xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” วิตกปัญหาการเมืองแก้ยากกว่า ศก.ฟุ้งเรียนฟรี 15 ปีเจ๋งสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
มาร์ค ชินกับตำแหน่งนายกฯ ชี้ ความคาดหวังเป็นแรงกดดันในการทำงานนายกฯย้ำผลงานรัฐบาล ชูเรียนฟรี 15 ปี เจ๋งสุด รับแก้การเมืองยากกว่าเศรษฐกิจแจงแผนปรับปรุงรถไฟไทย เล็งทำรถไฟความเร็วสูงเข้าเมืองท่องเที่ยว ย้ายสถานีขนส่งออกนอกเมือง



วันนี้ (9 ส.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคุ้นเคยในการดำรงชีวิตประจำวันตำแหน่งนายกฯ ว่า เอาเป็นว่าทำใจได้ก็แล้วกัน ก็คือ มันอาจจะมากับยุคข้อมูลข่าวสาร ตอนที่เข้ามาตั้งใจเป็นนักการเมืองก็ไม่คิดว่าจะเป็นอย่างนี้ อันนี้ยอมรับตรงๆ เป็นเรื่องเดียวที่คิดว่าไม่ได้ศึกษาเตรียมตัวมาก่อน และโดยนิสัยส่วนตัวก็ไม่ค่อยชอบเท่าไร ยอมรับยังมีเคอะๆ เขินๆ กันอยู่บ้าง แต่ว่าก็เข้าใจ เป็นบุคคลสาธารณะ ก็ต้องยอมรับ

เมื่อถามว่า แล้วมีคนชื่นชมเป็นหนุ่มหล่อ หน้าตาดี นักการเมืองอายุน้อยที่เป็นคนเก่งอย่างนี้รู้สึกกับคำชื่นชมแบบนี้อย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คือ ในแง่หนึ่งก็คือเรื่องของความคาดหวัง ความคาดหวังนี้ก็มีทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งก็เป็นกำลังใจ เพราะว่าทำให้เรามีความรู้สึกว่าแสดงว่าคนเขาก็ยังฝากความหวังไว้กับเรา แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นแรงกดดันเหมือนกัน บางทีเราก็รู้เลยว่าปัญหาอุปสรรคที่เราเผชิญอยู่นี้ จะทำให้สมกับคาดหวังของเขาได้ ที่เรียกว่าเต็มที่นี้คงจะเกิดขึ้นได้ยาก แต่ว่าเรื่องอื่นๆ ก็ธรรมดา สนุกสนานเฮฮากันไป

พร้อมย้ำถึงงานแต่ละด้านเหมือนที่เคยแถลงก่อนหน้านี้ที่ทำเนียบรัฐบาล ทั้งเรื่องของนโยบายเรียนฟรี 15 ปี เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 500 บาท โครงการการแทรกแซงราคาพืชผล โครงการต้นกล้าอาชีพ มาตรการลดภาระค่าครองชีพช่วยเหลือประชาชน 5 มาตรการ โครงการเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท ค่าตอบแทน อสม.เดือนละ 600 บาท นอกจากนี้ ยังกล่าวย้ำถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาภาคธุรกิจเอกชน แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 7 ด้าน

“เพราะฉะนั้น 6 เดือน เราทั้งช่วยคน เราดับไฟ และเราก็ได้วางรากฐานสำหรับอนาคตที่มีความเข้มแข็งมากขึ้น ผมได้ให้เห็นภาพว่าแต่ละกลุ่มคนนั้น ได้รับประโยชน์อย่างไรจากการทำงาน 6 เดือนที่ผ่านมา”นายกฯ กล่าวและย้ำถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจ ว่า เราได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วจริงๆ แล้วขณะนี้กำลังมีแนวโน้มของการขยายตัวในอัตราที่ค่อนข้างเร่งตัวขึ้นมาพอ สมควร ถ้าเป็นภาษาอังกฤษเขาก็จะพูดว่าเป็นการฟื้นฟูแบบตัว V คือ ลงเร็วแล้วก็ขึ้นค่อนข้างเร็ว

ทั้งนี้ ในช่วงที่ 3 ของรายการ ซึ่งเป็นเทปบันทึกภาพที่มี นายเชิงชาย หว่างอุ่น มาเป็นพิธีกรรับเชิญ ที่เป็นการสัมภาษณ์บนรถไฟฟรีชั้นสาม ได้ถามว่า 6 เดือนแล้วรู้สึกว่าผลงานที่โดดเด่นที่สุดของรัฐบาลที่เป็นพรรคร่วมนี้อย่างไรนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนของ 6 เดือนที่ผ่านมา จุดที่ว่าเป็นจุดเด่นที่สุด ก็คือ สิ่งที่หลายคนเคยสัญญา รวมทั้งพวกตนด้วย และไม่เคยได้ทำกัน แล้วเราได้ทำสำเร็จแล้ว สำคัญที่สุด คือ เรื่องเรียนฟรี เรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และแถมเรื่อง รฟม.เข้าไป สิ่งเหล่านี้พูดกันมานาน แล้วเรามาทำในช่วงที่ความจริงเศรษฐกิจประสบวิกฤตด้วย ก็เลยเป็นเรื่องของการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย กับสิ่งที่กำลังวากรากฐาน คือ ต่อไปนี้คิดว่ารัฐบาลใครก็ตามเข้ามานี้ ไม่ต้องพูดกันแล้วเรื่องเรียนฟรีไม่ฟรี ต้องเดินหน้าทำตรงนี้ต่อไป

เมื่อถามว่า แล้วเรื่องไหนโดนใจชาวบ้านที่สุด นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คิดว่าเราก็คงต้องเป็นวิทยาศาสตร์ ดูจากผลสำรวจหลายอันเหลือเกิน เรื่องเรียนฟรี แต่ที่สุดก็ดีใจ เพราะว่าแสดงให้เห็นว่าพี่น้องคนไทยให้ความสำคัญกับอนาคตลูกหลาน

เมื่อถามว่า ส่วนเรื่องปัญหาจะแก้เรื่องเศรษฐกิจกับเรื่องการเมืองจะแก้อันไหนก่อนอันไหนหลังอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า มันเลือกไม่ได้ ต้องแก้พร้อมๆ กันไป ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีก็ซ้ำเติมปัญหาการเมือง การเมืองไม่ดีก็เป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะเราไม่มีสิทธิหรอกที่จะมานั่งเลือกว่าวันนี้จะทำเรื่องนี้ก่อนๆ ต้องทำทุกอย่างพร้อมกัน

ถามย้ำว่า แล้วอันไหนหนักใจมากกว่ากัน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็หนักใจเรื่องการเมืองมากกว่า เหตผุลเพราะว่าเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่เป็นจะเรียกว่า ปรากฏการณ์ในเชิงธรรมชาติ ในเชิงระบบของมัน เราต้องมีมาตรการในการแก้ไข การประเมิน

“แต่ว่าการเมืองนี้ก็ต้องยอมรับนะครับ ถ้าพูดตรงไปตรงมาก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่ง เป้าหมายเขาก็คือว่าทำอย่างไรไม่ให้การเมืองมันเรียบร้อย เพราะฉะนั้นอันนี้มันก็เป็นเรื่องที่จะเรียกว่าต้องต่อสู้ก็ใช่ แต่ว่าบนหลักการที่เราพยายามจะให้เกิดความสมานฉันท์ ทำอย่างไรที่จะให้มันเบาลง” นายกฯ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงโครงการไทยเข้มแข็งที่จะมีการพัฒนาระบบการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ว่า ตนขึ้นรถไฟครั้งสุดท้ายเมื่อตอนไปเที่ยวเมืองกาญจนบุรีกับครอบครัว อย่างไรก็ตาม ตนไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ ที่อังกฤษ 10 ปี นั่งรถไฟใต้ดินตลอด เพราะว่าเป็นการเดินทางที่เวลาแน่นอน และค่อนข้างที่สะดวก เพียงแต่ว่าพอกลับมาอยู่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะใช้รถยนต์ส่วนตัว และการเดินทางไปต่างจังหวัดมันก็ไม่รวดเร็ว นี่คือปัญหาที่เราก็มองเห็นมาโดยตลอด เช่นเดียวกับเรื่องของการขนส่ง บ้านเราก็ใช้รถบรรทุกใช้ถนนกันมาก ในขณะที่การขนส่งทางรางก็เป็นตัวเลขค่อนข้างน้อย จุดที่เราพอเราเข้ามาทำงานนี้ เราก็เห็นมาตลอดคือว่าคนจะพูดว่าการลงทุนในเรื่องรถไฟนี้ค่อนข้างที่จะแพง และเป็นปัญหามาโดยตลอด แต่ความจริงพอพูดไปแล้วก็มีความรู้สึกว่าเหมือนจะไม่ค่อยเป็นธรรมเหมือนกัน เพราะเวลาที่เราลงทุนถนนนี่เราก็ไม่ได้บ่นกัน ส่วนรถไฟไทยน่าจะปรับปรุงอย่างไรนั้น นายกฯ กล่าวว่า ในส่วนของสินค้าและคน ถ้าเอาในเรื่องของตัวรางก่อน ต้องบอกว่าของเรานี่ทรุดโทรมมาก บางแห่งก็ไม่ได้ปรับปรุงมาหลายสิบปี อันนี้ก็เป็นปัญหา ทำให้รับน้ำหนักได้น้อยบ้าง ความเร็วก็เรียกว่าสูงสุดยังหลักสิบกันอยู่ อันนี้เป็นปัญหาและในแง่ของคนที่จะเดินทาง ที่ขณะนี้ไทยเข้มแข็งมาทำขอเร่งเฉพาะเรื่องราง เพราะเรื่องของความสะดวกสบายซึ่งก็มีตั้งแต่เรื่องของตัวรถ ไปจนถึงเรื่องของสถานี โดยเฉพาะสถานีก็จะปรับปรุงให้มีความสะอาด สวยงาม บางแห่งก็ควรจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว และบางแห่งอาจจะเป็นประเด็นเรื่องความปลอดภัยหรืออะไร เช่น ทางใต้ อันนี้ก็จะอยู่ในแผนของไทยเข้มแข็งทั้งหมด

เมื่อถามว่ายังจะอนุรักษ์รถไฟชั้น 3 ที่มีเบาะแข็งๆ แบบนี้โอเพ่นแอร์ หรือว่าจะติดแอร์ให้มันสะดวกสบายกว่านี้นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตัวรถจะมีการปรับปรุงด้วย แต่ว่าเหตุผลที่บอกว่าจะติดแอร์ได้หมดคงจะยังไม่ใช่ และมาตรการของรัฐบาลในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยนี้ ก็ยังเป็นการมีรถไฟที่เราจะใช้มาบริการเพื่อสังคม เพราะฉะนั้นก็เป็นรถไฟฟรีทั้งนี้ในส่วนของตัวรางจะมีการปรับปรุงของเก่าที่ค่อนข้างจะทรุดโทรม และมีเรื่องของการจะทำให้เพิ่มการรับน้ำหนักให้ได้เพิ่มขึ้น ความเร็วก็จะให้เพิ่มขึ้น คือจากเดิมรู้สึกเร็วสูงสุดประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็จะเป็นสัก 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจะมีเส้นทางสำคัญ ๆ ที่จะต้องทำเป็น ใช้คำว่าทางคู่ เพราะปัจจุบันยังเป็นรางเดียวอยู่ ก็จะมีปัญหาเรื่องการสับหลีกเรื่องอะไรต่างๆ ทำให้เกิดความล่าช้าด้วย ทางคู่จะทำในส่วนของฉะเชิงเทราไปที่แหลมฉบัง และทำในส่วนของเส้นตรงนี้ขึ้นไปที่แก่งคอย ซึ่งจะทำให้รถไฟที่มาจากทางเหนือ ทางอีสานสามารถลงไปถึงแหลมฉบังได้ มีความรวดเร็วมากขึ้น และการปรับปรุงเส้นทางที่ว่าจะรับน้ำหนักมากขึ้น และความเร็วเพิ่มขึ้นก็ทำเรียกว่าเป็นระยะที่ 5 ระยะที่ 6 ซึ่งส่วนใหญ่จะไปทางอีสาน ทางบัวใหญ่ออกไป

นายกฯ กล่าววา เรื่องการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะฉะนั้นตรงนั้นจะมีอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งกำลังไปดูในแง่ของความร่วมมือกับต่างประเทศ ทางเหนือก็ขึ้นไปออกทางเพื่อไปเชื่อมกับเชียงของ ต่อไปถึงจีน ทางอีสานขณะนี้เราทำหนองคายข้ามแม่น้ำโขงไปแล้ว ก็จะไปต่อเพิ่มเติมในส่วนที่ลาว แล้วก็มองในเส้นทางของมุกดาหาร เพราะว่าอันนี้จะไปเชื่อมโยงกับ East West Corridor คือ ทางตะวันออก ตะวันตก และไปที่อุบลฯ เราก็มีอยู่ และจะออกไป และมาทางที่จะไปต่อกับทางกัมพูชา ก็ตรงอรัญประเทศ ส่วนทางใต้ก็จะต้องมองการเชื่อมลงไปทางใต้ด้วย ทั้งที่สุไหงโก-ลก และที่ ปาดังเบซาร์ ทั้งนี้ความปลอดภัยของเส้นทางที่ไปทางใต้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ตั้งแต่ตัวสถานีไปจนถึงเรื่องรั้วเรื่องอะไรต่างๆ ที่จะช่วยให้มีความมั่นใจกันมากขึ้น

เมื่อถามถึงความปลอดภัยระหว่างรถไฟกับรถยนต์ที่วิ่งตามท้องถนน ที่เกิดออุบัติเหตุบ่อย ๆ นั้นจะดูแลอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตรงนี้ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ค่อนข้างมาก เพราะว่าเราจะสังเกตเห็นว่าจุดตัดเยอะมาก ในกรุงเทพฯ เองจุดตัดก็เป็นปัญหาหนึ่งในเรื่องของรถติด คิดว่าวันข้างหน้าเองเราจะต้องพยายามให้รถไฟวิ่งเข้ามากลางเมืองน้อยลง โครงข่ายรถไฟ รถไฟฟ้าใต้ดินมีสมบูรณ์มากขึ้น และก็สถานีหลักๆ ก็จะเริ่มกระจายออกไป เช่น บางซื่อ หรืออะไรต่างๆ

ส่วนการปรับปรุงทัศนียภาพของชุมชนข้างทางรถไฟ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนชุมชนเองก็ต้องมีการบริหารจัดการอยู่ตลอดเวลา จริงๆ แล้วขณะนี้สิ่งที่เราพยายามก็คือว่า จะให้มีการบริหารจัดการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวการทำรางส่วนหนึ่ง การวิ่งรถก็ส่วนหนึ่ง การบริหารในส่วนของทรัพย์สินอีกส่วนหนึ่ง แต่ว่าขณะนี้ก็กำลังทำงานร่วมกับสหภาพฯ อยู่ ว่าทำอย่างไรให้รูปแบบเขามั่นใจหน่อยว่าไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราจะไปขายเอกชน อะไร ก็มีความกังวลตรงนี้ และก็เชิญมาคุยกันอยู่ขณะนี้ แต่หลักจริงๆ ก็คือ ถ้าเราแยก 3 ส่วนนี้ออกจากกัน บริหารจัดการในทุกส่วนมันน่าจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เมื่อถามย้ำว่า ชุมชนแบบนี้รถไฟผ่านประจำ ถ้าคนไม่คุ้นเคย รถไฟอาจจะมาแล้วเขาอาจจะเกิดอันตรายได้ นายกรัฐมนตรี กล่วว่า ความจริงแล้วตนก็เป็นผู้แทนราษฎร พื้นที่เดิมก็เคยมีอยู่ที่ว่าเป็นชุมชนทางรถไฟ ก็ต้องยอมรับก็เป็นเรื่องของปัญหาที่อยู่อาศัย ก็ต้องทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้ แต่ว่าไม่เป็นปัญหาซึ่งกันและกัน ทีนี้กลับมาเรื่องจุดตัด นอกเหนือจากในเมืองแล้ว ในชนบทก็เยอะ และอุบัติเหตุก็เกิดขึ้นบ่อย ส่วนหนึ่งเริ่มจากที่เรียกว่าไม่ถูกต้อง ทำกันเอง ก็เกิดขึ้นมา อันนั้นก็ส่วนหนึ่ง แต่ว่าถ้าจะถึงขั้นที่ว่าในทุกจุดตัดเราจะสามาถทำทางข้าม ทางลอดต่าง ๆ คงจะยังยากอยู่ แต่อย่างน้อยที่สุด การจะมีไม้กัน มีการเตือน อันนี้ก็มีความสำคัญ ไม่อย่างนั้นก็เกิดอุบัติเหตุ

“ไทยเข้มแข็ง กรอบของมัน คือ 3 ปี แต่ว่าส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมดนี้ยังอยู่ในช่วงที่ กำลังไปเจรจากับ ยกตัวอย่างเช่น จีน ที่ให้ความสนใจ ที่ผมเดินทางไป เขาก็บอกว่าเขาอยากจะเข้ามา เพียงแต่ว่าต้องไปตกลงกันก่อนว่าเขาอยากจะทำเส้นไหน เขาอยากจะทำในรูปแบบไหน เช่นว่าเขาจะมาสร้างราง หรือเขาจะมาร่วมทุนกับเรา หรือว่าเขาจะมีแหล่งเงินให้ด้วยหรือเปล่า ซึ่งท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมก็จะเดินทางไปจีนอีกทีหนึ่ง ใจผมนี้นะครับถ้าเงินเราพอ เพื่อไม่อยากให้เราเปลี่ยนเป็นรางกว้างขึ้น แต่ว่าเป็นต้นทุนค่อนข้างสูง โดยจะใช้งบประมาณ 1 แสนล้านบาทเฉพาะในส่วนที่จะเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่การทำทำทางคู่ เราจะปรับปรุงรางเดิม อันนั้นประมาณน่าจะสัก 4 หมื่นล้านบาท” นายกฯ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมของแผนไทยเข้มแข็งว่า จะมีทั้งเงินงบประมาณส่วนหนึ่งที่เราสามารถจัดได้ในปี 53-54-55 แต่ว่าในสถานะปัจจุบันนี้ ตรงนี้ก็ค่อนข้างจำกัดอย่างที่เราทราบอยู่ สองคือ เงินกู้ แต่เราไม่ได้กู้ต่างประเทศ เรากู้ในประเทศ ซึ่งก็มีคนที่มาซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งไปแล้วส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็อาจจะกู้จากระบบธนาคารภายในประเทศตามเงื่อนไขที่มีความเหมาะสม อีกส่วนหนึ่งก็คือ เป็นเรื่องของการร่วมมือเอกชน ซึ่งก็อาจจะเป็นในประเทศก็ได้ ต่างประเทศก็ได้ เพราะฉะนั้น บางเส้นทางหรือในบางกรณีนี้อาจจะมีการมาร่วมทุนกัน อาจจะมีการที่เรียกว่าเขามาก่อสร้าง แต่ว่าเขาอาจจะมีเรื่องของระบบเงินทุนหรืออะไรมาเป็นแพกเกจเลย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่กำลังทำอยู่

ส่วนเรื่องการขาดทุนสะสมของการรถไฟ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การขาดทุนเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือเรื่องของประสิทธิภาพ ปัญหาการบริหารจัดการ ต้องยอมรับอันนี้มีอยู่ แต่ว่าอันนี้ก็ต้องเป็นเรื่องที่เราต้องทำอย่างนุ่มนวลด้วย เพราะว่าบางเรื่องก็เป็นเรื่องของสวัสดิการ หรือประโยชน์ของพนักงาน ซึ่งเขาก็ทำงานกับองค์กรมานาน เราก็ต้องดูว่าทางที่เหมาะสมที่จะแก้ปัญหาตรงนี้เป็นอย่างไร แต่นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ที่ต้องให้ความเป็นธรรมกับรถไฟในเรื่องการขาดทุนก็คือว่า ส่วนที่สองก็คือ มันมีบริการบางอย่าง อย่างเช่น รถไฟฟรี หรือแม้กระทั่งการให้บริการที่เราถือว่าเป็นบริการทางสังคม ตรงนี้เราจะมาคาดคั้นให้กำไรมันไม่ได้ ก็ในเมื่อเราเป็นคนบอกให้การรถไฟเขารับภาระเอง ถือว่าเรากำลังจะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย คนยากคนจนที่มาใช้บริการ ส่วนที่สามที่ผมบอกไปแล้วก็คือว่า คือ จะมีการเปรียบเทียบครับ เวลาเราสร้างถนนนี้รัฐบาลก็ออกให้หมด ส่วนคนที่จะมาให้บริการวิ่งรถอะไรก็แค่เอารถมาวิ่ง แต่การรถไฟนี้ภาระเหมือนกับต้องสร้างถนน ดูแลถนน ปรับปรุงถนนไปด้วย วิ่งรถไปด้วย แล้วก็จะมาบอกให้กำไรทั้งหมด ผมคิดว่าอันนั้นก็เป็นเรื่องที่ยาก

นายกฯ กล่าวว่า เพราะฉะนั้นเราก็ต้องพยายามทำอย่างนี้ว่า 1.ส่วนประสิทธิภาพก็ต้องปรับปรุง แต่ว่าถ้ากังวลกันว่าจะไปกระทบในเรื่องของความเป็นธรรมหรือไม่กับพนักงาน อะไรต่างๆ ขณะนี้ก็ต้องเจรจากับสหภาพ และจะมีการแยกระบบการบริหารจัดการอย่างที่เล่าให้ฟัง เราก็คิดว่าเป็นทางออกที่ดี 2.ระบบอะไรที่เป็นการให้บริการทางสังคมนี้ เราพยายามจะทำให้เป็นลักษณะที่โปร่งใสมากขึ้น ไม่เฉพาะเรื่องการรถไฟ แม้แต่เรื่องปัญหาว่าแบงก์ปล่อยสินเชื่อ แบงก์รัฐปล่อยสินเชื่อหรือไม่ เราก็บอกว่าอันไหนที่บริการทางสังคมนี่แยกบัญชีออกมา แล้วก็ขาดทุนหรือว่าต้องหาทุนเท่าไร รัฐบาลก็จะหาไปให้ แล้วเราก็จะได้เห็นด้วยว่าภาระการสนับสนุนที่เอามาจากภาษีของประชาชนเป็น เท่าไร และสังคมก็จะได้ตัดสินใจได้ว่าตกลงตรงนี้เราจะช่วยให้คนรับบริการ แล้วเอาเงินจากผู้เสียภาษีนี่เป็นธรรมไหม นี้ก็เป็นส่วนที่เราจะต้องทำ และส่วนที่ 3. ก็อย่างที่บอกคือว่า ในการประเมินโครงการต่างๆ เราคงจะต้องดูว่าการคิดค่าโดยสาร เราจะทำอย่างไรว่าเป็นค่าโดยสารที่ไม่สูง จะทำให้คนไปเลือกทางเลือกอื่น จริงๆ ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ตอนหลังพอมีเครื่องบินที่เป็นสายการบินต้นทุนต่ำ ก็มากระทบกับบริการการรถไฟ แม้แต่ในยุโรปก็เจอปัญหานี้ แต่ว่าถ้าหากว่าเราดูว่าค่าโดยสารเหมาะสม คนอยากขึ้น และอย่างที่บอกคือบริการนี้มีผลประโยชน์ในทางสังคมด้วย ลดปัญหาเรื่องพลังงาน สิ่งแวดล้อม อะไรต่าง ๆ ก็จะต้องมากำหนดให้เหมาะสมว่าจะกำหนดตรงนั้นอย่างไร หรือถ้าเราสามารถแยกได้ว่าบางบริการจะสามารถคิดให้มันมีกำไรหรือคุ้มทุนได้

เมื่อถามว่า แล้วรัฐบาลจะทำอะไรกับการรถไฟฯ ที่เขามีการประท้วงกันเมื่อครั้งก่อน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ต้องเชิญสหภาพ มาคุยกันก็คือแนวคิดเบื้องต้นของเราก็คือว่าแยก 3 งานออกจากกัน ก็คือ งานระบบราง งานวิ่งรถ งานพัฒนาทรัพย์สิน โดยที่เราก็บอกว่าอยากให้แยกบริษัทออกมา ทีนี้ก็มีความกังวลกันว่ารัฐบาลกำลังจะแอบคือไปขายไปอะไรต่างๆ ยืนยันว่าไม่ได้อยู่ในแผน เพียงแต่ต้องการที่จะแยกระบบการจัดการออกมา ทีนี้ก็รู้สึกว่าล่าสุดคุยกันก็คือว่าถ้ายังเดินไปถึงการตั้งบริษัทไม่ได้ ก็เหมือนกับแยกเป็นหน่วยธุรกิจหรือเปล่า

“อยากจะฝากไปยังพนักงานทุกท่านนะครับและสหภาพ ว่า รัฐบาลจะทำอะไรนี้ โดยเฉพาะผม ผมยืนยันว่า ผมให้ความเป็นธรรมและเอาใจใส่กับความห่วงใยของทุกฝ่ายอยู่แล้ว ทุกเรื่องที่ผมทำมาก็จะเห็นนะครับ เจรจากับพี่น้องเกษตรกร เรื่องหนี้สินเรื่องที่ทำกิน เรื่องที่อยู่อาศัย ผมก็รับฟังนะครับ พนักงานรัฐวิสาหกิจก็เช่นเดียวกัน แต่ว่าผมอยากจะขอความกรุณาว่า จะเจรจาจะพูดคุยกันอย่างไรก็ตาม อย่าให้กระทบกับบริการของประชาชนนะครับ เหมือนกับที่ผมบอกว่าใครมีปัญหาอะไรไม่ต้องปิดถนน มายื่นหนังสือมาคุยกันได้ ปิดถนนหรือไม่ปิดถนน การแก้ปัญหาก็เหมือนกัน นี่ก็เช่นเดียวกัน อย่าให้กระทบบริการ และไม่ใช่เรื่องที่ว่าจะสไตรท์ไม่สไตรท์นะครับ ผมอยากจะเห็นว่ารถไฟวิ่งจากสถานีสุวรรณภูมิมาถึงมักกะสัน เปิดให้บริการได้ในปีนี้ เป็นผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน เป็นหน้าตาของคนไทย เป็นหน้าตาของการรถไฟและพนักงานรถไฟ” นายกฯ กล่าว

เมื่อถามถึงรถไฟความเร็วสูงแบบญี่ปุ่นน่าจะมีในเมืองไทย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เราก็อยากจะให้มี และก็มีเส้นทางที่เราก็ดูอยู่ทั้งกรุงเทพฯ-ปากช่อง กรุงเทพฯ-พัทยา-แหลมฉบัง กรุงเทพฯ-หัวหิน แต่ต้องไปคำนวณดูว่าสมมติทำแล้วค่าโดยสารเท่าไร ถ้าค่าโดยสารแพงมากเดี๋ยวไม่มีคนขึ้น มันก็ไม่คุ้มค่า

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า และนอกเหนือจากในส่วนของรถไฟเองแล้ว ในแง่ของการเดินทางของพี่น้องประชาชนในส่วนของขนส่งทางบก ก็จะทำให้เรื่องของการปรับปรุงสถานีขนส่งทั่วประเทศด้วย แบบเดียวกัน ก็จะเกิดความสะดวกสบาย เกิดความสะอาด
กำลังโหลดความคิดเห็น