ประธานศาลปกครองสูงสุด ชี้แก้รัฐธรรมนูญต้องฟังเสียงทุกฝ่ายไม่เมินเสียงค้าน ชี้ปัญหาปราสาทพระวิหาร รัฐละเลยการเจรจากับกัมพูชา ย้ำควรทำความเข้าใจคนในประเทศ หวั่นเรื่องไม่เป็นเรื่องกลายเป็นเรื่อง
วันนี้ (15 ก.ย.) นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครอง กล่าวถึงการแก้รัฐธรรมนูญที่จะมีการประชุมร่วม 2 สภาระหว่างวันที่ 16-17 ก.ย.นี้ว่า ไม่ขอตอบว่าถึงเวลาที่บ้านเมืองต้องแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ที่เคยเห็นมาประเทศทั้งหลายในโลกนี้ไม่มีที่ไหนที่เขาจะมาแก้กันเรื่อยๆ เล็กๆ น้อย แต่ไม่ได้หมายความว่ามีความจำเป็นเกิดขึ้นแล้วแก้ไม่ได้ แต่จะแก้ก็ต้องดูเหตุผลว่าเกิดอะไร มีความจำเป็นอะไร ซึ่งปัญหามีอยู่ว่าแม้ ส.ส.และ ส.ว.จะมีสิทธิ์แก้แต่ก็ต้องพิจารณาว่าตัวเองอยู่อีกกี่ปี แล้วอย่าคิดว่าช่วงที่ตัวเองอยู่ในอำนาจ คนอื่นที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้มายุ่งไม่ได้ เพราะคนที่ไม่เห็นด้วยก็มีสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญที่จะคัดค้านได้ ถ้ามองว่าแก้แล้วจะเกิดความเสียหาย หรือไปขัดแย้งกับประโยชน์ต่างๆ ดังนั้น การจะแก้รัฐธรรมนูญต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วยว่าแต่ละคนมีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะคัดค้านตามวิถีทางที่ถูกต้อง
นายอักขราทรยังขอให้ ส.ส.และส.ว.รับฟังเสียงของทุกฝ่าย ซึ่งขณะนี้มีแนวคิดและเริ่มพูดกันว่า ผู้ไม่มีหน้าที่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ควรมายุ่ง ทำให้รู้สึกเป็นห่วง และอยากให้ผู้บริหารเข้าใจว่ากฎหมายในการบริหารราชการแผ่นดินแต่ละฉบับมีความสำคัญอย่างไร ซึ่งต้องศึกษาให้รู้ถ่องแท้เพื่อให้การบริหารถูกต้องไม่ผิดพลาด เพราะกฎหมายเป็นเรื่องของเหตุและผลที่อธิบายได้ แต่ขณะนี้ผู้บริหารของเรายังไม่มีตรงนี้ ประเทศไทยจึงยังมีปัญหา จึงจำเป็นต้องแก้ให้ตรงจุด
สำหรับกรณีที่จะมีการแก้มาตรา 190 เกี่ยวกับการลงนามสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ต้องเสนอให้สภาเห็นชอบก่อนนั้น ตนเองไม่อาจตอบได้ว่าเนื้อหาของมาตรา 190 นั้นดีหรือไม่ดี แต่ขณะที่มีมาตรานี้อยู่ ไม่มีผลเสียหายว่ามีไว้เพื่อวัตถุประสงค์อะไร ซึ่งถ้าใช้ให้เป็นก็ไม่เกิดเรื่อง
นายอักขราทรยังกล่าวถึงกรณีมีการยื่นฟ้องของศาลยุติธรรมเพื่อขอให้อำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร และพื้นที่บริเวณโดยรอบเป็นของไทย รวมทั้งให้สมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และรมต.ต่างประเทศกัมพูชาออกจากพื้นที่ทับซ้อนว่า เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเป็นเรื่อง เพียงแค่รัฐบาลไทยแก้ปัญหานี้ด้วยการเปิดเจรจากับประเทศกัมพูชาว่าพื้นที่เป็นอย่างไร เชื่อว่ากัมพูชาน่าจะยอม การทำให้ความจริงเกี่ยวกับพื้นที่บริเวณรอบปราสาทพระวิหารปรากฎน่าจะเป็นวิธีที่ถูกต้อง
“รัฐบาลไทยต้องทำให้กัมพูชาเข้าใจ และเห็นว่าพื้นที่บริเวณนั้นเป็นพื้นที่ของไทย ช่วงเวลาที่ผ่านมาที่มีชาวบ้านกลุ่มนี้เข้ามาทำมาหากินมันไม่ถูกต้องอย่างไร อย่าตั้งการ์ดเห็นเป็นศัตรูหรือเป็นคนละฝั่งกัน มันจะจบปัญหานี้ไม่ได้ ขณะที่ รมว.กลาโหมต้องทำความเข้าใจกับคนในชาติ หากมีบางส่วนที่บอกไม่ได้ก็ต้องบอกให้คนไทยรู้ว่าเป็นสิ่งที่ต้องเก็บไว้ใช้เจรจา ดังนั้น ควรพูดให้รู้เรื่องอย่าปล่อยปัญหาทิ้งไว้อย่างนี้” นายอักขราทรกล่าว และว่า ปัญหาบางอย่างหากมีความเห็นไม่ตรงกัน และยังไม่ชัดเจนว่าใครผิดถูก คิดว่าเราสามารถพิสูจน์ความถูกต้องได้ด้วยข้อเท็จจริง เพราะหากปล่อยไปจะกลายเป็นไทยยอมรับแผนที่ และสิ่งที่เขากันไว้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งที่เรามีนักกฎหมาย นักการต่างประเทศและมีคนกลางเก่งๆ มากที่จะออกมาช่วยรัฐบาลทำข้อเท็จจริงให้ปรากฏ ดังนั้นไม่ควรนิ่งเฉย หรือปล่อยให้เป็นไปตามบุญตามกรรม