xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” จี้ถาม รบ.จุดยืนปฏิรูปการเมือง ซัดอย่าโยนเป็นเรื่องสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน
ส.ว.สรรหา จี้ถามกระทู้ รบ.จุดยืนแนวทางปฏิรูปการเมือง อย่าบ่ายเบี่ยงเพื่อซื้อเวลา ด้าน “สาทิตย์” ตอบกระทู้ อ้อมแอ้มเหตุอืด รับปาก มีหลายเรื่องที่ต้องสะสาง ขออภัยกลางสภา คำตอบอาจไม่เป็นคำตอบที่ชัดนัก

วันนี้ (24 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ว่า ในการประชุมวุฒิสภา มี นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เป็นประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามเรื่องแนวทางในการดำเนินการปฏิรูปการเมืองตามนโยบายของรัฐบาลข้อ 1.1.3 ที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ถามต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยนายกฯมอบหมายให้ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกฯ มาตอบกระทู้แทน

นายคำนูณ กล่าวว่า รัฐบาลประกาศนโยบายปฏิรูปการเมือง โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมต่อรัฐสภา ต่อมาคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสนอผลการศึกษา ซึ่งแม้มีความเห็นที่ต่าง แต่บางครั้งรัฐบาลต้องตัดสินใจทำอะไรสักอย่างในสิ่งที่เห็นว่าถูกต้อง ถ้าเคลื่อนก็จะค่อยๆ สร้างความเห็นพ้องระดับหนึ่ง แต่ถ้ารัฐบาลยังทำแบบนี้ คือ โยนไปโยนมา ถึงจุดสุดท้ายจะสมานฉันท์ หรือจะปฏิรูปการเมืองตรงไหน แล้วรัฐบาลมีท่าทีอย่างไรต่อสิ่งที่พรรคการเมืองเริ่มเสนอแนวทาง เช่น ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ หรือ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้ผู้ชุมนุม

นายสาทิตย์ ชี้แจงว่า รัฐบาลเห็นปัญหา จึงคิดว่า จะให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นผู้ดำเนินการ แต่มีหลายฝ่ายไม่เห็นด้วย ต่อมาเมื่อมีเหตุการณ์ช่วงสงกรานต์ ทำให้ความขัดแย้งปะทุรุนแรงขึ้น จนสภาเรียกร้องให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและทุกฝ่ายหันมาพูดถึงการสมานฉันท์ ทำให้มีคณะกรรมการขึ้นมา รัฐบาลก็เห็นว่า น่าจะเป็นทางออก เพราะมีหลายฝ่ายเข้ามาร่วมกัน เมื่อคณะกรรมการศึกษาเสร็จสิ้นและเสนอมา ก็มีคำถามว่า ทำไมรัฐบาลถึงโยนมาที่สภาอีกครั้ง เรื่องนี้ต้องพิจารณาให้ชัด โดยข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ มี 3 กรอบ คือ กรอบสมานฉันท์ กรอบปฏิรูปการเมือง และนำไปสู่กรอบแก้รัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี ข้อเสนอบางเรื่อง ยังมีการคัดค้าน และเตรียมเคลื่อนไหว และมองว่า ไม่ใช่การปฏิรูป แต่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะนักการเมือง รัฐบาลเองก็ได้พูดคุยกันถึงตรงนี้ จึงมองว่า ถ้ารัฐบาลเป็นเจ้าภาพเสนอแก้รัฐธรรมนูญเอง ก็จะไม่สอดคล้องกับข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ ที่ให้ลดเงื่อนไข จึงเห็นว่า ควรเสนอให้รัฐสภาพิจารณา แต่รัฐบาลก็ติดตามผ่านพรรคการเมืองโดยตลอด แต่สถานการณ์การเมืองเปลี่ยนเร็วมาก จนจู่ๆ มีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผู้ชุมนุมเข้ามา ก็มีหลายฝ่ายยังไม่เห็นด้วย แต่ตอนนี้เมื่อบรรจุวาระแล้ว วิปรัฐบาลก็ต้องไปถามคนร่าง ว่า วัตถุประสงค์ที่แท้จริงเป็นอย่างไร และดูกันว่า จะพิจารณากันอย่างไร

นายสาทิตย์ กล่าวว่า การกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการปฏิรูปการเมือง เมื่อสถานการณ์มาถึงตรงจุดนี้ การตัดสินใจจะยิ่งสำคัญมาก โจทย์คือ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษที่มีการเสนอ และการแก้รัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายประเด็นเรื่องการปฏิรูปการเมืองที่มากกว่านี้ คือ การปราบทุจริต ซึ่งรัฐบาลเดินหน้าอยู่ ข้อครหาต่อรัฐบาลบางโครงการ รัฐบาลก็จะดำเนินการอยู่เพราะไม่เช่นนั้นจะสะท้อนว่า การเมืองยังล้มเหลวอยู่ ซึ่งนายกฯก็ตั้งกฎเหล็กตั้งแต่แรก 9 ข้อ ฉะนั้น การกำหนดว่า ที่สุดแล้วจะกำหนดจุดสิ้นสุดอย่างไรในเรื่องปฏิรูปการเมือง ทุกคนคงเห็นว่าเป็นเรื่องยาก และขออภัยที่ไม่สามาถตอบได้ว่า จะสิ้นสุดเรื่องการปฏิรูปการเมืองเมื่อใด แต่รัฐบาลยืนยันว่า พยายามทำให้บ้านเมืองเดินไปอย่างดีที่สุด

จากนั้น นายคำนูณ กล่าวฝากไปยังรัฐบาล ว่า เหมือนรัฐบาลจะตอบว่า ยังไม่รู้จะทำอย่างไร ตนขอเสนอว่า ภาวะแบบนี้ รัฐบาลต้องมีวิธีบริหารวิธีพิเศษ ให้มากกว่าการบริหารปกติ และอยากเห็นการตัดสินใจของรัฐบาลและรับผิดชอบต่อการตัดสินใจ รัฐบาลต้องปรับทัศนคติว่า นี่คือ วิกฤต และต้องปรับเปลี่ยนวิธีการตัดสินใจ รับฟังเสียงให้มากที่สุดและตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างตกผลึก แม้บางส่วนจะไม่เห็นด้วย และอย่าโยนสภาเรื่องไม่ตัดสินใจกับผลคณะกรรมการสมานฉันท์เสียที เพราะรัฐบาลเหลือเวลาไม่มากที่ต้องตัดสินใจเรื่องที่คั่งค้างอยู่ อย่าซื้อเวลา ประชุมรัฐสภาทีไร ต้องมาเถียงกัน 2 ชั่วโมงทุกทีว่า จะเลื่อนวาระพิจารราร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีประชาชนเสนอมาหรือไม่ คราวหน้า ถ้ายังไม่ตัดสินใจ ตนจะลงมติไม่ให้เลื่อนวาระดังกล่าวออกไป ซึ่ง นายสาทิตย์ กล่าวตอบรับว่า รัฐบาลเห็นหลายเรื่องที่ต้องสะสาง และต้องตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรเสียที เพราะการบริหารคือการตัดสินใจ และตัดสินใจไป นายกฯก็ต้องรับผิดชอบ อย่างกรณีเสนอ ผบ.ตร.คนใหม่ ทั้งนี้ ตนจะรับข้อเสนอไปแจ้งต่อรัฐบาล และขออภัยว่า บางคำตอบอาจไม่เป็นคำตอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น