xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ขู่! ดำเนินคดีผู้ยื่นฎีกาอภัยโทษ-หลอกลวง ปชช.ลงชื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายกรัฐมนตรีกล่าวผ่านรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” โดยมี ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นผู้ดำเนินรายการ ว่ารัฐบาลจะตรวจสอบรายชื่อประชาชนที่เข้าชื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทุกรายว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน และมีเจตนาตามนี้จริงหรือไม่ ซึ่งหากพบว่ามีการหลอกลวงประชาชนให้มาลงชื่อ หรือกระทำผิดกฎหมายก็จะมีการดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา




คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์”

วันนี้ (2 ส.ค.) เวลา 09.00 น. ที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” โดยมี ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิวุฒิสภา เป็นผู้ดำเนินรายการ นายกฯระบุถึงการทำงานในรอบ 7 เดือนที่ประสบวิกฤตต่างๆมากมาย ทั้งการเมืองที่ผู้คนแตกแยกชัดเจน เศรษฐกิจโลก ปัญหาทางสังคมเรื่องไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 ว่า ไม่เคยคิดมองในมุมว่าเป็นโชค ตนถือว่าปัญหาเรื่องวิกฤตต่างๆ เป็นเรื่องซึ่งเกิดขึ้นได้ และตนมองในมุมว่าเราต้องทำอะไรมากกว่า อย่างไรก็ตามคิดว่าอย่าว่าแต่รัฐบาลเลยน คนไทยทุกคนถ้าเลือกได้ ก็คงไม่อยากจะต้องให้บ้านเมืองอยู่ในสภาพที่ต้องเผชิญกับวิกฤตเหล่านี้ แต่บางเรื่องเราช่วยไม่ได้ เช่น เรื่องเศรษฐกิจ ถ้าจะช่วยได้ต้องบอกว่าเราอาจจะต้องติดต่อค้าขายกับโลกน้อยลง ซึ่งตนคิดว่าคงไม่ใช่ความปรารถนาของคนส่วนใหญ่ เพราะจริงๆ เศรษฐกิจที่เติบโตขยายตัว คนมีรายได้มีโอกาสกันมามาก ก็มาจากการค้าระหว่างประเทศเยอะ เมื่อตอนดี ๆ เรารับ ตอนที่มันไม่ดี เราก็คงต้องยอมรับผลกระทบกันบ้าง รัฐบาลก็เร่งแก้ไขไป

ส่วนวิกฤติความขัดแย้งทางการเมือง นายกฯ กล่าวว่า จริงๆ วิกฤตที่ยังไม่ได้พูดเรื่องความขัดแย้ง อันนั้นพูดตรง ๆ เลยเป็นเรื่องของเราจริงๆ ไข้หวัดก็ดี เศรษฐกิจก็ดี เราพูดได้เลยว่าเริ่มต้นมันมาจากข้างนอกและกระจายไป แต่เรื่องความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องของเรา และสิ่งที่พยายามทำในช่วงครึ่งปีกว่าๆ ก็พยายามทำให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติให้มากที่สุด พยายามให้เกิดการกระทบกระทั่งน้อยที่สุด พยายามขีดวงไม่ให้ความขัดแย้งลามไปในจุดที่ไม่ควรลามไป แต่ถามว่าเป็นอย่างนี้แล้วมันทำให้รัฐบาลทำงานยากแค่ไหน ก็ต้องบอกว่าคือปัญหาจะต้องมีตลอดเวลา แต่ก็ยอมรับว่ามีความขัดแย้งทางการเมือง

เมื่อนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ซึ่งทำหน้าที่พิธีกรรับเชิญถามว่าเรื่องถวายฎีกาอธิการบดี 26 สถาบันได้มีการประชุมกัน มีมติออกมาว่าจะขอให้ทางราชเลขาธิการยับยั้งฎีกาที่บรรดากลุ่มเสื้อแดง จะขอเพื่ออภัยโทษให้คุณทักษิณท่านนายกฯเห็นอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คือโดยปกติเรื่องของการถวายฎีกาจะมีขั้นตอนในเรื่องนี้ และเข้าใจว่าผู้ที่เขามีความเชี่ยวชาญก็ได้พยายามอธิบายมาโดยตลอด โดยหลักแล้วหากแม้ว่าทางสำนักราชเลขาธิการรับไว้ หมายถึงรับไว้ในทางธุรการ ก็จะต้องมาถามความเห็นของรัฐบาล และขณะนี้เราได้รวบรวมข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง และตอนนี้ก็มีความเห็นของท่านอธิการบดี ตนก็อยากจะเรียนอย่างนี้ว่าได้พูดกับประชาชนไปบ้าง แต่ยังไม่ได้พูดละเอียดมากนัก

“คือผมพูดมาตั้งแต่ต้นและย้ำตั้งแต่หลังเกิดวิกฤตเมื่อเดือนเมษายนว่าการเมือง ผมรู้ดีว่ายังมีความคิดเห็นที่ยังไม่ตรงกันอยู่ ขัดแย้งกันอยู่ แต่ว่าเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง ไม่พึงที่จะให้ไปกระทบกับสถาบันซึ่งเป็นสถาบันที่หลอมรวมจิตใจของคนทั้งประเทศ ทีนี้ที่เวลานี้พูดกันเรื่องล่าชื่อถวายฎีกา ก็ไปทำความเข้าใจกัน ผมว่ามันคลาดเคลื่อนมาก ทำนองว่าช่วยกันเซ็นชื่อนะ แล้วจะมีการขอให้พระราชทานอภัยโทษสำหรับอดีตนายกฯ ก็อยากจะบอกว่าเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษ กฎหมายมีอยู่ ลักษณะก็หมายความว่าคือคดีตัดสินแล้ว คนๆนั้นก็รับโทษ เดือดร้อน พูดง่าย ๆ คือว่าพึ่งพระบารมีในแง่ของการให้พระองค์ท่านมีพระมหากรุณาธิคุณทรงเมตตาที่ จะพระราชทานอภัยโทษให้

“หลักของมันพูดง่ายๆ ก็เหมือนกับว่าคนทำผิด ผิดไปแล้ว และจะต้องถูกลงโทษ แล้วก็เดือดร้อน และก็ขอ เพราะฉะนั้น ปกติจะเห็นว่าคนขอคือใคร คือเจ้าตัว คือครอบครัวที่เขาเดือดร้อน แต่ขณะนี้ที่เป็นอยู่ เจ้าตัว ครอบครัวไม่ขอ อยู่ดีๆ ไปบอกว่าให้คนอื่นที่ชอบตัวเอง รักตัวเอง หรืออะไรก็แล้วแต่ มาเข้าชื่อเยอะๆ แล้วขอ ที่สำคัญคือว่าคำที่ขอ ไม่ได้เป็นการขอพระราชทานอภัยโทษ เหมือนกับโต้แย้งศาล คล้ายๆว่าศาลตัดสินไม่ถูกหรือว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งอันนี้ไม่ได้เข้าหลักเกณฑ์”นายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่าถ้าเขาบอกว่าเขามีสิทธิ์ เพราะคนตั้ง 4 ล้านกว่าคนเข้าชื่อกันจำนวนมากเลย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่อง ของการตัดสิน ศาลก็ตัดสินในพระปรมาภิไธย เป็น 1 ใน 3 อำนาจอธิปไตย มีกระบวนการที่ทุกฝ่ายยอมรับ คงไม่สามารถจะไปเกี่ยวกับว่ามีคนมากหรือมีคนน้อยที่ชอบ ไม่ชอบ คนที่ถูกตัดสิน ทีนี้ถามว่าถ้าเกิดจะทำกันอย่างนี้ เกิดมีคนที่เขาไม่ชอบ เขาจะขอถวายฎีกาบ้างว่าที่ลงโทษนี่น้อยไป มันไม่ใช่แล้ว เราต้องไม่ให้มีของแบบนี้ เพราะว่าพระองค์ท่านทรงอยู่เหนือเรื่องเหล่านี้ แต่ถ้าเจ้าตัวสำนึกผิดได้รับความเดือดร้อน ครอบครัวได้รับความเดือดร้อน ประสบความยากลำบาก จะขอก็ทำตามกฎหมายหรือถ้าเป็นการร้องทุกข์

“การร้องทุกข์ถวายฎีกาก็มี ตามโบราณราชประเพณี จะมีอยู่เป็นระยะๆ ใครที่คิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากหน่วยงาน เหตุการณ์อะไรต่างๆ บางครั้งก็มีการถวายฎีกาขึ้นไป แต่ก็เช่นเดียวกันนะครับ คือเจ้าตัว และมีผลกระทบเกี่ยวข้องโดยตรง และต้องไม่ไปก้าวล่วงอำนาจอธิปไตยต่าง ๆ ซึ่งกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญ”นายอภิสิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามว่านายกฯ พูดตรงกับที่ประชุมอธิการบดีที่บอกว่าไม่มีกฎหมายรองรับให้ทำได้ ขณะเดียวกันก็ไม่มีประเพณีปฏิบัติ และมีเจตนาแอบแฝงทางการเมือง นายกฯ กล่าวว่า ม่ได้บอกว่ามีเจตนาแอบแฝง แต่บอกว่าอ่านดูแล้วเป็นเรื่องการเมือง

เมื่อถามว่านายกฯ จะทำอย่างไร เพราะว่าอธิการบดีเขาขอให้ราชเลขาธิการยับยั้งฎีกา แต่รัฐบาลก็ดูจะอธิบายอย่างเดียว แต่ยังไม่ได้มีมาตรการในการทำอะไรทั้งสิ้น คิดว่าจะทำอะไรไหม นายกฯ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลทำคือต้องบอกความจริงกับประชาชน และตนก็ให้สัมภาษณ์ ทางกระทรวงยุติธรรมก็แถลงข่าว เราก็ออกรายการโทรทัศน์ไป ว่าพี่น้องประชาชนอย่าได้ไปไขว้เขว ถูกชักจูงไปว่าต่อไปนี้ถ้าใครลงชื่อกันมากๆ และแปลว่าจะทำสิ่งนั้น จะทำสิ่งนี้ และที่สำคัญคือว่าอันนี้จะก้าวล่วงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้น เราก็บอกตรงๆว่าอยากให้ทราบข้อมูลที่แท้จริง ส่วนการไปดำเนินการถ้าไม่ผิดกฎหมายเขาก็ย่อมทำได้ เพียงแต่ว่าสุดท้ายปลายทางอย่างที่พูดว่าถ้าเรื่องเข้ามา ผู้รู้เขาก็เห็นชัดเจนอยู่แล้วว่าไปต่อไม่ได้ มันก็จบกัน ประชาชนก็ต้องเข้าใจตามนี้ แต่ไม่ทราบว่าตกลงจะยื่นหรือไม่ยื่น ยื่นเมื่อไหร่ ยื่นอย่างไร แต่สมมติว่าถ้ายื่นมา แล้วบอกว่ามีคนมาลง ทางสำนักราชเลขาธิการก็ต้องใช้ดุลพินิจของท่านก่อน

เมื่อถามว่าที่กระทรวงมหาดไทยตั้งโต๊ะให้มีคนมาถอนชื่อ หากคิดว่าตัวเองต้องการจะถอน ถือว่าเป็นผลงานของรัฐบาลนี้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงก็อาจจะมีความวิตกกังวลว่าประชาชนอาจจะมีการถูกชักจูงไป ไม่เข้าใจอะไร ก็เปิดช่องทางไว้ช่องทางหนึ่ง

“แต่จริงๆ แล้วเมื่อยื่นมา คิดว่ารัฐบาลก็คงต้องตรวจสอบด้วยว่าที่บอกว่ามี จะกี่รายชื่อก็แล้วแต่ เป็นใครอยู่ที่ไหน แสดงเจตนาอย่างนั้นจริงหรือไม่ และคนที่มายื่นต้องรับผิดชอบว่าที่บอกว่ามีบุคคลจำนวนมากมายทั้งหลายอย่าง ที่อ้างกัน ได้แสดงเจตนาตามนี้จริงๆ เข้าใจเนื้อหาก่อนลงนามจริงๆ เพราะฉะนั้น ก็เท่ากับว่าถือว่าเป็นการไปหลอกลวงเขามาหรือเป็นการมาแจ้งเท็จ ก็ต้องมีการตรวจสอบ”นายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่าเมื่อตรวจสอบแล้วจะดำเนินคดีตามกฎหมายหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า “ถ้ามีอะไรที่ผิดกฎหมายต้องดำเนินคดี ก็ตรงไปตรงมาครับ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11.25 น.ที่ท่าอากาศยานกองการบิน กรมการขนส่งทางบก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์อีกครั้งก่อนเดินทางลงพื้นที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ถึงกรณีที่ระบุว่าอาจจะต้องมีการตรวจสอบรายชื่อผู้ชื่อถวายฎีกา ว่า ในชั้นนี้ถ้ามีการยื่นก็ต้องไปที่สำนักราชเลขาธิการก่อน และเป็นดุลยพินิจของสำนักราชเลขาธิการ สมมติว่าถ้าท่านรับไว้ท่านจะส่งมาถามความเห็นรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลต้องดูความถูกต้องในทุกเรื่อง

“ถ้าหากยื่นมาคนที่ยื่นต้องรับผิดชอบ ว่ารายชื่อที่ยื่นมาเป็นรายชื่อจริง และมีเจตนาตามหนังสือที่ทำมาจริง ก็ต้องมีการตรวจสอบ”นายอภิสิทธิ์กล่าว

เมื่อถามว่าจะทำให้คนเสื้อแดงนำประเด็นเรื่องนี้ไปปลุกเร้าเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดกับรัฐบาลหรือไม่ นายอภสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ คงต้องมีการตรวจสอบตามความถูกต้อง ถ้าหากมีการยื่นมา ปกติต้องตรวจอยู่แล้วเวลามีการเข้าชื่ออะไร เมื่อถามว่าเรื่องนี้เหมือนเขารู้อยู่แล้วว่าเรื่องนี้ส่งมาก็ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ แต่ยังพยายามที่จะทำเพราะต้องการให้เกิดปัญหาอะไรหรือไม่ นายอภสิทธิ์ กล่าวว่า อันนั้นเป็นเรื่องความเห็นของอธิการบดีที่ทำความเห็นมา แต่ทำไป ที่สำนักราชเลขาธิการแล้ว






ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
กำลังโหลดความคิดเห็น