แม้ว่าจะเคยมีท่าทียืนยันหลักการจากปากของ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในทำนองว่าจะไม่ยอมต่ออายุพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แบบอัตโนมัติ นั่นคือเมื่อฝ่ายความมั่นคงเสนอมา คณะรัฐมนตรีก็ต้องไฟเขียวอยู่ร่ำไป
พูดจาดูขึงขัง มีหลักมีเกณฑ์เหมือนกับว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ได้เออออห่อหมกไปกับฝ่ายกองทัพไปเสียหมดทุกเรื่อง
เพราะถ้าจำกันได้ นายกรัฐมนตรีเคยระบุว่าต่อไปจะต้องมีการประเมินสถานการณ์กันอย่างรอบด้าน ทั้งข้อดีข้อเสีย รวมทั้งมีความจำเป็นแค่ไหน เนื่องจากมีการต่ออายุ พระราชกำหนดดังกล่าวมาจนนับไม่ถ้วน และไม่รู้ว่าในอนาคตจะต้องต่ออายุกันอีกกี่ครั้ง
คำพูดในลักษณะดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีมีขึ้นเมื่อราวเดือนเมษายน หลังจากมีการต่ออายุพระราชกำหนดที่ให้อำนาจกับฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะกองทัพอย่างเบ็ดเสร็จเป็นครั้งที่ 15
แต่ล่าสุด เมื่อวันอังคารที่ 14 กรกฎาคม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ก็ได้ต่ออายุ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ที่จะหมดอายุในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ ออกไปอีก3 เดือน แต่อาจมีพิเศษอยู่บ้างตรงที่ใน 4 อำเภอในจังหวัดสงขลาจะมีการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง แทนที่กฎอัยการศึก เท่านั้นเอง
ถือว่าเป็นการต่ออายุครั้งที่ 16 และครบ 4 ปีเต็ม !!
แต่ก่อนจะไปถึงเรื่องอื่นก็ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาการควบคุมดูแลปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ได้กลับมาอยู่ในมือของฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะกองทัพ และถ้าให้โฟกัสเข้าไปอีกก็คือ กองทัพบกนั่นเอง
และระยะหลังยุค คมช.ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ยังได้มีการออก พ.ร.บ.ความมั่นคงขึ้นมารองรับการใช้อำนาจ นั่นคือมีการให้อำนาจผ่านทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ แม้ว่าดูผิวเผินอาจเป็นการให้อำนาจกับนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ กอ.รมน. แต่ในทางปฏิบัติกลับอยู่ในมือของ รองผอ.กอ.รมน.โดยตำแหน่งนั่นคือ ผู้บัญชาการทหารบก มีอำนาจในการใช้ดุลพินิจได้ “ครอบจักรวาล” หากเห็นว่าเป็นการกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
เมื่อแยกพิจารณาเฉพาะปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ในช่วงหลังสุด หรือถ้าโฟกัสให้ชัดเข้าไปอีกก็คือในยุคปัจจุบันได้อยู่ในการควบคุมของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก และในฐานะรอง ผอ.กอ.รมน.ใช้อำนาจแทนนายกรัฐมนตรี
ถือว่ามีอำนาจอยู่ในมือเต็มร้อย สามารถควบคุมดูแลสั่งการได้ทุกหน่วยงานทั้งพลเรือน ตำรวจทหาร อีกทั้งยังมีการทุ่มงบประมาณแยกเฉพาะทางด้านความมั่นคงจำนวนมหาศาล เฉพาะที่รองรับกำลังพลที่ส่งลงไปกระจายเต็มพื้นที่ไม่น้อยกว่า 4 หมื่นนาย
แต่หากให้ประเมินผลงานของผู้บัญชาการทหารบกในปัจจุบันก็ต้องกล่าวแบบตรงไปตรงมาว่า “ไม่คุ้มค่า” เพราะจนบัดนี้ยังไม่อาจสถาปนาความมั่นคงในพื้นที่ตามเป้าหมายเลย ยังมีเหตุรุนแรงรายวัน และมีแนวโน้มหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ อย่างนี้หมายความว่าอย่างไร
แม้ว่าถ้าจะให้กล่าวโทษก็หนีไม่พ้นฝ่ายบริหารคือรัฐบาลจะต้องมีส่วนรับผิดชอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันในเมื่อได้รับมอบหมายให้ดูแลโดยตรง อีกทั้งตัวเองก็ไม่เคยแสดงท่าทีอิดออด เพราะทุกอย่างอยู่ในกำมือพร้อมสรรพ ทั้งอำนาจและงบประมาณ แต่ทำได้แค่นี้ก็สมควรที่จะต้องถูกตำหนิกันตรงๆ
ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ก่อนหน้านี้มีท่าทีขึงขัง ชอบอ้างหลักการฟังดูสวยหรู เคยแสดงท่าทีโดยเปิดเผยว่าจะไม่ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ชายแดนใต้ พูดในลักษณะต้องประเมินผลได้ผลเสีย และที่ผ่านมามีการต่ออายุมาหลายครั้งเมื่อสถานการณ์ไม่ดีขึ้น แสดงว่าใช้ไม่ได้ผล
กล่าวในทำนองว่าการต่ออายุกฎหมายดังกล่าวในครั้งที่แล้วเป็นการเสนอเข้ามาในลักษณะมัดมือชก เพราะรัฐบาลชุดนี้เพิ่งเข้ามาไม่ทันได้ตั้งตัว แต่ครั้งต่อไปจะต้องไม่เป็นแบบนี้อะไรทำนองนั้น
แต่ล่าสุดก็ต้องยอมตามข้อเสนอของฝ่าย กอ.รมน.หรือฝ่ายกองทัพให้แต่โดยดี แม้ว่าคราวนี้จะอ้างถึงผลการศึกษาวิจัยทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีมารองรับก็ตาม แต่หากพิจารณาอย่างรู้ทันนั่นก็เป็นแค่การหาทางออกให้กับตัวเองเท่านั้น ทำนองท่าดีทีเหลว
และนี่ก็น่าจะเป็นการพิสูจน์หลักการของนายกรัฐมนตรีคนนี้อีกครั้งว่าพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา ตามแรงกดดัน ซึ่งการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินคราวนี้ก็เป็นอีกครั้งที่รัฐบาลต้องยอมโอนอ่อนตามข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้จากฝ่ายกองทัพ ที่นำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผู้บัญชาการทหารบก ที่มีอำนาจเต็มในพื้นที่
แต่ผลที่กลับมาไม่คุ้มกับที่ต้องเสียไป ดังนั้นก็น่าจะทบทวนตัวบุคคลกันบ้างได้หรือไม่!!