xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ดักคอ “หางแดง” อย่าตั้งแง่รัฐกล่าวหาสกัดฎีกา ยันแค่เสนอความเห็น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
“มาร์ค” ดักคอ “หางแดง” อย่าหาเรื่อง โวยรัฐกล่าวหาสกัดฎีกา “นช.ทักษิณ” ชี้ ตามขั้นตอนต้องใช้เวลามากกว่า 60 วัน อ้างครอบครัวเจ้าตัวไม่ได้ร้องเอง ต้องตรวจสอบรายชื่อ โยนเผือกร้อน “เทพเทือก” พิจารณา ยันมีมาตรฐานเดียว เหตุรัฐบาลไม่มีสิทธิ์ยับยั้ง ต้องนำความเห็นส่งกลับสำนักราชเลขาฯ

คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์



วันนี้ (18 ส.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการถวายฎีกาขออภัยโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยสำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง จะส่งเรื่องให้รัฐบาลดำเนินต่อว่า แนวปฏิบัติเหมือนการฎีกาทั่วไป คือ ทางสำนักราชเลขาฯจะส่งมายังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จากนั้นจะมีการนำเสนอให้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะที่ได้รับมอบหมาย ให้พิจารณาเรื่องฎีกาทำหน้าที่ในการตรวจสอบ เมื่อตรวจสอบแล้วจะส่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อจัดทำความเห็นในการที่จะให้รัฐบาลได้นำเสนอความเห็นกลับไปยังสำนักราชเลขาธิการ ถ้าดูจากข่าวสารต่างๆ กรณีนี้น่าจะเป็นฎีกาที่มีความมุ่งหมายให้เสนอให้มีการพระราชทานอภัยโทษ ถ้าเป็นกรณีเช่นนั้นจะส่งเรื่องให้กระทรวงยุติธรรม

ผู้สื่อข่าวถามว่า โดยอำนาจของรัฐบาลแล้วมีอำนาจแค่จัดทำความคิดเห็นเสนอกลับไป หรือมีอำนาจในการยับยั้งได้เลย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หน้าที่รัฐบาล คือ ให้ความเห็นกลับไป เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนฎีกาไปยังสำนักราชเลขาธิการ เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่การฎีกาไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม ย่อมเกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่รัฐบาลดูแลอยู่ ทางสำนักราชเลขาธิการ ก็จะขอความเห็นจากรัฐบาล ดังนั้น หน้าที่ของรัฐบาลคือให้ความเห็นเพื่อดำเนินการตามกระบวนการต่อไป ส่วนการที่จะดูว่าฎีกาเป็นประเภทไหน เข้าข่ายอย่างไร และความเห็นควรเป็นอย่างไร ต้องพิจารณาจากตัวเนื้อหาฎีกา และผู้ที่ยื่นด้วย ซึ่งเรื่องรายชื่อถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่หน่วยงานจะต้องสรุปความเห็นขึ้นไป เท่ากับว่า เรื่องนี้ยุติที่รัฐบาลไม่ได้ รัฐบาลต้องนำเรื่องกลับไปยังสำนักราชเลขาธิการอีกครั้งหนึ่ง ขั้นตอนเหมือนฎีกาทั่วไป

เมื่อถามว่า แกนนำเสื้อแดงประกาศชัดว่า ถ้าฎีกาตกอยู่แค่ขั้นตอนของรัฐบาล จะไม่ยอมแน่นอน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ฎีกาไม่ตกไปในขั้นตอนรัฐบาลแน่ เมื่อถามว่า รัฐบาลได้มีการประเมินหรือไม่ เพราะมีความพยายามในการเปิดประเด็นใหม่ว่ารัฐบาลพยายามขัดขวาง หรือล้มฎีกา อาจนำไปสู่การเคลื่อนไหวล้มรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่มีกรณีเช่นนั้น กรุณาอย่าไปบิดเบือนข้อเท็จจริง รัฐบาลทำอย่างนั้นไม่ได้ รัฐบาลมีหน้าที่ทำตามหน้าที่ สำนักราชเลขาธิการขอความเห็น ก็ให้ความเห็นต่อไป และเพื่อให้เกิดความชัดเจน ตนได้ลองสอบถามดูว่าฎีกาปกติที่เข้ามาแล้ว ส่งให้หน่วยงานต่างๆ จะต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ ก็ได้รับการชี้แจงจากหน่วยงานว่าตามปกติฎีกาที่ไม่มีความซับซ้อน เช่น กรณีมีครอบครัว หรือเจ้าตัว ขอพระราชทานอภัยโทษ ง่ายๆ อย่างนี้ ก็ใช้เวลาประมาณ 60 วัน แต่กรณีนี้ได้สอบถามเบื้องต้นก็บอกว่ามีรายชื่อจำนวนมาก ก็ต้องนานกว่า 60 วัน

“ต้องพูดไว้ก่อน เพราะว่าจะมีคนไปบิดเบือนว่ารัฐบาลเก็บเรื่องไว้นาน รัฐบาลดำเนินการตามปกติมีมาตรฐาน มีมาตรฐานเดียว ฉะนั้น เมื่อมีฎีกาเข้ามา ปฏิบัติอย่างไร ก็ปฏิบัติอย่างนั้น ตามอำนาจหน้าที่” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำเสื้อแดง ระบุว่า ต้องการให้รัฐบาลพิจารณาฎีกาโดยให้ยึดหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์รวมกัน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่หน่วยงานพิจารณาตามปกติ และเข้าใจหลักที่เราทำ คือ คนที่พิจารณาจะไม่ใช่เรื่องของการเมือง ก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในเรื่องการถวายฎีกา เมื่อถามต่อว่า เรื่องนี้ถูกโยงเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองไปแล้ว รัฐบาลจะรับมือกับตรงนี้อย่างไรในการทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อไม่ให้มีการบิดเบือนข้อมูล นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนจะให้ความมั่นใจและความสบายใจกับทุกฝ่ายว่าเรื่องนี้รัฐบาลปฏิบัติอย่างที่พึงปฏิบัติกับทุกกรณีที่มีการฎีกา นั่นคือว่า ฎีกาเป็นประเภทไหน เกี่ยวข้องกับหน่วยงานใด หน่วยงานนั้นก็จะทำความเห็นโดยยึดถือหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับกรณีอื่นๆ และความเห็นจะถูกส่งกลับให้สำนักราชเลขาธิการ

เมื่อถามว่า วันที่ 26 ส.ค.กลุ่มคนเสื้อแดงจะมีการชุมนุมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อทวงถามเรื่องนี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถึงได้เรียนว่า กระบวนการและระยะเวลาขั้นตอนต่างๆ มันมีของมันอยู่ เหมือนกับกรณีอื่นๆ ซึ่งก็ได้มีการสอบถามเหมือนกันว่าต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ ก็บอกว่า 60 วัน ฉะนั้น วันที่ 26 นี้ ยังไงก็ไม่ทันอยู่แล้ว ตนได้อธิบายให้ประชาชนทราบว่าเรื่องนี้ปฏิบัติตามปกติ ไม่มีเรื่องไปขัดขวาง ไม่มีเรื่องไปถ่วงอะไรทั้งสิ้น การตรวจสอบเมื่อมีรายชื่อเข้ามามาก แล้วเข้าไปเกี่ยวข้องกับเกณฑ์การถวายฎีกา ก็อาจจะต้องตรวจสอบคณะที่มีความรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง และอาจจะต้องขอความร่วมมือ จากผู้ยื่นเองในการที่จะให้ความร่วมมือ ในการสรุปข้อเท็จจริงต่างๆ ได้

“ก็อยากจะขอว่าอย่ามีใครไปหลงเชื่อว่า รัฐบาลจะไม่ปฏิบัติเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา เราทำตรงไปตรงมาตามหลักเกณฑ์ทุกประการ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า มันจะเป็นสิงหาอันตรายอย่างที่มีการวิเคราะห์กันหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็ผ่านมาเกินครึ่งเดือนแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีของเว็บไซต์ที่มีการหมิ่นสถาบันอย่างชัดเจน รัฐบาลจะดำเนินอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้ามีอะไรที่ผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น