xs
xsm
sm
md
lg

ฮิลลารี่ คลินตัน เยือนไทย ฟื้นสัมพันธ์สหรัฐฯ – อาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
โดย โชกุน


มาถึงประเทศไทยตั้งแต่บ่ายวานนี้ และเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เรียบร้อยแล้ว

นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศคนที่ 67 ของสหรัฐอเมริกา

เป็นการเดินทางมาไทยครั้งที่ 2 ครั้งแรก เธอมาในฐานะสุภาพสตรีหมายเลข 1 ภรรยาของประธานาธิบดี บิลล์ คลินตัน ตามสามีมาประชุมเอเปกที่กรุงเทพฯ เมื่อ เดือนตุลาคม พ.ศ. 2546

มาครั้งนี้ เป็นการเยือนไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 21-22 กรกฎาคม ต่อจากนั้นในวันที่ 22-23 ก.ค. ร่วมประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และการประชุมว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ เออาร์เอฟ ( ARF - Asean regional forum) ซึ่งนอกจากจะมีสมาชิกคือชาติอาเซียนและสหรัฐฯแล้ว ยังมีประเทศสำคัญๆอื่นๆ เช่น รัสเซีย จีน แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหภาพยุโรป อินเดีย ปากีสถาน ฯลฯ รวมทั้งหมด 27 ประเทศ

นางคลินตันเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ในฐานะภรรยาประธานาธิบดีสหรัฐฯ และได้รับความเห็นอกเห็นใจ เมื่อเธอต้องเจอมรสุมชีวิต กับข่าวความสัมพันธ์อื้อฉาวในทำเนียบขาวของสามีกับเด็กฝึกงาน “ โมนิกา ลูวินสกี้”

ชีวิตทางการเมืองของเธอเริ่มต้นขึ้นเมื่อ บิลล์ คลินตัน สิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่ง ด้วยการสมัครเข้ารับเลือกตั้ง และได้รับชัยชนะเป็นวุฒิสมาชิกแห่งรัฐนิวยอร์ก เมื่อ พ.ศ. 2543 สร้างประวัติศาสตร์ เป็นสุภาพสตรีหมายเลข 1 คนแรก ที่เดินออกจากทำเนียบขาว เข้าสู่ ถนนการเมือง

ปีที่แล้ว เธอเสนอตัวเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แข่งกับ นายบารัก โอบามา แต่ต้องพ่ายแพ้ต่อโอบามา อย่างไรก็ตาม เมื่อโอบามาชนะเลือกตั้ง ได้เป็นประธานาธิบดี ก็เลือกเธอเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ

กิจการด้านต่างประเทศของสหรัฐฯนั้น ไม่ได้มีแต่กระทรวงการต่างประเทศที่รับผิดชอบ ประธานาธิบดี อาจจะแต่งตั้งทูต หรือผู้แทนพิเศษที่ขึ้นตรงต่อประธานาธิบดี เข้าไปดูแลในเรื่องที่มีความสำคัญ เช่น ให้นายริชาร์ด โฮลบรูค เป็นทูตพิเศษ เจรจากับปากีสถาน เพื่อให้จัดการกับกลุ่ม อัลกออิดะห์ ที่ใช้ชายแดนด้านตะวันตกของปากีสถาน เป็นฐานที่มั่นในการก่อการร้ายในอาฟกานิสถาน แต่งตั้ง นายจอร์จ มิเชล เพื่อแก้ไขความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และรองประธานาธิบดี โจ ไบเดน ดูแลจีน

ส่วนภารกิจของรัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งครั้งที่แข่งขันกันเป็นตัวแทนพรรค เคยปรามาสโอบามาว่า ไม่มีประสบการณ์ด้านการต่างประเทศ รับหน้าที่ ในการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ ของสหรัฐฯ และหาเพื่อนในเวทีโลก

สมัยรัฐบาลจอร์จ บุช นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ เป็นท่าทีของอันธพาล นักเลงโต ขีดเส้นให้ประเทศต่างๆเลือกข้างว่า จะอยู่กับสหรัฐฯ หรือจะอยู่ข้าง ปรปักษ์ของอเมริกา แต่ในยุคของโอบามา ภายใต้สโลแกนที่ใช้ตอนหาเสียงคือ Change หรือความเปลี่ยนแปลง ทิศทางของนโยบายต่างประเทศ ถูกปรับไปใช้ ความนุ่มนวล มากกว่า ความแข็งกร้าว รับฟังมากกว่า กดดัน

การมาเยือนไทย เพื่อร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและการประชุมเออาร์เอฟ ของนางคลินตันครั้งนี้ เป็นการส่งสัญญาณว่า สหรัฐฯหันมาให้ความสนใจกับเอเชียมากขึ้น หลังจากที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการตามหา อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างรุนแรง การไล่ล่าซัดดัม ฮุสเซน และโอซามา บินลาเดน และ หาเรื่องอิหร่าน ในยุคของจอร์จ ดับเบิลยู. บุช

ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ และการประชุม เออาร์ เอฟ 2 ครั้งก่อน ทีฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ นางคอนโด ลิซซ่า ไรซ์ รัฐมนตรีต่างประเทศของบุช ไม่ยอมมาร่วมประชุม โดยอ้างว่าติดภารกิจ ส่งตัวแทนมา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ไม่มาร่วมประชุม นับตั้งแต่มีการก่อตั้ง เออาร์เอฟ ทำความขุ่นเคืองให้กับชาติสมาชิก ที่สหรัฐฯ ไม่เห็นความสำคัญของอาเซียน

ภารกิจของนางฮิลลารีที่ภูเก็ตในครั้งนี้ จึงถือเป็นการกลับมารื้อฟื้นความสัมพันธ์กับเพื่อนเก่า ที่ถูกหมางเมินไปพักใหญ่
กำลังโหลดความคิดเห็น