ปธ.วุฒิสภาเห็นพ้อง 16 ส.ว.ชะลอยื่นคำวินิจฉัยต่อศาล รธน. แนะให้รอบทพิสูจน์ข้อพิพาทระหว่าง กกต.ศาลปกครองสูงสาด ปิดช่องหางแดงตะแบงล่ารายชื่อถวายฎีกา ชี้ต้องยื่นผ่านกระทรวงยุติธรรมเท่านั้น
วันนี้ (29 ก.ค.) นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ 13 ส.วยื่นเรื่องให้ระงับการส่งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คดีการถือหุ้นของ 16 ส.ว.ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เนื่องจากขณะนี้ศาลปกครองสูงสุดได้รับเรื่องไว้ก่อนแล้วว่า ได้เห็นคำร้องของกลุ่ม 13 ส.ว.แล้วจึงได้สั่งการไปยังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการวุฒิสภา ให้พิจารณา 2 แนวทางและนำเสนอกลับมาที่ตนคือ 1.ควรจะส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 31 ก.ค.ตามกำหนดการเดิม โดยแจ้งให้ศาลรัฐธรรมนูญทราบว่า ขณะนี้ศาลปกครองสูงสุดได้รับเรื่องไว้ หรือ จะให้ตนชะลอเรื่องการเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญไว้ก่อน ซึ่งวิปวุฒิสภาจะประชุมกันภายในวันนี้ (29 ก.ค.) แล้วจะมีมติเสนอให้ดำเนินการต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะต้องแจ้งให้ กกต.ทราบหรือไม่ เพราะอาจถูกมองว่าเป็นการยื้อเวลา นายประสพสุขกล่าวว่า ในขั้นตอนนี้ถือว่า กกต.ไม่เกี่ยวข้องแล้ว เป็นเรื่องระหว่าง กกต.กับศาลปกครองสูงสุด ไม่เกี่ยวกับวุฒิสภา ทั้งนี้ ใจตนต้องการให้เรื่องจบที่ศาลรัฐธรรมนูญเร็วๆเพื่อที่จะได้รู้ว่าจะเป็นอย่างไร แต่เราไปห้ามสิทธิของสมาชิกที่จะส่งให้ศาลปกครองสูงสุดไม่ได้
ประสพสุขกล่าวถึงกรณีที่องคมนตรีออกมาแสดงความเป็นห่วงที่กลุ่มเสื้อแดงล่ารายชื่อประชาชน เพื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า เคยให้ความคิดเห็นไปแล้วว่าจะสามารถยื่นถวายฎีกาได้เฉพาะผู้ต้องโทษกับญาติเท่านั้น และต้องได้รับโทษก่อน จึงจะยื่นผ่านกระทรวงยุติธรรม ซึ่งตนไม่ทราบเจตนาของกลุ่มเสื้อแดงว่า มีเจตนาอย่างไรกับการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ทั้งที่รู้ข้อเท็จจริงว่าไม่สามารถทำได้ ส่วนที่พรรคภูมิใจไทย จะปลุกกลุ่มเสื้อสีน้ำเงินออกมาต่อต้าน การยื่นถวายฎีกานั้นเป็นเรื่องที่แต่ละพรรคจะไปคิดกัน
เมื่อถามว่า คณะองคมนตรีรู้สึกเป็นห่วงว่าการถวายฎีกาอาจจะนำไปสู่ปัญหาบานปลายได้ นายประสพสุขกล่าวว่า ต้องดูกันต่อไป จะให้ทำนายชัดเจนเป็นไปไม่ได้ เมื่อถามต่อไปว่า คณะองคมนตรีมีหน้าที่ในเรื่องดังกล่าวอย่างไร ประธานวุฒิฯ กล่าวว่า เป็นเรื่องของการส่งผิดที่ ก็ต้องส่งให้ถูกที่คือกระทรวงยุติธรรม เมื่อถามย้ำว่า ที่ผ่านมาคณะองคมนตรี ระบุว่าเคยตีกลับการยื่นถวายฎีกาขอนายกฯพระราชทานตามรัฐธรรมนูญ ม.7 แล้ว นายประสพสุขกล่าวว่า ขณะนั้นไม่มีกฎหมายที่ชัดเจน แต่คราวนี้มีกฎหมายชัดเจนคือต้องส่งที่กระทรวงยุติธรรมเท่านั้น