xs
xsm
sm
md
lg

อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แล้วจะคิดเป็นได้อย่างไร ความล้มเหลวของการศึกษาไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
โดย โชกุน


ขอแสดงความยินดี กับเด็กไทย 4 คน จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ที่ไปคว้าเหรียญเงินการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ ประจำปี 2552 ที่ประเทศอังกฤษ

การแข่งขันวิชาการโอลิมปิกในด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ที่ผ่านมา เกือบทุกครั้งเด็กไทยจะติดอันดับคนเก่ง คว้ารางวัลกลับบ้านได้สม่ำเสมอ แต่นั่นเป็นความเก่งเฉพาะตัวของเด็ก ความสำเร็จของโรงเรียน และครอบครัว หาใช่ความเป็นจริงของ ระบบการศึกษาไทยไม่

เพราะการศึกษาของเรานั้น ล้มเหลวมานานแล้ว และล้มเหลวในทุกระดับ

เมื่อก่อน ความล้มเหลวยังอยู่แค่ระดับมัธยม –ปริญญาตรี เพราะการศึกษาระดับสูงสุด ยังมีอยู่แค่นั้น การเรียน ปริญญาโทยังไม่แพร่หลาย เมื่อสถาบันการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน แข่งกันเปิดปริญญาโท ก็เกิดมีความล้มเหลวของปริญญาโทขึ้นมา และปัจจุบันกำลังมีความล้มเหลวในระดับปริญญาเอกเกิดขึ้น

ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ คุณหญิง กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยผลการประเมินคุณภาพของโรงเรียน ในพื้นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ( สพท.) ทั่วประเทศ 185 แห่ง ประจำปี 2551 พบว่า อาการน่าเป็นห่วงเกือบทุกด้าน

ที่สำคัญคือ การอ่านออก เขียนได้ ในช่วงชั้นที่ 1 และ 2 มี สพท.ที่ผลประเมินเป็นไปตามเป้าเพียง 1 เขต ในขณะที่ต่ำกว่าเป้าถึง 184 เขต และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาระดับชาติ หรือ National Test (NT) เป็นไปตามเป้าเพียง 4 เขต ต่ำกว่าเป้าถึง 181 เขต

พูดกันให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เด็กนักเรียนชั้นประถมในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เกือบทั้งประเทศ เรียนหนังสือจบ ป. 6 แล้ว ยังอ่านหนังสือไม่คล่อง เขียนหนังสือไม่ได้


เมื่อพื้นฐานไม่ดีเสียแล้ว ก็อย่าหวังว่า จะไปแก้ไขในการศึกษาระดับสูงๆขึ้นไปได้ อย่าว่าแต่เด็กประถมเลย ที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ บัณฑิตปริญญาตรี จำนวนมากเหลือเกิน ที่อ่านหนังสือไม่แตก เขียนเรียงความสั้นๆไม่ได้ เพราะไม่รู้จะลำดับเรื่องราว ประมวลความคิดอย่างใด

เป็นสิ่ง ที่สะท้อนว่า การอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ไม่ได้เป็นความล้มเหลวของการศึกษาไทยประจำปี 2551 เท่านั้น แต่เกิดขึ้นมาไม่ต่ำกว่า 10 – 20 ปีแล้ว

กระทรวงศึกษาธิการ จะแก้ไขปัญหาความล้มเหลวนี้อย่างไร

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้พูดถึงทางออก ในระหว่างการบรรยายเรื่อง “ บทบาทของครูไทยในสังคมปัจจุบัน” ในการประชุมอบรม เรื่อง “เข้าใจ เข้าถึงการเรียนการสอนภาษาไทยตามหลักสูตร” ที่จัดโดยสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ปีนี้ถือเป็นยุคทองของ ศธ. เพราะได้รับงบพิเศษจากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งของรัฐบาลโดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาครู ตั้งแต่ปี 2553-2555 จำนวน 722 ล้านบาท สำหรับใช้พัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทย แก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ของเด็กไทย ครู นักศึกษานิเทศก์ภาษาไทยด้วย

กระทรวงศึกษาได้รับงบประมาณสูงสุดปีละหลายหมื่นล้านบาทอยู่แล้ว เงินที่ได้เพิ่มมาอีก 722 ล้านบาท ไม่น่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ ภาษาไทยเป็นสิ่งที่อยู่ในสายเลือดคนไทย ครูสอนภาษาไทยน่าจะสอนให้เด็กอ่านออก เขียนได้ โดยไม่ต้องใช้เทคนิค วิธีการที่พิสดารอะไร

การพัฒนาการเรียน การสอนภาษาไทยที่กระทรวงศึกษาธิการใช้เป็นต้นแบบนี่แหละ คือ ต้นเหตุแห่ง การอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ผู้อ่านข่าวเกี่ยวกับความล้มเหลวของการศึกษาไทยในเว็บไซต์ แมนเนเจอร์ออนไลน์ หลายคน โพสต์ข้อความแสดงความเห็นเข้ามา ทำให้รู้ว่า การสอนภาษาไทยในปัจจุบัน ครูให้นักเรียนจำเป็นคำๆ ไม่มีการสอนสะกดคำ ผสมพยัญชนะ สระ ผันเสียงวรรณยุกต์ เหมือนรุ่นพ่อแม่ นักเรียนจึงไม่มีหลัก หรือเครื่องมือ ที่จะใช้ในการอ่านให้ออก เขียนให้เป็น เพราะการจำเป็นคำๆ นั้นคือ การดู ไม่ใช่การอ่าน

ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา จริงจังกับการแก้ปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ก็ต้องมีความกล้าหาญที่จะเปลี่ยนวิธีการสอนภาษาไทยให้กลับไปสู่แบบเดิม ซึ่งไม่ต้องใช้งบประมาณเลย อย่ามัวแต่ท่องคาถา เอาเด็กเป็นศูนย์กลาง สอนให้เด็กคิด ไม่ใช่ให้ท่องจำ ที่นักวิชาการของกระทรวงศึกษา ลอกฝรั่งมาใช้เป็นคัมภีร์วางแผนการศึกษาไทย

ถ้าอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้เสียแล้ว จะคิดเป็นได้อย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น