“มาร์ค” ตีกลับ กม.เลิกระบบอนุญาโตฯ ฟ้องเอกชน หวั่นกระทบบรรยากาศลงทุน ทำให้ต่างชาติขยาด เผย ที่ผ่านมา เหตุที่รัฐเสียค่าโง่บ่อย เพราะหลักฐานอ่อน สู้เอกชนไม่ได้ ประกอบกับมี จนท.รัฐ เป็นหนอนบ่อนไส้ ถือหางเอกชน
วันนี้ (28 ก.ค.) แหล่งข่าวที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ (ฉบับที่..) พ.ศ... เพื่อกำหนดห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาท เนื่องจากที่ผ่านมา มีข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการประมาณ 80-90% ทำให้ภาครัฐต้องชดใช้ค่าเสียหาย อาทิ โครงการค่าโง่ทางด่วนที่ขณะนี้อยู่ในกระบวนการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นอกจากนี้ ยังพบความไม่ชอบมาพากลอื่นๆ เช่น ฝ่ายรัฐมีอนุญาโตตุลาการเป็นข้าราชการ แต่กลับไปเข้าข้างฝ่ายเอกชน หรือหลังจากผลการตัดสินอนุญาโตตุลาการแล้วขึ้นสู่การพิจารณาคดีในชั้นศาลอีกครั้งหนึ่ง ทางฝ่ายเอกชนกลับมีข้อมูล 20 คันรถ แต่ฝ่ายรัฐกลับไม่มีข้อมูลหลักฐานใดๆ ดังนั้น จึงนำไปสู่การแพ้คดีในชั้นศาล
ทั้งนี้ ในที่ประชุม ครม.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตั้งข้อซักถามต่อข้อเสนอของ รมว.ยุติธรรม ว่า มีประเทศใดดำเนินการเรื่องนี้บ้าง นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่การใช้อนุญาโตตุลาการ จะใช้เฉพาะกรณีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชน มีแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่ใช้อนุญาโตตุลาการระงับพิพาทระหว่างภาครัฐกับเอกชน
ขณะที่ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวแย้งว่า หากกฎหมายฉบับนี้ออกมา จะทำให้เอกชนมองว่า เป็นการทำสัญญาของรัฐฝ่ายเดียว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุน ซึ่งข้อกำหนดลักษณะนี้ไม่น่าทำได้
ด้าน นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวแย้งว่า หากกฎหมายนี้ออกมาจะขัดต่อการที่ไทยเปิดเขตการค้าเสรีหรือไม่ เพราะในการระงับข้อพิพาทระหว่างไทยกับนักลงทุนจากประเทศคู่สัญญา อาจทำให้นักลงทุนต่างประเทศอาศัยสิทธิตามความตกลงฟ้องร้องกฎหมายระหว่างประเทศแทนได้
อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุม ครม.ไม่เห็นชอบข้อเสนอดังกล่าว ทางนายกรัฐมนตรี จึงได้ถามต่อเลขาธิการ ครม.ว่า สัญญาที่รัฐทำกับเอกชน จะต้องให้ ครม.อนุมัติหรือไม่ โดยเลขาธิการ ครม.ชี้แจงว่า จะต้องให้ ครม.อนุมัติ โดยเฉพาะสัญญาสัมปทานกับสัญญาก่อสร้าง ดังนั้น ทางนายอภิสิทธิ์ จึงได้ให้นโยบายว่า ต่อไปนี้ถ้าสัญญาสัมปทาน หรือสัญญาก่อสร้างฉบับใดที่กำหนดว่า ต้องมีอนุญาโตตุลาการเข้าไประงับข้อพิพาทด้วย จะต้องมีการนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.อนุมัติ ทุกครั้งไป