ส.ว.สรรหา จูงมืออาจารย์ ม.รังสิต เปิดผลสำรวจความเห็นประชาชน ระบุร้อยละ 55 เห็นนักการเมืองแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเองและพวกพ้อง ชี้ควรทำประชามติก่อนแล้วนำรัฐธรรมนูญปี 40 มาปรับปรุง แต่เชื่อไม่นำไปสู่การสมานฉันท์ได้ เตรียมยื่นผลสำรวจให้ “ประธานสมานฉันท์-ประธานวุฒิฯ”
วันนี้ (21 พ.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 14.00 น. นายสมชาย แสวงการ นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ได้นำนายประเสริฐ กิติรัตน์ตระการ นายสังคม คุณคณากรสกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยรังสิต แถลงผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 2,813 ตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 55.6 เห็นว่า พรรคการเมืองและนักการเมืองที่ผลักดันมีเจตนาเพื่อพวกพ้องของตนเอง ร้อยละ 25.8 ไม่แน่ใจ ขณะที่ร้อยละ 37.2 เห็นควรให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ไม่เห็นควรร้อยละ 34 ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เห็นว่าควรทำประชามติก่อน และให้นำรัฐธรรมนูญปี 40 มาปรับปรุง ขณะที่ร้อยละ 43.8 เห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ไม่สามารถนำไปสู่ความสมานฉันท์ได้ ส่วนเรื่องถามความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรานั้น พบว่า มาตรา 190 เห็นควรแก้ไขร้อยละ40.7 ไม่ควรแก้ไขร้อยละ 32.4 มาตรา 237 ที่เกี่ยวกับยุบพรรคการเมือง ร้อยละ 41.7 ไม่ควรแก้ไข เห็นควรแก้ไขร้อยละ 33.4 มาตรา 265 การห้าม ส.ส.และส.ว.มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับหน่วยงานรัฐ ร้อยละ 48.9 เห็นว่า ไม่ควรแก้ไข เห็นควรแก้ไขร้อยละ 27.9 มาตรา 266 การห้าม ส.ส.และส.ว.ใช้อำนาจแทรกแซงราชการ ร้อยละ 49.4 เห็นว่าไม่ควรแก้ไข เห็นควรแก้ไขร้อยละ 28.8 มาตรา 309 เรื่องการนิรโทษกรรม การรัฐประหาร ร้อยละ 40.8 เห็นว่าไม่ควรแก้ไข เห็นควรแก้ไข 30.5 ส่วนการถามความเห็นว่า นิรโทษกรรมกรรมการพรรคการเมืองที่ถูกยุบไปแล้วหรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 41.5 เห็นว่าไม่ควรนิรโทษกรรม
นายสมชายกล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญต้องฟังเสียงประชาชนเป็นหลักและยึดโยงประโยชน์ของประเทศ ถ้าเห็นแก่นักการเมือง ความสมานฉันท์ก็ไม่สำเร็จ หากจะแก้ก็แก้เพียงมาตรา 190 ส่วนมาตรา 237 หากจะแก้ต้องรอบคอบ ทั้งนี้ ตนจะนำเสนอผลสำรวจนี้ต่อนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา