"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
โดย โชกุน
ขอแสดงความยินดี กับทีมวอลเล่ย์บอลหญิงไทย ที่เอาชนะทีมจีน 3 ต่อ 1 เซ็ต ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา คว้าแชมป์วอลเล่ย์บอลหญิงแห่งเอเชีย ครั้งที่ 15 มาฝากคนไทย เป็นครั้งแรก
จีน เป็นแชมป์เอเชียมา 11 สมัย เป็นเจ้าของเหรียญทองแดงโอลิมปิกเกมส์ที่ปักกิ่งเมื่อปีที่แล้ว และมีคะแนนสะสมอยู่ในอันดับ 3 ของอันดับวอลเล่ย์บอลโลก ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 17
ชัยชนะของทีมนักตบลูกยางสาวไทยครั้งนี้จึงไม่ธรรมดา และ เป็นชัยชนะที่ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แต่เป็นผลจากการพัฒนาอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอน ของสมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย ที่ใช้เวลาบ่มเพาะนักกีฬาโดยเน้นที่ความสามารถอย่างแท้จริง ไม่ใช่โตแบบบ่มแก๊สเหมือนบางสมาคมกีฬา
เมื่อเดือนที่แล้ว ทีมวอลเล่ย์บอลหญิงไทยทีมนี้ ก็เพิ่งเอาชนะ สหรัฐฯ ซึ่งเป็นเจ้าของเหรียญเงินโอลิมปิกเกมส์ ที่ปักกิ่ง และอยู่ในอันดับที่ 2 ของโลก ในการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงเวิลด์ กรังด์ปรีซ์รอบคัดเลือกที่ศูนย์เยาวชนไทย –ญี่ปุ่น ดินแดง
ในฐานะแชมป์เอเชีย ไทยจะได้สิทธิเข้าแข่งขัน เวิล์ด แกรนด์ แชมเปี้ยนคัพ ที่ญี่ปุ่น ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งมีทีมแชมป์จาก เอเชีย ยุโรป ลาตินเอเมริกา อเมริกาเหนือ+อเมริการกลาง ทีมที่ได้รับเชิญ และทีมญี่ปุ่นซึ่งเป็นเจ้าภาพ รวม 6 ทีมเข้าร่วมการแข่งขัน ชิงเงินรางวัลรวม 1 ล้านเหรียญสหรัฐ
จะมีใครสักกี่คนที่รู้ว่า ประเทศไทยนั้น เป็น 1 ใน 3 ประเทศในเอเชีย และ 1 ใน 8 ของโลก ที่เป็นศูนย์ฝึกกีฬาวอลเล่ย์บอล ของสหพันธ์วอลเล่ย์บอลนานาชาติ
ปัจจุบัน นักตบลูกยางสาวไทย เป็น “ สินค้าส่งออก” ที่หลายประเทศที่มีการแข่งขันวอลเล่ย์บอลอาชีพ ต้องการตัวไปร่วมทีมมาก ทีมแชมป์เอเชียหมาดๆชุดนี้ มีผู้เล่น 11 จาก 12 คน ไปเล่นวอลเล่ย์บอล อาชีพ อยู่ในต่างประเทศ คือ เวียดนาม ตุรกี และ สวิสเซอร์แลนด์ แม้รายได้จะไม่สูงมากเหมือนนักฟุตบอล แต่ก็ได้รับการฝึกซ้อมแบบนักกีฬาอาชีพ มีประสบการณ์ในการแข่งขัน ที่นำกลับมารับใช้ชาติได้
ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ นายกสมาคมวอลเล่ย์บอลแห่งประเทศไทยซึ่งก่อตั้งมาครบ 50 ปี ในปีนี้ จะเป็นของปลัดกระทรวงมหาดไทย มาหลายยุคหลายสมัย นายกฯคนปัจจุบันคือ นายพงษ์พโยม วาศภูติ อดีตปลัดกระทรวง
อาจจะเป็นด้วยบารมีของนายกฯ ที่เป็นคนมหาดไทย ทำให้สมาคมวอลเล่ย์บอลได้รับความสนับสนุนจากหลายๆฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน มีบริษัทใหญ่ๆอย่างเช่น ไทยเบฟเวอเรจ ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เครือซิเมนต์ไทย รองเท้าบาจา และ กฟผ. เป็นต้น เป็นสปอนเซอร์ สนับสนุนการแข่งขันในประเทศต่อเนื่องมานานหลายปี
สมาคมวอลเล่ย์บอล จัดการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทยประเภทเยาวชน ทุกรุ่นอายุ ตั้งแต่ 12 ปี 14 ปี 16 ปี และ 18 ปี แข่งขันในระดับภาค เอาผู้ชนะจากทุกภาคมาชิงแชมป์ประเทศไทย
ที่น่าสนใจคือ เป็นระบบเปิดกว้าง แต่ละจังหวัดจะส่งกี่ทีมก็ได้ ไม่จำกัด ในแต่ละปีจึงมีจำนวนนักวอลเล่ย์บอล ให้คัดเลือกเข้าสู่ทีมชาติจำนวนมาก ไม่เหมือนสมาคมฟุตบอล ที่จัดการแข่งขันระดับเยาวชนเหมือนกัน แต่จังหวัดหนึ่งส่งได้ทีมเดียว และต้องเป็นทีมในสังกัดของ การกีฬาฯประจำจังหวัดด้วย ซึ่งเป็นระบบปิด ไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นที่ไม่ใช่พวก ได้แสดงฝีเท้าโดยเท่าเทียมกัน
สมาคมวอลเลย์บอล ใช้โค้ชไทย คือ นายเกียรติพงษ์ รัชตะเกรียงไกร อดีตนักวอลเล่ย์บอลทีมชาติ แต่ใช้ระบบฝึกซ้อมแบบสากล มีการใช้วิทยาศาสตร์การกีฬามาช่วยพัฒนา ใช้ระบบสารสนเทศ ในการเก็บข้อมูล ทักษะแต่ละด้านของนักกีฬาแต่ละคน เช่น การเสิร์ฟ การเซ็ต การตบ การบล็อก เพื่อวางแผนการแข่งขัน และกำหนดตัวผู้เล่น ในแต่ละครั้ง
ความสำเร็จของทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยนั้น เป็นความสำเร็จที่ “ เมดอินไทยแลนด์” ไม่ต้องไปจ้างโค้ชตกงาน จากต่างประเทศ ค่าตัวปีละ 50 กว่าล้านบาท เหมือนสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ที่ไปจ้างนายปีเตอร์ รีด มาเป็นโค้ชทีมฟุตบอลไทย โดยไม่ประสบความสำเร็จอะไรเลย ซ้ำยังเห็นตำแหน่งผู้ช่วยโค้ช ทีมที่เพิ่งขึ้นชั้นมาเล่นพรีเมียร์ลีก อย่างสโตก ซิตี้ ดีกว่าการเป็นผู้จัดการทีมชาติไทย เผ่นหนีกลับบ้านไปดื้อๆ
เป็นความสำเร็จที่ต้องใช้ความตั้งใจจริง และใช้เวลาในการสร้าง อาจจะนานหน่อย แต่ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า ก็เป็นจริงได้