“ส.ว.รสนา” ยื่นหนังสือจี้นายกฯ ทบทวนมติ กพช. อนุมัติชดเชยก๊าซเอ็นจีวี ชี้เอาเปรียบประชาชน เหตุ ปตท.เป็นผู้ครองตลาดรายเดียว หวั่นนำเงินหนุนแท็กซี่เปลี่ยนถังเอ็นจีวี มีการล็อกสเปกเปิดช่องทุจริต
วันนี้ (1 ก.ย.) ที่รัฐสภา น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ยื่นหนังสือต่อนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กพช.) เพื่อให้ทบทวนมติ กพช.ที่อนุมัติให้มีการชดเชยก๊าซเอ็นจีวี ให้กับ ปตท.เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2552 ที่ผ่านมา
น.ส.รสนา กล่าวว่า สาเหตุที่ให้ทบทวนมติ กพช.เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลไม่ควรใช้กองทุนน้ำมันอย่างบิดเบือน เพราะ 1.กองทุนน้ำมันเป็นเงินที่เก็บจากประชาชนผู้ใช้น้ำมันเบนซิน เพื่อไว้พยุงราคาน้ำมันในกรณีที่น้ำมันดิบในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้น จึงไม่ควรนำกองทุนน้ำมันไปชดเชยเกี่ยวกับก๊าซทั้งแอลพีจีและเอ็นจีวี รวมทั้งกิจการที่เกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติ เป็นกิจการผูกขาดทั้งระบบ ทำให้มีกำไรมหาศาล โดยมีกำไรเบื้องต้นก่อนหักค่าใช้จ่ายสูงถึง 75.87 เปอร์เซ็นต์ 2.ต้นทุนเอ็นจีวีไม่มีราคาอ้างอิง เพราะ ปตท.เป็นผู้ผูกขาดรายเดียว ซึ่งผิดหลักกลไกตลาดเสรีที่ตลาดเป็นผู้กำหนดราคา ทำให้มีการกำหนดราคาตามใจชอบ และปล่อยให้ประชาชนเป็นผู้แบกรับภาระ
3.ครม.มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เป็นผู้เจรจาตกลงกับ ปตท.และอนุมัติจ่าายเงินได้โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของ กพช.อีก จึงเป็นสิ่งที่ขาดธรรมาภิบาลอย่างยิ่ง อีกทั้งคณะกรรมการใน กบง.ยังเป็นกรรมการในเครือของบริษัท ปตท.อีกด้วย เรื่องนี้จึงเท่ากับมอบเช็คเปล่าให้กับ ปตท.ในการเติมตัวเลขที่อนุมัติไว้ไม่เกินปีละ 3,600 ล้านบาท และ 4.การนำเงิน 1,200 ล้านบาท จากกองทุนน้ำมันมาอุดหนุนให้รถแท็กซี่ 30,000 คัน มูลค่าคันละ 40,000 บาท ทั้งที่ต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 30,000-35,000 บาทเท่านั้น และการเปลี่ยนถังแอลพีจีเป็นเอ็นจีวีมีการล็อกสเปกกให้มีเพียง 3 บริษัท เป็นผู้รับสิทธิในการติดตั้ง ซึ่งถือว่าเปิดช่องทางให้เกิดการทุจริตได้