xs
xsm
sm
md
lg

สภาถกความเห็นแก้ รธน.“รสนา” ขวางชี้ ปชช.ไม่ได้ประโยชน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.
ประชุมร่วมรัฐสภาถกแก้รัฐธรรมนูญ “ดิเรก” ประธานสมานฉันท์ ย้ำข้อเสนอกรรมการรับฟังจากความเห็นจากประชาชนทุกทาง ขู่ถ้าไม่เริ่มแก้ตั้งแต่วันนี้ประเทศจะประสบปัญหารุนแรงอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน ด้าน ส.ส.ไข่แม้ว จวกแก้ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาล ชี้อย่ายื้อเวลา ขณะที่ “รสนา” ขวางชี้ 6 ประเด็นประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไร

วันนี้ (16 ก.ย.) ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณา เรื่องด่วนขอเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตามมาตรา 179 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เริ่มขึ้น เมื่อเวลา 10.00 น.โดยมี นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม

โดยก่อนที่สมาชิกจะอภิปราย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นชี้แจงถึงสาเหตุการเปิดอภิปรายว่า การแก้ปัญหารัฐบาลต้องทำพร้อมๆ กัน แม้มีความขัดแย้งในข้อกฎหมายหลายคดี ซึ่งตนกำชับเสมอว่าการบังคับต้องเป็นธรรม ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีการวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อศึกษาและเมื่อได้ผลสรุปออกมาก็ได้หารือกับประธานรัฐสภา เปิดอภิปรายทั่วไป ตามมาตรา 179 เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาได้ใช้โอกาสนี้รับฟัง สอบถามจากคณะกรรมการสมานฉันท์ พร้อมกับแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง เพื่อให้เป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาต่อไป

ขณะที่ นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ กล่าวชี้แจงว่า คณะกรรมการตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาด้านการเมืองที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทยช่วงเวลานั้น คือความแตกแยกเป็นภาค และครอบครัว สามี ภรรยาใส่เสื้อคนละสี ลูกเต้าทะเลาะกันไปหมด ซึ่งตนให้แนวคิดในการทำงานกับคณะกรรมการ ทั้ง 39 คน ว่าต้องเปลี่ยนความคิดของแต่ละฝ่ายว่าประเทศเป็นของเรา ให้ถอยหลังคนละ 1-2 ก้าว โดยเอาประเทศเป็นตัวตั้ง นอกจากนี้ยังให้หลักการทำงานกับ 3 อนุกรรมการ ที่ตั้งขึ้นว่า “หากความเป็นธรรมไม่มีความสามัคคีจะเกิดขึ้นไม่ได้”

นอกจากนี้ คณะกรรมการได้เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนทั้งการเปิดเว็บไซต์ การเปิดตู้ ป.ณ.789 รัฐสภาทำหนังสือถึงพรรคการเมืองทุกพรรค และ มหาวิทยาลัยทั่วประเทศกว่า 100 แห่ง และจัดการประชุมวิชาการหลายครั้ง โดยให้แนวทาง 3 ประเด็น คือ 1.สร้างแนวทางสมานฉันท์ 2.ปฏิรูปการเมือง และ 3.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้ผลสรุปของแนวทางการสร้างสมานฉันท์ของคณะอนุกรรมการจำนวน 3 ข้อ คือ 1.ลดวิวาทะ อคติ และการตอบโต้ใส่ร้ายทางการเมือง 2.รัฐบาลและฝ่ายค้านควรลดเงื่อนไขความขัดแย้งที่มีอยู่เดิมและไม่สร้างเงื่อนไขใหม่ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งเพิ่มขึ้น และ 3.อาศัยสื่อมวลชนในการสร้างสังคมสมานฉันท์ ทั้งนี้ คณะกรรมการ ได้เสนอรายงานต่อประธานรัฐสภาและนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ก.ค.และวันนี้ ครบ 2 เดือนพอดี ที่ได้มีการประชุมรัฐสภาเปิดอภิปรายร่วมกันถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างความสมานฉันท์ ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาลรับ 3 แนวทางที่คณะอนุกรรมการฯเสนอไปปฏิบัติ เพราะเชื่อว่าจะลดความขัดแย้งได้

สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในเบื้องต้น คณะกรรมการได้เสนอ แก้ไขใน 6 ประเด็น และระยะยาวได้เสนอให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือ ส.ส.ร.3 เพื่อศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ใหม่ทั้งฉบับ

“ถ้าประเทศเราปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญก็ต้องมาด้วยระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่มาจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นคนทำ วันนี้เราต้องเริ่มต้นสมานฉันท์ ถ้าไม่เริ่มทำผมทายได้เลยว่าประเทศชาติเราจะประสบปัญหารุนแรง อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนเลย”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อเสนอของคณะกรรมการฯที่เห็นว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญปี2550 รวม 6 ประเด็น ได้แก่ 1.มาตรา 237 ประเด็นการยุบพรรคการเมืองและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง 2. มาตรา 93-98 ประเด็นที่มาของ ส.ส.3.มาตรา 111-121 ประเด็นที่มาของ ส.ว. 4.มาตรา 190 ประเด็นการทำหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา 5. มาตรา 265 ประเด็นการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของ ส.ส.และ 6.มาตรา 266 ประเด็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนของ ส.ส.และ ส.ว.

จากนั้นสมาชิกรัฐสภาได้เริ่มอภิปราย โดยส่วนใหญ่แสดงความเห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ แต่ขอให้รัฐบาลจริงใจที่จะทำตามอย่ายื้อเวลา ขณะที่บางส่วนเห็นว่าแม้จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้วแต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ ตราบใดที่ฝ่ายการเมือง ผู้บริหารประเทศยังยึดถือผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว

นายไชยา พรหมมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปรายเป็นคนแรก ระบุว่า ความสมานฉันท์ในประเทศไม่ได้อยู่ที่รายงานฉบับนี้ แต่ขึ้นอยู่ที่นายกรัฐมนตรี อย่าให้เขาว่าซื้อเวลาด้วยการตั้ง ส.ส.ร.3 แก้รัฐธรรมนูญ เพราะการแก้รัฐธรรมนูญ สามารถ นำ ม.291 มาใช้ได้เลย โดยให้สมาชิกรัฐสภาเป็นคนแก้ วันนี้รัฐบาลต้องจริงใจรับฟังความคิดเห็นและยึด 3 แนวทางไปปฎิบัติคือ ไม่ทำเพื่อตัวเอง ไม่ทำเพื่อผลประโยชน์ของพรรคการเมือง และทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนผู้เสียภาษีมากที่สุด ซึ่งตนพร้อมสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ต้องทำให้มีประสิทธิภาพปราศจากอคติอย่างใดอย่างหนึ่ง

ด้าน นางสาวรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.อภิปรายว่า หากไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญนักการเมืองก็จะป่วนไปเรื่อย หากแก้ไขได้ผลประโยชน์การเมืองก็จะเลิกป่วน และกฎหมายอื่นๆที่มาจากการปฏิวัติไม่เห็นแก้ไขปัญหา ส่วนข้ออ้างที่ว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 เพราะมาจากการรัฐประหารนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีกฎหมายที่ออกโดยคณะปฏิวัติและยังมีผลบังคับใช้อยู่จนถึงปัจจุบันประมาณ 500 กว่าฉบับโดยไม่มีรัฐบาลไหนมาแก้ไข จึงตั้งคำถามว่า คำว่าสมานฉันท์ ปรองดองเป็นไปเพราะนักการเมืองหรือไม่ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น เกิดจากนักการเมืองเสียประโยชน์ ขณะที่หมวด 3 และหมวด 5 เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่มีปัญหาอยู่ไม่เห็นรัฐบาลหรือนักการเมืองให้ความสนใจ อย่างเรื่องเงินกู้ เรื่องมาบตาพุต ไม่เห็นรัฐบาลแตะที่รัฐบาลไม่ต้องการแตะเพราะเป็นผลประโยชน์ของพรรคร่วมรัฐบาลใช่หรือไม่ เพราะนักการเมืองเห็นว่าจัดสรรงบไม่ลงตัว ทุกอย่างก็เจรจากันได้ เสถียรภาพเกิดขึ้น โดยไม่คิดว่า จะสร้างเสถียรภาพโดยประชาชน มีรองนายกฯคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ ในกรณีที่ดินอัลไพน์เหมือนคิดว่าตัวเองยังเป็นฝ่ายค้านอยู่ แล้วบอกว่าให้หยุดวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้เหมือนกับเป็นการออกมาเกี๊ยเซี๊ยกัน เมื่อมาเป็นรัฐบาลแล้วก็หยุดการตรวจสอบ ไม่เห็นมีใครขึ้นมาเป็นรัฐบาลแล้วมาแก้ปัญหา แต่มาเจรจาเรื่องผลประโยชน์กัน รัฐบาลควรพิจารณาใหม่เป็นความหวังให้กับประชาชน โดยการสร้างเสถียรภาพ โดยการดำเนินการเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและบ้านเมือง ตนเห็นว่า 6 ประเด็นแก้ไขทำเพื่อตัวเองทั้งสิ้นไม่เห็นประเด็นไหนที่ประชาชนจะได้ประโยชน์
กำลังโหลดความคิดเห็น