xs
xsm
sm
md
lg

“มติชน” ไม่หยุดป้องฆาตกร อ้างถ้าตำรวจไม่ทำอาจมีการฆ่ากันตายในรัฐสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขรรค์ชัย บุนปาน เจ้าของมติชน
หนังสือพิมพ์มติชนของขรรค์ชัย บุนปาน ยังไม่เลิกบิดเบือน เปิดตัวยืนข้างอำนาจรัฐที่สั่งฆ่าประชาชน เรียกร้องความเป็นธรรมให้ตำรวจที่ฆ่าประชาชนในเหตุการณ์ 7 ตุลา อ้างถ้าไม่ใช้กำลังเข้าสลายพันธมิตรฯ อาจจะมีการฆ่ากันตายในรัฐสภา

ทั้งนี้ คอลัมน์ “เหยี่ยวถลาลม” ของหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 10 ตุลาคม 2552 ได้เขียนบทความเรื่อง "เจตนา" ว่า

“เมื่อพิจารณาสถานการณ์ 7 ตุลา” ที่ฝูงชนจำนวนมากและร้อนแรงปิดล้อมรัฐสภา ขณะนั้นปุถุชนทั่วไปจินตนาการได้ว่า ใกล้สู่ภาวะจลาจล สมมติว่าตำรวจเลือกที่จะ “วางเฉย” ไม่วางแผน ไม่จัดกำลังเข้าสกัดกั้นฝูงชน เหตุการณ์ 7 ตุลา อาจจะไม่เกิดขึ้นอย่างที่ปรากฏ

แต่อาจจะเป็นอย่างอื่นก็ได้ เช่น ฝูงชนบุกรัฐสภาสำเร็จ ผู้นำฝูงชนควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ ผู้คนบุกทำลายอาคารสถานที่ข้าวของ

กระทั่งอาจจะมีการฆ่ากันตายในรัฐสภา!

ถ้าหากวางเฉยหรือใส่เกียร์ว่าง ตำรวจผู้มี “หน้าที่” ควรจะมีความผิดฐาน “ละเว้น” จากการปฏิบัติหน้าที่ เหมือนทหารที่หนีทัพ ตำรวจมี “หน้าที่” ซึ่งต้องทำ แล้วไม่ทำ ตำรวจก็ต้อง “รับผิด” ใน “ผล” ที่เกิดจากการ “ไม่ทำหน้าที่” นี่เรียกว่า “ละเว้น!”

แต่ในเหตุการณ์จริง ตำรวจ “ปฏิบัติหน้าที่” ตามแผนควบคุมฝูงชน จัดกำลังเข้าตรึงผู้คนเพื่อยับยั้งป้องกัน ในสถานการณ์นั้นตำรวจก็มีเจ็บจนถึงสาหัส ถูกแทง ถูกทุบตีทำร้าย ถูกขับรถชนแล้วทับซ้ำ

สถานการณ์ตอนนั้นชุลมุนวุ่นวายใกล้จลาจล! จึงมีการใช้แก๊สน้ำตาสลายฝูงชนที่คลุ้มคลั่งเคืองแค้นอันเนื่องมาจากการปลุกระดม”

ข้อกล่าวหาของ “เหยี่ยวถลาลม” ที่ระบุว่า ถ้าตำรวจไม่ฆ่าพันธมิตรฯ แล้วอาจมีการฆ่ากันตายในสภานั้น เป็นการวิจารณ์ที่ขาดสามัญสำนึกของสื่อมวลชน เพราะเท่ากับ “เหยี่ยวถลาลม” กล่าวหาว่า ตำรวจมีเหตุผลในการใช้ความรุนแรงกับพันธมิตรฯ จนมีผู้เสียชีวิต แขนขาขาด และบาดเจ็บจำนวนมาก ถ้าไม่ทำเช่นนั้นพันธมิตรฯ อาจจะเข้าไปฆ่าคนตายในรัฐสภา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่คิดและจินตนาการขึ้นมาเอง

“เหยี่ยวถลาลม” แก้ต่างว่า ตำรวจ “ปฏิบัติหน้าที่” ตามแผนควบคุมฝูงชน จัดกำลังเข้าตรึงผู้คนเพื่อยับยั้งป้องกัน ในสถานการณ์นั้นตำรวจก็มีเจ็บจนถึงสาหัส ถูกแทง ถูกทุบตีทำร้าย ถูกขับรถชนแล้วทับซ้ำ แต่ “เหยี่ยวถลาลม” ไม่ได้อธิบายว่า ตำรวจ “ปฏิบัติหน้าที่” ตามแผนควบคุมฝูงชนอย่างไร เพราะโดยข้อเท็จจริง ตำรวจไม่ได้ดำเนินการตามหลักการสลายการชุมนุมที่ต้องมีการเจรจาก่อน และมีการยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ตัวผู้ชุมนุม

“เหยี่ยวถลาลม” อ้างว่า ในสถานการณ์นั้นตำรวจก็มีเจ็บจนถึงสาหัส ถูกแทง ถูกทุบตีทำร้าย ถูกขับรถชนแล้วทับซ้ำ แต่ “เหยี่ยวถลาลม” ไม่ได้บอกว่า เหตุการณ์ดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นหลังจากตำรวจใช้ความรุนแรงกับประชาชนแล้ว

“เหยี่ยวถลาลม” อ้างว่า ตำรวจะมีความผิดฐาน “ละเว้น” จากการปฏิบัติหน้าที่ เหมือนทหารที่หนีทัพ แต่ “เหยี่ยวถลาลม” ไม่ได้ย้อนกลับไปดูว่า เหตุการณ์ที่เสื้อแดงปิดล้อมรัฐสภา เพื่อไม่ให้รัฐบาลประชาธิปัตย์เข้าไปแถลงนโยบายนั้น ที่ไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น ก็เพราะรัฐบาลประชาธิปัตย์เลือกที่จะหลีกเลี่ยงความุรนแรงด้วยการไปแถลงนโยบายที่กระทรวงการต่างประเทศ ที่สำคัญ มติของ ป.ป.ช.ครั้งนี้ก็เอาผิดเฉพาะผู้สั่งการไม่ได้เอาผิดตำรวจที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา

“เหยี่ยวถลาลม” อ้างว่า ตำรวจต้องใช้แก๊สน้ำตาสลายฝูงชนที่คลุ้มคลั่งเคืองแค้นอันเนื่องมาจากการปลุกระดม แต่โดยข้อเท็จจริงในการชุมนุมปิดล้อมหน้ารัญสภามาตั้งแต่คืนวันที่ 6 ตุลาคมนั้น ผู้ชุมนุมไม่ได้แตะต้องแม้แต่รั้วข้องรัฐสภา ส่วนที่ประชาชนมีความโกรธแค้นตำรวจ ขับรถพุ่งเข้าชนหรือใช้ด้ามธงก็หลังจากที่ถูกตำรวจใช้ความรุนแรงจนมีพันธมิตรฯบาดเจ็บจำนวนมาก แม้แต่ในการชุมนุมของเสื้อแดงก็มีการขับรถเมล์และรถแท็กซี่พุ่งชนทหารที่เข้าไปสลายกำลัง

และ “เหยี่ยวถลาลม” ไม่ได้ตั้งคำถามต่อตำรวจว่า ถ้าหากตำรวจใช้วิธีการสลายการชุมนุมตามหลักสากลที่ทหารใช้ในการสลายการชุมนุมเสื้อแดง จะมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากแบบที่กระทำต่อพันธมิตรฯ หรือไม่

นอกจากนั้น “เหยี่ยวถลาลม” พยายามอ้างเสียงส่วนน้อยอยู่ 1 เสียง นั่นคือ น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล เพื่อปกป้องตำรวจว่าไม่มีเจตนากระทำผิด แต่โดยข้อเท็จจริงแหล่งข่าวจาก ป.ป.ช.ระบุว่า สาเหตุที่ น.ส.สมลักษณ์ เป็นเสียงข้างน้อยในมติดังกล่าว เนื่องจาก น.ส.สมลักษณ์มีความเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 9 คนต้องมีความผิดทั้งหมด ไม่ใช่แค่ 4 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น