"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
โดย โชกุน
แค่พม่าปิดท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากใต้อ่าวเมาะตะมะที่ข้ามแดนมาขึ้นฝั่งไทยที่กาญจนบุรี เพียง ชั่วโมงกว่า เมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม ก็ทำเอาระบบไฟฟ้าบ้านเราแทบล่ม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ต้องงัดแผนฉุกเฉิน เดินเครื่องปั่นไฟด้วยพลังน้ำ ที่เขื่อนศรีนครินทร์ เพิ่มอีก 2 ตัว เพื่อป้อนไฟเข้าระบบอย่างกะทันหัน ไม่มีเวลาเตือนให้ประชาชนที่อยู่ท้ายเขื่อนรู้ล่วงหน้าว่า น้ำจะท่วม
มิฉะนั้นแล้ว เราคงจะได้รู้ด้วยตัวเองว่า การมีชีวิตอยู่โดยไม่มีไฟฟ้าใช้กันทั้งเมืองนั้นเป็นอย่างไร
บังเอิญว่า เหตุที่ก๊าซพม่าไม่มาในครั้งนี้ เกิดขึ้นพร้อมๆกับ ท่อส่งก๊าซในอ่าวไทยรั่ว ต้องปิดซ่อมทั้งระบบ และบังเอิญอีกเหมือนกันที่อยู่ในช่วงที่มีการหยุดส่งก๊าซจากแหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ทางภาคใต้เพื่อซ่อมบำรุงตามปกติ
ก๊าซมาเลย์ ก๊าซอ่าวไทย และก๊าซพม่าที่หายไป คิดเป็นปริมาณประมาณ 1,700 ล้านลูกบาศก์ฟุต /วัน คิดเป็น 77 % ของเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า ถ้าไม่ใช้พลังงานน้ำ และน้ำมัน ถ่านหิน รวมทั้งซื้อไฟฟ้าจากลาวเพิ่ม ไฟจะหายไปจากระบบราวๆ 10,000 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตเต็มที่ 26,000 เมกะวัตต์
พูดง่ายๆ ก็คือ ไฟจะดับไปครึ่งประเทศ
เหตุการณ์น้ำท่วมท้ายเขื่อนศรีนครินทร์ เป็นหนังตัวอย่างเล็กๆ ของ ความเสี่ยงของระบบพลังงานในบ้านเรา ที่ไปผูกอยู่กับการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้ามากถึง 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ของเชื้อเพลิงทั้งหมด
ปีกลายก็เคยเกิดเรื่องแบบนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง ท่อส่งก๊าซจากพม่าเกิดขัดข้อง กฟผ.ต้องปรับแผนการปั่นไฟกะทันหัน เกือบเอาไม่อยู่เหมือนกัน
เชื้อเพลิงที่ใช้ปั่นไฟ นอกจากก๊าซธรรมชาติแล้ว ก็มีพลังน้ำ น้ำมัน ถ่านหิน และพลังงานนิวเคลียร์ ไม่นับพลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ ลม คลื่น ฯลฯ เพราะยังไม่นับว่าเป็นเชื้อเพลิงหลัก
กระทรวงพลังงานเคยมีนโยบายและแผน เกี่ยวกับความมั่นคงด้านพลังงาน คือ เตรียมการจัดหาให้มีพลังงานอย่างเพียงพอต่อความต้องการ และกระจายประเภทเชื้อเพลิงที่ใช้ให้หลากหลาย ไม่พึ่งพิงเชื้อเพลิงชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป
จำได้ไหม โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ้านกรูด และบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ลงทุนโดยเอกชน โดยใช้ถ่านหินบิทูมินัส เป็นเชื้อเพลิง แต่ถูกต่อต้านจากเอ็นจีโอ และชุมชนในพื้นที่ จนต้องล้มโครงการไปในที่สุด
ดูเหมือนว่า บทเรียนจาก 2 โครงการนี้ จะทำให้ กระทรวงพลังงาน กฟผ. และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เข็ดขยาด เลิกคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไปเลย ทั้งๆที่ ชนิดของถ่านหินที่จะใช้ และเทคโนโลยีในการลดมลพิษนั้น มันเปลี่ยนแปลงไปจากกรณีของเหมืองลิกไนต์ที่แม่เมาะไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว แต่ ปัญหามลพิษจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะก็ยังเป็นเรื่องเก่าที่เอามาเล่าใหม่ให้คนทั่วไปหวาดกลัวได้เสมอ
เมืองไทยเรา ไม่เคยเกิดไฟดับในบริเวณกว้างเป็นเวลานานๆ กระทรวงพลังงานและ กฟผ. ก็เลยไม่มีเรื่องเอาไปเล่าเปรียบเทียบกับเรื่องเหมืองแม่เมาะ ให้ประชาชนเลือกเอาว่า จะเอาแบบไหน
เอกชนที่ลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้า ขายให้กับ กฟผ. หลายๆราย เคยเสนอให้กระทรวงพลังงาน กระจายชนิดของเชื้อเพลิงให้หลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่ใช้แต่ก๊าซธรรมชาติอย่างเดียว แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจ เพราะทั้งข้าราชการ และนักการเมืองผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ไม่อยากจะเผชิญกับปัญหาการต่อต้าน สู้อยู่เฉยๆ หรือเอาเงินกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มาทำแคมเปญประชาสัมพันธ์ให้ประหยัดพลังงาน ดีกว่า สบายกว่ากันเยอะเลย
ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยนั้น จะใช้ได้อีกประมาณ 20 ปี เราจึงต้องไปแสวงหาแหล่งก๊าซในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งมาเลเซีย พม่า และเขตทับซ้อนไทย-กัมพูชา มันก็เหมือนกับการไปยืมจมูกชาวบ้านเขาหายใจ วันนี้ยังดีกันอยู่ก็ไม่เป็นไร แต่ไม่มีหลักประกันว่า ในอนาคต หากมีเรื่องระหองระแหงกัน เขาอาจจะใช้เรื่องพลังงานมาเป็นอำนาจต่อรองได้
เวลาที่รัสเซียไม่พอใจยูเครน อาวุธที่งัดขึ้นมาใช้คือ หยุดส่งก๊าซเข้าท่อที่พาดผ่านยูเครนไปยังยุโรป คนเดือดร้อน ไม่มีก๊าซใช้คือ ประชาชนในประเทศยุโรป ที่เป็นผู้ใช้ปลายทาง
เรื่องนี้ เป็นหน้าที่โดยตรงของกระทรวงพลังงานที่จะต้องดำเนินการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน ลดความเสี่ยงจากการพึ่งกาซธรรมชาติในการผลิตกระแสไฟฟ้ามากเกินไป แน่นอนว่า มันเป็นเรื่องยากในการทำความเข้าใจกับประชาชน แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ ไม่ใช่ทำแต่งานประชาสัมพันธ์ง่ายๆ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาเร่งด่วนคือ ต้องเร่งทำให้ เจ้ากระทรวงคือ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกุลเข้าใจเสียก่อนว่า เรื่องน้ำท่วมที่ท้ายเขื่อนศรีนครินทร์นั้น มันเป็นสัญญาณเตือนภัยระบบพลังงานของไทยอย่างไร เพราะในที่ประชุม ครม.วานนี้ นพ.วรรณรัตน์ ยังคิดว่า เป็นปัญหาของการระบายน้ำจากเขื่อน และสั่งการให้ กระทรวงพลังงาน ให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเท่านั้น