xs
xsm
sm
md
lg

ครส.ค้านรัฐใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ชี้ตอกย้ำรัฐไม่มั่นคง เข้าลักษณะ “เผด็จการเบ็ดเสร็จ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครส.ชี้ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง ตอกย้ำถึงความไม่มั่นคงของรัฐไทย และไม่สง่างาม พร้อมจับตากองทัพละเมิดสิทธิมนุษยชนใช้อำนาจเกินขอบเขต เสนอแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ความมั่นคงในอนาคต

วันนี้ (12 ก.ค.) นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) กล่าวว่า จากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ใน จ.ภูเก็ต และพื้นที่ทางทะเล ในระหว่างวันที่ 10-24 กรกฎาคมนี้ เพื่อดูแลและรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม ในช่วงการจัดประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42 นั้น

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ไม่เห็นด้วยในการใช้กฎหมายดังกล่าว ซึ่งใช้กำลังทหารทำการแทนซึ่งจะตอกย้ำถึงความไม่มั่นคงของรัฐไทยเข้าไปใหญ่ และไม่สง่างาม และกฎหมายดังกล่าวก็มุ่งแทรกแซง ควบคุมสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นหลัก ซึ่งเป็นสาเหตุของความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมของประชาชนจากการกระทำของรัฐไทยที่ผ่านมา และอำนาจตามกฎหมายนี้มีล้นเกินขอบเขตและความรับผิดชอบ กล่าวคือ กองทัพสามารถบังคับบัญชาสั่งการหน่วยงานและเจ้าพนักงานของรัฐทุกหน่วยงานและทุกคนได้ ผู้บัญชาการกองทัพบกในฐานะรอง ผอ.กอ.รมน. มีอำนาจออกประกาศต่างๆ ที่จำกัดและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสิทธิมนุษยชน หรือให้อำนาจเจ้าพนักงาน ค้น จับกุม คุมขัง บุคคล ห้ามบุคคลใดๆ ออกนอกเคหสถาน ห้ามการเดินทางตามเส้นทางต่างๆ ได้ ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งยังมีอำนาจย้ายข้าราชการ เจ้าพนักงานของรัฐออกจากพื้นที่ได้ด้วย

ตลอดจนสามารถใช้กำลังเข้าปราบปรามการกระทำที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ซึ่งเป็นการหมิ่นเหม่อย่างมากที่อาจมีการใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชนที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐได้ โดยอ้างความมั่นคงในราชอาณาจักร การใช้อำนาจดังกล่าวเป็นการกำหนดไว้อย่างถาวร และไม่ถูกตรวจสอบตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นกฏหมายหลักในการตรวจสอบการใช้อำนาจของข้าราชการตามหลักนิติรัฐ ซึ่งเสริมสร้างวัฒนธรรมที่ไม่ต้องรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ และทำให้ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือรัฐบาลพลเรือน และมีลักษณะ “เผด็จการเบ็ดเสร็จ” ในพื้นที่ที่ประกาศใช้ อันจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

นายเมธากล่าวว่า ตนคิดว่ารัฐบาลแม้สามารถมีอำนาจทำได้ตามกฎหมาย เพราะกลัวสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองจะลามไปถึงการเมืองในประเทศอาเซียน ดังการประชุมอาเซียนซัมมิทครั้งที่แล้วที่ล่มไปนั้น แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะต้องตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญและกติกาสากลว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง (ICCPR) ที่ต้องดูแลคุ้มครองให้มีความหมายเป็นที่ตั้ง การประกาศ “พื้นที่พิเศษ” เพื่อการจำกัด ระงับ ยับยั้ง ซึ่งสิทธิดังกล่าวจะกระทำไม่ได้ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงที่ไม่ปรากฎสถานการณ์ ไม่ว่าจะด้านสงคราม จลาจล วิกฤตการด้านมนุษยธรรมหรือภัยพิบัติธรรมชาติ อันจะเป็นผลพวงของการใช้กฎหมายในลักษณะอำนาจนิยม เพื่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของรัฐบาลเอง ซึ่งจะย้อนรอยรัฐบาลเองว่า รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เคยยกเลิก พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ ที่ยุติบทบาท กอ.รมน. แต่ยังแอบสนับสนุน กอ.รมน. ประคับประครองอำนาจของกองทัพ โดยใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงอยู่

นายเมธากล่าวต่อว่า ดังนั้น รัฐบาลสมควรจะต้องมีนโยบายออกมาว่า ภายใต้การประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงดังกล่าว อะไรบ้างที่ประชาชนทำได้ อะไรบ้างที่ทำไม่ได้ เพราะอะไร เพื่อเป็นบรรทัดฐานว่า รัฐบาลไม่ได้ใช้อำนาจที่มิชอบไปลดทอนจำกัดสิทธิเสรีภาพของพลเมืองเพียงเพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงของรัฐที่ยังไม่ถูกยอมรับเป็นฉันทามติทางสังคม โดยเฉพาะตัวกฎหมาย พ.ร.บ.ความมั่นคงเอง ที่ถูกสถาปนาขึ้นจากอำนาจของ คมช. มีลักษณะอำนาจนิยมไม่ต่างจาก พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินในสมัยทักษิณ หรือกฎอัยการศึกที่ทหารยังคงใช้เป็นเครื่องมือรักษาอำนาจมาโดยตลอด และถูกใช้โดยขัดกับกติการะหว่างประเทศมาโดยตลอด

“ผมเห็นว่ารัฐบาลสามารถระดมกลไกรัฐและหน่วยงานราชการกำกับดูแลในเรื่องนี้ได้ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด หากละเว้นการปฏิบัติหน้าที่รัฐบาลจะต้องเด็ดขาดตามสมควร แต่รัฐบาลเลือกใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพื่อใช้ทหารคุ้มครองการประชุมทางการเมืองถือว่าไม่เหมาะสม และเสมือนสมยอมให้การทหารนำการเมืองเพิ่มขึ้นนอกจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” เลขาธิการ ครส.กล่าว

หากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมตำรวจได้ก็อาจจะเร่งปฏิรูปตำรวจยกใหม่ เพื่อมิให้ตกเป็นเครื่องมือนักการเมืองหรือทางการเมืองดังเช่นในอดีต แต่เป็นต้นธารของกระบวนการยุติธรรมที่แท้จริง

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) พร้อมจับตาและติดตามการทำงานของกองทัพภายใต้ พ.ร.บ.ความมั่นคงอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินว่ามีการละมิดสิทธิมนุษยชนมากน้อยเพียงใด หรือมีผลกระทบต่อสังคมอย่างไรบ้าง และทำให้เกิดอุปสรรคในการสร้างบรรทัดฐานด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างไร เพื่อจัดทำข้อเสนอให้มีการปฏิรูปบทบาทของกองทัพต่อการเมือง และแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ความมั่นคงต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น