ต่อให้เป็นนักพยากรณ์ขั้นเทพสำนักไหน ก็คงคาดเดาได้ยากเต็มทีว่า หน้าที่การงานและชีวิตต่อจากนี้ของ กษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะเป็นอย่างไร หลังจากที่เมื่อวานได้ไปมอบตัวกับตำรวจที่สโมสรตำรวจ เพราะเป็นหนึ่งในผู้ต้องหา ‘ก่อการร้าย’ ร่วมทีมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บุกรุกสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งโทษสูงสุดของข้อหาดังกล่าว ถึงขั้นประหารชีวิตกันเลยทีเดียว
ระหว่างรอดูฉากจบของเรื่องในชั้นศาลว่าจะ ‘จบสุข’ หรือ ‘จบเศร้า’ เราชวนคนหลากแวดวงถกนิยามของ ‘ก่อการร้าย’ ว่าแท้จริงแล้วมีลักษณะอย่างไร พร้อมแง่มุมอื่นที่เกี่ยวเนื่อง
คำนิยาม ว่าด้วย ‘การก่อการร้าย’
“การก่อการร้ายมีนิยามเยอะมาก ขณะนี้มีมากกว่า 100 นิยามแล้ว และมันย่อมขึ้นอยู่กับมุมมองว่าใครเป็นคนนิยาม ในอดีตเราก็มีบทเรียนว่า บางคนที่เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เมื่อเวลาผ่านไป ถึงวันหนึ่ง เขาคนนั้นก็อาจจะกลายเป็นวีรบุรุษ จึงมีคำกล่าวที่ว่า ผู้ก่อการร้ายวันนี้ คือ วีรบุรุษในวันหน้า เพราะฉะนั้น มันจึงขึ้นอยู่กับมุมมองที่ต่างกัน ในมุมมองของ องค์การสากล เช่น องค์การสหประชาชาติ หรือโอไอซี ก็อาจจะมองอีกอย่างหนึ่ง แต่โดยทั่วไปแล้ว เมื่อเราเอ่ยถึงคำว่าก่อการร้าย ก็มักจะหมายถึง การสร้างผลสะเทือนให้กับประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือต้องการเป็นข่าวใหญ่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือต้องการสร้างความหวาดหวั่นให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง
"โดยปกติ เราจะสังเกตได้ว่า บางประเทศไม่เคยมีการก่อการร้าย หรือมีก็น้อยมาก เพราะประเทศเหล่านั้นมีนโยบาย ‘เป็นกลาง’ ซึ่งเขาเป็นกลางในความหมายจริงๆ ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่เคยเห็นการก่อการร้ายในสวิตเซอร์แลนด์ หรือในฟินแลนด์ เพราะว่านโยบายของประเทศเหล่านั้น คือ เขาไม่เข้าไปวุ่นวายหรือก้าวก่ายประเทศอื่น”
รศ. ดร. จรัญ มะลูลีม อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาการระหว่างประเทศและการทูต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงทัศนะ ก่อนอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับนิยามความหมาย ของการก่อการร้ายในความหมายสากล โดยหยิบยกนิยาม ในมุมของโอไอซี (องค์การอิสลามโลก) ว่าเขาแยกแยะชัดเจน ระหว่าง ฟรีดอม ไฟเตอร์ คือคนที่ต่อสู้เพื่อมาตุภูมิของตนเอง เนื่องจากถูกครอบครองหรือยึดดินแดน เขาจึงให้การสนับสนุนการต่อสู้แบบนี้
“แต่สำหรับกลุ่มคนที่สร้างความรุนแรงให้เกิดแก่ผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง ทำให้คนเหล่านั้นต้องเสียชีวิต แบบนี้จึงจะเรียกว่าการก่อการร้าย เป็นผู้ก่อการร้ายที่ทำให้ประเทศหนึ่งประเทศใดตกอยู่ในความหน้าหวาดหวั่น หรือทำให้บุคคลในประเทศใดๆ เสียชีวิต แบบนี้ถือว่าเป็นการก่อการร้าย เพื่อหวังผลทางการเมือง หรือเพื่อก่อผลสะเทือน เหล่านี้เป็นต้น แต่สำหรับนิยามการก่อการร้าย โดยทั่วๆ ไป เป็นเรื่องของกลุ่มบุคคลที่สร้างผลสะเทือนด้วยการใช้ความรุนแรง เช่น การสังหารชีวิต การทำให้คนต้องตายพร้อมๆ กัน เหล่านี้เรียกว่าการก่อการร้าย
“ในโลกทั่วๆ ไป การก่อการร้ายเกิดได้จากทุกฝ่าย หากรัฐเป็นคนทำเสียเอง เรียกว่า การก่อการร้ายโดยรัฐ หมายถึง การที่รัฐหนึ่ง เข้าไปก้าวก่ายในรัฐอื่น เช่น เข้าไปเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองของอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งค้านกับความคิดของประชาชนในประเทศนั้น”
ก่อการร้าย ยุคหลัง 9/11
นอกจากอธิบายถึงความหมายของการก่อการร้ายที่แตกต่างกันไปในแต่ละมุมมองขององค์กรหรือประเทศต่างๆ แล้ว รศ.ดร. จรัญ ยังแสดงทัศนะเกี่ยวกับความรุนแรงในนามการก่อการร้าย อันนับเป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์ 9/11 หรือเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมตึกเวิลด์เทรด
ทั้งนี้ เป็นทัศนะ ที่มองอีกมุมหนึ่ง ซึ่งต่างไปจากมุมมองกระแสหลักอันมีสหรัฐอเมริกา เป็นศูนย์กลางในระดับโลก
“การรุกรานประเทศอิรัก โดยสหรัฐฯ นั้น กล่าวได้ว่า หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว โลกเกิดผลสะเทือนมาก แต่เอาเข้าจริงแล้ว เหตุการณ์ 9/11 มีคนตายไม่ถึง 3,000 คน ผมยอมรับว่าเป็นเรื่องที่น่าเศร้า ถึงอย่างไรก็เป็นการสูญเสียชีวิตของเพื่อนมนุษย์ แต่หลังจากนั้น ปรากฏว่า สหรัฐฯ ตัดสินใจถล่มทั้งอิรัก และอัฟกานิสถาน
“ทั้งที่กฎหมายระหว่างประเทศไม่เห็นด้วย เพราะไม่มีหลักฐานใดๆ ระบุได้เลยว่ามีอาวุธในการก่อเหตุ อยู่ที่อิรัก แต่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ในขณะนั้น ก็ตัดสินใจถล่มทั้งอิรัก และอัฟกานิสถาน พร้อมๆ กัน เป็นการถล่มที่เรียกว่า กันไว้ก่อน นับเป็นเรื่องน่าเสียใจ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปแล้ว สงครามที่สหรัฐฯ เรียกว่า สงครามต่อต้านการก่อการร้ายนั้น สุดท้าย สงครามนั้น ได้กลายเป็นตัวก่อการร้ายเสียเอง เพราะมีชาวอิรักนับแสนคนที่เสียชีวิตด้วยน้ำมือสหรัฐ ฯ โดยคนเหล่านั้นไม่รู้อีโหน่อเหน่อะไรด้วย เพียงเพื่อจะกำจัดซัดดัม ก็ทำให้คนอื่นตายไปด้วย
“นอกจากนั้นยังเกิดการแบ่งแยก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า ‘สงครามหลังสงคราม’ ก็คือว่า สหรัฐฯ อาจจะดูเหมือนว่าชนะ แต่แท้ที่จริงแล้ว สหรัฐฯ ได้สร้างประวัติศาสตร์บาดแผลไว้เยอะมาก มีคนตายมากมายและทำให้พี่น้องซุหนี่กับชีอะห์ทะเลาะเบาะแว้งกัน ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่ได้ขัดแย้งกันด้วยเรื่องของนิกาย แต่ขัดแย้งกันด้วยเรื่องของผลประโยชน์ เพราะว่าฝ่ายหนึ่งนั้นปกครองมามากกว่า 23 ปี แล้วสหรัฐฯ เข้ามาเปลี่ยนแปลงเขา หลังจากนั้น แม้ว่าโอบามาจะถอนทหารออกแล้วก็ตาม แต่สิ่งที่ตามมาคือบาดแผล และการก่อการร้าย คือการถล่มกันไม่หยุดของแต่ละฝ่ายจนถึงบัดนี้ ทำให้ทุกวันนี้ อิรักกลายเป็นประเทศที่ไม่มีใครกล้าเข้าไป”
หลังจากเชื่อมโยงให้เห็นภาพความรุนแรงในระดับสากล รศ.ดร.จรัญ กลับมามองการก่อการร้ายในแบบไทยๆ ดูบ้าง คำตอบที่ได้รับ คือ
“ผมยังยืนยันว่า นิยามของการก่อการร้ายก็แล้วแต่ว่าใครจะมอง เพราะว่ามันมีกฎเกณฑ์ทำให้มองได้หลายแง่มุม ขึ้นอยู่กับว่าตำรวจมองอย่างไร ศาลมองอย่างไร ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน เพราะว่าระดับความรุนแรงว่าจะหนักหน่วงแค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน
“แต่ถ้าพูดถึงการก่อการร้ายในระดับใหญ่ๆ ก็คงต้องเป็นการก่อการร้ายที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่สำหรับการก่อการร้ายที่สร้างผลสะเทือนในระดับเศรษฐกิจ ก็มีนิยามที่ขัดแย้งกันเยอะ บ้างมองว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ ยังไม่ถึงขั้นที่จะเรียกว่าการก่อการร้าย แต่บางฝ่ายก็อาจถือว่า ผลเสียที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจนั้น ร้ายแรงกว่าการที่มีคนตายเสียอีก
“หากเอ่ยถึงการชุมนุมของประชาชน แต่ละประเทศก็มีวิธีจัดการกับความรุนแรงแตกต่างกัน สำหรับประเทศไทย การเคลื่อนไหวของฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะสีใดก็แล้วแต่ มักจะถูกยอมให้เกิดได้ต่อเนื่อง โดยมีคำพูดที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเสมอว่า เป็นสิทธิที่ประชาชนกระทำได้ อยู่ที่ว่าเราจะมองคำว่า ‘สิทธิ’ กันอย่างไร
“ในกรณีการเคลื่อนไหวของไทยที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าแต่ละคนที่มาเดินขบวนย่อมมีเหตุผลของตัวเอง ขณะเดียวกันคนที่มองว่าแต่ละคนที่มาเดินขบวนนั้น มีเหตุผลอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่แต่ละคนมีเหตุผลของตนเอง ในการนำเสนอความเห็นต่อการชุมนุม
“บทสรุปของผมที่ว่า อย่างไรเรียกว่าการก่อการร้าย อย่างไรไม่ใช่ ย่อมขึ้นอยู่กับการพิจารณาจากข้อเท็จจริง”
คือทัศนะจาก รศ.ดร.จรัญ มะลูลีม
รั้วของชาติมอง ‘ก่อการร้าย’
ในแง่มุมของทหาร ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้ปกป้องรักษาประเทศ เมื่อใดบ้างที่พวกเขาถึงจะเรียกการกระทำนั้นว่าการก่อการร้ายหรือไม่? พล.ต.ชนินทร์ จันทรโชติ หัวหน้าศูนย์อำนวยการประสานงานข่าวกรอง สำนักนโยบายและแผนกลาโหม ให้นิยามคำว่า ‘ก่อการร้าย’ ว่า คือการกระทำที่ใช้ความรุนแรง ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง การเมืองและเศรษฐกิจของประเทศชาติ
“แต่ละคนก็มีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป ถ้าจะให้ยกตัวอย่างการก่อการร้าย ก็เช่น การวางระเบิด การลักพาตัว การทำลายล้าง ซึ่งทุกอย่างเป็นการใช้ความรุนแรงทั้งนั้นแหละ เพียงแต่ต่างกันตรงรูปแบบเท่านั้นเอง”
พล.ต.ชนินทร์ มองว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยมีเหตุการณ์ที่เข้าข่ายการก่อการร้ายที่ชัดเจน เนื่องจากการก่อการร้ายจริงๆ น่าจะมีต้นกำเนิดมาจากต่างประเทศเป็นหลัก อย่างการทำงานเป็นเครือข่าย มีการวางแผนที่เป็นระบบ การใช้คนสำรวจที่หมาย และมีขั้นตอนการดำเนินการที่ชัดเจน และส่งผลกระทบต่อคนในวงกว้าง
“การวางระเบิดที่เกาะบาหลีเมื่อปี 2545 ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุดังกล่าว 202 คน ซึ่งส่วนมากเป็นชาวออสเตรเลียก็ถือเป็นการก่อการร้าย เพราะสร้างความเสียหายให้กับประเทศและกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย”
สำหรับประเทศไทย มีศูนย์การต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งมีกองทัพไทยเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ เมื่อเกิดเหตุการณ์การก่อการร้ายขึ้น ซึ่งมีผู้บัญชาการทหารสูงสุดดูแลอยู่ ก็จะเข้าไปดำเนินการทันที เช่นเหตุการณ์คนร้ายจี้เครื่องบินของสายการบินบังกลาเทศ และขอนำเครื่องมาลงที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ประเทศไทย เมื่อเดินเมษายน 2551
“ครั้งนั้นก็เป็นหน้าที่ของศูนย์การต่อต้านการก่อการร้าย ทางรัฐบาลมอบหมายให้หน่วยงานนี้เข้าไปดำเนินการโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว และจะมีเจ้าหน้าที่ได้รับการฝึกเป็นพิเศษเข้าไปควบคุมดูแลสถานการณ์นั้นทันที”
พล.ต.ชนินทร์ ยังบอกอีกว่า การชุมนุมในมุมมองของเขาเองไม่น่าจะใช่การก่อการร้าย แต่หากเป็นการกระทำที่รุนแรงกว่านั้นมาก ก็ต้องมามองกันในมุมที่ว่าส่งผลกระทบกันในวงกว้างแค่ไหน
พล.ต. ณพล คชแก้ว ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคำนิยามของการก่อการร้ายว่า คือ การกระทำใดๆ ที่มีองค์กรชัดเจน มีวัตถุประสงค์ที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ และมีกิจกรรมที่ก่อเกิดความเสียหายแก่รัฐ
“อะไรบ้างคือการก่อการร้าย? ความจริงเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ ก็ถือว่าเป็นการก่อการร้ายนะ เพราะสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติเหมือนกัน ซึ่งตรงนี้มันแล้วแต่ที่ใครจะหยิบยกมาเป็นเหตุผลและใช้มันเท่านั้นเอง อย่างการบุกโรงแรมขัดขวางการประชุมอาเซียนซัมมิตที่พัทยา ก็ถือว่าเป็นการก่อการร้าย เพราะสร้างผลเสียต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”
ก่อการร้าย สไตล์สภาโจ๊ก
หลังได้รู้นิยามการก่อการร้าย จากนักวิชาการและคนในกองทัพ จริงๆ สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง มีภารกิจอันมากล้น หากรอคิวสัมภาษณ์คงต้องรอนานเป็นเดือน จึงขออนุญาตนำประเด็นข้างต้นไปพูดคุยกับ สามารถ แสงเสงี่ยม รองนายกรัฐมนโทด้านความมั่นคงของรายการสภาโจ๊กที่น่าจะเป็นตัวตายตัวแทนได้!
“การก่อการร้ายมีลักษณะต่างจากการชุมนุมเรียกร้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอย่างลิบลับเลยครับ การก่อการร้ายมีเป้าหมายที่แน่นอนชัดเจน ไม่มีทางที่ผู้กระทำจะมาเดินกลางถนนให้เห็นหน้าตาหรอก เขาจะดำเนินการแบบใต้ดิน ไม่เปิดเผยให้คนอื่นรู้ว่าเป็นใคร อย่างเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน 2544 ที่สหรัฐอเมริกา ผู้ก่อการร้ายวางแผนกันเป็นปีๆ ว่าต้องการจะสร้างความเสียหายแก่ภาคส่วนใดบ้าง” สามารถเปิดฉากแสดงความเห็น
ผู้ก่อการร้ายที่สามารถคุ้นเคย เป็นผู้ก่อการร้ายระดับสากล เกิดจากประเทศมหาอำนาจไปรังแกกดขี่ประเทศเล็กๆ ประเทศเหล่านี้เจ็บแค้น จึงใช้วิธีแบบใต้ดินเพื่อต่อสู้เรียกร้องสิทธิ โดยการก่อการร้ายในระดับสากล เหตุระเบิดครั้งหนึ่งจะมีคนเสียชีวิตเป็นสิบเป็นร้อย ผู้ก่อการร้ายก็ออกมารับผิดชอบว่าทำจริง แต่ไม่ยอมเปิดเผยให้เห็นหน้าตาหรือบอกชื่อเสียงเรียงนาม
“พอเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้น ส่วนใหญ่คุณไม่มีทางเห็นหน้าตาผู้ก่อการร้ายหรอก จริงไหม เพราะเขาทำงานในลักษณะใต้ดิน”
กรณีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐออกมาชุมนุมปิดถนน สามารถมองว่าไม่ใช่การก่อการร้าย
“เป็นการชุมนุมเรียกร้องตามรัฐธรรมนูญ ไม่ผิดกฎหมายครับ เพราะไม่ได้สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพลเมือง ไม่ใช่เดินขบวนแล้วเอาปืนไปไล่ยิงเขาเสียหน่อย
“คนที่มาเย้วๆ กับม็อบ หรือขึ้นเวทีปราศรัย โจมตี อภิปราย ชุมนุมเรียกร้องความถูกต้อง โดยไม่มีอาวุธติดไม้ติดมือ ไม่เรียกว่า ผู้ก่อการร้าย”
สามารถมองว่าการที่ตำรวจตั้งข้อหาก่อการร้ายกับคนที่ต่อสู้เพื่อความถูกต้องในสังคมนั้น ไม่เป็นธรรม
“คนเรามีอุดมการณ์ที่จะต่อสู้เพื่อความถูกต้อง แต่กลับโดนกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายมันแรงและโหดร้ายเกินไป ผมเองยังสงสัยเลยว่า ตำรวจเข้าใจคำว่าผู้ก่อการร้ายมากน้อยแค่ไหน หากมีคนไทยเป็นผู้ก่อการร้ายจริง ตำรวจไทยน่าจะจับตัวส่งไปดำเนินคดีในสหรัฐอเมริกาเพราะเห็นออกมาประกาศปาวๆ ว่าอยากได้ตัวผู้ก่อการร้ายเหลือเกิน” รองนายกรัฐมนโทด้านความมั่นคงพูดพลางหัวเราะ ก่อนจะยิงมุกเด็ดๆ อีกสารพัด ตามสไตล์สุดแสบสันต์ของสภาโจ๊ก
“เวลาขับรถผมมักโดนตำรวจเขียนใบสั่งให้เสมอ การที่คนโดนข้อหาก่อการร้าย ไม่รู้ว่ามันจะเหมือนหรือต่างจากใบสั่งที่ผมได้หรือไม่อย่างไร (หัวเราะร่วน)
“บางทีผมไปโรงพัก เห็นเด็กนักเรียนเอาหนังสือกฎหมายมาขาย ตำรวจแย่งซื้อกันใหญ่เลย เรื่องจริงนะ! ผมคิดในใจ ตำรวจเรียนมา 4-5 ปี ความรู้เรื่องกฎหมายยังไม่ปึ้กเลยเหรอ
“ตำรวจก็เสี่ยงเหมือนกันนะที่ตั้งข้อหาแรงๆ กับผู้ก่อการร้าย เหมือนเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู สถานที่ราชการสำคัญต่างๆ ไปเรียกร้องชุมนุมได้ แต่สนามบินเนี่ย ไม่ควร เอาข้อหาผู้ก่อการร้ายไปเลยดีกว่า เกิดขึ้นโรงขึ้นศาลแล้วตัดสินว่าไม่ใช่ ตำรวจโดนฟ้องกลับอ้วกเลยนะ
“แปลกจริงๆ ตอนที่เกิดเหตุการณ์ เห็นเขาเป็นผู้ก่อการร้ายแล้วยังปล่อยให้ลอยนวล ไม่จับกุมหรือนำกำลังไปถล่มเสียให้สิ้นล่ะ นี่มาแจ้งข้อกล่าวหาหลังเหตุการณ์จบไปแล้ว (หัวเราะ)”
สามารถฝากทิ้งท้ายไปถึงผู้สร้างภาพยนตร์ว่า น่าจะเอาเหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายที่สนามบินเมืองไทยไปสร้างเป็นภาพยนตร์ เพราะน่าจะทำรายได้อย่างงาม
*****************************
เรื่อง ทีมคลิก
ภาพ ทีมคลิก