กระทรวงยุติธรรมเดินหน้ายกเลิกอนุญาโตตุลาการภาครัฐ ปิดช่องทุจริตค่าโง่ เตรียมเสนอกฎหมายใหม่ 2 ฉบับทดแทนระบบเก่า
วันนี้ (29 ก.ค.) ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรีตีกลับร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการว่า ครม.ได้ท้วงติงเรื่องมาตรการรองรับหากต้องยกเลิกอนุญาโตตุลาการภาครัฐ ซึ่งจะบังคับใช้เฉพาะกรณีเอกชนเข้ามาเป็นคู่สัญญากับรัฐ ซึ่งยอมรับว่ายังไม่มีมาตรการหรือกฎหมายใดมารองรับ ดังนั้น กระทรวงยุติธรรมจึงต้องนำข้อมูลและประเด็นต่างๆ มาทบทวน และปรับแก้บางส่วน หรืออาจจะนำไปสู่การออกกฎหมายใหม่อีก 1 ฉบับ เพื่อทดแทนการยกเลิกอนุญาโตตุลาการ ภาครัฐ และคาดว่ากระทรวงยุติธรรมจะเสนอกฎหมาย 2 ฉบับ ควบคู่กัน โดยจะประกอบด้วย ร่างแก้ไข พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ และร่างกฎหมายใหม่ทดแทนการยกเลิกอนุญาโตตุลาการภาครัฐ
นายพีระพันธุ์กล่าวอีกว่า ในต่างประเทศการใช้ระบบอนุญาโตตุลาการแก้ปัญหาข้อพิพาททางแพ่งและพาณิชย์ รวมถึงกรณีที่เอกชนมีข้อพิพาทกับรัฐ ซึ่งต้องยอมรับว่าคนในต่างประเทศแตกต่างกับคนไทยอีกทั้งในต่างประเทศภาครัฐไม่ได้เข้ามาลงทุนกับเอกชนมากนัก ส่วนใหญ่ภาคเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนกันเอง ขณะที่ประเทศไทยรัฐเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่และยังเป็นเจ้าของสัมปทานขนาดใหญ่ ดังนั้น กระทรวงยุติธรรมต้องคิดค้นหาวิธีใหม่ เพื่อออกกฎหมายมาอุดช่องไม่ให้เกิดการทุจริต
นายพีระพันธุ์กล่าวด้วยว่า การทำอนุญาโตตุลาการภาครัฐ เป็นช่องทางนำไปสู่การทุจริต นำไปสู่การสูญเสียเงินและประโยชน์ของภาครัฐ หรือค่าโง่โดยไม่มีเหตุจำเป็น เพราะไม่มีใครคิดจะปกป้องผลประโยชน์ของรัฐจริงจังเหมือนผลประโยชน์ของเอกชน และเมื่อวานนี้ (28 ก.ค.) กระทรวงคมนามคมนำเรื่องที่คณะอนุญาโตตุลาการตัดสินให้กรมทางหลวงจ่ายค่าเสียหายจำนวน 29 ล้านยูโร หรือประมาณ 1,500 ล้านบาท ให้แก่บริษัท วอเตอร์บาวน์ จำกัด ผู้รับเหมาจากประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นผลเสียจากการใช้อนุญาโตตุลาการ ที่เห็นชัดเจนอีกโครงการ หากไม่แก้ไขประเทศชาติก็ต้องเสียประโยชน์ต่อไป