รายงาน โดย อำพร แววบุตร
ดูเหมือนไม่ง่ายซะแล้ว สำหรับรัฐบาล “อภิสิทธ์ เวชชาชีวะ” ที่ซื้อเวลาเล่นเกมยื้อสมานฉันท์ มานานหลายเดือน ประกอบกับท่ามกลางกระแสข่าวต้องการให้ยุบพรรคของประชาธิปัตย์ รวมทั้งไม่พอใจในการทำงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ ที่ยังไม่คืบหน้า
โดยเฉพาะนายกฯ อภิสิทธิ์ ที่มีอำนาจ และเป็นผู้เริ่มแรกในการสั่งให้ประธานชัย ชิดชอบ ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ขึ้นมาแก้ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยของบ้านเมือง แต่มาวันนี้กลับไม่มีความคืบหน้าเลย
จนทำให้เข้าทางฝ่ายค้านเดินเกมรุกในสภา เพื่อให้สอดรับกับการเมืองข้างนอกอย่างกลุ่มเสื้อแดงที่จะมีการชุมนุมในวันที่19ก.ย.นี้
ถามว่า ความต้องการแก้รัฐธรรมนูญ แท้จริงแล้วเพื่ออยากให้บ้านเมืองสงบโดยเร็ว หรืออยากแก้รัฐธรรมนูญเพื่อพวกพ้องของตนเอง รวมทั้งแก้ผิดให้นาย ใหญ่ ทักษิณ ชินวัตรกันแน่
ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ประชาชนเสื้อสีเหลืองก็อาจจะออกมาชุมนุมอีกรอบก็เป็นได้ ทำให้ให้บ้านเมืองเกิดแรงประทุหรือเข้าสู่ภาวะกลียุคก็ได้
แต่ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตามนายกฯอภิสิทธิ์จะต้องรีบจัดการเรื่องเหล่านี้ ให้เห็นผลออกมาเพื่อให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคม
แม้ว่าฝ่ายค้านจะโยนหินถามทางด้วยการแก้รัฐธรรมนูญไปยังรัฐบาล แต่ประธานชัย ก็เล่นลูกโยนไปให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ที่มีรองอัยการสมศักดิ์ บุญทอง เป็นประธาน ยังไม่ส่งข้อมูลมา แต่ล่าสุดดูเหมือนฟ้าไม่เป็นใจ ฝ่ายค้านเร่งรีบหวังจะได้แก้รัฐธรรมนูญ แต่อีกฝ่ายกลับเหมือนแกล้งทำเฉย
เพราะเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมมีการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ประธานสมศักดิ์ กลับไม่เข้าร่วมประชุม เพราะติดไปราชการในต่างประเทศ ประกอบกับส.ส.ฝ่ายรัฐบาลไม่เข้าร่วมประชุม จึงทำให้การประชุมไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด จึงเลื่อนไปประชุมในวันที่ 15 กันยายน และด้วยความที่พรรคเพื่อไทยยังคงสร้างความปั่นป่วนไม่เลิก หวังจะแอบสอดไส้เอาเรื่องคลิปตัดต่อเสียงนายกฯอภิสิทธิ์เข้ามาพิจารณาพร้อมกันกับเรื่องการชุมนุม
เมื่อเป็นเช่นนี้ คงอีกนานกว่าจะสรุปผลสมานฉันท์กันได้ มีหวังพรรคฝ่ายค้านคงจะต้องร้องเพลงรอไปพลางๆ ก่อน
สำหรับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว มีหลักการแก้ไขที่คณะกรรมการปฏิรูปการเมือง และการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสนอให้แก้รัฐธรรมนูญมี 6 ประเด็นคือ 1.การยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรค มาตรา 64 และมาตรา 237
โดยอนุกรรมการฯเสียงส่วนใหญ่เห็นควรให้ยกเลิกเกี่ยวกับการยุบพรรคและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคทุกคน ส่วนอนุกรรมการฯส่วนหนึ่งเห็นว่ายังคงไว้ซึ่งการยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิ
2.ที่มาของ ส.ส.มาตรา 93 ถึงมาตรา 94 ซึ่งอนุกรรมการฯส่วนใหญ่เห็นชอบให้ส.ส.มาจากการเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว 400 คนและให้มาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน และมีอนุกรรมการส่วนหนึ่งเห็นว่า ให้ที่มาของส.ส.ยังเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 50
3.ที่มาของ ส.ว.มาตรา 111 ถึง 121 ควรให้แก้ไขที่มาของ ส.ว.โดยให้มาจากการเลือกตั้ง 200 คน แต่อนุกรรมการฯส่วนหนึ่งเห็นว่าให้คงไว้ซึ่งที่มาของ ส.ว.แบบมาจากการเลือกตั้ง และการสรรหาซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 50
4. มาตรา 190 อนุกรรมการฯมีความเห็นร่วมกันให้คงหลักการเดิมในมาตรา 190 ไว้แต่เพิ่มเติมข้อความเกี่ยวกับประเภทหนังสือสัญญาใดที่ต้องได้รับความเห็นชอบต่อรัฐสภาไว้ในกฎหมายและเร่งรัดให้ออกกฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาตามความวรรคห้า
5.การดำรงตำแหน่งทางการเมืองของส.ส.มาตรา 265 อนุกรรมการฯเห็นร่วมกันในหลักการที่ให้แก้ไขเฉพาะกรณีส.ส.ให้สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ อาทิ ตำแหน่งเลขานุการและที่ปรึกษารัฐมนตรี เพื่อให้ส.ส.ได้มีโอกาสเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์การทำงานด้านการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมที่จะทำงานในตำแหน่งสำคัญต่อไป
และ 6.การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนของส.ส.มาตรา 266 เพื่อให้ส.ส.และ ส.ว.เข้าช่วยทำประโยชน์หรือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่เกิดขึ้นผ่านส่วนราชการต่างๆได้ โดยเห็นว่าควรตัดข้อความในมาตรา 266 (1) ออกแล้วให้กำหนดไว้เช่นเดียวกับมาตรา 111 ของรัฐธรรมนูญปี 40
เมื่อตัวการของของปัญหาอยู่ที่การแก้รัฐธรรมนูญ ทำให้นักการเมืองทั้งสภาบนและสภาล่าง เดินเกมด้วยการให้ตัวแทนจาก ส.ส.และ ส.ว.ล็อบบี้ นำโดยประสิทธิ์ โพธสุธน์ ส.ว.สุพรรณบุรี และสมเกียรติ ศรลัมพ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน ลูกกระจ๊อกของ พล.ต.อ.ประชา พรมนอก เริ่มขยับ ล่ารายชื่อกันนัว โดยยกผลประโยชน์ต่างๆ นานามาล่อบรรดาพวกพ้องนักการเมืองเหล่านี้ ให้ ส.ว.มีดำรงตำแหน่งอายุครบ 6 ปี และให้ส.ส.เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีและเลขารัฐมนตรีได้ โดยแลกกับการแก้รัฐธรรมนูญ
หลังจาก ส.ส.และ ส.ว. ยื่นรายชื่อเพื่อชงแก้รับธรรมนูญ พบว่า มีรายชื่อที่ยื่นให้กับประธานรัฐสภา มีทั้งสิ้น 158 คน ไม่ตรงกับที่ได้ 164 คน ตามที่ได้ระบุในการยื่นเข้าชื่อ ทั้งยังมีรายชื่อซ้ำส่วนหนึ่งอีกด้วย จะด้วยความไม่รู้หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ
ล่าสุดได้มี ส.ว.แห่ถอนชื่อกันระนาว จนกลายเป็นเรื่องวุ่นเลยทีเดียว รายงานข่าวเชิงลึกยังแจ้งว่าขณะนี้ ส.ว.กลัวจนตัวสั่น กินไม่ได้นอนไม่หลับเป็นเพราะกลัวโดนถอดถอนออกจากตำแหน่ง
แต่ แล้วแกนนำล่ารายชื่ออย่างสมเกียรติและประสิทธิ์ ก็ต้องเสียหน้าเพราะต้องประกาศถอนญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไป โดยอ้างว่าจะไปปรับปรุงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่
แม้ว่าจะถอนร่างดังกล่าวออกไป แต่การเปิดประชุมร่วม 2 สภาเพื่อหาทางออกของการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เกิดขึ้น โดยการหารือของทั้ง 2 สภาเป็นไปอย่างราบรื่น ดูเหมือนว่าไม่มีการตีรวนเล่นเกมในสภาเหมือนครั้งที่ผ่านๆมาแต่อย่างใด เพราะส่วนใหญ่ทุกคนเหมือนจะรู้สึกนึกในหน้าที่ของตน
โดยในการประชุมร่วม ส.ส.และ ส.ว. ต่างก็มีความเห็นที่หลากหลาย โดยส่วนใหญ่ต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย และพรรคเพื่อแผ่นดิน หนุนให้แก้ทั้ง 6 ประเด็นก่อน แต่พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทยที่มียี้ห้อย เนวิน ชิดชอบ กุมบังเหียนต้องการให้แก้ใน 2 มาตรา คือมาตรา 190 และมาตรา 94 ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนาต้องการให้แก้มาตรา 190 และมาตรา 237
มีเพียงแต่พรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่ยังมีความคิดสวนทางโดยเห็นว่า ต้องการให้ตั้ง ส.ส.ร.3 เพื่อให้ทำประชามติก่อนเพื่อถ่วงเวลาให้รัฐบาลอยู่ได้ครบเทอม
สุดท้ายพิธีกรรมสมานฉันท์ก็ต้องจบลงด้วยการแก้รัฐธรรมนูญอาจจะบางมาตรา เพราะการเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ แน่นอนปฏิเสธไม่ได้ว่า การเมืองเป็นปัจจัยหนึ่งในการแก้ปัญหาของประเทศ ซึ่งหากจะแก้จะต้องแก้เฉพาะมาตราที่คิดว่าเหมาะสม และหลายฝ่ายต้องยอมรับได้ แต่จะให้เป็นที่ยอมรับและพอใจของทุกฝ่ายคงเป็นไปไม่ได้
ฉะนั้นไม่ว่ารัฐบาลหรือฝ่ายค้านจะต้องถอยออกมาคนก้าว แล้วเจอคนละครึ่งทาง เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก
หากรัฐบาลเลือกที่จะแก้รัฐธรรมนูญทุกมาตราเพื่อเอาใจพรรคฝ่ายค้าน ยิ่งจะเพิ่มแรงกระเพื่อมจากการเมืองบนถนนอย่างแน่นอน หวังว่ารัฐบาลฉลาดพอคงไม่ยอมให้กลุ่มพันธมิตรฯลุกฮือขึ้นมาต้านการแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้ง แม้ว่าบรรยากาศช่วงนี้จะมีแรงบีบจากภายนอก- ภายในให้ยุบสภาจริงเรื่องนี้อาจต้องคาไว้ก่อนให้รัฐบาลใหม่มารับแก้ปัญหาบ้านเมืองต่อไป
ต้องจับตาดูว่า รัฐบาลจะเลือกเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญบางมาตรา หรือยุบสภาหนีปัญหาที่แก้ไม่ตก