xs
xsm
sm
md
lg

“กษิต” ย้ำอุดมการณ์ยังเหมือนเดิม แต่ต้องยึดหลักเจรจา ตามข้อตกลงไทย-เขมร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กษิต” ยันทุกอย่างโปร่งใส ย้ำชัดไทยยังไม่เสียดินแดน เหตุขึ้นเขาวิหารไม่ได้เพราะอ้างสิทธิโดยถือแผนที่คนละฉบับกัน เผยข้อตกลงผู้นำไทย-เขมร ยึดหลักเจรจา ทำให้ไม่สามารถใช้กำลังทหารกดดันได้ ระบุเขมรล้ำเขตสามารถให้ย้ายออกไปได้ หากร่างข้อตกลงผ่านรัฐสภาแล้ว



คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายกษิต ภิรมย์ ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีปราสาทพระวิหาร


วันนี้ (7 ก.ย.) เมื่อเวลา 20.30 น. นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข้อเท็จจริงกรณีปราสาทพระวิหาร ผ่านทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 ว่า ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า 1.กระบวนการทำงานของรัฐบาลเกี่ยวกับกรณีเขาวิหารเราทำงานกันเป็นทีม มีการประสานงานกันตลอดกับส่วนกลาง ทั้งสภาความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย ก.ต่างประเทศ และ ก.กลาโหม รวมถึงแม่ทัพภาค 2 อะไรที่เกิดขึ้นจะมีข้อมูลข่าวสารถึงกันตลอด นอกจากนี้ทหารที่อยู่ในพื้นที่ประชิดชายแดน ก็มีการติดต่อฝ่ายกัมพูชาตลอดเวลา 2.ผู้นำทั้งสองประเทศระหว่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กับ สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ตกลงให้คำมั่นว่าจะแก้ปัญหาในแนวทางสันติวิธี ด้วยการยึดหลักเจรจา และจะไม่เอาเรื่องของเขตุแดนมาเล่นการเมืองภายใน โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายเทคนิค ที่จะทำการพิจารณาปักปันเขตุแดนร่วมกัน

ทั้งนี้ ในรัฐบาลปัจจุบัน ได้แต่งตั้ง นายวศิน ธีรเวชญาณ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา เข้าเจรจากรอบการตกลงที่สภาให้ความเห็นชอบตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 ถึงสามครั้ง นอกจากนั้นยังมีเอกสารช่วยในการเจรจา เช่น สนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส และแผนที่ซึ่งได้รับการช่วยเหลือในการจัดทำจากรปะเทศสหรัฐเอมริกา (L7107) อีกทั้งยังมีบันทึกช่วยจำ 2543 สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ทั้งนี้ในเบื้องต้นการเจรจา 3 ครั้งที่ผ่านมา มีการบันทึกข้อสรุปการเจรจาพร้อมกับเซ็นลงนามโดยหัวหน้าเจรจาทั้งสองฝ่าย โดยขณะนี้บันทึกข้อสรุปดังกล่าวอยู่ในขั้นการให้ความเห็นชอบของสภาฯ เพื่อให้สามารถดำเนินขั้นต่อไปได้ หากข้อตกลงผ่านสภาแล้ว สิ่งที่จะต้องทำต่อไปคือถ่ายภาพทางอากาศและเดินสำรวจภาคพื้นดิน เพื่อหาเสาเขตุแดนที่ชัดเจนว่าพื้นที่ใครอยู่ตรงไหน ซึ่งแต่เดิมมีเสาอยู่ 73 เสา มีการค้นพบ 50 เสา ได้รับการรับรองไปแล้ว 30 กว่าเสา เหลืออีกประมาณ 20 กว่าเสา ที่ยังรอการพิสูจน์ต่อไป อย่างไรก็ตาม สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อสภาให้ความเห็นชอบแล้วเท่านั้น

นายกษิตกล่าวว่า การเจรจาที่ผ่านมาไม่เกี่ยวกับเรื่องเขตุแดน เป็นการพิจารณาถึงกรอบร่างข้อตกลงชั่วคราว เกี่ยวกับตัวปราสาทเขาวิหารเท่านั้น ซึ่งข้อตกลงนี้รัฐสภาเคยให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อ ต.ค.2551 ใน 2 ประเด็นด้วยกัน คือ กรอบที่เกี่ยวกับพื้นที่ทั้งหมด และกรอบเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับตัวปราสาทเขาวิหาร ดังนั้น ข้อตกลงชั่วคราวที่ผ่านสภาจึงเป็นเพียงการรายงานให้สภาฯรับทราบถึงความคืบหน้า ไม่ใช่เป็นการขอให้ความเห็นชอบ เพราะยังมีเรื่องที่ยังตกลงกันไม่ได้ในการเรียกชื่อเขาวิหารระหว่าง เปรียะวิเฮียร์ กับ พระวิหาร

นายกษิตกล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้ไทยไม่สามารถขึ้นไปชมเขาวิหารได้ เพราะขณะนี้อยู่ในระหว่างการรอการเจรจาเกี่ยวกับเขตุแดนที่ไทยอ้างเป็นเจ้าของทังหมด ตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส โดยยึดเขตุสันปันน้ำเป็นหลัก ส่วนกัมพูชายึดแผนที่ฝรั่งเศส จึงทำให้เกิดข้อพิพาทขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อทั้งสองประเทศมีข้อพิพาทเรื่องเขตุแดน ปกติต้องยึดหลักตามกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ แต่เมื่อผู้นำทั้งสองประเทศตกลง ยึดหลักเจรจา ก็ต้องว่ากันด้วยการเจรจาตกลงกัน

ทั้งนี้ เมื่อการเจรจายังไม่แล้วเสร็จ หากถามว่าอธิปไตยไทยเป็นอย่างไร นายกษิตตอบว่า ที่พิพาทตรงนี้ไทยได้ประกาศว่าเป็นของเราหลายครั้ง และที่ชาวกัมพูชาลุกล้ำเข้ามาเราก็ได้ประท้วงไปแล้ว แต่กัมพูชาซึ่งก็อ้างสิทธิในแผนที่ฝรั่งเศส ว่าเป็นพื้นที่ของเขา ทำให้มีการตรึงกำลังกันอยู่อย่างที่เห็น ด้วยเหตุนี้ไทยจึงไม่ได้สูญเสียอธิปไตยแต่อย่างใด

ส่วนประเด็นที่ชาวบ้านกังวลว่าการที่ชาวกัมพูชารุกล้ำเข้ามาอยู่ในพื้นที่หากไม่ทำอะไรเลยจะเป็นการรับสภาพโดยปริยาย นายกษิตตอบว่า เรื่องนี้เคยมีการเสนอต่อรัฐบาลชุดก่อนๆ ให้มีการใช้กำลังขับเคลื่อน แต่ได้ถูกระงับไว้ แต่มาถึงรัฐบาลปัจจุบันได้ตกลงที่จะทำการเจรจา จึงต้องว่ากันตามนั้น และเมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ก็สามารถที่จะเจรจา ให้ย้ายวัด ประชาชน ออกไปได้ อย่างไรก็ตามระหว่างที่ยังไม่ผ่านสภา หากไปไล่ชาวกัมพูชาออกไป ก็จะผิดวัตถุประสงค์ตามที่ผู้นำระหว่างประเทศได้ตกลงกันไว้

นายกษิตกล่าวต่อว่า ศาลโลกไม่สามารถจะมาบอกอาณาเขตุพื้นที่ได้ว่ามีเท่าใด หลังจดทะเบียนมรดกโลกให้กัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว ศาลโลกทำได้เพียงตัดสินในตัวเขาวิหารเท่านั้น ซึ่งเราก็ได้ประท้วงไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลโลก และตามสนธิสัญญา เอ็มโอยู 2543 ไทยยังมีสิทธิให้นำเรื่องนี้กลับมาเจรจาได้อีก ด้วยเหตุนี้ตามกระแสข่าวที่บอก ว่า มีการลากเส้นแบ่งเขตุ จึงไม่เป็นความจริง เพราะหากตราบใดที่ยังไม่มีการตกลงกันเรื่องสนธิสัญญาระหว่างไทย-กัมพูชา ว่าด้วยเขตุแดน ทุกอย่างจะทำไม่ได้

“แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 มีผลทำให้เป็นโมฆะ แล้วก็เข้าเงื่อนไขตามอนุสัญญาเวียนนา ไม่ให้มีผลบังคับตาม ข้อ 47 หากมีการประท้วงรุนแรงเรื่องเขตุแดนเกิดขึ้นในประเทศ อีกอย่าง นายเตช บุนนาค มีหนังสือไปถึงกัมพูชาไม่ให้แถลงการณ์ร่วมมีผลใช้บังคับ ซึ่งฝ่ายกัมพูชาก็ยอมรับ และที่สำคัญช่วง 8-9 เดือนที่ผ่านมาทาง กัมพูชา ก็ไม่เคยพูดถึงเรื่องแถลงการณ์ร่วมเลย ถือได้ว่าจบโดยปริยาย จึงไม่มีเหตุผลใดที่บังคับให้ไทยต้องเสียดินแดน” นายกษิต กล่าว

นายกษิตกล่าวว่า ต้องยึดมั่นในหลักกฎบัตรสหประชาชาติ กับกฎหมายระหว่างประเทศเป็นตัวตั้ง การที่ ดร.ถนัด คอมันตร์ ทำหนังสือถึงเลขาธิการสหประชาชาติ ที่จะสงวนสิทธิ์ไว้ หากไทยเจอข้อมูลใหม่ ก็สามารถที่จะไปเสนอให้นำประเด็นเขาวิหารขึ้นมาวินิจฉัยใหม่ได้ ทั้งนี้ตามข้อมูลที่เรามีอยู่ตอนนี้เป็นของบฝรั่งเศสเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นระหว่างที่ยังไม่มีข้อมูลใหม่ จึงต้องว่ากันตามคำวินิจฉัยของศาลโลกไปก่อน

ส่วนกรณีที่หลายคนมองว่า กัมพูชาขีดแดนล้ำเข้ามาในเขตไทย นายกษิตตอบว่า ไม่ถือว่าเป็นการขีดเข้ามา เพราะกัมพูชาใช้แผนที่ฝรั่งเศส ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามหลักสันปันน้ำ สวนทางกับสนธิสัญญา ค.ศ.1904 อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไทยก็ได้คัดค้านไปแล้วว่าไม่ถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่เป็นการโต้แย้งศาลโลก

นายกษิตกล่าวว่า กระบวนการทำงานทุกอย่างต้องผ่านสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ดังนั้นจะไปหลอก โกหก หรือหมกเม็ด ไม่มีทางทำได้ ยืนยันว่าอุดมการณ์ยังเหมือนเดิม ทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่จะไปทำอะไรเอาใจกระแสก็ไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำมีเอกสาร และเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้

เมื่อถามว่า อีก 10 ปีเรื่องนี้จะจบไหม นายกษิตตอบว่า เกาะเล็กๆ ระหว่างประเทศ สิงคโปร์ กับประเทศมาเลเซีย ยังใช้เวลาถึง 30 ปี อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้รัฐบาลทั้งสองประเทศไม่ได้เอาเรื่องระยะเวลามาบีบบังคับ คงปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ
นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น