xs
xsm
sm
md
lg

กฤษฎีกา แนะดึง อสส.ร่วมสู้ค่าโง่ ชี้ทางด่วน 2 ไม่ใช่คู่สัมปทานรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กฤษฎีกาเสนอกระทรวงคมนาคม ดึงอัยการสูงสุดเข้าร่วมคณะทำงาน สู้ค่าโง่ทางด่วน 2 ระบุ บริษัทคู่พิพาทไม่ใช่คู่สัมปทานรัฐ หวั่นชาติเสียประโยชน์ ด้านกระทรวงยุติธรรม เตรียมแก้ไขร่างอนุญาโตตุลการใหม่ เพื่ออุดช่องค่าโง่ เชื่อ ไม่มีใครคิดปกป้องผลประโยชน์รัฐมากกว่าเอกชน

วันนี้ (29 ก.ค.) คุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรีตีกลับร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ ว่า ทางกระทรวงคมนาคมควรตั้งคณะทำงานเพื่อเสนอยืนยันมติ ครม.ขอเพิกถอนคำชี้ขาด ของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งการตั้งทีมดังกล่าวน่าจะขอให้อัยการสูงสุดเข้ามาช่วยดูแลเรื่องข้อกฎหมายด้วย

“เข้าใจว่า ศาลไทยมีอำนาจทำไปตามปกติ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นว่ากรมทางหลวงจะชนะคดีจึงได้ดำเนินการเช่นนี้ โดยประเด็นที่จะหยิบยกขึ้นมาต่อสู้ คือ กรณีที่บริษัทดังกล่าวไม่ใช่คู่สัญญาสัมปทานของรัฐ แต่อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า กรณีนี้เป็นกรณีแรกของไทย ที่อนุญาโตตุลาการ ระหว่างประเทศ และมีข้อโต้แย้ง”

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรณีนี้ภาพรวมกระบวนการขั้นตอนที่ปรากฏในข้อมูลที่นำเสนอมา ครม.จึงยังไม่เห็นชอบที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และเรื่องนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องของคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ แต่เป็นเรื่องของผู้ถือหุ้นบริษัท ดอนเมืองโทลล์เวย์ เป็นคนฟ้อง ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องกระบวนการที่ต่างกัน ไม่ใช่เรื่องในส่วนของ ครม.และ ครม.ที่ผ่านมาก็เห็นแย้งกันแต่แรกๆ แล้ว ว่า การพิจารณามันไม่ชอบและให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปดำเนินการ

วานนี้ (29 ก.ค.) คณรัฐมนตรี (ครม.)ได้ประชุมลับ หลังจากที่กระทรวงคมนามคมนำเรื่องที่คณะอนุญาโตตุลาการตัดสินให้กรมทางหลวงจ่ายค่าเสียหายจำนวน 29 ล้านยูโร หรือประมาณ 1,500 ล้านบาท ให้แก่บริษัท วอเตอร์บาวน์ จำกัด ผู้รับเหมาจากประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นผลเสียจากการใช้อนุญาโตตุลาการ ที่เห็นชัดเจนอีกโครงการ หากไม่แก้ไขประเทศชาติก็ต้องเสียประโยชน์

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ครม.ได้ท้วงติงเรื่องมาตรการรองรับหากต้องยกเลิกอนุญาโตตุลาการภาครัฐ ซึ่งจะบังคับใช้เฉพาะกรณีเอกชนเข้ามาเป็นคู่สัญญากับรัฐ ซึ่งยอมรับว่า ยังไม่มีมาตรการ หรือกฎหมายใดมารองรับ ดังนั้น กระทรวงยุติธรรมจึงต้องนำข้อมูลและประเด็นต่างๆ มาทบทวน และปรับแก้บางส่วน หรืออาจจะนำไปสู่การออกกฎหมายใหม่อีก 1 ฉบับ เพื่อทดแทนการยกเลิกอนุญาโตตุลาการ ภาครัฐ และคาดว่ากระทรวงยุติธรรมจะเสนอกฎหมาย 2 ฉบับ ควบคู่กัน โดยจะประกอบด้วย ร่างแก้ไข พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ และร่างกฎหมายใหม่ทดแทนการยกเลิกอนุญาโตตุลาการภาครัฐ

ทั้งนี้ ในต่างประเทศการใช้ระบบอนุญาโตตุลาการแก้ปัญหาข้อพิพาททางแพ่งและพาณิชย์ รวมถึงกรณีที่เอกชนมีข้อพิพาทกับรัฐ ซึ่งต้องยอมรับว่า คนในต่างประเทศแตกต่างกับคนไทยอีกทั้งในต่างประเทศภาครัฐไม่ได้เข้ามาลงทุนกับเอกชนมากนัก ส่วนใหญ่ภาคเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนกันเอง ขณะที่ประเทศไทยรัฐเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ และยังเป็นเจ้าของสัมปทานขนาดใหญ่ ดังนั้น กระทรวงยุติธรรมต้องคิดค้นหาวิธีใหม่ เพื่อออกกฎหมายมาอุดช่องไม่ให้เกิดการทุจริต

นายพีระพันธุ์ กล่าวด้วยว่า การทำอนุญาโตตุลาการภาครัฐ เป็นช่องทางนำไปสู่การทุจริต นำไปสู่การสูญเสียเงินและประโยชน์ของภาครัฐ หรือค่าโง่โดยไม่มีเหตุจำเป็น เพราะไม่มีใครคิดจะปกป้องผลประโยชน์ของรัฐจริงจังเหมือนผลประโยชน์ของเอกชน
กำลังโหลดความคิดเห็น