xs
xsm
sm
md
lg

พธม.จี้ “มาร์ค” ออกโรงระงับฎีกาเสื้อแดง-เลิกแถลงการณ์ร่วมเสียดินแดนให้เขมร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พันธมิตรฯ จี้นายกฯ ออกโรงยับยั้งเสื้อแดงล่าชื่อถวายฎีกาตามเกมการเมืองของคนบางคน ระบุปล่อยเลยตามเลย กระทบความมั่นคงและสถาบันสูงสุดแน่ พร้อมเร่งยกเลิกแถลงการณ์ร่วมฯ ยกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา รวมถึงแถลงการณ์สมัย “แม้ว” เป็นนายกฯ รับรองแผนที่เขมรเขียนเอง จนไทยเสียพื้นที่ทางทะเล แหล่งทรัพยากร 4 ล้านล้าน



คลิกที่นี่ เพื่อฟัง เหล่าแกนนำพันธมิตรฯ แถลง

เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (29 ก.ค.) แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ประชุมกันที่บ้านพระอาทิตย์ เพื่อหารือถึงสถานการณ์บ้านเมืองที่สำคัญหลายเรื่อง จากนั้นได้มีการแถลงผลหารือในเวลา 12.30 น. โดยนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ ระบุว่าสาเหตุที่ต้องประชุมด่วนในวันนี้เพราะมีเรื่องสำคัญ กรณีการล่าชื่อถวายฎีกาที่ไม่บังควรของคนเสื้อแดง กรณีการเสียดินแดนให้กัมพูชา และความคืบหน้าคดีลอบยิงนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ

นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวว่า การถวายฎีกาของคนเสื้อแดงเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรนั้น เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่กระทบต่อสถาบันกษัตริย์ และกระบวนการยุติธรรม รวมถึงกระทบต่อความมั่นคงที่จะก่อให้เกิดความแตกแยก ไม่ว่าผลการถวายฎีกาจะออกมาอย่างไร รัฐบาลมีหน้าที่ในการปกป้องสถาบันกษัตริย์ และดูแลกระบวนการยุติธรรม

“เรื่องหนี้ถ้ากระทบต่อสถาบันกษัตริย์ และกระบวนการยุติธรรม ก็จะกระทบความมั่นคงของชาติด้วย รัฐบาลจะให้แค่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมออกมาแถลงคนเดียวไม่พอ นายกฯ ต้องออกโรงด้วย เพราะมันกระทบ 3 เรื่องหลัก คือ สถาบันกษัตริย์ที่รัฐบาลมีหน้าที่ต้องปกป้อง ประเด็นที่ 2 กระทบต่อความมั่นคง ที่ทำให้ผู้คนแตกแยกไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร และ 3.กระทบต่อกระบวนการยุติธรรม เพราะนี่เป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ผู้ที่นำประชาชนถวายฎีกานั้น เป็นผู้ที่ไม่มีความคิดบริสุทธิ์ ไม่คำนึงถึงประโยชน์ของชาติ แต่ต้องการนำเรื่องนี้มาเป็นเกมการเมือง เพื่อประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นเกมการเมืองแล้ว ถ้าปล่อยให้เรื่องนี้เดินหน้าต่อไปถึงจุดหนึ่งก็จะทำให้เกิดการแตกแยกอย่างขนานใหญ่ นายกฯ ต้องออกมาพูดให้ชัด และใช้สื่อของรัฐทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ถูกต้อง” นายพิภพกล่าว

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวว่า พันธมิตรฯ เคยออกแถลงการณ์ฉบับที่ 29/2551 เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2551 เรียกร้องให้รัฐบาลประกาศยกเลิกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ที่ยกให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว (ลงนามโดยนายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ ในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช) และเราเรียกร้องให้รัฐบาลคุ้มครองอธิปไตยของชาติ คุ้มครองผล ประโยชน์ของชาติด้านพลังงานในอ่าวไทย แต่จนขณะนี้เวลาผ่านมา 8 เดือนแล้วรัฐบาลยังไม่ได้ทำตามข้อเรียกร้องของพันธมิตรฯ เท่าที่ควร

นายปานเทพกล่าวต่อว่า จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไว้แล้วว่า แถลงการณ์ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 190 แต่เมื่อเวลาผ่านมาพอสมควรแล้ว เรายังไม้เห็นรัฐบาลยกเลิกแถลงการณ์ที่ทำให้เกิดการคุกคามอธิปไตของชาติดังกล่าว และเป็นห่วงว่าอธิปไตยของชาติจะถูกคุกคามต่อไป ซึ่งตอนนี้มีทั้งชุมชน ถนน และทหารของกัมพูชาเข้าไปอยู่ในที่ดังกล่าว

สิ่งที่เราห่วงมากกว่านั้น เราพบว่า มีการสวมสิทธิ์ สวมผลประโยชน์จากการเจรจาต่อรองสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ มีบันทึกที่ลงนามเป็นแถลงการณ์ร่วมโดยไม่ผ่านรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2544 ลงนามโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งมีเนื้อหาคล้ายคลึงกับการขึ้นทะเบียนพระวิหาร มีการแนบแผนที่ท้ายแถลงการณ์ร่วม ซึ่งเป็นแผนที่ทางทะเลที่กัมพูชาเขียนขึ้นเองโดยไม่ถูกหลักสากล และมีการละเมิดอธิปไตยไทยอย่างน้อย 12 ไมล์ทะเล บริเวณเกาะกูด โดยตั้งแต่ละติจูดที่ 11 ลงไปมีการตกลงผลประโยชน์กัน แทนที่จะเป็นของไทยทั้งหมด กลับกลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ซึ่งมีก๊าซธรรมชาติและน้ำมันมูลค่าประมาณ 4 ล้านล้านบาท

นายปานเทพกล่าวต่อว่า ต่อมามีการพบว่า บริษัทน้ำมันจากฝรั่งเศส คือ โตตาล ได้เซ็นสัญญาสัมปทานกับกัมพูชาเพื่อลงทุนในพื้นที่ในส่วนที่เป็นของไทย ซึ่งถ้าเราไม่ตระหนัก ปล่อยให้รองนายกฯ หรือ รมว.กลาโหมไปเจรจากับกัมพูชา และยอมรับพื้นที่ดังกล่าว ก็เท่ากับยอมรับว่าพื้นที่ของไทยเป็นพื้นที่ทับซ้อน และเป็นผลประโยชน์ของกัมพูชา

นอกจากนี้ ในพื้นที่ที่อ้างว่าเป็นเขตทับซ้อนทางทะเลประมาณ 27,900 ตารางกิโลเมตรนั้น พบว่าคนที่มาลงทุนล้วนเกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เช่น นายโมฮัมเหม็ด อัลฟาเยด เจ้าของห้างแฮร์รอดส์ กลุ่มทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์ ซึ่งถ้ามีการไปเจรจาโดยไม่มีนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศที่เคยต่อสู้เรื่องนี้มากับพันธมิตรฯ ประเทศไทยจะเสียประโยชน์มหาศาล เราจึงเรียกร้องรัฐบาลให้ทำตามแถลงการณ์พันธมิตรฯ ฉบับที่ 29/2551 ที่ขอให้รัฐบาลปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ทั้งกรณีเขาพระวิหาร และพื้นที่ทางทะเล ที่มีการเซ็นสัญญาสัมปทานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ด้าน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวว่า เรื่องนี้กระทบกับความมั่นคงอย่างยิ่ง การที่นักวิชิการออกมาเรียกร้อง ให้ยกเลิกแถลงการณ์ร่วมฯ นำโดย ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ (จากสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เราเห็นว่า ตามปกติท่านพูดจานุ่มนวล อารมณ์แจ่มใส แต่วันที่ท่านแถลงต่อสื่อมวลชนนั้น ท่านคับแค้นใจมากเรื่องชาติบ้านเมือง เมื่อเป็นอย่างนี้ ทหารชั้นผู้ใหญ่ รองนายกฯ อยู่เฉยไม่ได้แล้ว เมื่อบ้านเมืองกำลังจะเสียหาย มีผู้รู้ออกมาชี้แจงแล้ว ทหารชั้นผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบมีหลายคน รวมถึงรองนายกฯ ด้านความมั่นคงต้องออกมา ถ้าปล่อยให้เกิดความเสียหาย มันจะส่งผลเสียถึงรุ่นลูกรุ่นหลานจนแก้ไขไม่ได้ ดังนั้นจะทำทองไม่รู้ร้อนไม่ได้แล้ว ไม่ใช่เรื่องเสียหายที่จะทำตามผู้รู้ที่ออกมาชี้แจง เราทำตามความถูกต้องชอบธรรมของเรา ไม่ได้ไปรุกรานใคร เรื่องนี้รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ ไม่ใช่ออกเป็นข่าวเล็กๆ ให้ผู้หญิงตัวเล็กๆ ออกมาพูด แล้วผู้หลักผู้ใหญ่ยังเฉยๆ อยู่

อ่านต่อ => พันธมิตรฯ เรียกร้อง “มาร์ค” ทบทวนตัวเอง เช็กบิล “พัชรวาท” ก่อนกระบวนการยุติธรรมล่มสลาย

อ่านรายละเอียดคำแถลง และช่วงถามตอบ

นายสุริยะใส – “ข้อพิพาทซึ่งเกี่ยวเนื่องกับปราสาทพระวิหาร และเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน โดยเฉพาะเรื่องพลังงาน ซึ่งที่ประชุมมอบหมายให้ อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เป็นคนแถลง เรื่องที่ 3 เป็นเรื่องความคืบหน้าคดีความคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ส่วนเรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งเป็นเพียงการรายงานต่อที่ประชุม 5 แกนนำ ถึงความคืบหน้าถึงสถานการณ์การดำเนินการการจัดตั้งพรรค

ในประเด็นเรื่องสถานการณ์ความมั่นคงและการกระทำที่มิบังควร จะเชิญลุงจำลอง ศรีเมือง เป็นคนนำแถลง”

พล.ต.จำลอง – “สาเหตุที่เรามีการประชุมด่วนในตอนเช้าวันนี้ ก็มาจากเรื่องที่เราเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมากของชาติ เราเลยต้องมีการประชุมด่วน เรื่องนั้นก็คือเรื่องการถวายฎีกา พวกเราเห็นตรงกันทุกประเด็นว่า การถวายฎีกานั้นเป็นเรื่องไม่บังควร ซึ่งรัฐบาลจะต้องใช้สื่อทั้งหมดที่รัฐบาลมีอยู่ออกมาชี้แจงกับประชาชนนานแล้ว ว่าไม่บังควรอย่างไร เพราะว่าเรื่องนี้กระทบกระเทือนสถาบันเบื้องบน กระทบกระเทือนกับความมั่นคงของชาติ และกระทบกระเทือนกับกระบวนการยุติธรรมด้วย

เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะต้องใช้ความพยายามทั้งหมด แทนที่จะไปทำเรื่องอื่น หันมาทำเรื่องนี้ก่อน เนื่องจากว่าวันเวลาของการถวายฎีกาใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว นั่นคือวันที่ 7 สิงหาฯ ฉะนั้นเรื่องนี้เราขอให้รัฐบาลออกมาทำการบ้านโดยด่วน ซึ่งที่จริงควรจะทำมานานแล้ว แต่ทำวันนี้ก็ยังไม่สาย มิเช่นนั้นแล้วจะก่อให้เกิดความเสียหายมาก รัฐบาลจะอยู่เฉยไม่ได้ เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ รัฐบาลมีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อมมูลหมดทุกสิ่งทุกอย่าง รัฐบาลเท่านั้นที่สามารถจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้ ถ้าขืนปล่อยไว้เฉยๆ อย่างนี้ต่อไป เมื่อเสียหายเกิดขึ้นแล้วก็ยากที่จะแก้ไข เราจึงต้องมีการประชุมด่วนโดยเอาเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุดครับ”

นายพิภพ – “เรื่องการถวายฎีกาเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง และการเคลื่อนไหวทางการเมืองนี้ก็มุ่งไปสู่กระทบกระทั่งกับสถาบันพระมหากษัตริย์และกระบวนการยุติธรรม และความมั่นคงของชาติ จะก่อให้เกิดความแตกแยก ไม่ว่าผลการถวายฎีกาจะออกมาอย่างไร รัฐบาลเองมีหน้าที่จะต้องปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์และดูแลกระบวนการยุติธรรม และเมื่อเห็นในเรื่องนี้ไปกระทบกับกระบวนการยุติธรรมและสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว จะนำไปสู่การกระทบความมั่นคงของชาติด้วย รัฐบาลมีหน้าที่ ไม่ได้ปล่อยให้ท่านรัฐมนตรีฯ กระทรวงยุติธรรมออกมาแถลงเรื่องขั้นตอนการถวายฎีกาว่าไม่เหมาะสม และไม่ถูกตามขั้นตอนระเบียบปฏิบัติหรือกฎหมายอย่างไร เท่านั้นไม่พอ ท่านนายกรัฐมนตรีจะต้องออกโรงเรื่องนี้ เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจะกระทบ 3 เรื่องหลักๆ ด้วยกัน คือ กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่จะต้องปกป้องตามรัฐธรรมนูญ กระทบกับความมั่นคง ซึ่งทำให้คนแตกแยก ไม่ว่าผลของพยายามที่จะถวายฎีกาจะออกผลมาอย่างไร และกระทบกับกระบวนการยุติธรรม เป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ผู้ที่นำในการที่จะเชิญชวนประชาชนให้ถวายฎีกานั้น เป็นผู้ที่ไม่มีความคิดบริสุทธิ์ และคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติ แต่เป็นการนำเรื่องนี้มาเป็นเกมทางการเมือง เพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งอย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วเท่านั้น

เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นเกมทางการเมือง ไม่มีความบริสุทธิ์เป็นที่ตั้ง และก่อให้เกิดผลกระทบดังกล่าวมาแล้ว ถ้าปล่อยเรื่องนี้ให้เคลื่อนไหวไปจนถึงจุดหนึ่งแล้ว จะก่อให้เกิดความแตกแยกในชาติขนานใหญ่ รัฐบาลมีหน้าที่ โดยเฉพาะตัวท่านนายกรัฐมนตรี จะต้องออกมาพูดเรื่องนี้ให้ชัดเจน และใช้สื่อของรัฐทั้งหมดทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ถูกต้อง”

นายสุริยะใส – “ต่อไปเป็นเรื่องเร่งด่วนอีกเรื่องหนึ่งซึ่งพันธมิตรฯ ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด เรื่องผลประโยชน์ในด้านพลังงาน โดยเฉพาะตามตะเข็บชายแดน ซึ่งเป็นข้อพิพาททางการเมือง และก็มีการฉวยโอกาสทางการเมืองเป็นระยๆ อ.ปานเทพ ซึ่งตามเรื่องนี้มาตลอดก็มีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เรื่องของการแอบลงนามกัน”

นายปานเทพ – “สวัสดีครับท่านผู้ชม พี่น้องสื่อมวลชนที่มาร่วมการแถลงข่าววันนี้ ผมได้รับมอบหมายจากพันธมิตรฯ ให้มาพูดเรื่องที่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องมาจากการแถลงการณ์ของพันธมิตรฯ ฉบับที่ 29/2551 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2551 ว่าเราเรียกร้องให้รัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ได้ปกป้องอธิปไตยของชาติ ได้ยกเลิกแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา ในกรณีการยกปราสาทพระวิหารให้กับประเทศกัมพูชาไปขึ้นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว เรายังเรียกร้องให้รัฐบาลได้คุ้มครองอธิปไตยทั้งในเรื่องทางบกและทางทะเลในทุกมิติ และรักษาผลประโยชน์ของชาติทางด้านพลังงาน

นับตั้งแต่แถลงการณ์ฉบับวันที่ 12 ธันวาคม ถือว่าวันนี้ก็ผ่านมาร่วม 7 เดือนเศษแล้ว ถือว่ารัฐบาลได้ปฏิบัติหน้าที่มาสักระยะหนึ่ง ทำให้พันธมิตรฯ เริ่มมีความกังวลว่ารัฐบาลยังไม่ได้ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของพันธมิตรฯ เท่าที่ควร

ประการที่ 1 ก็คือ เราเห็นว่าจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญได้บอกว่าแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา ที่ลงนามในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช กับฮุน เซน นั้นมิชอบด้วยกฎหมายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 และทำให้การดำเนินการดังกล่าวนั้นมีผลกระทบต่อการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ซึ่งกาลเวลาผ่านมาพอสมควร เราก็ยังไม่เห็นรัฐบาลชุดนี้ได้ประกาศยกเลิกแถลงการณ์ร่วมฉบับดังกล่าว เป็นผลทำให้เกิดการคุกคามในพื้นที่อธิปไตยของชาติตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา และถ้ายังไม่มีปฏิกิริยาต่อไป เราก็เกรงว่าอธิปไตยของไทยจะถูกรุกล้ำมากขึ้น ในวันนี้มีทั้งชุมชน วัด ของฝ่ายกัมพูชา อยู่ในพื้นที่ของไทย ถนน รวมถึงการตรึงกำลังทหาร ถ้ารัฐบาลไม่มีความตระหนักในเรื่องนี้ เกรงว่าประเทศไทยจะสุ่มเสี่ยงต่อการเสียอธิปไตยเพิ่มมากขึ้น

แต่สิ่งที่เราเป็นห่วงมากขึ้นไปอีกหลังจากนั้นก็คือ เราไปพบว่ามีการสวมสิทธิ์ หรือสวมผลประโยชน์ จากการเจรจาต่อรองตั้งแต่สมัยรัฐบาลคุณทักษิณ ชินวัตร เราไปพบว่ามีการเซ็นบันทึกข้อตกลงระหว่างไทย-กัมพูชา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 และยังมีการเซ็นแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา อีกครั้งหนึ่งที่ไม่มีการผ่านรัฐสภา เมื่อวันที่ ประมาณ 19 มิถุนายน 2544 ซึ่งลงนามโดยคุณทักษิณ และฮุนเซน ในเอกสารดังกล่าวนั้นพบว่ามีพฤติกรรมคล้ายคลึงกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร และมีการเซ็นแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา กรณีการยกปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ของฝ่ายกัมพูชา นั่นก็คือ มีการแนบแผนที่ท้ายแถลงการณ์ร่วม หรือบันทึกข้อตกลง

เอกสารต่อไปนี้เป็นเอกสารที่ลงนามระหว่างไทย-กัมพูชา ถึงเรื่องเอกสารแนบท้าย ซึ่งเป็นแผนที่ทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา พื้นที่ส่วนที่ 1 เป็นฝั่งกัมพูชาเขียนขึ้นเองไม่มีมาตรฐานใดๆ รองรับ ผิดหลักสากลทั่วไป ประเทศไทยใช้หลักเส้นมัธยะ ตามหลักสากล ขีดเส้นออกมาจากหลักที่ 73 เราพบว่า เส้นดังกล่าวมีการละเมิดอธิปไตยของไทย บริเวณที่เห็นเป็นรอยหยักๆ เล็กๆ คือ เกาะกูด พื้นที่เกาะกูดต้องมีพื้นที่ทางทะเลล้อมรอบเป็นดินแดนของไทย อย่างน้อย 12 ไมล์ทะเล แต่ทางกัมพูชาไม่มีข้อสนใจในเรื่องนี้

ในแถลงการณ์ร่วม และบันทึกข้อตกลงในเดือนมิถุนายน 2544 เราพบว่า เนื่องจากมีข้อพิพาทดังกล่าว และเกรงว่าประชาชนจะจับได้ ทำให้มีข้อตกลงว่า พื้นที่พิพาทด้านบน เหนือกว่า 11 องศาเหนือ ไม่มีการตกลงในเรื่องอธิปไตย แต่ให้มาบันทึกความเข้าใจในเรื่องผลประโยชน์ พื้นที่ใต้ 11 องศาเหนือ ที่เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ ลงมาข้างล่าง เป็นพื้นที่ที่ตกลงจะแบ่งผลประโยชน์กัน ผลปรากฎว่าวันนี้ได้มีการยึดพื้นที่ดังกล่าวนั้น จากพื้นที่ที่ควรจะเป็นของไทย กลับกลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ตั้งแต่ปี 2544 ผลประโยชน์ตรงนี้ มีมูลค่านับ 4 ล้านล้านบาท เป็นมูลค่ามหาศาลมาก

และเราพบพิรุธต่อมาว่า มีบริษัทจากฝรั่งเศส ชื่อบริษัท โตตาล ออยล์ ได้เซ็นสัญญาในพื้นที่ของไทย ซึ่งเซ็นสัญญานี้เป็นขั้นตอนการเซ็นสัญญาณระหว่างบริษัทต่างชาติกับประเทศกัมพูชาในพื้นที่ของไทย ซึ่งเราเกรงว่า ถ้ารัฐบาลไม่ตระหนัก หรือปล่อยให้ ท่านรองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไปเจรจา ไม่เจรจาเรื่องปราสาทพระวิหาร แต่ไปเจรจายอมรับพื้นที่ดังกล่าว เท่ากับเป็นการยกทรัพยากรของประเทศไทยให้กลายเป็นพื้นที่ทับซ้อน และกลายเป็นผลประโยชน์ของกัมพูชา วันนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า คำสัมภาษณ์ของผู้อำนวยการบริษัท โตตาล ออยล์ ประจำกัมพูชา ได้มีการสัมปทานเซ็นสัมปทานจากกัมพูชาในบล็อกที่ 3 ซึ่งหมายถึงว่า เป็นพื้นที่ที่ เซ็นกันปี 2544 และไปยอมรับโดยไม่ชอบโดยกฎหมายว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อนให้กลายเป็นพื้นที่ที่ตกลงกันได้ระหว่างกัมพูชากับต่างชาติ

ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องผลประโยชน์ของชาติ รัฐบาลควรต้องยกเลิกแถลงการณ์ที่ไม่ชอบ และสุ่มเสี่ยงต่ออธิปไตยของชาติ ที่เซ็นกันไว้ตั้งแต่ปี 2544 ไม่เช่นนั้นจะซ้ำรอยเดิม เหมือนปราสาทพระวิหาร คือใช้กฎหมายปิดปาก ว่าประเทศไทยไม่มีข้อโต้แย้งในเรื่องเหล่านี้

เรายังพบอีกว่า มีพฤติกรรม พื้นที่ที่มีลักษณะดูเหมือนกับว่า พื้นที่ทับซ้อนที่อ้างว่าดังกล่าวนี้ 27,960 ตารางกิโลเมตร มีลักษณะ มีบริษัทที่มาร่วมลงทุนกับ ปตท.สผ. ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคนใกล้ชิดคุณทักษิณ ไม่ว่าจะเป็น นายโมฮัมหมัด อัล ฟาเยด เจ้าของห้างแฮร์รอดส์ หรือบริษัทเทมาเส็ก ผมเกรงว่า การเจรจาโดยที่ไม่มีรัฐมนตรีกษิต ไปเจรจาในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และไปยอมรับพื้นที่และแผนที่ดังกล่าว จะเป็นการตอกย้ำให้ประเทศไทยสูญเสียผลประโยชน์มากขึ้น เราจึงขอเรียกร้องดังที่เราเคยเรียกร้องมาแล้วในแถลงการณ์ฉบับที่ 29/ 2551 ว่า ขอให้รัฐบาลปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติ ทั้งปราสาทพระวิหาร และพื้นที่อ่าวไทย อย่างเต็มกำลังและถึงที่สุด โดยเฉพาะทหารเรือ ในเวลานี้ ซึ่งวันนี้มีการเซ็นสัญญาสัมปทานเพิ่มขึ้น ระหว่างกัมพูชาและต่างประเทศ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ”

พล.ต.จำลอง – “เรื่องนี้เป็นเรื่องกระทบกับความมั่นคงของชาติโดยตรง การที่นักวิชาการ ซึ่งตามเรื่องนี้มายาวนาน ได้สั่งสมประสบการณ์ต่างๆ มา ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกแถลงการณ์ร่วม นำโดย ม.ล.วัลย์วิภา ซึ่งปกติแล้วพวกผมเคยพบกับท่าน เมื่อหลายเดือนมาแล้ว ในการขอข้อมูลต่างๆ เกี่ยวข้องกับปราสาทพระวิหาร เราเห็นว่าท่านเป็นผู้ที่พูดจานุ่มนิ่ม อารมณ์แจ่มใส พูดไปยิ้มไป แต่วันที่ท่านออกมาแถลง วันที่ท่านออกมาพูดกับสื่อมวลชนนั้น ท่านพูดในลักษณะคับแค้นใจมาก คับแค้นใจเรื่องชาติ เรื่องบ้าน เรื่องเมือง ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ผมว่าอย่างนี้ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ และรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง รวมถึงท่านนายกฯ อยู่เฉยไม่ได้แล้วนะครับ อยู่เฉยได้อย่างไร ในเมื่อบ้านเมืองกำลังจะเสียหายถึงขนาดนั้น และมีผู้รู้ออกมาชี้แจงแล้ว ผมว่าต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเร็ว เพราะว่านายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้มีมากมายหลายคน รวมทั้งท่านรองนายกฯ ด้วย และรวมทั้งท่านนายกฯ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติโดยตรง เป็นเรื่องเสียหาย ไม่ใช่เสียหายเฉพาะยุคนี้สมัยนี้นะครับ เสียหายไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทำเป็นทองไม่รู้ร้อนต่อไปไม่ได้แล้ว เพราะตัวเองมีหน้าที่ต้องทำ ไม่เห็นต้องเสี่ยงอะไร ในการต้องทำตามที่ผู้รู้ท่านออกมาชี้ ออกมาบอก เราทำโดยความถูกต้องชอบธรรมของเราอยู่แล้ว เราไม่ได้รุกบ้านเมืองใคร

เพราะฉะนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ที่อยากให้ประชาชนหันมาให้ความสนใจ ไม่ใช่ออกมาแล้วเป็นข่าวนิดหน่อยเท่านั้น คล้ายว่าเป็นข่าวไร้สาระ ทั้งๆ ที่ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ ออกมาพูดด้วยความคับแค้น แล้วผู้หลักผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงยังวางเฉย ไม่ได้นะครับ”

นายพิภพ – “ผมอยากจะเรียนว่า กรณีปราสาทพระวิหาร มีประวัติความเป็นมาที่เกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่อดีต ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งคงจำประวัติศาสตร์นี้ได้ว่า การสูญเสียปราสาทพระวิหาร กรณีขึ้นศาลโลก ก็เกิดจาก อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นทนายความสมัยนั้น

มาวันนี้ กรณีปราสาทพระวิหาร ผู้ที่ชงเรื่องที่นำไปสู่การที่จะเสียดินแดนเพิ่ม หรือเสียสิทธิ์เพิ่ม หรือทำให้ฝ่ายเขมรหรือกัมพูชา ได้สิทธิ์ในการเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียว มาจากรัฐบาลชุดที่แล้วเป็นคนชงเรื่อง แต่เมื่อคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องมีหน้าที่แก้ปัญหาตรงนี้ ถ้านายกฯ รัฐมนตรี และรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง ไม่มีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้จริงจัง จนกระทั่งท่านผู้รู้ ม.ล.วัลวิภา ต้องออกมาแถลงวันนั้น ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์จะถูกประวัติศาสตร์จารึกว่า ทำให้สูญเสียอธิปไตยของชาติอีกครั้ง ซ้ำรอยเดิมของพรรคประชาธิปัตย์ในอดีต

ซึ่งอยากเตือนคุณอภิสิทธิ์ เตือนคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ไว้ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เราไม่พร้อมที่จะเสียดินแดนแม้แต่นิ้วเดียว”

นายสุริยะใส – “เรื่องสุดท้าย เป็นเรื่องความคืบหน้าในคดีความการลอบสังหาร คุณสนธิ ลิ้มทองกุล มี 3-4 ประเด็น ที่เป็นทั้งข้อเรียกร้องและข้อสังเกตต่อการทำงานของฝ่ายสืบสวนสอบสวน และตัวนายกฯเอง ที่อาสามาดูคดีด้วยตัวเอง

ประเด็นแรก เราต้องยอมรับว่า เป็นห่วง ในที่สุดคดีความนี้จะถูกดึงไปเรื่อยๆ เพื่อให้เงียบหายไป หรืออาจเป็นเพียงการจับแพะ หรือผู้ร้ายปลายแถวเท่านั้นเอง เพราะว่าสันนิษฐาน และความเชื่อของแกนนำ ก็ยังย้ำว่า นี่เป็นการกระทำที่เป็นขบวนการ และมีอำนาจรัฐบางกลุ่มบงการอยู่ นี่เป็นความเชื่อที่หนักแน่นของเรา และการงานของทีมสืบสวนสอบสวนที่มีท่าน พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ เป็นผู้รับผิดชอบดูแล ก็มาถูกทาง แต่ว่าเมื่อมาเจอตอ เราก็หวังว่าท่านนายกฯ จะเข้ามาจัดการต่อ แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าพฤติกรรมของท่านนายกฯ และท่านสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ดูแลกรมตำรวจ และดูเหมือนอยากดูแลมากกว่าท่านนายกฯ ทั้งที่ได้รับมอบหมายจากท่านนายกฯ เหมือนจะทำตัวเป็นตอเสียเอง เช่น ข่าวล่าสุดบอกว่าจะไม่พิจารณาปลด ผบ.ตร. ซึ่งเราก็ยืนยันว่า ปลดไม่ปลด ย้ายไม่ย้ายเป็นอำนาจเด็ดขาดของท่านนายกฯ เราก็โล่งอกท่าน แต่ว่าเหตุผลจะต้องมีน้ำหนักว่า ไม่ปลดเพราะอะไร ป.ป.ช.ก็ไม่ปฏิเสธว่ามีการแจ้งข้อหาร้ายแรงกับ ผบ.ตร.เพิ่มในคดี 7 ตุลาฯ แต่เมื่อท่านไม่ถือเป็เหตุที่จะไปปลด ผบ.ตร. หรือยังทำงานได้ และจะมานั่งดูคดีเอง ก็เป็นประเด็นที่ผมคิดว่าวันที่ 31 ที่ท่านจะเปิดใจเรื่องนี้ จะต้องมีความชัดเจนกับคนทั้งประเทศ เพราะทุกคนให้ความสนใจคดีคุณสนธิ โดยเฉพาะข้อกังขาว่า คดีนี้เกี่ยวข้องกับคนมีสี ว่าความจริงเป็นเช่นไร และเราจะเฝ้าดู

ประเด็นที่ 2 หลักปฏิบัติของท่านนายกฯ ต่อการทำงานของตำรวจ เราไม่สบายใจ และอยากถามว่านี่เป็นหลักปฏิบัติที่มีเจตนา หรือมีเป้าหมายอย่างไร ผมอยากให้สื่อมวลชน และพี่น้องประชาชนเทียบเคียงระหว่างคดีที่ 36 แกนนำพันธมิตรฯ ถูกตั้งข้อหาเป็นก่อการร้ายสากลในคดีชุมนุมที่สุวรรณภูมิ และดอนเมือง สื่อมวลชนไปถามท่านนายกฯ บอกว่าไม่ยุ่ง และจะวางตัวเป็นกลาง คือ ฟังดูก็ดูดีนะครับ แต่พอคดีคุณสนธิ ท่านนายกฯ บอกว่าขอมาดูเอง ก็เลยถามว่าหลักปฏิบัติในการตัดสินใจว่าเรื่องไหนจะดู หรือไม่ดู เรื่องไหนจะวางตัวเฉยไม่ยุ่ง หลักปฏิบัติแบบนี้เพียงเพื่อความอยู่รอดทางการเมือง หรือต้องการสร้างความถูกต้องในประเทศนี้กันแน่ ฝากท่านนายกฯ ช่วยตอบนะครับ เพราะว่าจริงๆเราก็อยากเห็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปลอดจากการเป็นรัฐตำรวจ และเป็นที่พึ่งของประชาชนทั้งประเทศ คดีความคุณสนธิ ถ้าจำได้เพียงแพะ หรือผู้ร้ายปลายแถว ชาวบ้านที่หาเช้ากินค่ำความตายของเขาเท่ากับความตายของหมูของหมาเท่านั้น ถ้าพูดกันตรงๆ นะครับ ทั้งๆที่คุณสนธิ เป็นคนที่มีชื่อเสียง และสังคมรู้จัก คดีความยังไม่คืบหน้า

3 มีข่าวที่ทำให้เราสงสัย และอยากฝากไปถึงท่านนายกฯ และท่านรองนายกฯ สุเทพ เทือกสุบรรณ ว่ามีการแอบกระทำการที่มิชอบ มิบังควรหรือไม่ เนื่องจากเราทราบมาว่า มีหนังสือจากสำนักนายกรัฐมนตรีถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมานี่เอง ประมาณ 1 สัปดาห์ คือสัปดาห์ที่แล้ว เลขที่หนังสือคือที่ นร.0508/ท 4812 เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ และขอพระราชทานขึ้นยศนายพล ประมาณ 500 อัตรา นายพล 500 อัตรา สาระสำคัญของหนังสือมี 2 หน้า โดยสรุปก็คือว่า คำขอโปรดเกล้าฯ เป็นการลัดขั้นตอน เพราะโครงสร้างอัตราตำรวจโครงสร้างใหม่ยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ และยังไม่มีการลงในราชกิจจานุเบกษา เหมือนกับว่า ผบ.ตร.ลักไก่ ข้ามขั้น เพื่อจัดทำโผโยกย้าย โดยเฉพาะระดับนายพลไปล่วงหน้า ฉะนั้นข้อสงสัยของเราก็คือว่า ต้นทางของหนังสือนี้ จากสำนักนายกรัฐมนตรีไปถึง ผบ.ตร. ต้นทางที่แท้จริงมาจากสำนักพระราชวังหรือเปล่า เราไม่ทราบ แต่เท่าที่ทราบในขณะนี้คือหนังสือเลขที่นี้ถูกทำลายไป เมื่อวานซืนสื่อมวลชนคงได้ยินข่าวไฟฟ้าลัดวงจรที่โต๊ะทำงานของ พล.ต.ท.สุวัฒน์ จันทร์อิทธิกุล ที่เป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. ว่ามีไฟฟ้าลัดวงจรและไฟไหม้โต๊ะทำงานท่าน และก็ดูเหมือน ทราบข่าวมาว่าเอกสารหรือหนังสือเลขที่นี้หายไป อันนี้ก็ฝากท่านรองฯ สุเทพ ช่วยชี้แจงหน่อยว่าเลขที่หนังสือนี้ สาระสำคัญของหนังสือนี้คืออะไร และมีการทำลายทิ้งจริงหรือเปล่า

ข้อสุดท้าย จริงๆ เราก็อยากเห็นท่านนายกฯ เอาใจใส่และเข้ามาสนับสนุนการทำงานของทีมสืบสวนสอบสวนที่มีท่านธานีรับผิดชอบอยู่ โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง ข่าวการอนุมัติออกหมายจับ ในขณะที่หมายจับ 2 ผู้ต้องหารอบแรกยังจับไม่ได้ และก็ต้องถามไปยังผู้บังคับบัญชาของผู้ต้องหาทั้ง 2 ท่านที่สังกัดอยู่ ทั้งดีเอสไอ และ ผบ.ทบ.ว่า ท่านเคยบอกว่าจะนำตัวผู้ต้องหาทั้ง 2 คนมาส่งมอบต่อพนักงานสอบสวน จนวันนี้เรื่องนี้เงียบหายไป และวันนี้มีข่าวว่าจะจับเพิ่ม เราก็ไม่สบายใจว่าเหมือนเป็นการส่งสัญญาณให้ผู้ร้ายหลบหนีหรือเปล่า เพราะการขออนุมัติหมายจับมันต้องได้รับการอนุมัติจากศาลเท่านั้น ตราบใดที่ตำรวจยังไม่ขอ และยังไม่ได้รับการอนุมัติ โดยหลักปฏิบัติก็ไม่ควรปล่อยข่าวนี้ออกมา เหมือนเป็นการส่งสัญญาณให้ผู้ร้ายหนีไป ฉะนั้นล็อตแรกยังจับไม่ได้เลย แล้วจะจับเพิ่มนี่ เราก็ไม่มั่นใจหรอก สุดท้ายก็จับใครไม่ได้ ฉะนั้นผมคิดว่าทีมสืบสวนสอบสวนก็เริ่มที่จะทำงานในลักษณะที่เหมือนกับประสิทธิภาพหายไปบางระดับ ฉะนั้นท่านนายกฯ ก็คงต้องมาดูแลอย่างเป็นเรื่องเป็นราวและมีความชัดเจนมากขึ้น”

นายพิภพ – “ครับพี่น้องประชาชนกับผู้สื่อข่าว ผมอยากจะเพิ่มเติมสักนิดหนึ่งว่าตัวท่านนายกรัฐมนตรีเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม กระบวนการยุติธรรมไม่ได้มี 3 ส่วน ก็คือ ตำรวจ แล้วก็อัยการ แล้วก็ศาลเท่านั้น นายกรัฐมนตรีในฐานะเป็นผู้บริหารประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม ฉะนั้นถ้าท่านนายกรัฐมนตรีไม่สามารถจัดการให้กระบวนการยุติธรรมเป็นธรรมได้ จะทำให้กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ หรือความเป็นธรรมทั้งระบบล่มสลาย กรณีคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวเท่านั้น ถึงแม้เป็นเรื่องส่วนตัวก็มีสิทธิที่จะปกป้องชีวิตของตัวเอง และจะต้องเรียกร้องหาความเป็นธรรม แต่กรณีของคุณสนธินั้น เป็นนักสื่อมวลชนที่เปิดโปงและตรวจสอบอำนาจรัฐทุกระดับ สอง เป็นผู้ที่มีชื่อเสียง ฉะนั้นถ้าบุคคลเช่นคุณสนธิไม่ได้รับความเป็นธรรม คนในระดับอื่นๆ ก็จะไม่ได้รับความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น นี่ก็เป็นประเด็นที่ 1

อันที่ 2 ในเรื่องกระบวนการยุติธรรม และเรื่องความมั่นคง ตั้งแต่ที่เราแถลงเรื่องเมื่อสักครู่นี้ก็คือการถวายฎีกา ซึ่งเกี่ยวข้องกับความมั่นคงและกระบวนการยุติธรรม อย่างที่ผมเรียนไปแล้ว ฉะนั้นถ้านายกรัฐมนตรีไม่ออกมาทำในเรื่องนี้ กระบวนการยุติธรรมและความมั่นคงจะเสียหาย และมาในเรื่องของ กรณีปราสาทพระวิหาร อันนี้ก็เกี่ยวกับเรื่องความมั่นคง นี่ชัดเจน สุดท้ายก็กรณีคุณสนธิ เพราะฉะนั้นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีจะต้องทบทวนก็คือ ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม ฉะนั้นถ้าใครเป็นอุปสรรคในกระบวนการยุติธรรม นายกรัฐมนตรีจะต้องจัดการ ตอนนี้ชัดเจนว่าคนที่อยู่ในส่วนกระบวนการยุติธรรมที่ถูก ป.ป.ช.ตั้งข้อกล่าวหานะครับ คือท่านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีดูแลความมั่นคง มีความบกพร่องชัดเจนนะครับ ในเรื่องความมั่นคง และดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีควรจะต้องทบทวนว่า ทั้ง 2 ท่านควรจะอยู่ในตำแหน่งหรือไม่ ถ้าอยู่ในตำแหน่งจะเป็นอุปสรรคกับกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ นายกรัฐมนตรีอย่าลืมหน้าที่นี้นะครับ ว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม ว่าจะทำให้เกิดความเป็นธรรมได้หรือไม่”

พล.ต.จำลอง – “พวกเราที่มาชี้แจงในวันนี้ 4 คนนั้น คุณสุริยะใสอยู่ในฐานะที่มีอยู่ 2 ตำแหน่ง ตำแหน่งหนึ่งคือ ยังคงเป็นผู้ประสานงานของพวกเราอยู่ ส่วนอีกตำแหน่งหนึ่งคือ เป็นเลขาธิการพรรค เพราะฉะนั้นมาทั้งทีแล้ว อยากให้คุณสุริยะใสบอกกับประชาชนว่า พรรคของคุณทำอะไรไปถึงไหนแล้ว”

นายสุริยะใส – “ถือโอกาสรายงานนะครับ เนื่องจากในขณะนี้มีการประชุมกรรมการบริหารพรรคอยู่นะครับ โดยมีคุณสมศักดิ์เป็นประธานที่ประชุมอยู่นะครับ ผมถือโอกาสแจ้งต่อพี่น้องประชาชนที่ดูอยู่นะครับว่า ในขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้งสาขาพรรคนะครับ ซึ่งความพร้อมของเราในการตั้งสาขาในขณะนี้ มากกว่า 10 สาขานะครับ แต่ว่าขั้นตอนตามกฎหมาย สุดท้ายต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้งนะครับ และในขณะนี้สมาชิกของพรรค เราเริ่มเปิดรับสมัครนะครับ ซึ่งสมัครได้ที่สำนักงานใหญ่ หรือติดต่อคือ บ้านพักของคุณสมศักดิ์นะครับ ซึ่งเป็นสำนักงานชั่วคราวไปก่อนนะครับ

ทั้งหมดนี้คาดว่า เมื่อความพร้อมทั้งในเรื่องสมาชิก ความพร้อมในเรื่องสาขา และคำรับรองจาก กกต.น่าจะประมาณอย่างช้าที่สุดในต้นเดือนกันยายนนะครับ พรรคการเมืองใหม่จะสามารถประชุมใหญ่พรรค เพื่อคัดเลือกกรรมการบริหารพรรคทุกตำแหน่ง ทั้งหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรคนะครับ เหรัญญิกพรรค รวมทั้งนโยบาย ข้อบังคับพรรค และความพร้อมในการเลือกตั้งทั่วไปนะครับ ซึ่งผมเรียนว่า ในช่วงที่เราเดินสายพบกับพี่น้องพันธมิตร ความไม่เข้าใจ หรือความกังขาในเรื่องตั้งไม่ตั้งพรรค ไม่เป็นปัญหาแล้วนะครับ แต่ปัญหาใหญ่คือว่า พรรคการเมืองใหม่เราจะสามารถที่จะเข้าไปแข่งขันในสนามการเลือกตั้ง ที่ค่อนข้างจะมีการทุจริตเลือกตั้งได้อย่างไร อันนี้เป็นเรื่องที่เราพยายามที่จะเตรียมความพร้อมของมวลชน และเชื่อว่าเมื่อต้นเดือนกันยายน ซึ่งเป็นการประชุมใหญ่พรรค จะเป็นนับ 1 ในเรื่องของความพร้อมนะครับ ฉะนั้นข่าวที่ออกไปว่า เราจะลงส่งคนลงสมัครที่โน้นที่นี่ไม่เป็นความจริงนะครับ เพราะว่าจะลงสมัคร โดยเฉพาะลงสมัครชิงตำแหน่ง ส.ส.ต้องสังกัดพรรคไม่น้อยกว่า 90 วันนะครับ อันนี้ขอเรียนให้ทราบเท่านี้ก่อนนะครับ เชิญคำถามนะครับ

ผู้สื่อข่าวถาม - ท่านคะแล้วจะไปยับยั้งได้อย่างไร ในการให้รัฐบาลยับยั้งการถวายฎีกา เพราะว่าขณะนี้รวบรวมได้ 3 ล้านรายชื่อ
พล.ต.จำลอง – “ไม่ใช่ยับยั้งนะครับ คือต้องออกมาชี้แจงกับประชาชน ว่าไม่บังควรอย่างไร การออกมาชี้แจงนั้นเมื่อประชาชนเขาฟังแล้ว เขาก็เข้าใจเองนะครับว่า คุณจะตัดสินใจอย่างไร แต่ตอนนี้ไม่มีอะไรมาบอกให้ประชาชนทราบทั่วทั้งประเทศว่า มันเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง เมื่อไม่บอกประชาชนเขาก็ไม่รู้ ไม่รู้แล้วบางคนเขาอาจจะทำไปด้วยความไม่รู้ ซึ่งเราน่าจะช่วยเขาในเรื่องนี้ เพราะรัฐบาลมีสื่อเยอะแยะไปหมด ทำไมเอามาใช้ในเรื่องการจัดรายการอย่างอื่นเสีย ไม่สนใจในเรื่องความเป็นความตายของบ้านเมือง”

ผู้สื่อข่าวถาม - เพราะอะไรก่อนหน้านี้นายกฯ ถึงไม่ยอมตอบว่าจะปลด ผบ.ตร.หรือไม่ แต่ตอนหลังกลับมาบอกว่าไม่ปลดแล้ว หลังจากที่คุณสุเทพ พูดว่า จะไม่มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่ง ผบ.ตร.
นายสุริยะใส – “มันสะท้อนให้เห็นถึงวุฒิภาวะความเป็นผู้นำของท่านนายกฯ จริงๆ เราไม่มีสิทธิ์ไปคาดหวังหรอกว่า ตำแหน่ง ผบ.ตร.จะถูกปลดในที่สุด แต่เผอิญว่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ถ้าสื่อมวลชนซึ่งใกล้ชิดกับพวกผมก็คงทราบว่า ท่านเหมือนง้างไม้แล้ว ภาษามวยก็เงื้อหมัดจะชกแล้ว แต่พอสุดท้ายท่านก็บอกว่าเก็บหมัดไว้ก่อน หรือเดินเข้ามุมไปดื้อๆก็เลยไม่ทราบว่า สุดท้ายแล้วท่านสุเทพ กับท่านนายกฯ ใครมีอำนาจนำรัฐบาลชุดนี้”

นายปานเทพ – “ผมขออนุญาตเสริมนิดหนึ่งนะครับ คือเรื่องการปลด ผบ.ตร.ต้องให้เข้าใจก่อนว่า ท่าน ผบ.ตร.ท่านนี้ได้ถูกโยกไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไปแล้ว 1 ครั้ง ในสมัยรัฐบาลคุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อันเนื่องมาจากข้อครหาการตั้งกรรมการสอบแล้วว่า ท่านมีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อที่ไม่โปร่งใส จัดซื้อจัดจ้างวงเงิน 18 ล้านบาท มันเป็นเหตุนะครับตอนเริ่มต้น การกลับเข้ามาอีกครั้งโดยรักษาการนายกรัฐมนตรี คุณชวรัตน์ ชาญวีรกูล ตอนนั้นก็ใช้อาศัยอำนาจรักษาการกลับเข้ามาตำแหน่ง และไม่ได้ให้เหตุผลว่าสาเหตุที่กลับมาเพราะเหตุผลอะไร ในตอนนั้นเราก็เข้าใจว่า ท่านนายกฯ ไม่ทราบ แต่ว่าเวลาผ่านมาตอนนี้ 7 เดือนเศษแล้วนะครับ ท่านนายกฯ ยังคงใช้บริการ และการใช้งานผ่าน ผบ.ตร.ที่ชื่อ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ต่อไป ก็แสดงว่าท่านนายกฯ ไม่สนใจข้อกล่าวหาในเรื่องคดีที่เกี่ยวข้องกับการตั้งกรรมการสอบการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่โปร่งใส 18 ล้าน

ประการถัดมาก็คือ เหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งวันนี้ ป.ป.ช.ได้กำลังชี้มูลเดือนสิงหาคม ท่านทำตั้งแต่ 7 ตุลาคม 2551 ถ้าท่านนายกรัฐมนตรีเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญว่ามีคนบาดเจ็บล้มตาย และเห็นว่า การกระทำของผู้บังคับบัญชาสูงสุด ที่ปล่อยปละละเลยให้มีการยิงถล่มตั้งแต่เช้าจนถึงกลางคืน จนกระทั่งมีคนเสียชีวิต แม้กระทั่งตอนกลางคืนด้วย เป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม และไม่มีการยับยั้ง ถ้าท่านเห็นว่าเรื่องนี้ไม่เหมาะสม ท่านก็ไม่สมควรที่จะให้ ผบ.ตร.ท่านนี้ทำงานต่อไป ตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว แต่ท่านปล่อยให้ทำหน้าที่ผ่านมา 7 เดือน เพราะฉะนั้นแล้วถ้าท่านมีปฏิกิริยาก่อนหน้านี้ 2 สัปดาห์ ว่าท่านเห็นว่ามีกระบวนการ อุปสรรค ขัดขวางคดีลอบสังหารคุณสนธิ ต้องถือเป็นอีกกรรมหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวกับ 2 กรรมก่อนหน้านั้น ถ้าท่านจะอ้างเหตุปลดจากกรรมที่ท่านคิดขึ้นมาเอง และเห็นว่าเป็นปัญหา ท่านควรยึดตรงนั้นเป็นหลัก ไม่ใช่รอ ป.ป.ช. หรือรอหน่วยงานอื่น ต้องกล้าหาญในการตัดสินใจด้วยตัวเอง

ผู้สื่อข่าวถาม - ความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นพี่ชาย พล.ต.อ.พัชรวาท
นายปานเทพ – “สังคมต้องตั้งคำถามแน่นอน เพราะการเข้ามาโดยที่ 1. ท่าน ผบ.ตร.ทำงานมา 7 เดือนเศษ 2 ข้อหาที่เราพูดถึงนั้นได้ถูกละเลย แม้เป็นข้อเรียกร้องจากพันธมิตรฯ ท่านก็เพิกเฉย 2.มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นถึงพี่ชายของท่าน ผบ.ตร. สังคมย่อมตั้งคำถามว่า ท่านเกรงใจคนเหล่านี้มากกว่าเกรงใจความถูกต้องรึเปล่า อย่างที่คุณสุริยะใสบอก คดีผู้ก่อการร้าย ท่านบอกว่า เป็นอำนาจของพนักงานสอบสวน ท่านไม่ยุ่ง พอเป็นทีมท่าน พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ เป็นผู้ดูแลคดีนี้โดยตรง ในฐานะเจ้าพนักงานสอบสวน และชุดทำงาน ท่านกลับไปฟังคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ถูกแต่งตั้งเป็นพนักงานสอบสวน จากรองนายกรัฐมนตรีบ้าง จาก ผบ.ตร.บ้าง ทำให้เราตั้งข้อสงสัยและคำถามว่า ตกลงท่านมีบรรทัดฐานหรือไม่มี หรือเพียงแค่เลือกบางบรรทัดฐานมาใช้กับตัวเองเพื่อให้สมประโยชน์ด้านการเมืองเท่านั้น หรือสมประโยชน์กับพรรคร่วมรัฐบาล หรือสมประโยชน์ให้กับผู้ร่วมก่อตั้งรัฐบาลเท่านั้น นี่สังคมย่อมตั้งคำถาม”

นายพิภพ – “ตามธรรมเนียมของราชการ เมื่อข้าราชการถูกสอบสวน และถูกตั้งข้อกล่าวหา ในกรณีท่าน ผบ.ตร. ถูกตั้งข้อกล่าวหาแล้วถูกสอบสวนในหลายเรื่อง และการไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงานในตำรวจแห่งชาติ ดูได้จากเหตุการณ์วันสงกรานต์ ตามธรรมเนียมปฏิบัติราชการ ไม่ปลดก็ต้องย้ายออกจากตรงนั้น นี่เป็นธรรมเนียม เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องว่าพันธมิตรฯต้องการ หรือไม่ต้องการให้เปลี่ยน ผบ.ตร. แต่ต้องการให้คุณอภิสิทธิ์ ใช้ธรรมเนียมปฏิบัติราชการ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการสอบสวนข้าราชการที่ถูกกล่าวหา

2 ในธรรมเนียมสากลของประเทศ ไม่ว่าท่าน ผบ.ตร.จะเกี่ยวข้องหรือไม่ แต่เมื่อเกิดเหตุผู้ใต้บังคับบัญชาของท่านทำเหตุอันไม่ควร และก่อให้เกิดความผิดในทางวินัย ในเหตุการณ์ 7 ตุลา หรือในเหตุการณ์เมษาก็ดี โดยมารยาท ผบ.ตร.ต้องลาออก นี่ธรรมเนียมต่างประเทศ ในระบอบประชาธิปไตย ไม่ต้องพูดว่าเกี่ยวข้องแค่ไหน แต่ความรับผิดชอบเบื้องต้นต้องลาออก เพราะฉะนั้น มี 2 เรื่อง คือธรรมเนียมปฏิบัติของราชการกับธรรมเนียมในระบอบประชาธิปไตย ปรากฏว่า ท่านนายกรัฐมนตรีไม่ได้ส่งสัญญาณ หรือไม่ได้ออกคำสั่งในสิ่งที่ควรจะออกให้กระทำเลย

ท่านรองนายกฯสุเทพ เทือกสุบรรณ เช่นเดียวกัน เมื่อรับมาเป็นคนดูแลเรื่องความมั่นคง และกรมตำรวจ ก็ไม่ทำอะไรทั้งสิ้น งั้นปัญหาก็ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อการทำงานของท่านนายกฯ ซึ่งน่าจะดีขึ้นหลังเหตุการณ์เดือนเมษา ซึ่งมีภาวะความเป็นผู้นำตอนนั้น”

นายปานเทพ – “ขออนุญาตนะครับ เรื่องนี้เราเคยมีแถลงการณ์ไปแล้ว ในฉบับที่ 1/2552 ว่า เราเรียกร้องให้หลายคนต้องรับผิดชอบ จากเหตุการณ์การประชุมอาเซียนและคู่เจรจา ว่า ท่านรองนายกรัฐมนตรี ผบ.เหล่าทัพ รวมถึง ผบ.ตร.ที่เกี่ยวข้องกับการไม่สามารถรักษาความปลอดภัยการประชุม อันเป็นเกียรติภูมิของประเทศได้ ท่านเหล่านั้น ต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก เราเขียนไว้แล้วตั้งแต่แถลงการณ์ ฉบับที่ 1/2552 เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา”

ผู้สื่อข่าวถาม - วันนี้ ออกมาเรียกร้อง และถ้าเกิดรัฐบาลไม่ดำเนินการตาม จะดำเนินการอย่างไรต่อไป ทั้งเรื่องกัมพูชา เรื่องคดีความนะค่ะ
พล.ต.จำลอง – “เรื่องที่เราออกมานี้ เป็นเรื่องจำเป็น เป็นเรื่องสำคัญ ผู้สื่อข่าวจะเห็นว่า ไม่ใช่เราออกมาทุกเรื่อง แม้บางเรื่องจะเห็นว่า น่าออกมาชี้แจง น่าออกมาโต้แย้ง แต่เราเห็นว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร สำหรับเรื่องนี้ เราบอกให้รัฐบาลทราบว่า ไม่ใช่ความเห็นเฉพาะพวกเราเท่านั้น แต่เป็นความเห็นของประชาชนจำนวนมาก ที่เห็นว่า มันเกิดปัญหาขึ้นแล้ว ซึ่งจะกระทบกระเทือน ทำให้บ้านเมืองเสียหาย รัฐบาลต้องออกมาจัดการ ซึ่งไม่ได้ต้องทำอะไรยุ่งยาก ถ้ารัฐบาลไม่จัดการ รัฐบาลต้องรับผิดชอบเอง ในโอกาสต่อๆ ไป เพราะรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ประชาชนจะได้จดจำไว้ว่า ถ้าเลือกมาจะเป็นอย่างนี้อีกหรือเปล่า เสียเวลาเปล่าๆ

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า รัฐบาลในฐานะที่มาจากการเลือกตั้ง ควรฟังบ้าง เพราะมันเกี่ยวกับประโยชน์ของพรรคตัวเองโดยตรงในโอกาสต่อไป ซึ่งประชาชนจะเป็นคนที่ตัดสินใจ”

ผู้สื่อข่าวถาม - จะถึงขั้นมีการออกมาขับไล่ไหมคะ
พล.ต.จำลอง – “ไม่ครับ เพราะว่ามันไม่ใช่หน้าที่ของเรา ที่จะต้องออกมาทำอย่างนั้น เนื่องจากว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยตรง ที่เขาจะทำได้อยู่แล้ว และรัฐบาลนี้ไม่ใช่รัฐบาลหุ่นเชิดนะครับ เป็นรัฐบาลที่มีการคัดสรรกันมาแล้ว และจะมาทำประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชนอย่างที่เขาบอกไป คือต้องทำเรื่องนี้แหละครับ เราไม่ได้ไปคาดคั้นว่า ถ้าไม่ออกมาทำเรื่องนี้ พันธมิตรฯ จะอย่างนั้น พันธมิตรฯ จะอย่างนี้ไม่ดีครับ”

ผู้สื่อข่าวถาม - มีการมองไหมคะว่า การที่ไม่ปลด ผบ.ตร.อาจเป็นเพราะว่า มีความเชื่อมโยงกับ พล.อ.ประวิตร ซึ่งอาจจะทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ยาวคะ
นายสุริยะใส – “เมื่อกี้อาจารย์ปานเทพพูดไปแล้วนะครับว่า นั้นเป็นข้อสันนิษฐานของสังคมนะครับว่า นี่เป็นสภาวะลูบหน้าปะจมูกของท่านนายกฯ ทำให้ภาวะความเป็นผู้นำไม่โดดเด่น ยิ่งวันนี้ท่านพูดชัดว่า จะไม่ปลด ผบ.ตร.ข้อสันนิษฐานเหล่านั้น กลายเป็นความเชื่อที่มีน้ำหนัก ท่านนายกฯ ต้องแก้ปัญหาเอง อย่างที่ลุงจำลองว่านะครับ”

ผู้สื่อข่าวถาม - เรื่องเขาพระวิหาร และพื้นที่ทับซ้อน พันธมิตรฯ เห็นควรให้คุณกษิตเจรจากับกัมพูชา
นายปานเทพ – “คือประการแรกก่อน ข้อเสนอเรื่อง การยกเลิกแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา ที่บริเวณปราสาทพระวิหาร และพื้นที่รอบนะครับ จุดกำเนิดมาจากข้อเสนอจากท่านทูตกษิต พยายามที่จะร่วมชุมนุมกับพันธมิตรฯ เอง ไม่ได้มาจากพันธมิตรฯ โดยตรงนะครับ เป็นข้อเสนอท่าน ในการขึ้นเวที เราจึงหยิบยกข้อนั้น เข้ามาอยู่ในแถลงการณ์ของพันธมิตรฯ นะครับ ฉบับที่ 29/2551 เพราะเป็นเหตุว่า มีข้อเสนอจากท่านมานานแล้วนะครับ แต่วันนี้ต้องยอมรับว่า ท่านรัฐมนตรีกษิตผมไม่มั่นใจว่า บทบาทของท่านในการเจรจากับฝั่งกัมพูชา มีมากน้อยแค่ไหน เพราะมีกระแสข่าวก่อนหน้านี้ว่า ท่านถูกกั้นออกไปในการเจรจากับทางกัมพูชา เรื่องปราสาทพระวิหาร และเวลาเจรจากับเรื่องทางปราสาทพระวิหาร ก็ส่งท่านรองนายกรัฐมนตรีสุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่แทนที่จะเจรจากันเรื่องแต่กลับกลายเป็นการเจรจาเรื่อง ผลประโยชน์ทางพลังงานในอ่าวไทย ซึ่งเซ็นกันไว้ตั้งแต่ปี 2544 กรณีนี้จึงอาจถูกมองได้ว่า เป็นการสวมสิทธิ์ในผลประโยชน์ที่ทำกันไว้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลคุณทักษิณใช่หรือไม่ ไม่ได้เจรจากันเรื่องผลประโยชน์ หรือความมั่นคงของประเทศไทยหรือไม่ อันนี้เป็นความน่าเป็นห่วงมาก ยิ่งมีพฤติกรรมว่า มีเอกชนไปสัมปทานกับฝั่งกัมพูชาฝ่ายเดียวในเวลาตอนนี้เพิ่มมากขึ้น มีข่าวว่า มีหุ่นเชิดของนักการเมืองผ่านบริษัทต่างๆ ไปลงทุนมากขึ้น อันนี้ยิ่งอันตราย ท่านรัฐมนตรีกษิตย่อมต้องใช้สิทธิ์ และหน้าที่ของตนเอง ในสิ่งที่เคยได้ประกาศไว้กับพันธมิตรฯ นะครับ

ผู้สื่อข่าวถาม - รัฐบาลควรจะให้คุณกษิตรับผิดชอบเรื่องนี้
นายปานเทพ – “ในสถานการณ์ฉบับดังกล่าว ที่เซ็นกันไว้ตั้งแต่ปี 2544 เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นคู่เจรจาโดยตรงกับในแถลงการณ์ร่วม และเอ็มโอยู ที่เซ็นตั้งแต่สมัยรัฐบาลคุณทักษิณ เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกใจหรอกครับ ที่มีกระบวนการต้องการให้คุณกษิตออกจากตำแหน่ง เพราะจริงๆ แล้วรองนายกรัฐมนตรีไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะไปเจรจาตามเอ็มโอยู ที่ได้เคยเซ็นกันไว้”

ผู้สื่อข่าวถาม- ตรงนี้เองทางพันธมิตรฯ จะมีการเคลื่อนไหว ร้องศาลปกครองหรือไม่
นายปานเทพ – “ในขั้นที่ 1 จะร้องเรียนผ่านสื่อ และแถลงการณ์วันนี้ครับ เพื่อให้รัฐบาลโดยเฉพาะท่านนายกรัฐมนตรี ท่านรองนายกรัฐมนตรี รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้ท่านตระหนักว่า เราอาจสูญเสียผลประโยชน์ครั้งใหญ่ ไม่ใช่แค่ปราสาทพระวิหาร แต่รวมถึงที่อ่าวไทยด้วย”

พล.ต.จำลอง – “เรื่องนี้เป็นเรื่องแปลกนะครับ ว่าเราเป็นประเทศที่ใหญ่กว่า แต่ปล่อยให้เขมรมาขู่เอา ขู่เอา แล้วเรากลัวหง๋อเลย คนไทยทำไมเป็นอย่างนี้ไปแล้วไม่ทราบนะครับ ที่แปลกมากเลย ในการจะเจรจาต่อรองอะไรก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับความมั่นคง เขาถือเอาอำนาจกำลังรบเปรียบเทียบเป็นหลัก เรามีอยู่เหนือกว่าเขมรมากมายก่ายกองเลย แต่เรากลับกลัวเขมรหง๋อเลย แล้วหลายต่อหลายคนชอบออกมาพูดเป็นครั้งราวว่าเราเสียดินแดนไปนานแล้ว พูดคำนี้ไม่ได้นะครับ เรายังสงวนสิทธิ์ของเราอยู่ทุกยุคทุกสมัย ว่าเป็นของเรา ไม่ใช่ของเขมร และอยู่ดีๆ มายกให้เขาได้อย่างไร คุณเป็นเจ้าของประเทศไทยหรือ คนไทยเป็นอะไรไปแล้วในยุคนี้ สมัยนี้ กลัวเขมรขวัญหนีดีฝ่อเลย

จำได้ไหมครับ ที่เราพูดกันที่ตอนที่เราชุมนุม เมื่อพูดถึงอำนาจกำลังรบเปรียบเทียบแล้ว จริงๆแล้วไม่อยากไปรบราฆ่าฟันกับใคร แต่เป็นเครื่องที่คอยหนุนหลังในการเจรจา ว่าถ้าใครมีกำลังรบเปรียบเทียบมากกว่า ย่อมมีผลในการเจรจา เหมือนคนตัวใหญ่ๆคุยกับคนตัวเล็กๆ ตอนนั้นมีนายทหารอากาศเป็นนักบิน เขียนจดหมายมาถึงเราเลย บอกว่าถ้าเกิดเราหวังดี หวังดีแล้วอีก คือเราไม่ต้องการจะทำอะไรทั้งสิ้น แต่แล้วเราก็ยังถูกคุกคามอยู่เรื่อยๆจากประเทศที่เล็กกว่า ท่านทหารอากาศท่านั้นเป็นนักบิน ชั้นผู้ใหญ่ ท่านบอกว่า ไม่ต้องใช้กำลังกองทัพบกหรอกครับ ใช้กำลังกองทัพอากาศบางส่วนเท่านั้น 2 ชั่วโมงเรียบครับ ทำไมเรามาปล่อยให้เขาขู่เอาขู่เอา จนกระทั่งเสียขบวนท่าไปหมด ผมว่าเรื่องนี้น่าจะหยิบยกขึ้นมานะครับ เราไม่รักชาติเราแล้วเหรอ เป็นอย่างไรก็ได้หรือไง ขอให้อยู่สบายไปวันๆ คนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความมั่นคงของชาติ เอาหูไปนาเอาตาไปไร่”

ผู้สื่อข่าวถาม - ทำไมการแถลงข่าววันนี้ ไม่มีคุณสนธิ มานั่งด้วยคะ
พล.ต.จำลอง - พวกเราก็รู้กันอยู่แล้วว่า คุณสนธิ อยู่ในระหว่างที่แกจะต้องรับการรักษาพยาบาลโดยต่อเนื่อง เวลานั้นจะต้องทำอะไร ถึงแม้จะดีขึ้นมามากแล้วก็ตาม เมื่อกี้ก็ประชุมกัน การประชุมแกกำหนดเวลาไว้แล้วว่า อยากมาร่วมประชุมและร่วมเสนอความคิดความเห็นด้วย แต่การแถลงเราต้องใช้เวลา เลยบอกแกให้ไปพัก เดี๋ยวเราจัดการกันเอง

ผู้สื่อข่าวถาม - กระบวนการให้คุณกษิตออก หมายความว่า
นายปานเทพ – “ตามเอกสารที่ปรากฎในการเซ็นเอ็มโอยู ระบุอย่างชัดเจน หน้าที่แต่ละฝ่าย ในผลประโยชน์ทางพลังงาน มีการตั้งคณะกรรมการร่วม 1 กลุ่ม เรื่องการเจรจาโดยภาพรวม มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้ง 2 ประเทศเป็นคู่เจรจา เพราะฉะนั้น ภายใต้เอ็มโอยู ในเจรจาเรื่องพลังงาน จึงไม่ใช่หน้าที่ของรองนายกรัฐมนตรี ต้องเป็นหน้าที่ในการลงรายละเอียดของคณะกรรมการ 1 ชุด รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้ขึ้นเวทีพันธมิตรฯ และไม่เห็นด้วยกับการสูญเสียผลประโยชน์รอบปราสาทพระวิหาร และพื้นที่อ่าวไทย และเห็นด้วยกับการยกเลิกแถลงการณ์ อาจจะเป็นไปได้ว่า มีกระบวนการต้องการให้ท่านนั้นพ้นจากตำแหน่ง นั่นเป็นสาเหตุใช่หรือไม่ ที่เราต้องตั้งคำถามว่า ข้อหาผู้ก่อการร้าย กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่มีกระแสข่าวว่า ส่งรายชื่อรัฐมนตรีกษิตเป็นคนสุดท้าย ย่อมถูกตั้งข้อสงสัยได้ว่า เป็นกระบวนการเดียวกันหรือเปล่า เพื่อกำจัดท่านออกไปในการเจรจาในเรื่องระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งวันนี้ก็สอดคล้องว่า หลายครั้งที่ไปเจรจาไม่ได้เรื่องอื่นเลย คือเรื่องพลังงานล้วนๆ”

นายสุริยะใส – “ขอบคุณมากครับสื่อมวลชน”



พล.ต.จำลอง ศรีเมือง
นายพิภพ ธงไชย
นายสุริยะใส กตะศิลา


กำลังโหลดความคิดเห็น