คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและการศึกษาแก้รัฐธรรมนูญ ที่มี ดิเรก ถึงฝั่ง เป็นประธานฯ ตั้งขึ้นมาแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองท่ามกลางการแบ่งฝัก แบ่งฝ่าย ถือว่าได้รับการตอบรับจากทุกฝ่ายเป็นอย่างดี เพราะได้หัวขบวนที่ถูกฝา ถูกตัว
ด้วยเกียรติภูมิของ ดิเรก มีเครดิตเป็นถึงอดีตผู้ว่าราชการ ความที่ไม่ใช่เด็กในคาถาของใคร จึงเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือคนหนึ่งเลยทีเดียว
ประกอบกับเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านรัฐศาสตร์ การปกครอง และด้วยที่เป็นพ่อเมืองมาทั่วทุกหัวระแหงแล้ว ยังได้รับการสรรหามาเป็นสมาชิกวุฒิสภาอีกด้วย และด้วยความที่เป็นคนสุขุม ลุ่มลึก ไม่มีอารมณ์แบบมึงมา พาโวย
ดิเรก จึงได้รับความเห็นชอบ และไว้ใจจากหลายฝ่าย ให้มารับหน้าที่หนังหน้าไฟ และแบกรับภาระอันหนักอึ้ง ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความคาดหวังของคนทั้งประเทศ
นักปกครองรุ่นเก๋าระดับชื่อชั้นอดีตพ่อเมืองจะทำได้หรือไม่ นั่นเป็นบทพิสูจน์ว่า เรือจะล่มปากอ่าวก่อนหรือไม่
หลังจากได้รับตำแหน่งประธาน ดิเรก ก็ให้ความมั่นใจว่า เราได้เดินมาถูกทางแล้ว เหมือนเห็นแสงปลายทางอุโมงค์ก็ว่าได้ ทั้งยังมั่นใจถึงขนาดประกาศในวงสัมมนาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ จากหลายสาขาอาชีพเข้าร่วมรับฟัง
“เราต้องการอะไรจากการปฏิรูปการเมือง” ประธานดิเรก เปิดฉากตั้งคำถาม และแสดงความในใจว่า
“การเข้ามาทำงานครั้งนี้ไม่ได้เป็นเครื่องมือในการซื้อเวลาของใคร แต่เกิดจากความวิตกของทุกคนที่ไม่อยากเห็นบ้านเมืองแตกแยก จึงรับอาสาเข้ามาทำงาน”
แน่นอนก่อน จะตั้งอนุกรรมการฯ แต่ละชุดขึ้นมา จะมีการโต้แย้ง ปะทะเดือด สาดโคลนด้วยวิวาทะกันพอสมควร ระหว่างตัวแทนของพรรคเพื่อไทย และพรรครัฐบาล ที่ทะเลาะถกเถียงกัน จนหวั่นว่าจะทำให้วงแตกไปก่อนออกสตาร์ท
แต่ในวงหารือกรอบของการสมานฉันท์สุดท้ายก็ไปรอด ถือเป็นเรื่องที่ดีของทั้ง 2 ฝ่าย ที่ร่วมมือหาทางออกให้ประเทศ แม้ว่าจะใช้ยาที่ไม่แรงนัก เพื่อให้ทรงตัวด้วยการเยียวยาโดยใช้ความสมานฉันท์เข้ามาเป็นกำแพงกั้นระหว่างคน 2 สี เพื่อชะลอความขัดแย้ง
แม้จะตั้งอนุกรรมการฯขึ้นมา 3 ชุด คือ ชุดสมานฉันท์ –ปฏิรูปการเมือง-แก้ไขรัฐธรรมนูญ และชุดตรวจสอบข้อเท็จจริง ทุกชุดจะใช้เวลาเพียง 45 วัน มีเวลาไม่มากนักกับการทำการบ้าน ที่ล้วนแต่เป็นโจทย์ทำให้สังคมกังขา และเป็นสิ่งที่ยากเหลือเกิน ที่จะตอบโจทย์ครั้งนี้ได้
ไม่ว่าจะเป็นคำถามซ้ำๆ เดิมๆ ว่าตั้งคณะกรรมการฯขึ้นมาจะสมานฉันท์ได้จริงหรือไม่ จะลดความขัดแย้งกับกลุ่มต่างๆได้หรือไม่ รวมถึงถ้าแก้รัฐธรรมนูญ จะแก้มาตราใด แก้เพื่อใคร และทุกกลุ่มทุกสี จะยอมรับหรือไม่
ล้วนแต่เป็นคำถามตามมาอย่างมากมาย ที่สังคมจะดาหน้าถามท่านคณะกรรมการสมานฉันท์ทั้งหลาย ซึ่งจะต้องเตรียมตอบโจทย์ไว้ให้ดี
การทำงานเพียงไม่กี่วันของ อนุกรรมการฯ แต่ละชุดยังทำงานไม่สมบูรณ์แบบ ที่ปรากฎบนหน้าจอรู้อยู่แก่ใจว่า ยังไงก็ไม่มีทางสำเร็จแน่ แต่เชื่อว่าเป็นร่างที่เห็นก็มีแต่ชุดคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางสมานฉันท์ทางการเมืองของสังคมไทย เป็นชุดแรก ที่สามารถสรุปแนวทางสมานฉันท์ไว้ 8 ข้อ ซึ่งเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่แล้ว ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ขอให้ทุกๆ ฝ่ายช่วยกันรณรงค์แนวทางดังกล่าว ให้ชาวบ้านได้รับทราบด้วย
สำหรับแนวทางสมานฉันท์ 8 ข้อคือ 1. ลดวิวาทะทางการเมืองด้วยการไม่ตอบโต้ใส่ร้ายซึ่งกันและกัน โดยมอบหมายให้หัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคเป็นเจ้าภาพ 2. รัฐบาลและฝ่ายค้าน ต้องลดการสร้างเงื่อนไขนำไปสู่ความรุนแรง โดยรัฐบาลและฝ่ายค้านจะต้องเป็นฝ่ายริเริ่ม เป็นแบบอย่างในสังคม
3. ให้สื่อมวลชนทุกแขนงเข้ามาเป็นเครือข่ายในการรณรงค์และสร้างความสมานฉันท์ในชาติ โดยการเป็นเจ้าภาพในการประสานงาน และสื่อสารลดความขัดแย้งในสังคม ไม่มีการชี้นำให้เกิดความขัดแข้ง 4. ควรมีกระบวนการเจรจาสร้างสันติสุขกับคู่ขัดแย้งทุกระดับ โดยมอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้า และองค์กรที่เป็นกลางยอมรับได้ของทุกฝ่ายเป็นเจ้าภาพ เพื่อลดความขัดแย้ง
5. ตั้งสมัชชาสมานฉันท์เพื่อระดมความเห็นจากประชาชนทั้ง 4 ภาค โดยรัฐสภาเป็นเจ้าภาพ 6. ร่วมกันสร้างรัฐธรรมนูญสมานฉันท์ โดยมีการศึกษาผลกระทบจากการบังคับใช้ และผลของการบังคับใช้ ต้องให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วนโดยมี รัฐสภา รัฐบาล ฝ่ายค้าน ส.ส. และ ส.ว. รวมไปถึงองค์กรประชาชนทุกภาคส่วนร่วมกันคิด 7. องค์กรต่างๆ ในสังคม ต้องใช้อำนาจด้วยความถูกต้อง ลดการใช้ความรุนแรง และ8 .สร้างกระแสสังคมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม ไม่เลือกสี ไม่เลือกข้าง ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน
ถึงแม้ว่า การเดินทางสมานฉันท์ จะเดินมาถึงครึ่งทางแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เห็นแสงเทียนที่ปลายทางเลย แต่เป็นธรรมดาของการเดินทางที่จะไปสู่เส้นชัย ย่อมมีอุปสรรคขวากหนามกันบ้างเป็นธรรมดา เฉกเช่น อนุกรรมการฯ แต่ละชุดเผชิญกับปัญหาที่ดาหน้าเข้ามาโดยเฉพาะชุดแก้รัฐธรรมนูญ สงสัยจะต้องร้องเพลง
“คราวนี้ทำใจลำบากเหลือเกิน” แน่นอน
เพราะถ้าจะไปไม่รอด เพราะฝั่งที่เสียประโยชน์จากรัฐธรรมนูญปี 50 ก็ต่างออกมาโวยวาย อยากให้แก้มาตราหลักๆ คือ ม.237 และม.190 โดยเฉพาะมาตราที่ฟีเวอร์สุดๆ ที่อยากให้แก้คือ 309 ที่ต้องการนิรโทษกรรมโคตรเหง้า กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ถึงขนาดส่งคนมายื่นข้อเสนอให้ ต่ออายุให้ ส.ว.จาก 3 ปีเพิ่มเป็น 6 ปี เพื่อให้ ส.ว.เห็นด้วยกับการทำ “คนบาปให้บริสุทธิ์” ในครั้งนี้
หากมองลึกๆ แล้ว เป็นเรื่องยากมากที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ อย่างน้อยพรรคเพื่อไทยเองก็จะโดนทัดทานจากฝั่งประชาธิปัตย์ และ ส.ว.เช่นกัน
มองเกมการเดินทางสมานฉันท์แล้ว รู้สึกยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นโจทย์ที่ยาก และเกรงว่าจะหาจุดจบไม่สวย หากถามว่าประชาชน จะได้ประโยชน์อะไรจากการสมานฉันท์ครั้งนี้ คงตอบได้เพียงว่า
ก็ยังดีกว่าทะเลาะกันบนถนน ให้หันมาคุยกัน ถือว่าเป็นช่องทางเดียวที่ประชาชนนึกว่าเป็นประโยชน์ที่ได้ เท่านั้นเอง
กระนั้นก็ตาม การสั่งการตรงของนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ ในการยื่นดาบให้นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เป็นเจ้าภาพในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทั้งหลาย คำที่ว่า ปัญหาที่เกิดจากการเมือง ต้องแก้ด้วยการเมือง เห็นจะจริง
แต่จะมีคำถามยิงเป็นชุดจากสังคมว่า การแก้ปัญหาของประเทศครั้งนี้ จะลงเอยอย่างไร จะแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ เมื่อคณะกรรมการสมานฉันท์ทำเสร็จออกมาเป็นรูปเป็นร่าง จะสามารถเป็นรูปธรรมให้จับต้อง ลูบคลำได้หรือไม่ ถ้าทำได้ คนในชาติกลับมารักกัน ไม่แบ่งสี แบ่งข้าง ประเทศชาติเราไปไกลแน่ แต่หากรัฐบาลทำเพื่อเพียงแก้ปัญหาเฉพาะปลายเหตุ หรือเป็นเพียงพิธีกรรมที่ปลุกเสก ปรุงแต่งขึ้นมาเพื่อให้ดูสวยหรู โดยการจำลองรูปแบบตั้งคณะกรรมการฯขึ้นมา
เพื่อยื้อเวลา ขจัดความขัดแย้ง หรือยืดอายุของรัฐบาลให้อยู่ได้นาน เพื่อเสวยสุขบนกองเงินกองทอง หรือด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม ถือว่าเป็นอันตรายยิ่งต่อประเทศชาติ
การสร้างสมานฉันท์ให้คนในชาติหันหน้าเข้ามาปรองดองกัน เป็นเรื่องดี แต่รัฐบาลจะทำได้จริงหรือ? ให้จับตาดู ไม่อีกกี่วัน คนทั้งประเทศก็จะได้คำตอบที่รอคอยกันมานาน