อุบลราชธานี-ตัวแทนชาวบ้านคำสร้างไชย อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี พร้อมหมู่บ้านใกล้เคียง 12 คน ตบเท้าบุกรัฐสภายื่นหนังสือคัดค้านการขอสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลใช้แกลบเป็นพลังงานของบริษัทบัวสมหมายไบโอแมสจำกัด ซึ่งตัวแทนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กระทรวงพลังงาน ระบุโรงไฟฟ้าที่สร้างปัญหาให้สิ่งแวดล้อมต้องรับผิด พร้อมไม่ออกใบอนุญาตให้ไปทำผิดซ้ำในที่แห่งใหม่ด้วย
วันนี้(7 ก.ย.) น.ส.สดใส สร่างโศก แกนนำต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลบ้านคำสร้างไชย อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจำนวน 12 คน ได้ร่วมรับฟังการเสวนา “มีโรงไฟฟ้า เหมือน มี “ส้วม” ไว้หน้าบ้าน?” ที่ห้องประชุมรัฐสภาอาคาร 2 ซึ่งคณะกรรมมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้จัดขึ้น
โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.ศุภิชัย ตั้งใจตรง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กระทรวงพลังงาน นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ นายอเนก นาคะบุตร ที่ปรึกษาด้านพัฒนาสิ่งแวดล้อม นายนที สิทธิประศาสน์ อุปนายกสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัยมูลนิธินโยบายสุขภาวะ ดำเนินรายการโดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
นางอานิก อัมระนันท์ เลขานุการคณะกรรมมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎรกล่าวถึงวัตถุประสงค์การสัมมนาครั้งนี้ เพราะไฟฟ้ามีความจำเป็นที่ทุกคนต้องใช้ การเตรียมจัดหาและผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอ จึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่มีการคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ในหลายพื้นที่ คณะกรรมมาธิการการพลังงาน จึงจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อบริหารจัดการดูแลชุมชนและป้องกันผลกระทบอันเกิดจากการสร้างโรงไฟฟ้า ทั้งปัญหาที่ผ่านมาของโรงไฟฟ้า และทิศทางการสร้างโรงไฟฟ้าในอนาคต
ดร.ศุภิชัย ตั้งใจตรง ตัวแทนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานกล่าวว่า พลังงานไฟฟ้ามีความจำเป็นที่ต้องจัดหาให้พอเพียงกับความต้องการ โดยไฟฟ้าจะขาดไม่ได้ การสร้างโรงไฟฟ้าให้มีกำลังไฟฟ้าสำรอง จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง การสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามประเทศไทยจะมีการทบทวนการวางแผนการผลิตไฟฟ้าของประเทศในปีหน้า โดยมีข้อเสนอสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ แต่อยู่ในพื้นที่เดิมด้วยเทคโนโลยี่ใหม่น่าเป็นสิ่งที่ดีกว่า
สำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่แห่งใหม่ ต้องมีการเลือกพื้นที่สร้างที่เหมาะสมจริงๆ ส่วนปัญหาโรงไฟฟ้าเก่าที่สร้างผลกระทบให้กับชุมชน สังคม ต้องยกเลิกได้ เพราะระบบไฟฟ้าสำรองปัจจุบันมีเพียงพอกับความต้องการใช้
“หากโรงไฟฟ้าไหนไม่ดีก็ต้องเอาออกไปจากระบบได้” ดร.ศุภิชัยกล่าว
ด้านนางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะกล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านรอบแม่เมาะ จ.ลำปาง ต้องเป็นผู้รับกรรมที่การไฟฟ้าทำให้กับชาวบ้าน และยังไม่เคยชดใช้ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน แม้ว่าศาลจะมีคำสั่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นฝ่ายผิด และต้องรับผิดชอบผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกับยื่นอุทธรณ์ขอต่อสู้กับศาลอีก
ปัจจุบันชาวบ้านความมีความเห็นว่า การสำรองไฟฟ้าในประเทศเป็นการสำรองไฟฟ้าให้กับนายทุน นักการเมืองเท่านั้น “การสร้างโรงไฟฟ้ายังเป็นการแย่งชิงทรัพยากรของชุมชนและทำลายพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน พร้อมทั้งสร้างปัญหาเรื่องสุขภาพให้ชุมชนต่อไป”
น.ส.สดใสกล่าวว่า การนำตัวแทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลเข้ารับฟังการสัมมนาครั้งนี้ นอกจากให้ชาวบ้านได้รับรู้ข้อมูลที่เป็นจริงที่กำลังจะเกิดขึ้น หลังเกิดโรงไฟฟ้าขึ้นในชุมชนแล้ว ตัวแทนชาวบ้านที่เดินทางไปร่วมรับฟังได้ถือโอกาสยื่นหนังสือคัดค้านการขอสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยใช้แกลบเป็นพลังงานของบริษัทบัวสมหมายไบโอแมสจำกัด ต่อ ดร.ศุภิชัย ตั้งใจตรง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
ดร.ศุภิชัยแจ้งว่า แม้โรงไฟฟ้าที่บริษัทบัวสมหมายไบโอแมสจำกัดสร้างขึ้นมีกำลังผลิตต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ ก็เลี่ยงการรับผิดชอบทางกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมไม่ได้ ขณะนี้กำลังหารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติถึงการสร้างโรงไฟฟ้าที่มีขนาดต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ หากโรงไฟฟ้าใดสร้างผลกระทบขึ้นมาแล้วไม่รับผิดชอบ จะไปสร้างในที่แห่งใหม่ก็ไม่ได้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะไม่ออกใบอนุญาตให้กับบริษัทโรงไฟฟ้านั้นแน่นอน