xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ตีปี๊บ ศก.ไทยฟื้น เชื่ออีก 3 เดือนเก็บภาษีเพิ่มกว่าแสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
“อภิสิทธิ์” ปลื้มเศรษฐกิจไทยฟื้น ยกงานวิจัย 3 หน่วยงาน “สภาหอการค้าญี่ปุ่น-สภาอุตฯ-CEO Forum” พบนักลงทุนส่วนใหญ่ในทุกภาคอุตสาหกรรมมั่นใจภาวะเศรษฐกิจ เชื่อช่วงครึ่งปีหลังจะดีขึ้น ทำให้เห็นสัญญาณที่ดีในการฟื้นตัว “กอร์ปศักดิ์” ระบุอีก 3 เดือนเก็บภาษีได้เพิ่มกว่าแสนล้าน



วันนี้ (2 ส.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” ว่า รัฐบาลได้ประมวลข้อมูลหลายอย่าง โดยเฉพาะจากรายงานการวิจัยของ 3 หน่วยงาน ทำให้เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เริ่มต้นจากการที่มีการไปสำรวจความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงอุตสาหกรรมและแวดวงนักลงทุน

ทั้งนี้ ประกอบด้วย 1.รายงานวิจัยของสภาหอการค้าญี่ปุ่น ที่สำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจของผู้ประกอบการสัญชาติญี่ปุ่นในประเทศไทย ซึ่งถือว่าญี่ปุ่นนั้นเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พบสิ่งที่ปรากฏชัดเจนว่าความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการประกอบการในครึ่งปีหลังของปี 2552 เทียบกับครึ่งแรกของปีนี้ ส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นว่าจะดีขึ้นเกือบในทุกภาคอุตสาหกรรม ถือเป็นสัญญาณที่น่าจะสอดคล้องกับการประมาณการ และการประเมินตัวเลขทางเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่เชื่อว่าในแต่ละไตรมาส แม้ว่าเศรษฐกิจจะยังหดตัวอยู่ในช่วงประมาณ 9 เดือนแรกของปีนี้ แต่ว่าจะดีขึ้นโดยลำดับ และก็ยังจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ใน 3 เดือนสุดท้าย

ดัชนีความเชื่อมั่นเดือนมิถุนายนเริ่มดีขึ้น

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า สำหรับผลวิจัยที่ 2 ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่สำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม พบว่าตัวเลขความเชื่อมั่น ดัชนีความเชื่อมั่นดีขึ้นในเดือนมิถุนายน แม้ระดับความเชื่อมั่นอาจจะยังต่ำอยู่ แต่ข้อเท็จจริง พบว่าระดับความเชื่อมั่นสูงสุดในรอบ 17 เดือน จากเหตุผลที่มีความเชื่อมั่นมากขึ้นเพราะว่าปริมาณคำสั่งซื้อและยอดขาย ซึ่งขณะนี้ค่อยๆ เพิ่มขึ้นโดยในหมู่ผู้ประกอบการเองก็มีความเชื่อว่าเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังนั้นเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น

ผลวิจัยชิ้นที่ 3 ของสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย หรือ CEO Forum ที่สำรวจกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ อาหารแช่แข็ง และผู้บริหารระดับสูงในส่วนอื่นๆ ส่วนใหญ่เห็นว่า เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแล้ว และคาดว่าจะเริ่มมีการลงทุนเพิ่มขึ้น มีการได้ประโยชน์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง

สถานการณ์การว่างงานเริ่มบรรเทา

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า นอกจากการสำรวจความคิดเห็นต่างๆ แล้วก็มีตัวเลขหลายตัวที่เกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจบ่งบอกว่าสถานการณ์ก็น่าจะดีขึ้นโดยลำดับ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งก็ยังอยู่ระดับที่สูงและเพิ่มขึ้นมาโดยลำดับ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของดัชนีการว่างงานครับ ที่ดูว่าปัญหาการว่างงานซึ่งกังวลกันมากเมื่อช่วงต้นปีว่าจะรุนแรงมาก และก็ดูรุนแรงอยู่ในช่วง 2-3 เดือนแรก ระยะหลังนั้นตัวเลขจากการสำรวจเรื่องของการว่างงานนั้น สถานการณ์ก็เริ่มบรรเทาลงมาเช่นเดียวกัน

นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดเก็บรายได้จากเดิมซึ่งคาดการณ์ว่าจะเก็บได้ต่ำกว่าเป้าเกือบ 300,000 ล้านบาทนั้น ขณะนี้คิดว่าจะต่ำกว่าเป้าเพียงประมาณ 200,000 ล้านบาท ก็คือว่าจากในช่วงประมาณเดือน ถึง 2 เดือนที่ผ่านมา พบว่าการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ดีขึ้น อากรขาเข้าที่ดีขึ้น แล้วก็ภาษีตัวอื่นๆ ด้วย

“บ่งบอกว่าสถานการณ์นั้นอาจจะไม่เลวร้ายเหมือนอย่างที่หลายฝ่ายกังวลกัน เพราะฉะนั้น นี่คือภาพรวมที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นการยืนยันว่า ขณะนี้เราเริ่มมองเห็นสัญญาณที่ดีในทางเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และเดินหน้าในการที่จะให้เกิดความมั่นใจว่าการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจนั้นเดินไปได้ตามแผน”

เชื่อ 3 เดือน รัฐจัดเก็บรายได้กระฉูด

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เชื่อว่าในอีก 3 เดือนจากนี้การจัดเก็บรายได้น่าจะดีขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเห็นได้จากรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่ดีขึ้นมาก รวมทั้งแนวโน้มน่าจะเป็นไปตามที่หลายฝ่ายและเอดีบีคาดการณ์ว่าเป็นลักษณะตัววี ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป แต่ตัวเลขเศรษฐกิจในขณะนี้หลายตัวดีขึ้น ทั้งตัวเลขการส่งออกที่เริ่มติดลบน้อยลง และเมื่อเทียบเดือนต่อเดือนจะพบว่าอัตราเติบโตเป็นบวก โดยเฉพาะการส่งออกไปจีนที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5-8 ขณะที่รัฐบาลพยายามเร่งเดินหน้าโครงการไทยเข้มแข็งที่ได้แก้ไขอุปสรรคเรื่องระบบอี-อ็อกชัน ให้ดำเนินการได้ภายใน 28 วัน การกำหนดให้มีการเริ่มประมูลโครงการตั้งแต่เดือน ต.ค.เป็นต้นไป จึงเชื่อว่าน่าจะดีขึ้น

เดินหน้าสนับสนุนสวัสดิการชุมชน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สวัสดิการเป็นเรื่องที่อยากสนับสนุน โดยเฉพาะระบบสวัสดิการที่ชุมชนทำ 3 เหตุผล เหตุผลแรกคือว่าผมอยากให้คนไทยทุกคนมีหลักประกัน โดยในส่วนของประกัน สังคมมีบางเรื่องทุกคนอาจจะมี เช่น เราบอกรักษาฟรีทุกคน แต่ในเรื่องอื่น ๆ เช่น การมีเงินในยามชรา ตอนนี้เราให้ได้แค่ 500 บาท ซึ่งทราบดีว่าไม่พอ เพียงแค่ 500 บาทให้ทุกคนก็เป็นภาระภาษีอากรพอสมควร ทั้งนี้มีความพยายามหลายครั้งแล้วที่จะขยายประกันสังคม บอกให้ไปถึงคนนอกระบบทั้งหลาย เกษตรกร อาชีพอิสระ ปรากฏทำยากมาก เหตุผลที่ทำยาก คือประกันสังคมต้องหักเงินเดือน ปรากฏว่าคนอื่น ๆ ไม่ได้มีรายได้ประจำแน่นอนอย่างนั้น ไม่ได้มีนายจ้าง ปัญหาคือและอะไรจะทำให้เรามั่นใจว่าเขาใส่เงินเข้าทุกเดือนๆ อันนี้ป็นเรื่องแรก แต่ตนอยากให้ทุกคนมีสวัสดิการ

นายกฯ กล่าวว่า อันที่ 2 เป็นการส่งเสริมการออม ในอดีตที่ผ่านมา มีแต่ว่าไปแก้ปัญหาโดยรัฐบาลเอาเงินไปให้กู้ ตอนนี้เรากำลังพยายามจะส่งเสริมว่าจริง ๆ เรื่องการออมเป็นเรื่องสำคัญ ระบบสวัสดิการที่เกิดขึ้นในชุมชนก็ดี ประกันสังคมก็ดี หรืออะไรก็ดี มันคือระบบเขาเรียกว่าบังคับออม แต่ละคนอยากจะมีหลักประกัน ก็ต้องยอมหักเงินจ่ายเงินสมทบเข้าไปในกองทุน อาจจะมีแรงจูงใจว่าคุณใส่ 1 รัฐบาลจะใส่ให้อีก 1 ท้องถิ่นจะใส่ให้อีก 1 สุดแล้วแต่ แต่อย่างน้อยที่สุดคือกระตุ้นให้คนมีความรู้สึกว่าได้เงินมาแล้ว อย่าใช้ให้หมด เก็บเงินไว้ส่วนหนึ่งเพื่อลงทุนประโยชน์ในอนาคต

เหตุผลที่ 3 คือว่าโดยเฉพาะระบบสวัสดิการชุมชน คือการทำงานเพื่อเสริมความเข้มแข็งในแง่ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน และเป็นสิ่งที่เขาเรียกว่าทุนทางสังคม คือระบบสวัสดิการชุมชนเกิดไม่ได้ ถ้าไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันใช่ไหม ถ้ามาเบี้ยวกัน มันก็ไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น 3 ส่วนนี้ มันเป็นสิ่งที่ถึงบอกว่าอยากส่งเสริมให้เกิดขึ้น ทีนี้ที่เขาทำมากันเอง 3,100 ตำบล หรืออะไร ตอนนี้เราก็จะมีแผนการว่าทำอย่างไรในที่สุดครอบคลุมทุกตำบล และเรามีแรงจูงใจเพิ่มคือว่า ถ้าทำกันเอง เป็นไปด้วยความเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลจะช่วยสมทบเงินให้ ก็มองว่าทำไม ทีข้าราชการ ประกันสังคม รัฐบาลยังให้เงินได้ แต่ปรากฏว่าชาวบ้านซึ่งความจริงเขาอาจจะยากจนที่สุดด้วยซ้ำ ยอมเรียกว่าออมวันละบาทบ้าง อะไรบ้าง ทำไมเราสมทบให้เขาไม่ได้ เพราะฉะนั้น อันนี้คือสิ่งที่จะต้องทำ

“บังเอิญมัน ซ้อนกันอยู่นิดหนึ่งคือว่า ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้เสนอมาว่าให้ทำเรื่องการ ไปสมทบ และสนับสนุนให้ครอบคลุมในหลายพื้นที่มากขึ้น ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานก็อยากขยายประกันสังคม กระทรวงการคลัง เขาก็ไปคิดมาแล้วว่าอยากจะมีระบบบำนาญประชาชน เงินออมภาคประชาชนขึ้นมาว่า ถ้าคนออมเงิน เขาจะสมทบให้เดือนละ 50 บาท 100 บาท อะไรต่าง ๆ ก็ไม่รู้เป็นเพราะวิกฤตหรือเปล่า มาพร้อมกันเลยตอนนี้ ผมก็กำลังดูว่าทำอย่างไรที่มันเดินไปได้ และไม่ซ้ำซ้อนกัน และมาสอดคล้องกัน”นายกฯ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอธิบายเพิ่มเติมว่า กอง ทุนหมู่บ้านคงเทียบกันไม่ได้ นั่นเป็นระบบการให้สินเชื่อมากกว่า แต่ว่าหลักจะเป็นอย่างนี้ คือว่าจะมาได้รับเงินสมทบ เขาต้องไปทำระบบของเขาให้ได้ก่อน มีการพิสูจน์ให้ได้ ซึ่งระบบแบบนี้เกิดไม่ได้ ถ้าเขาไม่เข้มแข็งเองและเราก็ไม่อยากจะเอาเงินไปใส่ ในจุดที่ในที่สุดหายไป ระบบล้ม เกิดปัญหาการทุจริตหรืออะไรขึ้นมา สุดท้ายเลยกลายเป็นว่า โครงการดี ๆ ก็ล้มไป เสียชื่อเสียงด้วยที่สำคัญ จะทำให้คนอื่น ๆ ก็ไม่กล้าที่จะทำ เพราะฉะนั้น หลักคือว่าถามว่าเป็นแรงจูงใจไหม ใช่ บอกว่าถ้าเกิดทำได้อย่างนี้นะ รัฐบาลจะสมทบให้ แต่เขาต้องพิสูจน์ตัวเองก่อน ก็จะไปวางหลักเกณฑ์ว่าต้องนานเท่าไหร่ที่เขาสามารถเก็บเงินดูแลบริหารจัดการ เงิน มีระบบบัญชีอะไรต่าง ๆ ดีแล้ว รัฐบาลก็ถือว่าอันนี้ได้มาตรฐานที่จะเข้าไปสนับสนุนต่อ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า คงต้องไปดูก่อนว่าแต่ละกองทุนที่เขาทำในแต่ละชุมชน เขามีกติกาอย่างไร แล้วจุดหนึ่งที่เราต้องไปดูแน่นอนคือต้องไปคำนวณดูว่า ถ้าเก็บเงินอย่างนี้ และให้สิทธิ์อย่างนี้ มันไปได้หรือเปล่า เพราะก็เข้าใจว่ามีหลายแห่งถ้าเข้าไปดูตรงนี้แล้วคงต้องปรับปรุงแก้ไข พูดง่าย ๆ คือว่าตอนนี้ไปได้ แต่ถ้าถึงวันหนึ่งปรากฏว่าจะมีแต่รายจ่ายออก รายได้เข้ามาไม่ทัน ก็จะเป็นปัญหา เพราะฉะนั้น อันนี้เป็นจุดหนึ่งที่ต้องระวัง และได้เตรียมการไว้ว่าต้องมีการไปทดสอบตรงนี้ดู อัน ที่ 2 จะเห็นว่าในส่วนของกระทรวงการคลังก็เหมือนกับประกันสังคมคือว่า สิทธิ์ที่จะได้ที่เป็นบำนาญตอนหลัง มันจะผูกติดกับเงินที่เข้าไป คือเงินที่ตัวเองใส่ เงินที่คนอื่นสมทบ และไปหาดอกผลอะไรมา ที่ กบข.ก็เป็นเรื่องเป็นราวอยู่ช่วงหนึ่ง อันนี้ก็จะเป็นหลักประกัน กำลังจะดูว่าถ้าในกองทุนของชุมชนทำได้ระดับหนึ่ง รัฐบาลเข้าไปสมทบแล้ว กำลังจะให้กระทรวงการคลังเขาไปลองดูว่า กระทรวงการคลังเดิมจะทำเป็นแบบรายบุคคล จะเปิดโอกาสให้เข้ามาเป็นกลุ่มได้ไหม อาจจะง่ายกว่า เพราะว่าในกลุ่มบางทีก็จะมีใช่ไหม เพราะว่าในกลุ่มของเขาบางทีเงินของคนได้มา รายได้ไม่เท่ากัน ไม่พร้อมกันอะไร เขาจะมีวิธีช่วยเหลือเกื้อกูลกันเอง ขอให้เขามีความเข้มแข็งพอที่จะดูแลกันได้ ถ้าเขาดูแลได้ เรารับรองเขา แทนที่กำลังจะไปรับว่าเป็นรายบุคคล ทำเป็นรายกลุ่มได้ไหม กำลังให้ไปดู จะได้เข้ามาเชื่อมโยงกันได้

ส่วนความกลัวว่าพอรัฐบาลเอาเงินเข้าไป องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเอาเงินเข้าไป เจ้าหน้าที่ก็มักจะไปบอกชาวบ้านว่าต้องทำอย่างนั้นสิ ต้องทำอย่างนี้สิ นายกฯ กล่าวว่า กลัว เพราะก็เห็นปัญหาชุมชนพอเพียงที่เกิดขึ้น ก็ยังมีลักษณะที่บางคนพยายามจะเอาโครงการไปให้ชาวบ้านอยู่ และพยายามพูดมาตลอดว่าต้องพยายามไม่ให้เกิดขึ้น ไม่รู้ใช้ถูกคำหรือเปล่า คำว่า “วัฒนธรรม” เอา “พฤติกรรม” ก็แล้วกัน ซึ่งยังมักเกิดอยู่ เราก็ต้องพยายามย้ำ แต่ว่ามันต้องอาศัยหน่วยงานที่เข้าใจการทำงานของชุมชน สำหรับการประกาศเรื่องนี้เป็นนโยบายแห่งชาติ บอกตรง ๆ ว่าเวลาบอกประกาศเป็นวาระแห่งชาติ คือประกาศไม่ประกาศไม่สำคัญเท่ากับว่าทำอะไร และทุกคนเข้าใจและมาร่วมกันทำหรือเปล่า อย่างไรก็ตามการสมทบถ้าใช้เงินคงต้องไปรอประมาณตุลาคมเป็นต้นไป โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องแปรญัตติงบประมาณตัวเลขปีนี้ ถ้าจะใช้ก็ใช้ประมาณ 700 กว่าล้าน

แบงค์ชาติ-คลัง-ตลาดทุน ยกตัวเลขเศรษฐกิจฟื้น

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับตัวเลขที่นายกรัฐมนตรีชี้วาเศรษฐกิจไทยกำลังจะฟื้น ประกอบด้วย ตัวเลขที่ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานภาวะตลาดเงิน ระหว่างวันที่ 1-28 กรกฎาคม 2552 พบว่า เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมเนื่องจากค่าเงินเหรียญสหรัฐมีแนวโน้มอ่อนตัวลง แต่ถ้าเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาคยังคงเป็นไปในทิศทางเดียวกันและสามารถแข่งขันได้ ทั้งนี้ แนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา

ในอนาคตพบว่า ค่าเงินบาทยังคงมีเสถียรภาพ โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยมีการปรับเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับทิศทางของตลาดเงินและตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาค เนื่องจากนักลงทุนมีความมั่นใจในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.25 นอกจากนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงมีสินทรัพย์สภาพคล่องสูงอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นประมาณ 5 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ขณะที่กระทรวงการคลัง รายงานการจัดเก็บรายได้สุทธินั้น ในช่วง 9 เดือนแรก สามารถจัดเก็บได้จำนวน 1,021,098 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 144,960 ล้านบาท (ร้อยละ 12.4) เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ ในขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณมีจำนวนทั้งสิ้น 1,1413,967 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันเมื่อปีที่ผ่านมาจำนวน 193,885 ล้านบาท (ร้อยละ 15.9) คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 67 ของวงเงินงบประมาณ (1,951,700 ล้านบาท) ซึ่งคาดว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลสุทธิตลอดปีงบประมาณ 2552 จะมีจำนวนทั้งสิ้น 1,398,100 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 206,540 ล้านบาท (ร้อยละ 12.9) เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา สามารถจัดเก็บได้มากขึ้นกว่าที่ประมาณการไว้

ในขณะที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณ 1,834,600 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 94 ของวงเงินงบประมาณ โดยรัฐจะกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 44,1061 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2552 มีจำนวน 171,499 ล้านบาท ลดลงจากต้นปีงบประมาณ ประมาณ 57,561 ล้านบาท

ส่วนการออกพันธบัตรไทยมีผลต่อสภาพคล่องในตลาดหรือไม่ โดยผู้ว่าการ ธปท.ได้ยืนยันชัดเจนว่า ไม่มีผลอย่างเป็นนัยสำคัญ เพราะยังมีสภาพคล่องเหลืออยู่ประมาณ 1.6-1.7 ล้านล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น