.ตร.แล้ว “การลาออกครั้งนี้ เป็นความตั้งใจของผม ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด และคิดว่า การลาออกในวันนี้น่าจะทำให้นายกฯ ทำงานไปได้ด้วยดี”

ด้าน อ.ปรีชา สุวรรณทัต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า ไม่ใช่ว่า พล.ต.อ.พัชรวาทยื่นใบลาออกแล้ว จะมีผลทันที เพราะต้องให้นายกฯ อนุมัติก่อน และว่า “กรณีนี้นายกฯไม่สามารถอนุมัติให้ พล.ต.อ.พัชรวาทลาออกได้ เพราะโทษของ พล.ต.อ.พัชรวาทตามที่ ป.ป.ช.วินิจฉัยมีแค่ 2 สถาน คือ ปลดออกหรือให้ออก ถ้านายกฯ อนุมัติให้ลาออก ก็หมายความว่าไม่ต้องให้ พล.ต.อ.พัชรวาทรับโทษ เท่ากับนายกฯ ทำผิดกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 93 ,94 เพราะการลาออกกับให้ออกหรือปลดออกนั้น ให้ผลต่างกัน เนื่องจากการลาออกจะได้รับบำเหน็จบำนาญ แต่การให้ออกหรือปลดออกจะไม่ได้อะไรเลย ขอเตือนนายกฯ ไม่ควรอนุมัติให้ พล.ต.อ.พัชรวาทลาออก”

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ บอกว่า ยังไม่เห็นหนังสือลาออกของ พล.ต.อ.พัชรวาท และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ก็ยังไม่ได้รายงานให้ทราบ ส่วนจะอนุมัติให้ พล.ต.อ.พัชรวาทลาออกหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ บอกว่า มีระเบียบ ก.ตร.อยู่แล้ว และปกติข้าราชการจะลาออกต้องบอกล่วงหน้า 30 วัน ยกเว้นกรณีพิเศษ แต่ไม่ว่ากรณีใด ก่อนอนุมัติผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ต้องตรวจสอบว่ามีภาระผูกพันอะไรอยู่หรือไม่ รวมถึงการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับวินัย

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังทราบว่านายกฯ ยังไม่อนุมัติให้ลาออก พล.ต.อ.พัชรวาทได้เปลี่ยนใจหันมายื่นหนังสือขอลาพักผ่อนประจำปีเป็นเวลา 20 วันแทน โดยลาระหว่างวันที่ 10-30 ก.ย. พร้อมทำหนังสือถึงนายกฯ ผ่านนายสุเทพ พร้อมกันนี้ พล.ต.อ.พัชรวาท ได้ส่งทนายไปฟ้องศาลอาญาให้ดำเนินคดีกรรมการ ป.ป.ช.เสียงข้างมาก 8 คนที่ลงมติชี้มูลความผิดตน โดยอ้างว่า ป.ป.ช.ทั้ง 8 คนเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

ด้าน พล.ต.อ.วิสุทธิ์ กิตติวัฒน์ อดีตรอง ผบ.ตร.และนายกสมาคมตำรวจ พร้อมด้วย พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค อดีตรอง ผบ.ตร. และประธานชมรมนายตำรวจนอกราชการ และ พล.ต.อ.วิรุฬ ฟื้นแสน ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ได้เปิดแถลงข่าว(10 ก.ย.) โจมตี ป.ป.ช.ที่ชี้มูลความผิดอาญาและวินัยร้ายแรง พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ โดยกล่าวหาว่า ป.ป.ช.มีอคติ ไม่เป็นกลาง ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับความเป็นธรรม แถมเร่งไต่สวนและลงมติชี้มูล ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ต่อสู้อย่างเต็มที่

เป็นที่น่าสังเกตว่า แค่ชั่วข้ามคืนหลัง พล.ต.อ.พัชรวาทส่งทนายฟ้องดำเนินคดี ป.ป.ช. และหลังตำรวจนอกราชการกับ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเปิดแถลงโจมตี ป.ป.ช. ปรากฏว่า ได้มีมือมืดปาระเบิด M 69 ใส่บ้านกรรมการ ป.ป.ช.คนหนึ่ง คือ นายวิชา มหาคุณ เมื่อเวลา 03.40น.วันที่ 11 ก.ย. บริเวณย่านบางพลัด แรงระเบิดทำให้กันสาดด้านหน้า รวมทั้งกระจกประตูหน้าต่างพังเสียหาย รวมถึงกระจกรถยนต์และกระจกหน้าต่างของบ้านข้างเคียงได้รับความเสียหายด้วย โชคดีไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากระหว่างเกิดเหตุไม่มีใครพักอาศัยในบ้านดังกล่าว จากการสอบสวน พยานเล่าว่า เห็นรถปิคอัพขับผ่านบ้านหลังดังกล่าวอย่างรวดเร็ว ก่อนเกิดระเบิดขึ้น

ด้านนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะเจ้าของบ้าน บอกว่า บ้านหลังดังกล่าวได้ขายไปแล้วตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุง และว่า ไม่ได้รู้สึกกลัวหรือกังวลอะไรกับเหตุระเบิดที่เกิดขึ้น แต่รู้สึกเกรงใจเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุระเบิดดังกล่าว พล.ต.ต.เอกรัตน์ มีปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(รอง ผบช.น.) ปฏิบัติราชการแทน ผบช.น.ได้มีคำสั่งด่วนที่สุดถึงหน่วยงานในสังกัด บช.น.เกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ เนื่องจากเห็นว่า การชี้มูลความผิดผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม 7 ต.ค.อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย จึงมีคำสั่งให้กองบังคับการตำรวจนครบาล 1(บก.น.1)จัดกำลังตำรวจรักษาความปลอดภัยสำนักงาน ป.ป.ช.ตลอด 24 ชม. สำหรับ สน.ใดที่มีสถานที่พักอาศัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช.อยู่ ให้จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจเพิ่มความเข้มเฝ้าระวังป้องกันเหตุ นอกจากนี้ ให้ บก.น.1-9 ยกระดับความเข้มในการรักษาความปลอดภัยสถานที่ราชการสำคัญ และบ้านพักบุคคลสำคัญ ได้แก่ องคมนตรี นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี หรือบุคคลสำคัญทางการเมือง

ด้านนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ออกมาประณามผู้ปาระเบิดใส่บ้านพักของนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. พร้อมเชื่อ ตำรวจหรือทหารน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง นายสนธิ ยังชี้ด้วยว่า นายวิชาเป็นบุคคลที่มีจริยธรรม ซื่อสัตย์สุจริต มุ่งมั่นทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง แม้จะถูกข่มขู่ ก็ไม่ยอมหยุดทำหน้าที่เพื่อชาติ และว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบทพิสูจน์ว่า ประชาชนต้องพึ่งพาการทำงานขององค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช.

2. กกต.สอย “16 ส.ส.” ถือหุ้นขัด รธน. ด้าน 3 รมต. “บุญจง-เกื้อกูล-มานิต”โดนด้วย!
นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย-นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รมช.คมนาคม-นายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข ถูก กกต.วินิจฉัยว่าถือหุ้นขัด รธน.ต้องพ้นสภาพ ส.ส.
เมื่อวันที่ 9 ก.ย. คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ได้นัดลงมติกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ยื่นคำร้องขอให้ กกต.ตรวจสอบการถือหุ้นของ 44 ส.ส.ว่าเป็นการกระทำต้องห้ามตาม รธน.มาตรา 48 ประกอบมาตรา 265(2) และ (4) หรือไม่ และต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพหรือไม่ เนื่องจากถือหุ้นในกิจการสื่อและบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐ นอกจากนี้ยังมีคำร้องของนายเรืองไกรที่ขอให้ตรวจสอบการถือหุ้นของนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีพาณิชย์ และนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยมหาดไทยด้วย โดยหลังประชุม นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.แถลงว่า กกต.เสียงข้างมากมีมติว่า ส.ส.16 คนถือหุ้นในบริษัทที่เข้าลักษณะต้องห้าม จึงเข้าข่ายขาดคุณสมบัติ ส่วนอีก 28 ส.ส.ไม่ได้ถือหุ้นที่เข้าลักษณะต้องห้าม จึงยกคำร้อง

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในจำนวน 16 ส.ส.ที่ กกต.วินิจฉัยว่าต้องสิ้นสุดสมาชิกสภาพ เพราะถือหุ้นขัด รธน.นั้น มีผู้ที่เป็นรัฐมนตรีอยู่ในขณะนี้จำนวน 3 คน คือ นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย และรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย , นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคชาติไทยพัฒนา และรัฐมนตรีช่วยคมนาคม และนายมานิต นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี พรรคภูมิใจไทย และรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข ส่วน ส.ส.ที่เหลืออีก 13 คนที่ กกต.วินิจฉัยว่าถือหุ้นขัด รธน.เช่นกัน ประกอบด้วย นายเสนาะ เทียนทอง ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาราช , น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว พรรคประชาราช , นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย , นายสมพล เกยุราพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย , นางปานหทัย เสรีรักษ์ ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย , นายเอี่ยม ทองใจสด ส.ส.เพชรบูรณ์ พรรคเพื่อไทย , นายรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย , ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย , นายอัสนี เชิดชัย ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย , นายไพโรจน์ ตันบรรจง ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย , ม.ร.ว.กิติวัฒนา ไชยันต์ ปกมนตรี ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน , นางมลิวัลย์ ธัญญสกุลกิจ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อแผ่นดิน , นายสาธิต เทพวงศ์ศิริรัตน์ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อแผ่นดิน

เลขาธิการ กกต.เผยด้วยว่า กรณีที่ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ส.ส.พิจิตร พรรคชาติไทยพัฒนา และรองนายกฯ ถูกกล่าวหาว่าถือหุ้นบริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด(มหาชน) และบริษัท สามารถเทเลคอม จำกัด(มหาชน)นั้น กกต.พิจารณาว่าไม่เข้าข่ายความผิด เนื่องจาก พล.ต.สนั่นแสดงเจตจำนงที่จะสละสิทธิการถือหุ้นดังกล่าวก่อนจะเข้ารับตำแหน่ง โดยมีเอกสารยืนยันชัดเจนว่าได้ให้โบรกเกอร์ขายแล้ว และขายได้บางส่วนก่อนเข้าดำรงตำแหน่ง และบางส่วนขายได้ภายหลัง กกต.เสียงข้างมากจึงเห็นว่า ไม่เจตนาถือครองหุ้นและไม่ถือเป็นความผิด

ส่วนการถือหุ้นของนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีพาณิชย์ และนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยมหาดไทยนั้น กกต.มีมติให้ยกคำร้อง เพราะไม่ได้ถือหุ้นในลักษณะเข้าข่ายขัด รธน.แต่อย่างใด ทั้งนี้ กกต.จะส่งรายชื่อ ส.ส.ที่ กกต.มีมติว่ากระทำการเข้าข่ายขัด รธน.ต้องสิ้นสมาชิกภาพ ไปยังประธานสภาฯ เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 91 ของ รธน.ต่อไป

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้จะมีรัฐมนตรี 3 คนถูก กกต.วินิจฉัยว่าถือหุ้นขัด รธน.ต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพ แต่ก็ไม่มีรัฐมนตรีคนใดแสดงสปิริตลาออกจาก ส.ส.เหมือนที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ และรองนายกฯ ลาออกก่อนหน้านี้ โดยนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย และรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย 1 ใน 16 ส.ส.ที่ถือหุ้นขัด รธน.บอกว่า “นี่คือบุญจง ไม่ใช่นายสุเทพ ผมคงไม่ลาออก แต่ยืนยันว่าพร้อมทำตามกฎหมาย ซึ่งผมไม่ได้รู้สึกกดดันหรืออึดอัดอะไร” ขณะที่นายมานิต นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี พรรคภูมิใจไทย และรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข ก็บอกว่า “ผลการตัดสินทำให้พ้นสภาพ ส.ส.แต่ไม่เกี่ยวกับตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นปัญหาที่ทุกคนรู้อยู่แล้วว่า ผมไม่ใช่เป็นผู้บริหารบริษัท แต่แค่ถือหุ้นเพียงเล็กน้อยและได้ขายหุ้นทั้งหมดตั้งแต่ก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่ง” เช่นเดียวกับนายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคชาติไทยพัฒนา และรัฐมนตรีช่วยคมนาคม ที่ยืนยันว่า ตนได้ขายหุ้นตั้งแต่ก่อนเข้ามาเป็นรัฐมนตรี และว่า หลังจากนี้จะทำหนังสือถึงศาลปกครองเพื่อขอความคุ้มครอง ด้าน ส.ส.พรรคเพื่อไทย 8 คนที่ถูก กกต.วินิจฉัยว่าถือหุ้นขัด รธน.ก็เตรียมร้องขอความคุ้มครองจากศาลปกครองเช่นกัน

3. “เสื้อแดง” เตือน “อภิสิทธิ์” ไปนอก-อาจไม่ได้กลับ ด้าน “สภาทนายฯ”ลบชื่อ “3 ทนายทักษิณ”เซ่นคดีสินบน 2 ล้าน!
นายพิชิฏ(พิชิต) ชื่นบาน ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในคดีซื้อที่รัชดาฯ ถูกสภาทนายความลบชื่อ-ห้ามว่าความ 5 ปี จากคดีสินบน 2 ล้าน
ความคืบหน้ากรณีที่แกนนำ นปช.นัดชุมนุมใหญ่วันที่ 19 ก.ย.ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า พร้อมประกาศจะเคลื่อนขบวนไปปักหลักที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ โดยอ้างว่า พล.อ.เปรมอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 นั้น ปรากฏว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.) ได้มีหนังสือถึงผู้บังคับการตำรวจนครบาล(บก.น.) 1-9 โดยระบุว่า การข่าวชี้ว่าอาจมีความวุ่นวายหรือสร้างสถานการณ์บริเวณทำเนียบรัฐบาลและพื้นที่ต่อเนื่องจากกลุ่มบุคคลที่ไม่หวังดีหรือมือที่สาม จึงได้กำหนดจุดสกัดร่วมระหว่างตำรวจและทหารบริเวณแยกสำคัญรอบทำเนียบฯ ตลอด 24 ชม.ตั้งแต่วันที่ 4-17 ก.ย.

ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.ยืนยันความพร้อมในการชุมนุมใหญ่วันที่ 19 ก.ย. และว่า ขณะนี้คนเสื้อแดงจะเริ่มเดินงานโรงเรียนคนเสื้อแดง อบรมแกนนำคนเสื้อแดงในเขต กทม.และปริมณฑลในวันที่ 12-13 ก.ย. นายณัฐวุฒิ ยังบอกด้วยว่า สถานการณ์การเมืองขณะนี้ทำให้คนเสื้อแดงต้องอยู่ในสถานะของพยัคฆ์ซุ่ม เพื่อดูการแยกเขี้ยวของเสือสองตัวที่กำลังจะกัดกันจนไม่สามารถกะพริบตาได้ เพราะความขัดแย้งภายในรัฐบาลเริ่มแสดงให้เห็นชัดเจนมากขึ้น จากกรณีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด 4 ชื่อสำคัญ(สมชาย-ชวลิต-พัชรวาท-สุชาติ) กรณีสลายม็อบพันธมิตรฯ 7 ต.ค. ที่ไปเข้าทางกลุ่มอำนาจหนึ่งในรัฐบาล แต่กลับไปหักหน้าอีกกลุ่มอำนาจหนึ่งในรัฐบาล “คนเสื้อแดงกำลังจับตาดูอยู่ว่า นายอภิสิทธิ์จะอยู่ได้ถึงวันที่ 19 ก.ย.ซึ่งเป็นวันชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงหรือไม่” ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.และ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย เตือนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีว่า การชุมนุมวันที่ 19 ก.ย. นายอภิสิทธิ์จะไปประชุมสหประชาชาติ ควรสั่งเสียไว้ได้เลย เพราะไม่รู้ว่าจะได้กลับมาหรือไม่ เนื่องจากได้ยินมาว่าจะมีอำนาจนอกระบบแทรกซ้อน ซึ่งหากเกิดการรัฐประหารรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์จริง คนเสื้อแดงก็จะออกมาต่อต้านการรัฐประหาร

ด้าน พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รอง ผบ.ตร.) รักษาราชการแทน ผบ.ตร.เผยหลังเข้าพบนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงเมื่อวันที่ 10 ก.ย.ว่า นายสุเทพไม่ได้มอบนโยบายอะไรเป็นพิเศษกรณีคนเสื้อแดงจะชุมนุมใหญ่วันที่ 19 ก.ย. แต่กำชับให้ไปดูแลเรื่องการชุมนุมให้เรียบร้อย โดยตนจะประชุมร่วมกับผู้เกี่ยวข้องในวันที่ 14 ก.ย. เพื่อสั่งการเรื่องการเตรียมรับมือการชุมนุมของคนเสื้อแดง ซึ่งแผนงานต่างๆ มีอยู่แล้ว

ล่าสุดวันนี้(12 ก.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ เผยหลังหารือกับ พล.ต.อ.ธานีเกี่ยวกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงในวันที่ 19 ก.ย.ว่า มีแนวโน้มว่าจะประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในช่วงเวลาดังกล่าว

ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.และ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย พูดถึงการชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย.อีกครั้งในวันนี้(12 ก.ย.)ว่า นอกจากจะเคลื่อนขบวนไปยังบ้านสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษแล้ว ยังได้หารือกับกลุ่มแกนนำว่า อาจจะเคลื่อนขบวนไปยังหน้าสำนักงาน ป.ป.ช.เพื่อทดสอบวิธีป้องกันของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าจะมีวิธีป้องกันอย่างไร นายจตุพร ยังย้ำด้วยว่า แม้รัฐบาลจะประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ คนเสื้อแดงก็จะยังชุมนุมต่อไป ตราบใดที่ยังมี รธน.มาตรา 63 บังคับใช้ ประชาชนก็ยังคงมีสิทธิชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ พร้อมยืนยัน การชุมนุมวันดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในเวลาเที่ยงคืน

ทั้งนี้ นอกจากความเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงแล้ว ยังมีความคืบหน้ากรณีที่ 3 ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในคดีซื้อที่รัชดาฯ ประกอบด้วย นายพิชิฏ ชื่นบาน ,น.ส.ศุภศรี ศรีสวัสดิ์ และนายธนา ตันศิริ ซึ่งถูกศาลฎีกาฯ พิพากษาลงโทษจำคุก 6 เดือนกรณีนำถุงใส่เงิน 2 ล้านไปมอบให้เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาฯ ซึ่งทั้งสามได้พ้นโทษดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้วนั้น ปรากฏว่า ล่าสุด คณะกรรมการมรรยาท สภาทนายความ ได้มีมติ 9 ต่อ 3 ให้ลงโทษทนายทั้งสามแบบหนักสุดตาม พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 ด้วยการลบชื่อทนายทั้งสามออกจากทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ ส่งผลให้บุคคลทั้งสามไม่สามารถประกอบวิชาชีพทนายความได้เป็นเวลา 5 ปี ด้านนายสิทธิโชค ศรีเจริญ ประธานมรรยาท สภาทนายความ เผยว่า หลังครบกำหนดลบชื่อออก 5 ปีแล้ว บุคคลทั้งสามสามารถยื่นขออนุญาตจดทะเบียนใหม่ได้ แต่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการสภาทนายความว่าจะอนุญาตหรือไม่ และระหว่างนี้ บุคคลทั้งสามจะไปเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายของบุคคลใด โดยไม่ได้ทำหน้าที่ว่าความคดี ก็สามารถทำได้

4. “152 ส.ส.-ส.ว.” เดินหน้ายื่นแก้ รธน. ด้าน “พันธมิตรฯ”เตรียมยื่นถอดถอน ขณะที่ “รัฐสภา”เตรียมถกแก้ รธน. 16-17 ก.ย.นี้!
นายประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี นำรายชื่อ ส.ส.-ส.ว.ที่รวบรวมได้ 152 รายชื่อ ยื่นญัตติขอแก้ รธน.ต่อนายประสพสุข บุญเดช ปธ.วุฒิสภา ในฐานะรอง ปธ.รัฐสภา(7 ก.ย.)
หลัง ส.ส.และ ส.ว.จำนวนหนึ่ง นำโดย นายประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี ได้ออกมาล่าชื่อ ส.ว.และ ส.ส.พรรคต่างๆ เพื่อยื่นญัตติแก้ไข รธน.7 ประเด็นต่อสภาฯ ซึ่ง 6 ประเด็นเป็นประเด็นที่คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ รธน.เคยเสนอรัฐบาลไว้ เช่น มาตรา 237 ซึ่งจะแก้ไขโดยยกเลิกโทษยุบพรรคและยกเลิกตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค เพื่อให้ความผิดทุจริตเลือกตั้งเป็นความผิดเฉพาะบุคคล ,มาตรา 266 จะแก้ไขเพื่อให้ ส.ส.-ส.ว.สามารถแทรกแซงการทำงานของข้าราชการได้ โดยอ้างว่า เพื่อให้ ส.ส.-ส.ว.ช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้ ฯลฯ โดยไม่สนว่าจะมีผู้รวบรวมรายชื่อประชาชน 2 หมื่นชื่อเพื่อยื่นถอดถอน ส.ส.-ส.ว.ออกจากตำแหน่ง ฐานแก้ รธน.เพื่อประโยชน์ของ ส.ส.-ส.ว.เอง ซึ่งเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ย. นายประสิทธิ์ ได้นำรายชื่อ ส.ส.-ส.ว.ที่รวบรวมได้ 152 รายชื่อยื่นต่อนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภาแล้ว พร้อมเสนอร่างแก้ไข รธน.7 ประเด็นที่ชูธงไว้

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ได้ออกมาส่งสัญญาณให้มีการเปิดประชุมร่วมของรัฐสภา เพื่อให้ส.ส.-ส.ว.ได้อภิปรายเกี่ยวกับการแก้ไข รธน.โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เพื่อให้ชัดเจนว่า จะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งหลังจากที่ประชุม ครม.เห็นด้วยให้มีการประชุมร่วมรัฐสภา รัฐบาลจึงได้มีหนังสือไปยังนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ด้านนายชัย รับลูก กำหนดให้มีการประชุมรัฐสภาเพื่ออภิปรายเรื่องการแก้ รธน.ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ในวันที่ 16-17 ก.ย.

ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. ได้ออกมาโจมตีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ว่า แม้นายอภิสิทธิ์จะให้มีการประชุมร่วมรัฐสภา แต่ก็เป็นเพียงมารยา เป็นเกมซื้อเวลาตั้งแต่การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่อยากแก้ รธน. “ผมบอกเพื่อน ส.ส.ในพรรคว่า อย่าไปบ้าจี้ เพราะพนันได้เลยว่า ไม่มีการแก้ไข พนัน 100 บาท เอาขี้หมา 1 กองว่าไม่มีการแก้ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ได้ประโยชน์จาก รธน.ฉบับนี้”

ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา เผยว่า ได้หารือกับนักกฎหมายพบว่า ส.ส.-ส.ว.ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไข รธน.อาจกระทำการขัด รธน.มาตรา 122 เพราะเป็นการแก้ที่เอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง ซึ่ง ส.ส.1 ใน 4 สามารถยื่นเรื่องเพื่อถอดถอนต่อประธานวุฒิสภาได้ตามมาตรา 270 และ 271 เพื่อให้ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ต่อไป นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ตามมาตรา 272 และ 274 หาก ป.ป.ช.พิจารณาว่า ส.ส.-ส.ว.ดังกล่าวผิดจริง ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที หรืออาจนำไปสู่การพ้นตำแหน่ง หากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินว่าผิด

ขณะที่แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้แถลงจุดยืนของพันธมิตรฯ ต่อการแก้ไข รธน.ที่อาคาร เค.ยูโฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 8 ก.ย. โดยยืนยันว่า พันธมิตรฯ ต่อต้านการแก้ไข รธน.2550 โดยจะมีการเข้าชื่อของประชาชน 2 หมื่นชื่อ เพื่อยื่นถอดถอน ส.ส.และ ส.ว.ที่เสนอญัตติแก้ไข รธน. พร้อมเชื่อว่า จะได้รายชื่อครบ 2 หมื่นชื่อภายในวันที่ 7 ต.ค.นี้ ที่พันธมิตรฯ จะจัดงานรำลึกการสลายการชุมนุม 7 ต.ค.2551 จากนั้นจะยื่นถอดถอนทันที

ด้านนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ได้ฝากข้อคิดเตือนสติ ส.ส.และ ส.ว.ไม่ว่าจะอยู่พรรคใดหรืออยู่ในสังกัดของใครว่า แผ่นดินไทยนี้ศักดิ์สิทธิ์ ขอให้ดูผลของ ป.ป.ช.ที่วินิจฉัยคดีสลายการชุมนุม 7 ตุลาฯ ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ออกมาแล้ว “อยากเตือนสติ ส.ส.-ส.ว.ทุกคนด้วยว่า ทุกอย่างเป็นอนิจจัง วันนี้คุณเป็นรัฐบาลเป็นรัฐมนตรี แต่วันข้างหน้า เมื่อคุณโดนถอดถอนเพราะทำผิด วันนั้นคุณอาจไม่ได้เป็นอะไรเลย การทำอะไรเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว นอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังจะโดนสาปแช่งด้วย”
กำลังโหลดความคิดเห็น