ที่ประชุมวุฒิฯลงมติผ่านร่าง กม.ผู้บริหารปกครองท้องถิ่นนายกเทศมนตรี, นายกอบต., นายก อบจ.และนายกเมืองพัทยา 4 ฉบับ รวด ปลดล็อกไม่จำกัดวาระนั่งเก้าอี้ ไม่เกิน 2 วาระ
วันนี้ (17 ส.ค.) ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา โดย นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว รวม 4 ฉบับ โดยให้ความเห็นชอบในร่าง พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่...) พ.ศ...ด้วยคะแนนเสียง 84 ต่อ 24 งดออกเสียง 8, ร่าง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่...) พ.ศ...ด้วยคะแนนเสียง 83 ต่อ 21 งดออกเสียง 7 ไม่ลงคะแนน 1, ร่าง พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฉบับที่...) พ.ศ...ด้วยคะแนนเสียง 83 ต่อ 21 งดออกเสียง 7 และร่าง พ.ร.บ.ระเบียบราชการบริหารเมืองพัทยา (ฉบับที่...) พ.ศ...ด้วยคะแนนเสียง 83 ต่อ 19 งดออกเสียง 7 ภายหลังการพิจารณานานกว่า 4 ชั่วโมง
ทั้งนี้ ทั้ง 4 ร่าง พ.ร.บ.มีเนื้อหาสำคัญอยู่ที่การปลดล็อกวาระการดำรงตำแหน่ง ของผู้บริหารส่วนท้องถิ่นให้สามารถลงเลือกตั้งได้ โดยไม่มีการกำหนดวาระ เช่น นายกเทศมนตรี, นายกองค์การบริหารส่วนตำบล, นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และนายกเมืองพัทยา จากเดิมที่อยู่ในวาระคราวละ 4 ปี นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง ไม่เกิน 2 วาระ ขณะที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ เสียงข้างน้อยได้แปรญัตติเพิ่มให้ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่า 8 ปีไม่ได้
ก่อนการลงมติ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.กรรมาธิการเสียงข้างน้อย อภิปรายว่า การให้นั่งอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารส่วนท้องถิ่น นานเกิน 2 วาระ จะทำให้เกิดการผูกขาดอำนาจทางการเมืองในท้องถิ่น ซึ่งทำให้ไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นการรวบอำนาจตั้งแต่หัวถึงหาง กินกันทั้งเมืองในลักษณะคอร์รัปชัน เราอย่าปล่อยให้การเมืองท้องถิ่นหมดหวัง เหมือนกับการเมืองระดับชาติที่เกิดการผูกขาดอำนาจกัน ได้ข่าวว่ามีนักการเมืองท้องถิ่นหลายพื้นที่ พยายามวิ่งเต้นผ่าน ส.ส.และ ส.ว.เพื่อให้ได้อยู่ในตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่นดังกล่าวเกิน 2 วาระ หวังว่า ส.ว.ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน จะใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจโหวตกฎหมาย แต่ละฉบับเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ก่อนการลงมติ ปรากฏว่า นายอนุศักดิ์ คงมาลัย ส.ว.สรรหา ได้เสนอให้ลงเป็นมติด้วยวิธีลับ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อความเป็นอิสระ ไม่ถูกกดดันจากผู้มีอิทธิพลที่วิ่งเต้นล็อบบี้ ส.ว.มาก่อนหน้านี้ ขณะที่ นายสุพจน์ โพธิ์ทองคำ ส.ว.สรรหา ได้เสนอให้ลงมติอย่างเปิดเผยโดย พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา ได้กล่าวสนับสนุนว่า ควรลงคะแนนโดยเปิดเผย หากลงมติลับตนเห็นว่า ไม่เหมาะสม เนื่องจากที่ผ่านมา ส.ว.ได้ออกกฎหมายหลายฉบับและเป็นอิสระมาโดยตลอด จึงอยากให้เพื่อนสมาชิก ได้แสดงความกล้าหาญและลงมติด้วยความรับผิดชอบและเป็นอิสระด้วย
ด้าน น.ส.รสนา ได้แสดงความเห็นทันทีว่า ควรลงคะแนนลับ เนื่องจากต้องยอมรับว่า สังคมไทยเป็นระบบอุปถัมภ์ ยังมีความเกรงใจกัน อีกทั้งมีการล็อบบี้ ส.ว.หลายส่วน ซึ่งอาจทำให้การลงคะแนน ไม่มีความเป็นกลางและเป็นอิสระได้ ซึ่งไม่คิดว่าผู้อภิปรายก่อนหน้านี้จะเห็นด้วยที่ต้องลงมติแบบเปิดเผย
ซึ่งในที่สุด น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 เป็นประธานที่ประชุมได้สั่งให้ใช้สิทธิ์ลงคะแนนด้วยวิธีเปิดเผย