xs
xsm
sm
md
lg

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เหตุผลที่ต้อง‘จับเข่าคุย’กับ...เนวิน ชิดชอบ !

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ - เนวิน ชิดชอบ นั่งคุยกันช่วงก่อนจัดตั้งรัฐบาล เมื่อ 9 ธ.ค.2551
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมเขียน ณ ที่นี้ด้วยภาษานิยายกำลังภายในว่า นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะผ่าน “ประสบการณ์พิสดาร” ช่วง 8 – 14 เมษายน 2552 พลิกฟื้นจากสถานะ “เฉียดตาย” หรือ “ตายแล้ว” ขึ้นมาสู่สถานะ “เกิดใหม่” ด้วยความเป็นผู้นำ บวกกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบ้านประจำเมืองช่วยดลจิตดลใจ กลางดึกคืนวันที่ 23 เมษายน 2551 จึงทำได้ดีเยี่ยมเหลือเกินกับสปีชความยาว 57 นาทีในรัฐสภาชนิด “ขโมยซีน” ของทุกคนที่พูดมาก่อนหน้า 2 วัน 2 คืนไปหมด

แต่วันนี้ก็ต้องพูดตรง ๆ ว่าสปีชคืนนั้น นายกฯแตะแค่ “ปรากฏการณ์” ยังไม่ได้ลงสู่ “สมุฏฐาน” หรือนัยหนึ่งพูดแต่ “ทุกข์” ไม่ได้พูดถึง “สมุทัย” !

และข้อเสนอของนายกฯคืนนั้น – แม้จะด้วยความเข้าใจ – แต่ก็ต้องพูดตรง ๆ ว่าเป็นข้อเสนอที่อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้แต่วิชาตัวเบา “ลอยตัวอยู่เหนือปัญหา” แล้วใช้กระบวนท่า “ยืมพลังสนองตอบ” โยนปัญหากลับมาให้รัฐสภาที่ก่อนหน้าคู่ต่อสู้ทางการเมืองหวังให้เป็น Killing field สังหารท่าน

ท่านชนะศึก แต่ยังไม่ชนะสงคราม

พลังฝีมือที่เพิ่มขึ้นจนเยี่ยมยุทธ์กว่าเดิมไม่น่าจะมีแค่วิชาตัวเบาเท่านั้น จากนี้ไปนายกฯจะต้องใช้พลังฝีมือที่แท้แสดงกระบวนท่าสูงส่งออกมา หากหวังจะอยู่รอดอย่างยั่งยืน

ขอเสนอแนะ 5 ประเด็นหลัก

ประเด็นที่ 1 นายกฯ จะต้องบำเพ็ญตนประหนึ่งเป็น “รัฐบาลเฉพาะกิจ” ไม่ใช่ “รัฐบาลปกติ” จะเรียกว่า “รัฐบาลเฉพาะกิจเพื่อการปฏิรูปการเมือง” หรือตามภาษาที่ใช้ในนโยบายที่นายกฯแถลงเองว่า “รัฐบาลเฉพาะกิจเพื่อการเริ่มต้นยุติการเมืองที่ล้มเหลว” ก็ได้

ประเด็นที่ 2 นายกฯ เสมือนมี 2 สถานะในตัวเอง สถานะหนึ่งคือนักการเมืองอาชีพ อีกสถานะคือ “ประธานสภาความมั่นคงแห่ง ชาติ” และ “ผอ.รมน.” จะต้องบำเพ็ญตนใน 2 สถานะหลังให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการบำเพ็ญตนในสถานะแรกที่ทำได้มาตรฐานสากลแล้ว

ประเด็นที่ 3 ต้องบอกเล่าประชาชนถึง “สมุทัย” ไม่ใช่แค่ “ทุกข์” หรืออีกนัยหนึ่งบอก “สมุฏฐาน” ไม่ใช่แค่ “ปรากฏการณ์” ในการนี้ท่านต้องใช้ทั้งสื่อของรัฐ และปฏิรูปสื่อโดยรวม

ประเด็นที่ 4 ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่าง “เข้มงวด” ซึ่งไม่ได้แปลว่า “รุน แรง” ในการนี้รูปธรรมขั้นต้นคือการปฏิรูปตำรวจ หนึ่ง ใช้ตำรวจให้ถูกคนมากที่สุด และสอง ปฏิรูประบบตำรวจให้เป็นที่พึ่งของประชาชน และเป็นที่ไว้วางใจของทุกฝ่าย

ประเด็นที่ 5 ต้องยกระดับ “ตรียานุภาพขั้นต้น” และ “พหุนิยมขั้นต้น” ในรัฐบาล ให้เป็น “ตรียานุภาพขั้นสูง” และ “พหุนิยมขั้นสูง” ให้ได้มากที่สุด

ในประเด็นที่ 5 นี้พูดให้เป็นรูปธรรมที่สุดคือ – ต้อง “จับเข่าคุย” กับคุณเนวิน ชิดชอบ !

ผมพูดทั้ง 5 ประเด็นนี้ในอีกรูปแบบหนึ่งในรัฐสภาเมื่อวันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม 2552 ในวาระอภิปรายทั่วไปรัฐบาลโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 แต่ดูเหมือนสื่อจะเน้นการรายงานไปที่ประเด็นที่สุดท้ายเป็นหลัก

คำว่า “ตรียานุภาพ” และ “พหุนิยม” นั้นคือเป้าหมายสูงสุดของการปฏิรูปการเมืองที่ผมเคยเขียนไว้ ณ ที่นี้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 แล้ว

จู่ ๆ ผมก็มองว่า ได้เจ้า “ตรียานุภาพ” และ “พหุนิยม” นี้ ก่อเกิดในรูปแบบขั้นต่ำ ๆ เพื่อการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในรัฐบาลชุดนี้แล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551

แม้จะเป็นเพียงความฝัน – แต่ทำไมนายกฯไม่ลองพยายาม “ยกระดับ” ดูล่ะ !

นายกฯอภิสิทธิ์ฯมีฐานเสียงในหมู่ชนชั้นกลางขึ้นไปในเมืองใหญ่และกทม. รวมทั้งในเมืองและในชนบทในภาคใต้

คุณเนวิน ชิดชอบมีฐานเสียงในชนบทโดยเฉพาะภาคอีสาน แม้จะยังต้องช่วงชิงจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรมาให้มากกว่านี้ แต่เชื่อว่าพอทำได้ และมีวัฒนธรรมเดียวกันพอที่จะผนึกกำลังกับพรรคอื่น ๆ ที่ไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์ พูดง่าย ๆ ว่าวันนี้เขายกระดับตัวเองขึ้นมาแทนที่คุณบรรหาร ศิลปอาชาได้แล้วในมุมมองของผม

ทหารไทยยุคปัจจุบันชัดเจนว่าไม่ทำรัฐประหารแน่ เพราะสถานการณ์เอื้ออำนวยอย่างไร ก็ไม่เอา

ทหารไทยเลือกที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนขั้ว และสันถวะกับนักการเมืองอย่างคุณเนวิน ฯ, คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ

นี่คือ “ตรียานุภาพขั้นต้น” และ “พหุนิยมขั้นต้น” หรือที่สื่อเขารายงานคำอภิปรายของผมโดยเลือกใช้คำที่ง่ายกว่าว่า “การเมือง 3 ขา” !

คุณเนวินฯ มีข้อเสียหลายอย่าง หรือแทบไม่มีดีเลย ในมุมมองของกลุ่มพลังที่สนับสนุนนายกฯ คนนี้

แต่หวังจะให้นายกฯตัดขาดจากเขานั้นเป็นไปไม่ได้

ยกเว้นจะไม่แคร์ว่าต้องกลับไปเป็นฝ่ายค้าน หรือกล้าหาญในระดับที่จัดรัฐบาลเสียงข้างน้อย

หรือได้รับการสนับสนุนจากพรรคพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่อาจกำลังจะเกิดใหม่ และอาจจะผ่านการเลือกตั้งเข้ามาด้วยจำนวนที่มากกว่า 50 – 60 เสียงขึ้นไปเป็นอย่างน้อย

สมมติฐานประการสุดท้ายนี้เป็นเรื่องที่ยังไม่อาจคาดการณ์ได้ในวันนี้

ผมไม่ได้เสนอให้การจับเข่าคุยที่ว่าคือการยอมคุณเนวินฯ ในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะยอมให้สนามบินสุวรรณภูมิและการบินไทยเป็นเสมือนรัฐอิสระ ยอมตั้งงบประมาณถนนปลอดฝุ่นไม่อั้น ยอมโครงการรถเมล์ 4,000 คัน หรือยอมยกมหาดไทยให้ตลอดไป

แต่เสนอให้ “จับเข่าคุย” ถึงความอยู่รอดปลอดภัยของทั้งคู่และประเทศในระยะกลางถึงระยะยาว ด้วยสายตาของคนที่เป็นมากกว่านักการเมืองดาด ๆ !

อาจเป็นข้อเสนอที่ฟังเผิน ๆ น่าหัวเราะ

แต่อย่าลืมนะครับว่า กาลครั้งหนึ่งนักการเมืองดาด ๆ อย่างคุณบรรหาร ศิลปะอาชาเคยนำเอาข้อเสนอปฏิรูปการเมืองของศ.นพ.ประเวศ วะสีมาหาเสียงเมื่อปี 2538 แล้วตั้งคณะกรรมการขึ้น ยังผลให้เกิดกระบวนร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเป็นรัฐธรรมนูญ 2540 ในที่สุด

วันนี้ เนวินฯ ไม่ได้ด้อยกว่าบรรหารฯเลยนะ ทำไมจะไม่ลอง “จับเข่าคุย” กับเค้าล่ะ ?

ทิ้งเค้าไว้จะทำให้เค้าหันไปคบหาสมาคมกับผู้นำทหารไทยยุคนี้ – ที่เป็นหนึ่ง “ตรียานุภาพขั้นต่ำ” และ “พหุนิยมขั้นต่ำ” – จนเกิดความคิดย้อนยุคนำทหารนอกราชการมาตกแต่งให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปได้

ซึ่งก็จะเป็นความฉิบหายใหญ่หลวงแก่ประเทศ

เพราะข้อกล่าวหาของฝ่ายเสื้อแดงจะเป็นความจริงทันที อย่าว่าคนเสื้อแดงจะคัดค้านเลย คนเสื้อเหลืองก็ไม่อาจร่วมสันถวะด้วย

นี่คือที่มาแห่งบททดลองเสนอของผมให้นายกฯอภิสิทธิ์ฯจับเข่าคุยกับคุณเนวินฯ !!
กำลังโหลดความคิดเห็น