14 เครือข่ายภาค ปชช.จับมือเอ็นจีโอ เสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐสภา ตั้ง กก.ปฏิรูปการเมือง พร้อมข้อเสนอปฏิรูปสังคม 17 ประเด็น โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม อย่างเท่าเทียมกัน กำหนดระยะเวลา 1 ปี จากนั้นนำข้อสรุปมาดำเนินการแก้ รธน.เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของสาธารณะ
วันนี้ (28 ก.ย.) 14 เครือข่ายภาคประชาชน ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐสภาตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง พร้อมข้อเสนอปฏิรูปสังคม 17 ประเด็น ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีเครือข่ายภาคประชาชนประมาณ 150 คนเข้าร่วม ประกอบด้วย สมัชชาคนจน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายสิทธิมนุษยชน เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีแห่งประเทศไทย เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายคนพิการ เครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เครือข่ายสื่อภาคประชาชน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และเครือข่ายโลกาภิวัตน์
นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน สรุปข้อเสนอจากที่ประชุมว่า ให้รัฐสภาจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง มีหน้าที่ในการรวบรวมความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อจัดทำข้อเสนอเพื่อปฏิรูปการเมืองและสังคม และให้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมาย นโยบายรัฐ ให้สอดคล้องกับความต้องการของสาธารณะ
โดยต้องเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน ทั้ง ฝ่ายการเมือง องค์กรอิสระ นักวิชาการ ภาคประชาชน วิชาชีพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคธุรกิจ เข้ามามีส่วนร่วมในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน โดยมีระยะเวลา 1 ปี และให้รัฐสภานำข้อสรุปดังกล่าวมาดำเนินการทันที
“ในการปฏิรูปการเมืองครั้งนี้รัฐต้องมีเป้าหมายเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมตัดสินใจและกำหนดความต้องการ สร้างหลักประกันด้านสวัสดิการสังคม ให้เกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ มีการกระจายโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียม รวมถึงต้องมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ให้ประชาชนได้เลือกตั้งผู้ว่าฯทุกจังหวัด” นายไพโรจน์ กล่าว
ส่วนประเด็นที่เครือข่ายประชาชน เสนอให้มีการปฏิรูป ประกอบด้วย เรื่องสวัสดิการสังคม ระบบการศึกษา ระบบสุขภาพ ระบบภาษี ระบบการคุ้มครองแรงงาน สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การกระจายอำนาจ การตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ การมีส่วนร่วมทางการเมืองและการกำหนดนโยบายสาธารณะ การจัดทำข้อตกลงระหว่างปรเทศ การปฏิรูปที่ดินเพื่อกระจายการถือครองที่ดินให้ประชาชนมีที่ทำกิน และที่อยู่อาศัยที่มั่นคง การจัดการและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กาปฏิรูปสื่อและการเข้าถึงข้อมูล ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย กระบวนการยุติธรรมให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม และการคุ้มครองผู้บริโภค