“สดศรี” ชี้ ผลดี ม.237 คุมเข้ม กก.บห.พรรคซื้อเสียง ช่วยพรรคการเมืองเข้มแข็ง เตือนคนคิดแก้ไตร่ตรองให้ดี แต่หวั่น 4 พรรคร่วม ถูกยุบ พ่วง ส.ส.-ส.ว.ขาดคุณสมบัติจากการถือหุ้น ส่งผลต้องยุบสภา เลือกตั้งใหม่ไม่รู้จบ ค้านแนวคิด ส.ส.แต่งตั้ง อ้างไม่ใช่ตัวแทนประชาชน-ต่างชาติ ไม่ยอมรับ
วันนี้ (19 ก.ย.) นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งของพรรคการเมือง” ตอนหนึ่งระบุว่า ในฐานะที่เคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ยอมรับว่า ไม่เห็นด้วยกับเจตนารมณ์บางเรื่องของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่การจะแก้ไขพรรคการเมืองต้องเป็นผู้พิจารณา เพราะเจตนารมณ์ในบางเรื่องก็ดี เช่น การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ลดการผูกขาดอำนาจไม่เป็นธรรม ทำให้การเมืองโปร่งใสเป็นธรรม มีระบบการตรวจสอบถ่วงดุลที่เข้มแข็ง การรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ และมีการทำประชามติ การตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ กับ ฝ่ายบริหาร ก็ทำได้ง่ายขึ้น โดยการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ รัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดให้ใช้เสียง 2 ใน 5 ของสภา แต่ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ลดจำนวนลงเหลือ 1 ใน 5 เท่านั้น
ส่วนมาตรา 237 ในเรื่องของการยุบพรรคการเมือง ที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า การยุบพรรคง่ายเกินไป และทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอนั้น หากมองในมุมผู้มีส่วนได้เสีย พรรคการเมืองก็สามารถมองในแง่นี้ได้ แต่ถ้ามองในมุมว่าพรรคการเมืองมีหน้าที่ต้องดูแลกรรมการบริหารพรรค และสมาชิกภายในพรรค ไม่ให้ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพรรคจะต้องมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของกรรมการบริหารพรรค รวมถึงสมาชิกพรรค ก็ถือว่าเป็นส่วนที่จะทำให้พรรคมีความเข้มแข็ง เป็นปึกแผ่น ดังนั้น การจะแก้ไขมาตรานี้อยากให้พรรคการเมืองพิจารณาให้ดี
นางสดศรี ยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ขณะนี้ กกต.ได้เสนอเรื่องการพิจารณายุบพรรคพลังประชาชนไปให้อัยการสูงสุดแล้วเพื่อดำเนินการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ขึ้นอยู่กับอัยการว่าเห็นด้วยหรือไม่ หากยังเห็นว่าไม่สมควรส่งฟ้อง ก็ต้องส่งเรื่องกลับมายัง กกต.เพื่อตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง กกต.และอัยการสูงสุด เช่นเดียวกับกรณีการยุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทย
อย่างไรก็ตาม นางสดศรี กล่าวว่า หากที่สุดแล้วพรรคพลังประชาชนถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคจะเกิดปัญหาขึ้นทันที เพราะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และมี ส.ส.อยู่เป็นจำนวนมาก ส.ส.ที่ไม่ใช่กรรมการบริหารพรรคจะต้องมีการย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่น แต่ถ้าพรรคอื่นอย่างพรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคเพื่อแผ่นดิน ถูกยุบไปด้วยทั้งหมด ก็จะต้องมีการยุบสภา เพื่อมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ เพราะไม่มีพรรคการเมืองอยู่ในสภา
นอกจากนี้ ยังรู้สึกกังวลกับกรณีที่มีผู้ร้องให้ กกต.สอบคุณสมบัติ ส.ส.และ ส.ว.จำนวนมาก ที่ถือหุ้นในบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ เพราะถ้า กกต.มีมติว่าขาดคุณสมบัติ และเรื่องไปสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญโดยมีมติยืนตาม กกต.ก็จะทำให้การเมืองพลิกผันไปได้อีกเช่นกัน เพราะถึงขณะนั้นคงต้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่เช่นเดียวกัน
ส่วนแนวคิดการเมืองใหม่ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ควรมี ส.ส.ที่มาจากการแต่งตั้ง และเลือกตั้งผสมกันนั้น เห็นว่า หากการดำเนินการของพรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง โปร่งใส ก็ไม่จำเป็นต้องมี ส.ส.ที่มาจากการแต่งตั้ง เพราะไม่รู้ว่า ส.ส.แบบแต่งตั้งนั้นจะเป็นตัวแทนที่แท้จริงของประชาชนหรือไม่ และไม่สามารถมั่นใจได้ว่า จะเข้ามาทำประโยชน์ให้กับประเทศอย่างแท้จริง เนื่องจากกระบวนการสรรหาแบบไทยๆ ยังมีการเล่นพรรคเล่นพวก ระบบอุปถัมภ์เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น จะให้บุคคลเพียงไม่กี่คนมาคัดสรรบุคคลมาทำหน้าที่แทนประชาชนก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคิดเช่นกัน
“ทุกประเทศในโลกที่มีประชาธิปไตยจะไม่มี ส.ส.ที่มาจากการแต่งตั้ง เมื่อไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่รายล้อมไปด้วยประเทศที่มี ส.ส.เลือกตั้งทั้งระบบ ก็จะทำให้ประเทศผิดแผกแตกต่างจากประเทศอื่นๆ และจะเป็นปัญหาว่าต่างประเทศจะยอมรับระบบ ส.ส. แบบแต่งตั้งหรือไม่ และน่าคิดว่าหากมี ส.ส.แต่งตั้ง ต่อไปก็ไม่จำเป็นจะต้องมีพรรคการเมืองหรือไม่”
สำหรับการจัดการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.แทน นายสุธา ชันแสง ที่ลาออกไปนั้น คาดว่าในการประชุม กกต.วันที่ 22 ก.ย.คงจะมีการหารือเพื่อเสนอวันที่เหมาะสม ซึ่งคงเป็นภายในเดือน ต.ค.นี้