xs
xsm
sm
md
lg

กกต.เลื่อนฟัน 44 ส.ส.ตีกลับอนุฯแยกประเภทหุ้นบริษัท ปัดยื้อเวลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ที่ประชุม กกต.ยังไม่ลงมติฟัน 44 ส.ส.ถือหุ้นสัมปทานรัฐ อ้างพบอนุฯไต่สวนแยกประเภทหุ้นบริษัทไม่เสร็จ ตีกลับไปจัดการให้เรียบร้อยภายใน 7 วัน ยืนยันไม่ได้ยื้อเวลา ชี้รอความชัดเจนศาลปกครองหลัง 16 ส.ว.ร้องศาล



วันนี้ (18 ส.ค.) นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.แถลงว่า ในที่ประชุม กกต.ได้มีการพิจารณารายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการไต่สวนฯ กรณีที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา และ นายสมคิด หอมเนตร นักวิชาการอิสระ ขอให้ กกต.ตรวจสอบสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106(6) ของ 44 ส.ส.เนื่องจากถือครองหุ้นต้องห้ามในธุรกิจสื่อ และบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 48 และมาตรา 265 โดยมีมติให้เลขาคณะกรรมการไต่สวนฯ ไปดำเนินการปรับปรุง รายละเอียดต่างๆให้เรียบร้อย โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดกลุ่ม ว่า บริษัทใดบ้างที่เป็นบริษัทเข้าข่ายห้าม ส.ส. ส.ว.เข้าไปถือครองหุ้นเพิ่มเติม จากเดิม 18 บริษัท ที่ กกต.ได้เคยมีมติไว้ บริษัทใดบ้างที่ ส.ส.ผู้ถูกร้องเข้าไปถือหุ้นกู้ หุ้นสามัญ และบริษัทใดบ้างที่พบว่าคู่สมรสของผู้ถูกร้องเข้าไปถือหุ้น และเข้าข่ายลักษณะต้องห้าม ทั้งนี้ให้ดำเนินการโดยเร็วและเสนอต่อประธาน กกต.ภายในวันที่ 25 ส.ค.นี้

“ในการพิจารณาของที่ประชุม หลังคณะกรรมการไต่สวนฯได้นำเสนอรายงานแล้ว ก็มีคำถามมากมายในประเด็นดังกล่าวจากที่ประชุม รวมทั้งคณะกรรมการไต่สวนฯ ก็มีการเสนอเอกสารเพิ่มเติม โดยเป็นเอกสารของผู้ถูกร้องที่เสนอเข้ามา ประกอบกับบริษัทที่คณะกรรมการไต่สวนฯ ตรวจสอบนั้นมีจำนวนมากถึง 753 บริษัท และคณะกรรมการไต่สวนฯ ก็ยอมรับว่า มีข้อความของรายงานที่มีความคลาดเคลื่อน ต้องการปรับปรุง ที่ประชุม กกต.จึงเห็นว่าหากเอกสารไม่ชัดเจนครบถ้วนก็จะมีผลต่อการวินิจฉัย ซึ่งขอยืนยันว่า เรื่องนี้ กกต.ไม่ได้ต้องการที่จะยื้อเวลาแต่อย่างใด อีกทั้งการที่ให้เลขาคณะกรรมการไต่สวนไปดำเนินการดังกล่าวก็ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงมติของคณะกรรมการไต่สวนฯ ที่มีมติแล้ว” นายสุทธิพล กล่าวและว่า ประธาน กกต.ได้กำชับให้เลขาของคณะกรรมการไต่สวนฯ เสนอรายงานที่มีการปรับปรุงใหม่ภายในช่วงเช้าวันอังคารที่ 25 ส.ค.เพื่อที่จะได้นำเสนอ กกต.ในการประชุมวันเดียวกัน เพื่อที่ประชุมก็ได้พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร หากรายงานมีความครบถ้วนก็จะให้ กกต.นำไปศึกษาเป็นเวลา 7 วัน ก่อนที่นัดวันลงมติอีกครั้งในวันดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีนี้หลังจาก กกต.ได้พิจารณารายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการไต่สวนครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.จนถึงวานนี้ (18 ส.ค.) เป็นเวลาเกือบ 2 เดือนแล้ว แต่ กกต.ก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ทั้งที่มีการระบุว่าได้กำชับกับคณะกรรมการไต่สวนฯตลอดช่วงของการขอขยายเวลารวม 2 ครั้ง 30 วัน ว่า ให้มีการจัดหมวดหมู่ประเภทของหุ้นให้ชัดเจนแล้ว ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุที่ กกต.ยังไม่มีมติเรื่องดังกล่าวไม่น่าจะเป็นมาจากข้ออ้างดังกล่าว แต่น่าจะเป็นเพราะต้องการรอความชัดเจนระดับหนึ่งจากศาลปกครองที่รับพิจารณากรณี กกต.มีมติว่า 16 ส.ว.ถือหุ้นเข้าข่าย ทำให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงมากกว่า

ขณะที่นาย สมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย กล่าวว่า กรณี 44 ส.ส.ถือหุ้นสัมปทานรัฐ นั้นที่ประชุม กกต.มีมติขยายเวลาออกนั้น เนื่องจากเอกสารที่อนุกรรมการได้เสนอมานั้นยังไม่มีความเรียบร้อย จึงได้ให้เวลาอนุกรรมการไปจัดหมวดหมู่บริษัทที่เข้าลักษณะต้องห้ามและไม่เข้าลักษณะต้องห้ามใหม่ และส่วนตัวคิดว่าในวันที่ 25 ส.ค. น่าจะลงมติได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุม กกต.ท่านอื่นด้วย ว่าจะพิจารณาลงมติเลย หรือจะนำไปศึกษาก่อนแล้วจึงนัดพิจารณาอีกครั้ง

รายงานข่าวแจ้งว่า การที่ กกต. ได้เลื่อนการพิจารณา กรณีนี้ออกไป เนื่องจากคณะกรรมการไต่สวนที่ทำสำนวนนี้เป็นคนละชุดกับที่ทำ สำนวนชุด 16 ส.ว. และ 13 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โดยกรรมการไต่สวนชุดนี้ได้มีความเห็น เกี่ยวกับบริษัทที่เข้าข่ายถือหุ้นสัมปทานรัฐต่างออกไปจากอนุกรรมการ 2 ชุดแรก โดยกรรมการไต่สวนชุดดังกล่าวได้จัดทำข้อมูลอย่างละเอียดกว่า 2 ชุดแรก และได้เข้าไปตรวจสอบสอบบางบริษัทถึงทรัพย์สินที่ถือและกิจการที่ทำ จนมีความเห็นว่า บางกิจการเป็นกิจการที่เข้าข่ายสัมปทานรัฐ ซึ่งเป็นบริษัทที่เข้าลักษณะต้องห้าม ขณะที่อนุกรรมการ 2 ชุดแรกกลับเห็นว่าในบริษัทเดียวกันไม่เป็นบริษัทที่รับสัมปทานจากภาครัฐ ซึ่ง กกต.ก็ได้ยกคำร้อง ส.ส.และส.ว.บางคนที่ถือหุ้นบริษัทดังกล่าวไปแล้ว ดังนั้น หากกกต.เห็นตาม คณะกรรมการไต่สวนชุด 44 ส.ส. ก็เท่ากับว่า กกต.พลิกมติตัวเอง จนอาจมีปัญหาทางกฎหมายที่ตัดสินว่าสองมาตรฐานได้ แต่หากกกต. ยังยืนยันมติเดิม ก็อาจจะมีผู้ร้องว่ากกต.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้ ทำให้กกต.จะต้องชั่งใจให้ดีก่อนว่าจะทำอย่างไร



กำลังโหลดความคิดเห็น