"ม.ล.วรรณวิภา" ระบุ "กษิต" เปลี่ยนไป บอกไทยไม่เสียดินแดน มัวไปเถียงกับเขมรเรื่องชื่อ"วิเฮียร์-วิหาร" กลเกลื่อนการเสียพื้นที่ระหว่างภูมะเขือกับช่องตาเฒ่า ขนาด 4.6 ตร.กม. ย้ำ รบ.อย่าหลอก ปชช. การถอนทหาร เท่ากับเปิดทางเขมรนำ"เขาวิหาร" จดทะเบียนฯ ด้าน"ประกาสิทธิ์" จวกรมว.ต่างประเทศ อย่าตีหน้าซื่อหัดยอมรับความจริง พิสูจน์แล้วไม่พิทักษ์ปกป้องแผ่นดินจริง ขณะที่ "เทพมนตรี" เผยแถลงการร่วม "นพเหล่" ทำไทยผูกมัดตามมติ 32 ชี้ทางออกไทยต้องยื้อเวลากรอบเจรจา-ข้อตกลงผ่านสภา
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ "คนในข่าว"
รายการ “คนในข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน ช่วงเวลา 20.30-21.30 น. วันที่ 18 สิงหาคม 2552 โดยมีนายเติมศักดิ์ จารุปราณ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งได้รับเกียรติจาก ม.ล.วรรณวิภา จรูญโรจน์ ผู้เชียวชาญจากนักวิจัยสถาบันไทยคดีศึกษา และ นายประกาสิทธิ์ แก้วมงคล ผู้ช่วยนักวิจัย สถาบันไทยคดีศึกษา พร้อมด้วยนายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ มาร่วมพูดคุยถึงท่าทีของรัฐบาลและ รมว.ต่างประเทศ กรณีเขาวิหาร
ม.ล.วรรณวิภา กล่าวว่า นายกษิต ภิรมณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปลี่ยนไป เมื่อก่อนเคยคัดคานแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา อย่างสุดตัว แต่พอเป็น รมว.ต่างประเทศ กลับไม่คัดค้านแถลงการณ์นี้ มิหนำซ้ำมาออกรายการคนในข่าว เมื่อวันอังคาร ที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา ว่า พวกรักชาติบางคนและสื่อ ประโคมข่าว ไทยเสียดินแดนไปแล้ว แล้วนายกษิต ออกมายืนยันว่า ไทยยังไม่เสียดินแดน มีประเด็นที่น่าจับตามองจากการให้สัมภาษณ์ ที่ว่า “ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางบก ติดอยู่ที่ชื่อเขาพระวิหารที่ยังตกลงกันไม่ได้” ซึ่งกัมพูชาจะให้ใช้คำว่า “เพรียะวิเฮียร์” แต่ไทยอยากให้ใช้คำว่า “พระวิหาร” ทั้งที่เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะ “เพรียะวิเฮียร์” เป็นแค่คำเรียก"พระวิหาร"ในสำเนียงเขมร แต่การทำให้เรื่องนี้การเป็นความขัดแย้งขึ้นมามีนัยยะสำคัญแอบแฝง คือ ข้อตกลงใช้ชื่อเรียกที่ทั้งสองฝ่ายขัดแย้งกัน ต่อมามีการประนีประนอม ตกลงให้เรียกพื้นที่ตรงนี้ ว่า พื้นที่ระหว่างภูมะเขือ กับช่องตาเฒ่า ตรงนี้เป็นการหมกเม็ด เพราะพื้นที่ระหว่างภูมะเขือกับ ช่องตาเฒ่า ขนาด 4.6 ตร.กิโลเมตร เป็นหัวใจสำคัญที่กัมพูชาต้องการอยากได้เป็นพื้นที่กันชน เพราะหากไม่มีพื้นที่ดังกล่าว กัมพูชา จะไม่สามารถไปขอจดทะเบียนเขาวิหารได้
“พ.ศ. 2546 มีมติครม. ให้ไทย-กัมพูชาร่วมกันพัฒนาพื้นที่ 4.6 ตร.กิโลเมตร แต่ปรากฏว่าตั้งแต่ พ.ศ. 2548-2549 กัมพูชาพยายามขึ้นทะเบียนเขาวิหารเป็นมรดกโลก และขอจดทะเบียนแต่เพียงผู้เดียว กระนั้นรัฐบาลไทยนอกจากจะนิ่งเฉยแล้วกลับมีทีท่าสนับสนุน จนถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2552 ก็ยังพยายามพัฒนาพื้นที่ 4.6 ตร.กิโลเมตรตรงนี้ร่วมกัน ด้วยเหตุนี้รัฐบาลประชาธิปัตย์ จึงไม่ต่างอะไรจากรัฐบาลยุค สมชาย วงสวัสดิ์” ม.ล.วรรณวิภา กล่าว
ม.ล.วรรณวิภา กล่าวถึงสาเหตุที่ไม่ไว้วางใน ก.ต่างประเทศ เพราะพยายามยึดเอาข้อมูลของนักวิชาการที่ไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศเป็นข้อมูลหลัก โดยไม่ศึกษาข้อมูล และฟังข้อท้วงติงคนอื่นๆเลย แล้วมายืนยันว่า 1.เขาวิหารเสียให้กัมพูชาไปแล้ว 2.พื้นที่ 4.6 ตร.กิโลเมตร เป็นพื้นที่ทับซ้อน อย่างนี้เป็นการทำลายประเทศอย่างยิ่ง อีกอย่างหลังการทำประชาพิจารระหว่างไทย-กัมพูชาเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2552 ต่อมา ก.ต่างประเทศ ขอเลื่อนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนออกไปก่อน ทั้งๆที่การทำประชาพิจารความคิดเห็นนั้นเกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นหากทำงานโปร่งใสจริง ทำไมถึงปล่อยให้มีการเลื่อนแถลงข้อเท็จจริงต่อประชาชน
“การปฏิบัติของ ก.ต่างประเทศ ที่ยกพื้นที่ 4.6 ตร.กิโลเมตร ให้กัมพูชา และถอนกำลังทหารออกจากเขาวิหาร จะทำให้พื้นที่ดูสงบ ซึ่งการกระทำดังกล่าวอยู่ในข้อตกที่จะให้กัมพูชาไปขอจดทะเบียนเขาวิหารเป็นมรดกโลกได้ ดังนั้นหากในเดือน ต.ค. 2552 สภาเอาร่างข้องตกลงนี้เข้าสู่ที่ประชุม ทุกอย่างจะจบเสมือนไทยยินยอมโดยปริยาย แล้วในกุมภาพันธ์ ปีหน้า ยูเนสโก ก็จะจดทะเบียนปราสาทเขาวิหารให้กัมพูชาได้อย่างสมบูรณ์” ม.ล.วรรณวิภา กล่าว
ม.ล.วรรณวิภา กล่าวว่าอยากเรียกร้องให้ 1.ไทยควรยุติการพัฒนาพื้นที่ 4.6 ต.ร.กิโลเมตร ไม่เข้าไปร่วมกับกัมพูชา 2.บนพื้นที่ 4.6 ตร.กิโลเมตร โดยเฉพาะที่วัด ทหารต้องอยู่ในพื้นที่ และไม่ยินยอมให้ใครใช้พื้นที่ถนนที่กัมพูชาสร้างล้ำเข้ามาในพื้นที่ของไทย 3.ให้รัฐบาล และนายกษิต กลับใจ เพื่อพิสูจน์ศักดิ์ศรี ว่า ยังพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติอยู่ และ 4.อยากให้ ส.ส. และ ส.ว. รู้เท่าทันเรื่องนี้
“คณะผู้ติดตามกรณีปราสาทเขาวิหารพร้อมด้วยคณะอนุกรรมการการมีส่วนร่วมของประชาชนฯ ร่วมกันจัดเสวนา เรื่อง “แผ่นดินเขาวิหาร 4.6 ตร.กิโลเมตร บทพิสูจน์ศักดิ์ศรีและอธิปไตยของไทย” ในวันที่ 25 สิงหาคม ที่รัฐสภา ตั้งแต่เวลา 08.30-15.00 น.” มล.วรรณวิภา กล่าว
นายประกาสิทธิ์ กล่าวว่า ข้อกล่าวหาของประชาชน ที่บอกว่า ก.ต่างประเทศไม่พิทักษ์ปกป้องแผนดินไทย 4.6 ตร.กิโลเมตรบริเวณเขาวิหาร ไม่ใช่การกล่าวหาเลื่อนลอย เพราะเขาได้พิสูจน์แล้ว ด้วยเหตุผลตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2551 รัฐบาล นายสมชาย เลือกที่จะใช้ข้อมูลของนักวิชาการที่ไม่รักษาผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก เอานักวิชาการ อ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ และ รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ออกมาให้ข้อต่อประชาชน แต่เป็นข้อมูลที่ผิดพลาด คลาดเคลื่อน
ยกตัวอย่างให้เห็น รศ.ดร.สุรชาติ พูดในหลายเวทีอยู่บ่อยๆ ว่า การที่ศาลโลกพิพากษาให้เขาวิหารเป็นของกัมพูชา ไม่ใช่แค่เฉพาะตัวเขาวิหาร แต่รวมถึงพื้นที่โดยรอบด้วย แท้ที่จริงมติครม. ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ที่มีการกั้นรั้วลวดหนาม แล้วระบุว่า เป็นการทำเขตบริเวณเขาวิหาร ต่อมาไม่รู้ว่าเกิดการเข้าใจผิดหรือจงใจ ทำให้เส้นดังกล่าวกลายเป็นเขตแดน แล้ว ก.ต่างประเทศ ก็ใช้ข้อมูลที่ผิดนั้นมาตลอด นอกจากนี้ยังไม่เคยพูดถึงการขึ้นทะเบียนเขาวิหาร ว่า ในการขึ้นทะเบียนครั้งแรกของกัมพูชา บอกว่าไม่รุกล้ำเข้าไทย ตามที่ครม. สมัยจอมพลสฤษดิ์ กำหนด แต่ไม่พูดถึงโซนที่ 3 ซึ่งระบุในแถลงการณ์ร่วม ที่จะต้องอยู่ในแผนการบริหารของกัมพูชา ซึ่งบริเวณนั้นรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ไทยแล้ว
นายประกาสิทธิ์ กล่าวถึง อ.อัครพงษ์ ที่อ้างพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ รัชการที่ 5 ทรงลงพระนามสัตยาบัน มีผลทำให้เขาวิหาร ตกเป็นของกัมพูชา เป็นหารให้ร้ายพระองค์ท่าน เพราะที่จริงแล้วสนธิสัญญานั้น ผู้ที่ลงนามคือ สมเด็จกรมพระยากรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ซึ่งเทียบในสมัยนี้ก็คือตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ นอกจากนั้นยังบอกว่าแผนที่ ANEX ONE รัชการที่ 5 ยอมรับไปแล้ว ซึ่งข้อเท็จจริง แผนที่ฉบับดังกล่าวยังไม่เกิดเลย เพราะแผนที่นี้เพิ่งจะพิมพ์ขึ้นเมื่อปี 1908
นายเทพมนตรี กล่าวเสริม ว่า อ.อัครพงษ์ เคยพูดในรายการผ่านช่องเนชั่น ว่า รัชการที่ 5 ทรงรับรู้แผน ANEX ONE ซึ่งที่จริง รัชการที่ 5 ไม่ได้รู้เรื่องแผนที่นี้ เพราะแผนที่ดังกล่าว ถูกส่งมาในสมัยรัชการที่ 6
“การให้ข้อมูลของ ก.ต่างประเทศ ยังมีลักษณะเหมือนเดิม คือ ให้ข้อมูลที่ผิด สับสน ตอนนี้ประชาชนกำลังถูกหล่อหลอมโดยข้อมูลที่ผิด ให้เข้าใจในทางที่ผิด เพื่อให้เกิดความชอบธรรม ที่จะไปยกพื้นที่ 4.6 ตร.กิโลเมตร ให้กัมพูชา” นายประกาสิทธิ์ กล่าว
นายประกาสิทธิ์ กล่าวว่า การเจรจาเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ต้องใช้แผนที่สองฉบับประกอบกัน คือ ตั้งแต่ชายทะเล จ.ตราด จนถึงช่องสะงำ จ. ศรีษะเกษ ต้องใช้สนธิสัญญา ค.ศ. 1907 แต่ช่วง ช่องสะงำจนถึงช่องบก จ.อุบลราชธานี ตรงนี้ต้องใช้ สนธิสัญญา ค.ศ.1904 อย่างไรก็ตามการกำหนดเขตแดนนี้มันมีปัญหาอยู่ตรงที่ ก.ต่างประเทศ ดันไปเอาแผนที่ อื่นที่ไม่ใช่ สนธิสัญญา ค.ศ.1907 และสนธิสัญญา ค.ศ.1904 เข้ามาร่วมด้วย
“ประชาชนต้องเปิดใจยอมรับข้อมูล ที่เครือขายต่างๆ ลุกขึ้นโต้แย้งรัฐบาล โดยให้ดูว่าการโต้แย้งนั้นนำไปสู่ผลประโยชน์ของชาติหรือไม่ หรือจะให้คิดว่าเราเสียดินแดนไปแล้ว ส่วนกรณีที่ ก.ต่างประเทศ บอกว่ายุคนี้ไม่สามารถที่จะใช้กำลังทหารไปสู้รบเพื่อรักษาดินแดน ตรงนี้เป็นการปัดความรับผิดชอบ ยอมจำนน ไม่สามารถที่จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศ” นายประกาสิทธิ์ กล่าว
นายเทพมนตรี กล่าวว่า สำนักราชเลขา สงสัยการกระทำกระทรวงการต่างประเทศ มาตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย. 2551 ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีการประชุมเรื่องมรดกโลก แต่เอกสารที่ส่งถึงสำนักราชเลขา ในข้อ 6.3 บอกว่า ไทย-กัมพูชา จะร่วมจัดทำแผนบริหารพื้นที่โดยรอบเขาวิหารทั้งหมด โดยต้องเสนอต่อ ศูนย์มรดกโลกในวันที่ 1 ก.พ. 2553 ตรงนี้แสดงว่า ก.ต่างประเทศ รู้แต่แรกแล้วว่า กัมพูชาต้องได้จดจดทะเบียนเขาวิหารเป็นมรดกโลก ดังนั้นการกระทำของไทยเหมือนการเอาพื้นที่ 4.6 ตร.กิโลเมตรไปประเคนให้เขาถึงที่ อย่างไรก็ตามการกระทำในครั้งนั้นของ นายนพดล ปัมทะ สมัยเป็น รมว.ต่างประเทศ นายกษิต เองยังบอกว่า เอกสารนั้นไม่ถูกต้อง แต่ตอนนี้ท่านมาเป็นรมว.ต่างประเทศ แล้วก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข
“การที่นายนพดล เซ็นแถลงการณ์ร่วมกับกัมพูชา เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2551 แม้ศาลรัฐธรรมนูญไทยจะพิจารณาตัดสินให้แถลงการณ์ร่วมนี้ใช้ไม่ได้ แต่รัฐบาลยังมีท่าทียอมรับ ในข้อตกลงนั้นอยู่” นายเทพมนตรี กล่าว
นายเทพมนตรี กล่าวถึงหนังสือของนายพพดล “ผมไม่ได้ขายชาติ” มีข้อผิดสังเกตุ คือ เรื่องเขตแดนที่ไปเชื่อข้าราชกระทรวงการต่างประเทศที่เข้าใจผิดมาตลอด โดยที่แรกตนเชื่อว่านายนพดลคงเข้าใจผิดโดยบริสุทธิ์ใจ แต่พอมาดูหนังสือของเขา เขาดูก่อนการปักปันต้องบริหารจัดการพื้นที่ทับซ้อนร่วม ทำให้ตนเข้าใจไปได้ว่า นายนพดลไปตกลงกับ ซก อาน ที่ปารีส ตั้งแต่ 22 พ.ค.2551 ก่อนที่จะมีแถลงการณ์ร่วมวันที่ 18 มิ.ย. 2551
อย่างไรก็ตามแถลงการณ์ร่วมที่ นายนพดล เซ็น แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยไม่ให้มีผลบังคับ ตอนนี้แถลงการณ์ดังกล่าวถูกเปลี่ยนมาเป็นมติคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 32 เพื่อบังคับให้ประเทศภาคีปฏิบัติตาม ซึ่งเราก็อยู่ในประเทศภาคีด้วย ดังนั้นแม้เราจะยกเลิกแถลงการณ์ก็ไม่มีผลแล้ว
นายเทพมนตรี กล่าวว่า มติคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 33 ทำให้ไทยต้องผูกพันที่จะต้องส่งแถลงการณ์ข้อตกลงกรณีเขาวิหาร อย่างไรก็ตามเรายังทัน ที่จะระงับไม่ให้ กัมพูชา ได้จดทะเบียนเขาวิหารเป็นมรดกโลก คือ ยื้อเวลากรอบเจรจา หรือข้อตกลงที่จะผ่านสภา และตรึงกำลังทหารบนเขาวิหารเอาไว้ ถ้าทำได้อย่างนี้พอถึง 1 ก.พ. 53 เขมรจะยังไม่ได้ข้อยุติจากไทย ซึ่งจะทำให้ขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกไม่ได้ เพราะติดเงื่อนไขสัญญามรดกโลก เหตุยังไม่ได้รับข้อตกลงจากไทย ประกอบกับพื้นที่เขาวิหารยังเป็นมรดกโลกที่อันตราย