สัมมนาทางออกประเทศไทยกับข้อเสนอสมานฉันท์ “เนวิน” ยกทฤษฎีไทยสไตล์ “อโหสิกรรม” เลิกแล้วต่อกันแก้ปัญหาประเทศ ระบุต้องนิรโทษกรรมก่อนแก้รัฐธรรมนูญ ชี้ไม่เกี่ยวกับอำนาจตรวจสอบของศาล-นักการเมือง ขณะที่ “คำนูณ”ชี้ข้อเสนอคณะกรรมการควรเริ่มที่การสร้างสมานฉันท์-ปฎิรูปการเมือง จนให้ได้ฉันทามติก่อนค่อยแก้รัฐธรรมนูญ แนะควรมาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้มี ส.ส.ร. ปิดทางนักการเมืองร่วมยกร่าง
วันนี้ (21 ส.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นักศึกษาสถาบันพัฒนาพรรคการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูงของกกต.ได้จัดสัมมนาเรื่อง “ทางออกประเทศไทยกับข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์” โดย นายดิเรก ถึงฝั่ง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ กล่าวว่า ในคณะกรรมการนั้น มีคู่กรณีและคนที่ไม่เห็นด้วยร่วมเป็นกรรมการอยู่ เพราะหากเอาคนนอกมาคิดกันเองแล้วเอามาให้คนอีกกลุ่มปฏิบัติ คงเป็นไปได้ยาก ยืนยันว่า การทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ไม่ใช่การซื้อเวลา โดยมีข้อเสนอว่าการจะสมานฉันท์ได้สิ่งหนึ่งที่ต้องทำ คือ รัฐธรรมนูญฉบับสมานฉันท์ ที่อาศัยหลักนิติธรรมนิติรัฐ มีกระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้องไม่ใช่ 2 มาตรฐาน
ทั้งนี้ ประเด็นที่กรรมการฯส่วนใหญ่เห็นตรงกัน คือ การแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 237 เพราะหากเอาหลักความเป็นธรรมเข้าไปจับ จะเห็นว่า มาตรานี้ไม่เป็นธรรม คนไม่ทำความผิดกลับถูกลงโทษไปด้วย การยุบพรรคก็ไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อปกครองระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองมีความสำคัญ ต้องส่งเสริมให้เข้มแข็ง แต่กลับถูกยุบแล้วยุบอีก ถือว่าไม่สร้างความเข้มแข็งให้ประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ในข้อเสนอของ กก.สมานฉันท์ก็ได้ระบุให้ตั้ง ส.ส.ร.3 ขึ้นมาด้วย
ด้าน นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ อนุกรรมการ กล่าวว่า วันนี้เกิดวิกฤต การเมืองเปลี่ยนไปการต่อสู้เข้มข้นขึ้น แม้แต่ในสภาก็ไม่ ความรุนแรงเช่นนี้ และนำไปสู่ความแตกแยกในบ้านเมือง เราไม่เคยมีการแบ่งสีแบ่งขั้วมาก่อน รัฐสภาจึงควรเข้ามามีส่วนแก้ไข ถ้าคิดปฏิรูปการเมือง เบื้องต้นต้องปฏิรูปตัวนักการเมือง ส.ส.ต้องรู้หน้าที่ รู้ความรับผิดชอบ รู้สิทธิต่างๆ และเป็นตัวแทนประชาชน มาตรฐานความประพฤติ ต้องเหนือว่าประชาชนทั่วไป
นายนิพนธ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 50 มีทั้งคนชอบไม่ชอบ แต่หากดูแล้ว ปัญหาการบังคับใช้แทบไม่มี ที่เป็นปัญหาคือมีผู้ถูกลงโทษ ถ้าเคารพจริง ปัญหาจะไม่เกิด เพราะรู้กติกากันล่วงหน้า อย่างมีคนบอกว่าหากยังคงมาตรา 237 ไว้อีกหน่อยก็จะส่ง นอมินีมาแทน เท่ากับมีเจตนาเลยไม่กล้ามาเป็นกรรมการบริหารพรรคเอง
ขณะที่ นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกในรอบห้าหกปี ที่ตนขึ้นมาแสดงความเห็นทางการบ้านการเมืองอย่างเป็นทางการ และเป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวของตนไม่เกี่ยวข้องกับใคร ข้อเสนอของกรรมการสมานฉันท์ โดยเฉพาะเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ใช่ต้นเหตุ ในความเป็นจริงกว่าที่เราจะพูดเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เราก็เสียหายอย่างหนักมาต่อเนื่องเกือบสามปี นับแต่ได้ประกาศใช้ แต่ก็เป็นนิมิตหมายที่ดีที่มีคนเริ่มยอมรับว่ามีปัญหาและต้องแก้ ถึงแม้จะช้าแต่ก็ยังดีกว่าไม่ยอมรับ
นอกจากนี้ นายเนวิน กล่าวออกตัวก่อนเสนอความเห็นว่า เป็นความเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับใคร ซึ่งความคิดที่เสนออาจจะผิดก็ได้ โดยมองว่า 1.ข้อเสนอของคณะกรรมการทั้ง 6 ข้อเป็นการแก้ปัญหาทางเทคนิคของการบังคับใช้ แก้ปลายเหตุไม่ใช่ต้นเหตุ ซึ่งก่อนพูดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ คิดว่าประเทศเสียหายอย่างหนักต่อเนื่องมา 3 ปี นับแต่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ แต่การที่คนคิดว่าควรมีการแก้รัฐธรรมนูญก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี แม้จะช้าไปก็ตาม
2.ข้อเสนอของคณะกรรมการเป็นการแก้ปัญหาการเมือง หาทางออกให้การเมือง จากการที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกับดักทางการเมือง ส่งผลต่อการบริหารประเทศ และทำให้ภาคการเมืองอ่อนแอ และ 3.ข้อเสนอของ กก.สมานฉันท์ ยังไม่ใช่ทางออกของประชาชนอย่างสำเร็จรูป เพราะไม่มีหลักประกันว่าหากแก้ไขรัฐธรรมนูญความสมานฉันท์จะเกิดขึ้นและประเทศไทยจะพ้นวิกฤต หากเราไม่สามารถทำให้คนในชาติมีเอกภาพทางความคิด และจริงใจต่อกัน การหาทางออกให้ประเทศชาติจะเป็นเรื่องที่ลำบาก
นายเนวิน ยังเสนอว่า ทางออกของประเทศสิ่งเดียวที่ทำให้เกิดความสมานฉันท์ คือ ต้องจบเรื่องเก่าที่ผ่านมาให้ได้เสียก่อน เพราะความจริงคือยิ่งนานวัน ก็หาทางออกยากขึ้น ต้องยอมรับว่าทุกฝ่ายมี พฤติกรรมที่แสดงออกถึงความไม่ต้องการสมานฉันท์ แต่ต้องการเอาชนะ วันนี้มีคนที่ต้องตกเป็นผู้รับกรรมจากความขัดแย้งในสังคมมากมาย ทุกฝ่ายมีข้อเรียกร้องของตน และทำบนความเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าทำถูกและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม คนที่มาเคลื่อนไหวโดยบริสุทธิ์ใจต้องตกเป็นผู้รับกรรมเป็นผู้ต้องหา ทั้งฝ่ายที่เห็นต่าง และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย คนที่ไม่เกี่ยวข้องก็ต้องรับกรรม การทำเพื่อหาทางออกต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ หรือเซ็ตซีโร่ การนิรโทษกรรม เป็นหัวใจหลักที่ต้องเริ่ม หากเราไม่สามารถจบเรื่องเก่าก็ไม่มีทางที่จะนำไปสู่ความสมานฉันท์ เพราะเราต้องยอมรับว่า ต่างคนต่างมองแง่มุมที่ต่างกันและเมื่อนิรโทษกรรมแล้วค่อยแก้รัฐธรรมนูญ
“การนิรโทษกรรมเป็นการแก้ปัญหาแบบไทยสไตล์ คือ อโหสิแก่กัน วันนี้มีคนตกเป็นผู้ต้องหามากมาย ต่างฝ่ายก็ไม่ลดราวาศอก หากไม่เอาฟืนออกจากไฟ เอาคนบริสุทธิ์ออกมาก่อน ปัญหาก็จะลุกลาม แต่พอมีแนวคิดนี้ก็มีเสียงคัดค้านผมก็ประหลาดใจว่าในขณะที่มีความพยายามนิรโทษกรรมให้คนที่เคลื่อนไหวโดยบริสุทธิ์ใจกลับถูกคัดค้าน แต่การเรียกร้องให้อภัยโทษคนคนเดียวกับมีความสนับสนุน”
นายเนวิน กล่าวว่า ยืนยันว่า เราต้องจบเรื่องเก่าให้ได้ให้เร็วที่สุด ต้องเริ่มให้ได้ ตรงไหนไม่สำคัญ ถ้าเราไม่ส่งสัญญาณว่าทุกฝ่ายจะหันหน้าเข้าคุยกัน การแก้ปัญหาก็ทำไม่ได้ เพราะตอนนี้ทุกคนเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ก็กลับมีคำว่า “แต่” ทุกคน ลองเอาสักเรื่องที่ไม่มีคำว่าแต่ได้ไหม
“มีคำถามว่าที่ให้จบเรื่องเก่า หมายถึงจบการตรวจสอบของศาลด้วยหรือไหม ยืนยันไม่เกี่ยวกัน เป็นการนิรโทษกรรมให้เฉพาะคนที่มาร่วมชุมนุม ไม่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมทางการเมืองให้กับพวกตน เพราะไม่มีความจำเป็นในภาวะที่บ้านเมืองมีความขัดแย้งเช่นนี้ คนเราอยู่ในสังคมต้องลืมเรื่องเก่า วันนี้เราต้องรีบชักฟืนออกจากไฟให้หมด แล้วเหลือเท่าไรค่อยมาช่วยดับกัน ถ้าผมบอกท่านได้ ผมจะบอกว่าให้ท่านหยุดคนของท่านเสีย รอให้เลือกตั้งใหม่ได้รัฐบาลใหม่แล้วค่อยให้สภาออกกฎหมายให้ท่านกลับมาใหม่ก็ได้ ผมเป็นคนทำใจได้ วันนี้ก็มามานั่งด้านหน้า พล.อ.สนธิ (บุญยรัตกลิน ประธาน คมช.) ทั้งๆ ที่ท่านพาตนไปนอนที่อื่น 10 วัน 11 คืนได้ เพราะเราต้องคิดเรื่องส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว”
ขณะที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกบ้านเลขที่ 111 กล่าวว่า ความคิดของ นายเนวิน ที่ว่ากลับไปเริ่มต้นกันใหม่น่าสนใจ แต่ปัญหาคือจะไปเริ่มตรงไหนหรือขั้นตอนไหนดี เพราะวันนี้อีนุงตุงนังไปหมด ถ้าเป็นด้ายก็เป็นขยุ้ม ไม่รู้จะสาวไปตรงไหน จะย้อนเลยทีเดียวไม่ได้ หากย้อนได้ต้องย้อนไปก่อน 19 ก.ย.แบบนี้เอาไหม กลับไปอยู่จุดนั้น แล้วให้มีเลือกตั้ง การรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะ แต่ในความจริงคงเป็นไปไม่ได้
ทั้งนี้ ถ้าบอกว่า เริ่มใหม่ล้างเรื่องเก่าก็ต้องมาดูว่าล้างได้จริงหรือ เริ่มต้นสมานฉันท์ได้จริงไหม หากบอกนิรโทษคนชุมนุมทางการเมือง แล้วจะเกิดอะไร แล้วหากวันรุ่งขึ้นจะแก้รัฐธรรมนูญ ก็จะมีคนส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย และออกมาชุมนุม ยึดทำเนียบได้ไหม เมื่อยึดได้อีก ก็นิรโทษกรรมได้อีก ก็จะชุมนุมแบบนั้นทำผิดกฎหมายแบบนั้นไม่เลิกจะทำอย่างไร ปัญหาคือมีคนมีความคิดต่างกันแต่ไม่มีวิธีที่ทำให้อยู่ร่วมกันโดยไม่แตกแยก หรือใช้อำนาจนอกเหนือมาแก้อย่างการรัฐประหาร
นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า ปัญหาใหญ่จากการรัฐประหารไม่ใช่ถอยก้าวเดียวแล้วเดินหน้าประชาธิปไตยไปมากๆ เหมือนที่พูด แต่การรัฐประหารที่ผ่านมาเป็นการดึงประเทศสู่เผด็จการแล้วแทนที่จะเดินหน้ากลับมีการวางระบบในรัฐธรรมนูญที่ทำให้ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น รัฐธรรมนูญ และอำนาจนอก ร่วมกันทำลายกระบวนการยุติธรรม และความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรงที่สุดไม่เคยมีมาก่อน ระบบยุติธรรมพึ่งไม่ได้ และกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งเบื้องต้นเหตุและจะมีไปเรื่อยๆ
“รัฐธรรมนูญฉบับที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนี้ได้ล้มรัฐบาลและนายกฯไป 2 คน โดยไม่มีหลักการของนิติธรรม คนไปทำครัวบอกขัดแย้งผลประโยชน์ ไม่เป็นไปตามหลักนิธรรม คนๆ เดียวทำผิด กกต.ให้ใบแดง พรรคถูกยุบโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แบบนี้ทั่วโลกไม่มีใครยอมรับ ทั้งยังตั้งคนเป็นปฏิปักษ์มาดำเนินคดีมีอำนาจเหนืออัยการฟ้องเองได้อยากสอบใครก็สอบ สุดท้ายก็ไม่เห็นด้วยและแตกแยกกัน”
การที่เสนอแก้รัฐธรรมนูญเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเลือกตั้ง ของการบริหาร และจะนำไปสู่การเลือกตั้งที่ผู้คนในสังคมยอมรับกันได้ แต่ต้องแก้กติกาให้การเลือกตั้งน่าเชื่อถือ เลิกการยุบพรรคง่ายๆ โดยแค่ความเชื่อว่าคนนี้ทำผิดโดยไม่มีหลักฐานมันใช้ไม่ได้ ต้องลดอำนาจ กกต.โดยเฉพาะการให้ใบแดงต้องเลิก ต้องให้สรรหา กกต.ใหม่ตาม รธน.ปัจุบัน คนที่เป็นอยู่ต้องออกหมดเพราะมาจากการรัฐประหาร แต่เมื่อยังเปลี่ยนไม่ได้ก็ต้องลดอำนาจ เสร็จแล้วค่อยมาแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า ทุกวันนี้มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลนี้ปกครองประเทศ ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาต้องเลือกตั้งและแก้รัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้งเป็นธรรม ทำ 2 อย่างพร้อมๆ กันก็ได้ คือ แก้ในประเด็นที่เร่งมากๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งเพื่อได้รัฐบาลที่ประชาชนยอมรับ และแก้มาตรา 291 เพื่อให้มี ส.ส.ร.ด้วย และให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง หลังจากนั้น ก็เลือกตั้งเพื่อจัดตั้งรัฐบาลและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และให้ประชาชนลงมติอีกครั้ง การทำเช่นนี้จะเป็นการลดปัญหาความเห็นไม่ตรงกัน ตนเห็นว่า ต้องแก้รัฐธรรมนูญก่อนเลือกตั้ง
“ส่วนเรื่องการนิรโทษกรรมใครหรือไม่ รวมถึงพวกผมด้วย ไม่ต้องนิรโทษฯวันนี้พรุ่งนี้ เพื่อเห็นแก่บ้านเมือง อย่าเพิ่งมาแตะต้องประเด็นพวกผม รอให้รัฐบาลใหม่ที่มาจากประชาชนเป็นคนตัดสิน แต่ถ้าเราไม่รีบจะไม่ได้แก้ ยกตัวอย่างวันจันทร์ที่ผ่านมาที่มีการถวายฎีกา ถ้ารัฐบาลสร้างสถานการณ์ขึ้นอีกหน่อยแล้วทหารก็เข้ามายึดอำนาจ แล้วบอกเพื่อป้องกันความรุนแรง วันนี้เราอยู่แบบเส้นยาแดงผ่าแปดไม่รู้จะยึดเมื่อไหร่ รัฐบาลเสียศูนย์ ตั้ง ผบ.ตร.ไม่ได้ ตอนนี้เสียสภาพการนำอจะอยู่ได้กี่วันก็ไม่รู้ นายกฯต้องกล้า ประกาศแก้รัฐธรรมนูญจึงจะได้รับเสียงสนับสนุน คนที่ค้ำๆ อยู่เขาก็จะจำเป็นต้องหนุน ถ้าไม่ทำอย่างนั้นก็อยู่ไม่ได้ และถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญคนไทยจะฆ่ากันเอง เมื่อรุนแรงแล้วอาจจะรัฐประหารอีก อย่าไปรอถึงตอนนั้น แต่ถ้ายังดื้อชิงไหวชิงพริบสังคมไทยจะก้าวไปสู่ความรุนแรงและเสียหายยับเยิน”
ด้าน นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับที่คณะกรรมการเรื่องความเป็นธรรม ความสามัคคี เพื่อชาติศาสนาและพระมหากษัตริย์ แต่ไม่เห็นด้วยที่ กก.สมานฉันท์บอกให้ถอยคนละก้าว เพราะถ้าจะถอยต้องถอยอย่างเป็นธรรม
นายคำนูณ ยังกล่าวว่า ในบทนำรายงานของคณะกรรมการมีการบอกว่า รธน.40 เป็นประชาธิปไตยที่สุด และรัฐบาลที่มาจากนั้น เป็นรัฐบาลที่มั่นคงก้าวหน้า การรัฐประหารเป็นการหยุดชะงักพัฒนาการ ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้วต้องพูดทั้ง 2 ด้าน การรัฐประหารตนไม่เห็นด้วย คนทำก็ไม่อยากทำ แต่มันต้องมีเหตุก่อนจึงรัฐประหาร แถลงการณ์ของ คปค.ฉบับหนึ่งระบุถึงเหตุของการรัฐประหารไว้ 4 ข้อ ซึ่งเวลานั้นใครๆ ก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องจริงในระดับหนึ่งขนาด นายเสน่ห์ จามริก อดีตประธาน กก.สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยังบอกว่า รัฐประหารไม่ใช่ถอยหลัง เพราะบ้านเมืองก่อนหน้านั้นถอยหลังมามากแล้ว มีการครอบงำองค์กรอิสระ วุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ ชัยชนะการเลือกตั้งก็มีคำถามถึงการใช้เงิน การทุจริตเชิงนโยบาย การได้พรรคเสียงข้างมากชนิดเปิดอภิปรายนายกฯไม่ได้ ก็เกิดจากการควบรวมพรรค เป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ผู้เลือกตั้ง แต่วันนี้กลายเป็นว่ากลับไม่มีใครพูดถึง
“จริงอยู่เราไม่ชอบการรัฐประหาร แต่ก็ไม่เคยมีใครไปเรียกร้องให้ลบการรัฐประหารนั้น แม้แต่อดีตนายกฯคนหนึ่งนอกจากไม่คัดค้านการรัฐประหารปี 2534 แล้ว ยังไปคบค้ากับนักการเมืองจนได้สัมปทานร่ำรวย แต่มาตอนหลังกลายเป็นรัฐประหาร 19 ก.ย.มันเลวร้ายไปหมดหาดีไม่ได้”
นายคำนูณ ยังกล่าวว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมการ แต่คิดว่าถ้าไล่เรียงใหม่โดยนำเรื่องการสร้างความสมานฉันท์ และข้อเสนอในการปฏิรูปการเมือง มาหาฉันทามติให้ได้ก่อนแล้วค่อยพูดถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญน่าจะดีกว่า แต่คณะกรรมการกลับเอาประเด็นแก้รัฐธรรมนูญมานำทำให้เรื่องการสร้างสมานฉันท์ และปฏิรูปการเมืองถูกบดบัง และกลายเป็นปัญหาพอสมควร ซึ่งในส่วนของการแก้รัฐธรรมนูญนั้นมองว่า ถ้าจะแก้ควรแก้มาตรา 291 มาตราเดียวเพื่อทำให้เกิดองค์กรหรือคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ แล้วใช้กระบวนการภาคประชาชนของรัฐธรรมนูญ 40 มาดำเนินการ เพราะไม่เห็นด้วยอยู่แล้วที่จะให้นักการเมืองที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียมากเป็นผู้ยกร่าง อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะกรรมการสมานฉันท์ได้นำเสนอรายงานไปยังรัฐบาลแล้ว อยากเรียกร้องนายกฯ ว่า ต้องใช้ความเป็นผู้นำในการตัดสินใจว่ามีนโยบายอย่างไรในเรื่องนี้ และจะขับเคลื่อนอย่างไร เพราะเป็นผู้ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา ไม่ใช่คณะกรรมการเสนอไปแล้วก็ยังเสนอกลับมาให้สภามาหารือกันอีก
นายนิกร จำนง สมาชิกบ้านเลขที่ 109 กล่าวว่า ความขัดแย้งในสังคมไทยไม่เคยเกิดจากข้างล่างแต่เกิดจากชนชั้นนำเสมอ เกิดจากฝ่ายการเมือง ความขัดแย้งเริ่มลุกลามสู่สถาบันที่เราเคารพและจบลงที่การยึดอำนาจ ความขัดแย้งตอนนี้ใช้ประชาชนเป็นกำลังในการต่อสู้ เป็นกองกำลังไม่ติดอาวุธที่ใช้ในการปะทะ และยังดำเนินอยู่ มีความเสียหายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน การสร้างความสมานฉันท์ เป็นนามธรรมใช้เวลานาน เช่นเดียวกับการปฏิรูปการเมือง แต่รูปธรรมคือการแก้รัฐธรรมนูญ วันนี้รัฐธรรมนูญเหมือนลิ่ม ตอกลงในความขัดแย้ง สังคมกำลังแยกออก รัฐธรรมนูญกำลังเป็น สมรภูมิการเมือง
ด้าน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รองประธานอนุกรรมการ กล่าวว่า ทางออกของประเทศไทยจะหาอย่างไร ปัญหาคือ รัฐธรรมนูญและตุลาการภิวัฒน์ ตนไม่เคยเห็นรัฐธรรมนูญไหนที่สร้างความขัดแย้งให้คนในชาติมากเท่าฉบับนี้ รัฐธรรมนูญฉบับไหนที่ร่างบนพื้นฐานเดียวกับฉบับนี้ก็ย่อมสร้างความแตกแยกแน่นอน เพราะฝ่ายหนึ่งทำอะไรก็ไม่ผิด โดยเขียนไว้ในมาตรา 309 แต่อีกฝ่ายแม้ไม่ได้ทำผิดก็อาจจะผิด มันจะไม่แตกแยกได้อย่างไร ขนาดมีเจตนาว่าจะไม่ทำผิดยังเอาตัวแทบไม่รอด ยิ่งปล่อยไว้นานก็เกิดความขัดแย้งมากขึ้น จุดจบอยู่ตรงไหนจะรอให้สิ้นชาติหรือไง นักการเมืองบางคนก็ผสมโรง ระวังจะไม่มีเวทีให้ยืน
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาคือความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ ทางออกก็ต้องแก้ที่รัฐธรรมนูญ ตนในฐานะกรรมการสมานฉันท์ แก้ไปก็ไม่สมานฉันท์ แต่ในฐานะที่เป็นหนึ่งในนั้นก็เห็นด้วย เพราะไม่มีอะไรดีไปกว่านี้ ถ้าจะให้ดีก็ แก้มาตรา 291 ตั้ง ส.ส.ร.สาม ให้เวลาทำงาน สองปี ก็จะเป็นรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ที่สุดเป็นของประชาชนแล้วมานับหนึ่งกันใหม่ก่อนสิ้นชาติ ประเด็นคือจะยอมกันหรือเปล่า ทางออกมีทางเดียวคือแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย อย่ามาเล่นแง่กันเลย และต้องแก้บนพื้นฐานเงื่อนไขเจรจา ถึงเวลาที่เราต้องลดละเลิกทิฐิ แล้วหันหน้ากัน ปัญหาที่เกิดขึ้นสุดท้ายบทจบ ไม่มีใครชนะแพ้แน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การสัมมนาดังกล่าว พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช.ซึ่งเป็นประธานนักศึกษาหลักสูตรพัฒนาพรรคการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูงรุ่น 1 ได้อยู่ร่วมรับฟังโดยตลอด