xs
xsm
sm
md
lg

พันธบัตรแบงก์ชาติ ใครมีเงินซื้อเลย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
โดย โชกุน

นับเป็นข่าวดีของคนมีเงินเก็บ เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย จะขายพันธบัตรออมทรัพย์ 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ พันธบัตรอายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.50 % และ อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได ปีที่ 1-2 ให้ดอกเบี้ย 3 % ปีที่ 3 – 4 ดอกเบี้ย 4% ปีที่ 5-6 ดอกเบี้ย 5 % และปีที่ 7 ดอกเบี้ย 6 % เฉลี่ยปีละ 4.5%

มีเงินแค่ 50,000 บาท ก็ซื้อได้แล้ว เพราะแบงก์ชาติกำหนดวงเงินซื้อขั้นต่ำไว้เท่านั้น ใครมีปัญญามากกว่านี้ ก็ซื้อเพิ่มได้ เป็นจำนวนเท่าของ 10,000 บาท จนกว่าจะพอใจ เพราะไม่ได้กำหนดวงเงินสูงสุดไว้

ตื่นแต่มืด ไปแย่งบัตรคิว ตามสาขาแบงก์พาณิชย์ 10 แห่ง ที่เป็นตัวแทนจำหน่าย ในวันที่ 3,4, และ 7 กันยายนนี้ให้ทันก็แล้วกัน

พันธบัตรแบงก์ชาตินี้ ก็คล้ายๆพันธบัตรไทยเข้มแข็ง 50,000 ล้านบาท ที่ออกโดยกระทรวงการคลังเมื่อเดือนที่แล้ว จะต่างกันก็ตรงที่อายุพันธบัตรมี 2 แบบ ขณะที่พันธบัตรไทยเข้มแข็ง มีอายุ 5 ปีแบบเดียว และให้ดอกเบี้ยแบบขั้นบันได เฉลี่ยแล้วตกปีละ 4 %

เทียบกันแล้ว พันธบัตรอายุ 4 ปี ของแบงก์ชาติ แม้ดอกเบี้ยจะต่ำกว่า 50 สตางค์ แต่ไถ่ถอนได้เร็วกว่า ปีหนึ่ง เอาเงินไปลงทุนใหม่ที่อาจได้ผลตอบแทนดีกว่า ส่วนพันธบัตรอายุ 7 ปี ดอกเบี้ยสูงกว่า 50 สตางค์ก็จริง แต่ต้องถือนานขึ้นอีก 2 ปี หักลบกลบกันแล้ว ถือว่า ผลตอบแทนของพันธบัตรแบงก์ชาติกับพันธบัตรกระทรวงการคลังไม่ต่างกันสักเท่าไร

เว้นแต่ว่า จะเป็นพวกขาใหญ่ ซื้อที 5-10 ล้านบาท ส่วนต่างจึงจะคิดเป็นเงินหลักหมื่นต่อปี

การที่แบงก์ชาติ หรือ กระทรวงการคลัง ออกพันธบัตรขายให้ประชาชนเช่นนี้ เป็นการสร้างทางเลือก ในการออมและการลงทุนระยะยาว ที่มีความเสี่ยงต่ำ และให้ผลตอบแทนสูง เมื่อเทียบกับ การฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์

ครั้งสุดท้ายที่ดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารเป็นเลข 2 หลัก คือ เมื่อ 12 ปีที่แล้ว ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี อยู่ที่ 10-11.5% ต่อปี หลังจากนั้นก็ตกรูดลงมาตลอดเหลือแค่ 6% , 4 % ,3.75 % และลงมาเหลือแค่ ห้าสลึงตอนนี้

ส่วนดอกเบี้ยออมทรัพย์ซึ่งแบงก์เคยจ่ายให้ ร้อยละ 5 บาท เมื่อปี 2540 ก็ลดลงมาเป็นลำดับเช่นเดียวกัน ปัจจุบัน เหลือเพียง ห้าสิบสตางค์เท่านั้น

คนที่เอาเงินไปฝากแบงก์ จึงเป็นผู้ที่ต้องการออมเงิน มากกว่า หวังดอกผลให้เงินงอกเงยขึ้นมา เพราะดอกเบี้ยที่ได้แทบไม่พอยาไส้ ไล่ไม่ทันภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

เมื่อเดือนกันยายน ปี 2550 แบงก์ชาติออกพันธบัตรออมทรัพย์ 80,000 ล้านบาท ขายให้ประชาชนทั่วไป และในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ก็ออกอีก 50,000 ล้านบาท ทั้งสองครั้งขายหมดเกลี้ยงแค่วันแรกเท่านั้น เช่นเดียวกับพันธบัตรไทยเข้มแข็ง 50,000 ล้านบาท ของกระทรวงการคลัง ที่ประชาชนไปรอคิวซื้อตั้งแต่เช้ามืด จนขายหมดในเวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น

แสดงว่า ประชาชนกลุ่มหนึ่งมีเงินออมสูง แต่ไม่มีช่องทาง หรืออาจจะไม่มีความรู้ เข้าไม่ถึง รวมทั้งไม่มั่นใจ กับการลงทุนอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการฝากแบงก์ เมื่อมีพันธบัตรออมทรัพย์ ออกมา จึงได้รับการตอบสนองอย่างล้นหลาม

ความเสี่ยงประการเดียวของพันธบัตรออมทรัพย์ คือ ถ้าดอกเบี้ยเงินฝากแบงก์ ปรับตัวสูงขึ้น กว่าดอกเบี้ยพันธบัตร ผู้ซื้อก็จะเสียโอกาส ที่จะได้ดอกผลที่ดีกว่า จากเงินก้อนเดียวกันนั้น หากจะขายเพื่อเอาเงินไปฝากแบงก์ก็ทำได้ แต่เงินที่ได้คืนมาจะเท่าเดิม มูลค่าหน้าตั๋วของพันธบัตร ฉบับละ 10,000 บาท อาจจะได้เงินคืนแค่ 9,500 บาท เพราะเป็นการไถ่ถอนก่อนกำหนด ในช่วงที่ดอกเบี้ยในตลาดสูงกว่าดอกเบี้ยหน้าตั๋ว

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่ดอกเบี้ยในท้องตลาดจะปรับตัวสูงขึ้นกว่าดอกเบี้ยพันธบัตร ในช่วง 1- 2 ปีนี้ เป็นไปได้ยาก ส่วนในระยะยาวกว่านั้น ยังเป็นเรื่องที่ประเมินได้ยาก แต่ถึงดอกเบี้ยจะปรับขึ้นไปในอนาคต ก็ไม่มีทางที่จะขึ้นไปถึง 7- 8 เปอร์เซ็นต์ เพราะยุคดอกเบี้ยสูง จบไปนานแล้ว ด้วยอิทธิฤทธิ์ของโลกานุวัตรทางการเงิน

พันธบัตรออมทรัพย์ของแบงก์ชาติ จึงเป็นช่องทางการออมและการลงทุนที่ดีที่สุด ในขณะนี้ สำหรับประชาชนทั่วไป ใครมีเงิน ซื้อเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น