กกต.มีมติฟันส.ส.ถือหุ้นต้องห้ามอีก 16 ราย 3 รมต. “เกื้อกูล-บุญจง-มานิต” โดนด้วย ด้าน “ลูกเจ๊แดง- เสธ.หนั่น” รอดแม้ถือหุ้นบริษัทสัมปทานแต่แสดงเจตนาพร้อมหลักฐานไม่ต้องการคงไว้ ขณะที่ “ถาวร-เจ๊วา” ก็ไม่ผิด รวมทั้งรัฐสภามีส.ส.-ส.ว.เข้าข่ายสมาชิกภาพสิ้นสุดลง 45 คน
วันนี้ ( 9 ก.ย.) นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. แถลงภายหลังการประชุมว่าที่ประชุมกกต.ได้พิจารณารายงานการสรุปผลการไต่สวนกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา และนาย สมคิด หอมเนตรนักวิชาการอิสระ ยื่นคำร้องขอให้ กกต. ตรวจสอบ การกระทำของ ส.ส. 44 รายเนื่องจากอาจกระทำการเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 48 และมาตรา 265 (2) เพราะถือครองหุ้น ในบริษัทสื่อ และบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานรัฐ โดยมติเสียงข้างมาก เห็นว่า การกระทำของ ส.ส. 16 ราย เป็นความผิด และเป็นเหตุที่ทำให้อาจสิ้นสมาชิกภาพความเป็น ส.ส. ตามาตรา 106 ประกอบด้วย. 1.นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย โดยคู่สมรส ที่ถือหุ้น ปตท. สผ. 2.นายสมพล เกยุราพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ถือหุ้นบริษัท ทีทีแอนด์ที และบริษัท ทีพีไอโพลีน 3.นางปานหทัย เสรีรักษ์ ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย ถือหุ้นบริษัทสหโคเจน ชลบุรี และ บริษัท อีคอนนิวส์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจหนังสือพิมพ์รายปักษ์ และ บริษัทศิลามณีหินอ่อน ที่ ได้รับประทานบัตรในที่ดินของกรมป่าไม้
4.นายเอี่ยม ทองใจสด ส.ส.เพชรบูรณ์ พรรคเพื่อไทย ถือหุ้นบริษัท ปูนซีเมนต์ เอเชียจำกัด ที่ได้รับประทานบัตรในที่ดินกรมป่าไม้ 5.นาย ไพโรจน์ ตันบรรจง ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย ถือหุ้นบริษัท โกลด์พลังงานจำกัด 6.นายรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย บริษัทไทยคมจำกัด (มหาชน) 7.ร.ท. ปรีชาพล พงษ์พานิช ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ถือหุ้นบริษัท ปตท.สผ. และบริษัท อสมท.จำกัด (มหาชน) 8.นาย อัสนี เชิดชัย ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย โดยคู่สมรส ถือหุ้นบริษัท ทรูวิชั่น จำกัด (มหาชน)
9.นาง มลิวัลย์ ธัญญสกุลกิจ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อแผ่นดิน ถือหุ้นบริษัท ปตท.สผ. 10.นาย สาธิต เทพวงศ์ศิริรัตน์ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อแผ่นดิน ถือหุ้นบริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) 11.ม.ร.ว.กิติวัฒนา (ไชยันต์) ปกมนตรี ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน ถือหุ้นบริษัท ทีทีแอนด์ที 12.น.ส. ตรีนุช เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว พรรคประชาราช ถือหุ้นบริษัทพีทีเอ คอนสตรัคชั่น ที่รับประทานบัตรเหมืองในที่ดินป่าไม้ 13.นายเสนาะ เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว พรรคประชาราช โดยคู่สมรส ถือหุ้นบริษัททางด่วนกรุงเทพจำกัด (มหาชน)
ส่วนรัฐมนตรีที่กกต.มีมติมี 3 คน ประกอบด้วย 14.นาย เกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร ส.ส.อยุธยา และรมช.คมนาคม โดยคู่สมรส ถือหุ้น ปตท.สผ. 15.นาย บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา และรมช.มหาดไทย โดยภรรยาถือหุ้น ปตท.สผ. 16.นาย มานิต นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี และรมช.สาธารณสุข ถือหุ้นบริษัททรูวิชั่น บริษัท ปตท.สผ. และ บริษัททีพีไอ จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ แยกเป็นพรรคเพื่อไทย 8 คน พรรคเพื่อแผ่นดิน 3 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน พรรคประชาราช 2 คน และพรรคภูมิใจไทย 2 คน
ส่วน ส.ส. อีก 28 ราย กกต. มีมติว่าถือครองหุ้นในบริษัทที่ไม่เข้าข่ายต้องห้ามประกอบด้วย 1.พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส. นนทบุรี พรรคเพื่อไทย 2.นาย อดุลย์ วันไชยธนวงศ์ ส.ส.แม่ฮ่องสอน พรรคเพื่อไทย 3.นาย นิทัศน์ ศรีนนท์ ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย 4.นาย ปวีณ แซ่จึง ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย 5.นาย อิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ ส.ส.ลำปาง พรรคเพื่อไทย 6.นาย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย 7.น.ส. ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย 8.นาย อิทธิเดช แก้วหลวง ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย 9.นาง ดวงแข อรรณนพพร ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย 10.นาย ภูมิ สาระผล ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย
11.พล.อ. สมชาย วิษณุวงศ์ ส.ส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย 12.นาย วิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส. กทม. พรรคเพื่อไทย 13.น.ส. กฤษณา สีหลักษณ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย 14.นาย วิรุฬ เตชะไพบูลย์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย 15.พล.ต.อ. วิรุฬห์ พื้นแสน ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย 16.นาย วัลลภ ไทยเหนือ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน 17.พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน 18.นาย ประนอม โพธิ์คำ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อแผ่นดิน 19.นาย สมเกียรติ ศรลัมพ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน 20.นาย อนุวัฒน์ วิเศษจินดาวัฒน์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อแผ่นดิน
21.นายสมชัย เจริญชัยฤทธิ์ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคประชาราช 22. นายชัย ชิดชอบ ส.ส.สัดส่วน พรรคภูมิใจไทย 23.นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ ส.ส.นครราชสีมา พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 24.นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ ส.ส.พิษณุโลก พรรคกิจสังคม 25. พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ส.ส.พิจิตร พรรคชาติไทยพัฒนา รองนายกรัฐมนตรี 26.นายอัศวิน วิภูศิริ ส.ส.สัดส่วน พรรคชาติไทยพัฒนา 27.นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล ส.ส.นครราชสีมา พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา รมว.พลังงาน 28.นายไพฑูรย์ แก้วทอง ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ รมว.แรงงาน
ทั้งนี้ สำหรับ พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ ที่ถูกกล่าวหาว่าถือหุ้นบริษัท ทีทีแอนด์ทีจำกัด (มหาชน) และ บริษัทสามารถเทเลคอม จำกัด (มหาชน) แต่ กกต. พิจารณาว่าไม่เข้าข่ายความผิด เนื่องจาก พล.ต.สนั่นแสดงเจตจำนงที่จะสละสิทธิการถือหุ้นดังกล่าวก่อนจะเขารับตำแหน่งโดยมีเอกสารยืนยันชัดเจนว่าได้ให้โบรกเกอร์ขายแล้ว และขายได้บางส่วนก่อนเข้าดำรงตำแหน่ง และบางส่วนขายได้ภายหลัง กกต. เสียงข้างมากจึงเห็นว่าไม่มีเจตนาถือตครองหุ้นและไม่ถือเป็นความผิด
นายสุทธิพลกล่าวอีกว่า มติเสียงข้างมากของกกต.ดังกล่าวไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากเป็นการลงมติรายบุคคลที่บางคนจะมีคะแนนไม่เท่ากันซึ่งหลังจากนี้ กกต. จะส่งรายชื่อ ส.ส. ที่มีมติว่า กระทำการเข้าข่ายให้ต้องสิ้นสมาชิกภาพไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อดำเนินการตามมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ แต่หลังจากนั้นเราคงจะปังคับให้ประธานสภาส่งเรื่องยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยเร็วไม่ได้ เพราะแต่ละองค์กรต้องทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีรัฐมนตรี 3 คนที่ กกต.มีมติว่าถือหุ้นต้องห้ามจะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดหรือไม่ นายสุทธิพลกล่าวว่า ไม่เกี่ยวกันเพราะผู้ร้องร้องให้สิ้นสมาชิกภาพความเป็น ส.ส. เท่านั้น ประกอบกับ รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่า รัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กกต.เคยมีมติว่า ส.ว. 16 คนและส.ส. ปชป. 13 คนสมาชิกสภาพสิ้นสุดลง ประกอบด้วย 1 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ตรึงใจ บูรณสมภพ ส.ว.สรรหา 2.นาย ถาวร ลีนุตพงษ์ ส.ว.สรรหา 3.นาย บุญชัย โชควัฒนา ส.ว.สรรหา 4.นาย พิชัย อุตมาภินันท์ ส.ว.สรร 5.นาง พรพันธุ์ บุญรัตพันธุ์ ส.ว.สรรหา 6.นาย สมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา 7.นายวรวุฒิ โรจนพาณิช ส.ว.สรรหา 8.นาย สิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกูล ส.ว.กาฬสินธุ์ 9.นาย สุพจน์ เลียดประถม ส.ว.ตราด 10.นาง พิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ ส.ว.พิษณุโลก 11.นาย จรัล จึงยิ่งเรืองรุ่ง ส.ว.สระบุรี 12.พล.ต.อ. โกวิท ภักดีภูมิ ส.ว.อ่างทอง 13.นาง นฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ 14.นายจิตตพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ 15.นาย สมชาติ พรรณพัฒน์ ส.ว.นครปฐม 16.ร.ศ. อัจฉรา เตชฤทธิพิทักษ์ ส.ว.สรรหา
ส่วนส.ส.ปชป. 13 คน ประกอบด้วย 1.นาย สุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี เลขาธิการพรรค และรอง 2.นาย อนุชา บูรพชัยศรี ส.ส.กทม. 3.นาย สมเกียรติ ฉันทวานิช ส.ส.กทม. 4.นาย สราวุธ อ่อนละมัย ส.ส.ชุมพร 5.นาย เธียรชัย สุวรรณเพ็ญ ส.ส.ตาก 6.น.ส. นริศา อดิเทพวรพันธ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช 7.นาย สัมพันธ์ ทองสมัคร ส.ส.นครศรีธรรมราช 8.นาย จุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก 9.นาย เจือ ราชสีห์ ส.ส.สงขลา 10.นาย ลาภศักดิ์ ลาภาโรจน์กิจ ส.ส.สงขลา 11.นาง นิภา พริ้งศุลกะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี 12.น.ส. เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ ส.ส.สัดส่วน กลุ่มที่ 8 13.นาย ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ส.ส.สัดส่วน
สำหรับบริษัทที่กกต.มีมติว่าเข้าข่ายเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจสื่อ และเป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐตามนัยยะมาตรา 265 (2)(4) มีทั้งหมดรวม 22 บริษัท ประกอบด้วย 1บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) 2.บริษัทอสมท.จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท โทเทิล แอคเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) 4.บริษัท โกล์ว พลังงาน จำกัด (มหาชน) 5.บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) 6.บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 7.บริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) 8.บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) 9.บริษัททีพีไอโพลีน จำกัด มหาชน 10.บริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) 11.บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งจำกัด (มหาชน) 12.บริษัทสหโคเจน (ชลบุรี ) จำกัด (มหาชน) 13.บริษัทชินคอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) 14. บริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) 15.บริษัททรูคอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) 16 .บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) 17.บริษัทผู้จัดการ จำกัด (มหาชน) 18.บริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 19.บริษัท อีคอนนิวส์จำกัด (มหาชน) 20 บริษัทศิลามณีหินอ่อนจำกัด (มหาชน) 21.บริษัทปูนซีเมนต์เอเชียจำกัด (มหาชน) และ 22 บริษัท พีทีเอ จำกัด (มหาชน)
ซึ่งเมื่อรวมกับการพิจารณามีมติครั้งนี้ทำให้ทั้งรัฐสภามีส.ส.และส.ว.ที่กกต.มีมติว่ากระทำการต้องห้ามจนเป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงรวม 45 โดยเป็นส.ว. 16 คน ส.ส 29 คน
นายสุทธิพล ยังแถลงด้วยว่า นอกจากนี้ที่ประชุมกกต.ได้มีมติให้ยุติเรื่องกรณีนายเรืองไกร ร้องขอให้ตรวจสอบนายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย และนางพร ทิวานาคาศัย รมว.พานิชย์ เนื่องจากถือครองหุ้นที่อาจเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญจนเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง เนื่องจากเห็นว่า ในส่วนของนายถาวร ที่ได้มีการแจ้งบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินไว้ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2551 กรณีเข้ารับตำแหน่งรมช.มหาดไทย ซึ่งแสดงทรัพย์สินในหมวดเงินลงทุน ว่ามีเงินลงทุนในคณะบุคคล 1 แห่ง คือ คณะบุคคล วรจันทร์ แจ้งมูลค่าเงินลงทุนไว้ 100,000 บาท โดยเป็นเงินลงทุนส่วนของคู่สมรส จากการตรวจสอบทั้งพยานหลักฐาน เอกสารต่างๆ แล้วเห็นว่า กรณีการดำเนินการของภรรยาของนายถาวรนั้น ไม่เข้าลักษณะต้องห้ามเนื่องจากการตั้งคณะตรวจสอบบัญชีของพล.ต.หญิง จันทิมา เสนเนียม ไม่เข้าลักษณะห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ และการตั้งบริษัทไม่ได้เป็นไปเพื่อแสวงหากำไร
ส่วนนางพรทิวา นั้น แม้ข้อเท็จจริงจะถือครองหุ้นบริษัทการบินไทย 200 หุ้นแต่เป็นการถือก่อนวันเข้ารับตำแหน่ง และถือครองไม่เกินร้อยละ 5 ตามมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนของรัฐมนตรีอีกทั้งก่อนหน้านี้กกต.ได้เคยวินิจฉัยว่าบริษัทการบินไทย ไม่ได้เป็นนิติบุคคลที่ทำคู่สัญญากับรัฐ จึงไม่ได้กระทำความผิด จึงเสนอให้ยกคำร้องและให้ยุติเรื่อง