"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
โดย โชกุน
ถ้าไม่มีเหตุขัดข้อง บ่ายสองโมงวันนี้ องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้ง 9 คน จะออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำพิพากษา คดีทุจริตต้นกล้ายางพารารา 90 ล้านต้น มูลค่า 1,440 ล้านบาท
เหตุขัดข้องถ้าจะมี ก็เพียงเรื่องเดียวคือ จำเลยไม่มาศาล แม้เพียงคนเดียว ศาลก็จะต้องเลื่อนการอ่านคำพิพากษาไปก่อน อย่างน้อย 30 วัน เพราะการอ่านคำพิพากษา จะต้องอ่านต่อหน้าจำเลยทุกคน
คดีนี้มีจำเลยถึง 44 คน แบ่งออกเป็นกลุ่มรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร 5 คน คือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ถูกฟ้องในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร หรือ คชก. นายวราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายสรอรรถ กลิ่นประทุม อดีต รมต.เกษตร และนายอดิศัย โพธารามิก อดีต รมต. กระทรวงพาณิชย์ 3 คนนี้ถูกฟ้องในฐานะ กรรมการ คชก. เช่นกัน
คนที่ 5 เป็นพระเอกของงาน เพราะเป็นต้นเหตุ เจ้าของเรื่องผู้ผลักดันโครงการแจกกล้ายางให้เกษตรกรไปปลูก คือ นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมช.กระทรวงเกษตร
จำเลยอื่นๆ เป็นข้าราชการ ที่อยู่ใน คชก. หรือ คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ หรือ คณะกรรมการจัดทำทีโออาร์ หรือ คณะกรรมการบริหารโครงการ มีตัวเป้งๆคือ นายฉกรรจ์ รักษาวงศ์ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร “มือชง” ของนายเนวิน
นอกจากนั้น ยังมีจำเลยที่เป็นภาคเอกชนที่เป็นผู้ชนะการประมูลโครงการคือ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ เมล็ดพันธุ์ บริษัทรีสอร์ทแลนด์ และบริษัทเอกเจริญ การเกษตร
ความผิดที่ โจทก์ คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ซึ่งรับไม้ต่อจาก คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. ที่หมดอายุลง เป็นผู้กล่าวหา สรุปได้ว่า การดำเนินโครงการนี้ เป็นการทุจริตเชิงนโยบาย มีการออกกฎหมายและแก้ไขกฎหมาย เพื่อเอื้อประโยชน์แก่เอกชน ในการฮั้วประมูลขายกล้ายาง90 ล้านต้น เพื่อแจกให้เกษตรกรนำไปปลูกในพื้นที่ 1 ล้านไร่
คดีนี้ เป็นคดีที่ 2 ในบรรดาคดีที่ คตส. เป็นผู้กล่าวหา ฟ้องร้องต่อศาล มีการไต่สวน รับฟังข้อเท็จจริง และมีคำพิพากษา คดีแรกคือ คดีทิ่ดินรัชดา ที่ ศาลพิพากษา จำคุก พ..ต.ท. ทักษิณ 2 ปี
คำพิพากษาที่จะออกมาในบ่ายวันนี้ จึงเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนรอฟังด้วยใจจดจ่อ เพราะเป็นคดีที่สืบเนื่องจากการยึดอำนาจวันที่ 19 กันยายน 2549 และจำเลยหลายคน เป็นนักการเมือง โดยเฉพาะนายเนวิน ที่มีบทบาทอย่างสูงในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ถ้าวันนี้ จำเลยไม่มาฟังคำพิพากษา ก็คงจะด้วยเหตุผลเดียวคือ ไม่มั่นใจว่า จะรอด เพราะ ถ้าองค์คณะผู้พิพากษา เสียงข้างมาก ลงมติว่า ผิดจริง เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์สวมกุญแจมือฉับ คุมตัวลงใต้ถุนศาล ส่งตัวไปเข้าคุกทันที
ไม่มีโอกาสกลับไปเก็บเสิ้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ ที่จำเป็นที่บ้านก่อน และไม่มิสิทธิอุทธรณ์ ฏีกา เพราะนี่เป็นศาลฎีกา ม้วนเดียวจบ
ดังนั้น ถ้าไม่ชัวร์ ไม่มาดีกว่า ขอเวลาตั้งหลักทำใจ หรือหาลู่ทางหลบหนีก่อน
ที่ผ่านมา คดีที่ขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลทำแฮททริก สั่งจำคุกจำเลยทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนายรักเกียรติ สุขธนะ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และนายวัฒนา อัศวเหม โดยทั้ง3 คน ไม่กล้ามาฟังคำพิพากษา
ถ้าวันนี้ จำเลยมาศาลทุกคน โดยเฉพาะจำเลยที่เป็นนักการเมือง ก็แสดงถึงความมั่นใจว่า มีโอกาสจะหลุดจากโทษ จำคุก จึงกล้ามาฟังคำพิพากษา
คนที่ถูกฟ้องร้องเป็นจำเลยต่อศาลนั้น เจ้าตัวเองจะรู้ดีแก่ใจว่า โอกาสที่จะพ้นข้อกล่าวหามีมากแค่ไหน เพราะตัวเองย่อมรู้ว่า ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาจริงหรือไม่ หากไม่ได้ทำผิดจริง แม้ฝ่ายโจทก์จะหาพยาน หลักฐานมาอ้างต่อศาล ก็ไม่ยากที่จะหักล้าง หากว่า ตัวเองเป็นผู้บริสุทธิ์
หรือถ้า ทำผิดตามข้อกล่าวหาจริง แต่มีการเตรียมการอย่างดี รู้จักหาช่องว่าง อ้างกฎ ระเบียบ จนหักล้างข้อกล่าวหาได้ เมื่อการสืบพยานทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยเสร็จเรียบร้อย เอาบันทึกคำให้การมานั่งอ่านอย่างละเอียด ทำใจให้เป็นกลางมากที่สุด ก็พอจะประเมินออกว่า น่าจะไปฟังคำพิพากษาหรือไม่
คำพิพากษาในวันนี้ ถ้าออกมาว่า นายเนวิน และพวกผิด สถานการณ์ของรัฐบาลจะพลิกผันอย่างยากที่จะคาดคะเน เพราะนายเนวิน เป็นตัวละครสำคัญหลังฉาก
ถ้าศาลยกฟ้อง หรือตัดสินว่าผิด แต่ไม่ลงโทษจำคุก กลุ่มเสื้อแดงก็จะนำไปเป็นประเด็นเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อได้ว่า เห็นไหมละ กระบวนการยุติธรรมของไทย เป็นอย่างนี้ หลังจากที่ตีปลาหน้าไซมาก่อนหน้านี้ว่า นายเนวินจะพ้นผิด เพราะออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการถวายฎีกา
แต่ระวังจะติดคุก ข้อหา หมิ่นศาล เพราะนี่คือ ศาลฎีกา ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ ที่วิพากษ์วิจารณ์ได้
คำพิพากษาจะออกมาอย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายต้องยอมรับ เพราะนี่คือ กระบวนการตรวจสอบนักการเมืองที่ดีที่สุด นักการเมืองที่ถูกกล่าวหา ถ้าเชื่อใจตัวเองว่า ไม่ได้ชั่วจริง ก็ต้องมั่นใจในกระบวนการยุติธรรม มีแต่คนโกงเท่านั้น ที่ขี้ขลาดตาขาว ไม่กล้ามาศาลในวันพิพากษา เพราะรู้ดีแก่ใจว่า ทำผิดจริง