เริ่มระอุสภาสูงแบ่งเป็นสองฝ่ายทั้งที่เห็นด้วยและค้านแก้รัฐธรรมนูญ ตามข้อเสนอกรรมการสมานฉันท์ จนเกิดเหตุปะทะคารมก่อนรับมอบรายการ “นายกฯ” ด้าน “รสนา” ปิดหน้ากากอนามัยเขียน “หยุดแก้ รธน.” ฉะนักการเมืองอันตรายกว่าเชื้อโรค ขณะที่ “เลิศรัตน์” ยันจำเป็นต้องแก้กติกาที่ไม่เป็นธรรม สุดท้าย “ปู่ชัย” เผยไต๋รัฐบาลหวังดึงเกมซื้อเวลา
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ว่า เมื่อเวลา 13.30 น.ก่อนที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาร่วมพิธีรับมอบรายงานของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฎิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มี นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธาน ปรากฏว่าส.ว.ทั้งกลุ่มที่ต่อต้านและกลุ่มที่สนับสนุนข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็น ต่างมายืนออกันที่หน้าห้องรับรองพิเศษของประธานวุฒิสภา โดยฝ่ายต่อต้านนำโดย น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.ซึ่งได้สวมหน้ากากอนามัยที่เขียนข้อความว่า “สมานฉันท์ หยุดแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อผลประโยชน์ของนักการเมือง” โดยเจ้าตัวกล่าวด้วยเสียงดังว่า “เป็นหน้ากากป้องกันเชื้อโรคของนักการเมืองที่เห็นแก่ตัว” รวมทั้ง น.ส.สุมล สุตตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี นายคำนูณ สิทธิสมาน นายสมชาย แสวงการ นายวรินทร์ เทียมจรัส นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ส่วน ส.ว.ฝ่ายสนับสนุน นำโดย พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี นายยุทธนา ยุพฤทธิ์ ส.ว.ยโสธร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ว.ทั้ง 2 กลุ่มได้ปะทะคารมกันอยู่ตลอดเวลา โดย นายเกชา ยืนยันว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นหนทางในการสร้างความเป็นธรรมในบ้านเมือง ขณะที่ นายประสาร ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นนี้เป็นหลุมพรางของความสมานฉันท์ และ น.ส.สุมล แย้งว่าแก้ไขได้แต่ต้องไม่ใช่แก้เพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองเพียงอย่างเดียว
น.ส.รสนา ให้สัมภาษณ์ว่า การแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็นนั้น เป็นการทำเพื่อผลประโยชน์ของนักการเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ได้นำไปสู่ความสมานฉันท์แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งครั้งใหม่ โดยในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ม.237 เป็นการนิรโทษกรรมซ่อนรูป หรือการแบ่งเขตเลือกตั้ง ล้วนไม่ได้ตอบโจทย์ความขัดแย้งในสังคมไทยได้เลย ยิ่งทำให้เขตเล็กยิ่งบีบให้ประชาชนในพื้นที่แคบๆ ที่มีทั้งสีเหลืองสีแดงทะเลาะกันมากขึ้น นอกจากนี้ ยังสอดไส้ที่จะออกกฎหมายปรองดองที่มีเนื้อหาให้ยกเลิกความผิดของนักการเมืองทั้งหมดนั้นเป็นการทำลายหลักนิติรัฐอย่างชัดเจน “เชื้อหวัด 2009 ยังไม่น่ากลัวเท่าเชื้อชั่วของนักการเมืองที่เห็นแก่ตัว”
ด้าน พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็นเป็นการแก้ไขสิ่งที่ไม่เป็นธรรมให้เป็นธรรม เพราะต้องยอมรับว่ากติกาบางอย่าง ทำให้นักการเมืองรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งเป็นต้นตอของความขัดแย้งทั้งหลาย ดังนั้น ก็ควรจะแก้ให้เกิดความเป็นธรรม ให้เราได้นักการเมืองที่ดี วันนี้เราต้องการรัฐบาลที่ดี ที่ประชาชนยอมรับ และเชื่อว่านายกรัฐมนตรีจะเห็นชอบให้ข้อเสนอนี้ เพราะใน 6 ประเด็นนี้ท่านนายกฯเป็นผู้เสนอมาเอง 4 ประเด็น ส่วนเรื่องการคืนสิทธิให้กับนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิไปนั้นไม่ได้อยู่ในข้อเสนอในชั้นต้น และถึงแม้จะแก้ไข ม.237 แล้วคนที่ถูกตัดสิทธิไปก่อนหน้านี้ก็จะไม่เกี่ยวข้อง ไม่ถือเป็นการนิรโทษกรรม โดยอัตโนมัติ แต่หากจะมีการนิรโทษกรรมก็ต้องออกกฎหมายมารองรับอีกครั้งหนึ่ง
“ยืนยันว่า กรรมการไม่ได้มีวาระซ่อนเร้นตามที่กลุ่ม 40 ส.ว.กล่าวหา ถ้ามีรัฐธรรมนูญประเทศไหนเขียน ม.237 เอาไว้ก็ขอให้เอามาให้ดู ข้อเสนอของเรานั้นก็มาจากความเห็นชอบของตัวแทนพรรคการเมือง และการสำรวจผ่านทางรายการสมัชชาทางอากาศ กว่า 90 เปอร์เซ็นต์เห็นชอบกับเรา” พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 13.45 น.น.ส.สุมล ได้ยื่นหนังสือให้กับ นายอภิสิทธิ์ พร้อมทั้งกล่าวกับนายกฯ ว่า “อย่าแก้รัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมือง กลุ่ม 40 ส.ว.ต้องการให้นายกฯอ่านเอกสารที่มอบให้ เพื่อเป็นการกระตุกให้นายกฯคิดก่อนตัดสินใจ” ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ ตอบว่า “เห็นเนื้อหาแล้วครับ”
จากนั้น นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้กล่าวกับนายกฯเป็นการส่วนตัว โดยเจ้าตัวได้เปิดเผยภายหลัง ว่า ได้ถามถึงความคืบหน้าคดีลอบยิง นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ซึ่ง นายอภิสิทธิ์ บอกว่าไม่ต้องเป็นห่วง ดูแลอยู่ตลอดเวลา ยืนยันว่า ยืนหยัดสนับสนุน พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รอง ผบ.ตร.เจ้าของคดีอย่างเต็มที่ ส่วนการตั้งข้อหาก่อการร้ายกับกลุ่มพันธมิตรฯนั้น นายกฯไม่เกี่ยวข้อง
ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า หลังพิธีรับมอบเสร็จสิ้นลง นายชัย ให้สัมภาษณ์ ว่า วันนี้เป็นเพียงการรับฟังข้อเสนอของคณะกรรมการ 1 ชุด ต้องรออีก 1 ชุด คือ คณะกรรมการตรวจสอบสลายการชุมนุม ได้ข้อสรุปแล้วจะเชิญ ส.ส.และ ส.ว.มาร่วมรับฟัง ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องรอดูว่าฝ่ายรัฐบาลมีความเห็นอย่างไร แต่ยอมรับว่า เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ไม่ใช่เรื่องที่จะดำเนินการได้เลย
“การสร้างสมานฉันท์แบบเฉพาะหน้า ก็อยากให้ทุกฝ่ายหยุดเคลื่อนไหวฝ่ายอดีตนายกรัฐมนตรี หยุดโฟนอิน ฝ่ายเราก็จะหยุดเหมือนกัน”
ผู้สื่อข่าวถามว่า การไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลที่ต้องการแก้ งอนหรือไม่ นายชัย ตอบว่า “ไม่งอนหรอกครับ ตอนนี้ ส.ส.ไม่มีใครอยากให้ยุบสภา เพราะถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ต้องยุบสภาทันที” เมื่อถามว่า เป็นการซื้อเวลาเพื่ออยู่ในอำนาจนานๆ หรือไม่ นาย ชัย ย้ำว่า “ไม่ได้ซื้อเด็ดขาด แต่เราต้องการประนีประนอมให้ทุกฝ่ายได้อยู่ด้วยกัน สำหรับผมไม่มีปัญหา ยุบพรุ่งนี้เลยยิ่งดี จะได้พักผ่อน”