“มาร์ค” คิดการใหญ่ เล็งยึดที่นั่งสมาชิกไม่ถาวรคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น ขณะที่ “คลัง” ชงอนุมัติงบ 1.4 พันล้านบาท ให้ “เขมร” กู้สร้างถนน 116 กม. ด้าน “สุเทพ” วางกฎเหล็ก ห้ามใช้อนุญาโตฯ ระงับข้อพิพาท หลังรัฐเสียค่าโง่ซ้ำซากให้เอกชน ส่วน “ทส.” ของบ 5 ล้านบาท จัดงานรณรงค์โลกร้อน
วันนี้ (28 ก.ค.) การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีวาระที่น่าสนใจ ประกอบด้วย กระทรวงการต่างประเทศ จะเสนอ ครม.พิจารณา การรับสมัครเลือกตั้งเป็น สมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นไปตามบัญชาของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงการต่างประเทศด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ โครงสร้างของสหประชาชาติในเรื่องของความมั่นคงจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ มีสมาชิกถาวร 5 ชาติ ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย อังกฤษ และสหรัฐฯ รวมทั้งสมาชิกไม่ถาวร 10 ชาติ ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม ลิเบีย เบลเยียม อิตาลี โครเอเชีย ปานามา แอฟริกาใต้ คอสตาริกา และเบอร์กินา ฟาโซ
สำหรับ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ประกอบด้วยสมาชิกถาวร 5 ชาติ และสมาชิกไม่ถาวร 10 ชาติ ซึ่งต้องสลับผลัดเปลี่ยนกันไป โดยมีวาระะ 2 ปี ในเอเชียได้โควตาที่นั่งของสมาชิกไม่ถาวร 2 ที่นั่ง คือ 1 ที่นั่ง เป็นของญี่ปุ่นที่จะเข้าทำหน้าที่แทนอินโดนีเซีย ตั้งแต่ปี 2552-2553 ส่วนอีก 1 ที่นั่งเป็นของเวียดนาม ซึ่งมีวาระครองตำแหน่งไปจนถึงสิ้นปี 2552 ทั้งนี้ ญี่ปุ่นได้เสียงสนับสนุนให้เป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง จากการโหวตในที่ประชุมเมื่อปีที่แล้วด้วยคะแนนเสียง 158 เสียง ขณะที่ผู้ท้าชิงของเอเชียประเทศอิหร่านได้คะแนนเพียง 32 เสียง
ด้านประเด็นสำคัญในการพิจารณาวาระรับสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คือ ประเทศไทย หวังจะเข้าเป็นตัวเลือกแทนประเทศเวียดนาม ที่จะหมดวาระในวันที่ 31 ธ.ค.นี้ ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวมีวาระอยู่ไปจนถึงปี 2553
อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวแจ้งว่า คณะมนตรีความมั่นคงถือเป็นหน่วยงานที่ทรงอิทธิพลที่สุดในของสหประชาชาติ เพราะมีอำนาจในการตัดสินใจคว่ำบาตรและส่งกองกำลังรักษาสันติภาพไปประจำการในดินแดนต่างๆ และที่สำคัญที่สุด คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ถือเป็นองค์กรกลางมีอำนาจพิจารณาชี้ขาดกรณีข้อพิพาทระหว่าง ไทย-กัมพูชา ด้วย
อนึ่ง ประเทศไทยเองก็มีตัวแทนอยู่ในองค์กรระดับโลก อาทิ นายศุภชัย พานิชภักดิ์ ที่อยู่ในตำแหน่งเลขาธิการอังถัด รวมทั้ง นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ ในฐานะเลขาธิการอาเซียน
นอกจากนี้ ทางกระทรวงการคลัง จะเสนอ ครม. พิจารณากรณีให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศกัมพูชา ในส่วนการดำเนินโครงการพัฒนาถนนหมายเลข 68 ภายใต้งบประมาณ 1,400 ล้านบาท รวมระยะทาง 116 กิโลเมตร (กลอรันห์-สำโรง-โอเสม็ด) ซึ่งเป็นเงินกู้สัญญา 30 ปี ปลอดดอกเบี้ยระยะเวลา 10 ปีแรก ด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 1.5% ต่อปี โดยในปี 2553 เงินกู้ 280 ล้านบาท ปี 2554 เงินกู้ 490 ล้านบาท ในปี 2555 เงินกู้ 520 ล้านบาท และปี 2556 เงินกู้ 210 ล้านบาท
ด้าน กระทรวงยุติธรรม ตามบัญชาของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะเสนอร่าง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ... สาระสำคัญ คือ หากเกิดข้อพิพาทระหว่างภาครัฐกับเอกชนให้หน่วยงานของรัฐยกเลิกการใช้ระบบระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ และกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งอนุญาโตตุลาการต้องไม่เป็นข้าราชการ เนื่องจากที่ผ่านมาภาครัฐเสียเปรียบในการใช้ระบบอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทกับเอกชนมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) แสดงความเห็นไม่เห็นด้วยกับกรณีดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าอาจจะทำลายบรรยากาศการลงทุนจากต่างประเทศได้ โดยเสนอแนะให้ทำการศึกษาว่า แท้จริงแล้วปัญหาการแพ้คดีของภาครัฐกับเอกชนเกิดจากสาเหตุใด อยู่ที่ขั้นตอนการยกร่างทีโออาร์หรือไม่
สำหรับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จะเสนอให้ ครม.อนุมัติงบประมาณ 5 ล้านบาท สำหรับจัดงานการประชุม AWG-LCA ครั้งที่ 7 และ AWG-KP ครั้งที่ 9 (Bangkok Climate Change Talk 2009) ณ ศูนย์ประชุมแห่งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระหว่างวันที่ 28 ก.ย. – 9 ต.ค.นี้ เพื่อรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ผู้คนทั้งโลกควรตระหนักถึง