ปชป.ระดมแกนนำเตรียมจัดทัพเลือกตั้ง อ้าง ไม่มีเสียงปี่ กลอง รัวศึก เลือกตั้งเร็วๆ นี้ แค่เตรียมวางแผนล่วงหน้า 2 ปี " เทพเทือก" เผย วางยุทธศาสตร์ซื้อใจคนอีสานให้รัก ยัน "มาร์ค" ลุยอีสานแค่เรื่องงาน ด้าน “บัญญัติ” เผยพร้อมเลือกตั้งซ่อม หากส.ส.โดนพิษคดีหุ้น มั่นใจโดนไม่ถึง 10 คน
วันนี้ (2 ก.ค.) แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.สัดส่วน และกรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานการประชุม ได้มีการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครของพรรคโดยมีคณะกรรมเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง อาทินายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และรองนายกรัฐมนตรี นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ นายธีระ สลักเพชร รมว.วัฒนธรรม นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน นายชำนิ ศักดิ์เศรษฐ์ ส.ส.สัดส่วน และประธานคณะทำงานติดตามทางการเมือง (วอร์รูม) นายนิพนธ์ วิศิษฐ์ยุทธศาสตร์ ส.ส.สัดส่วน นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.สัดส่วน นายวิฑูรย์ นามบุตร ส.ส.สัดส่วน และแกนนำขุนพลภาคอีสาน และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยใช้เวลาในการหารือกว่า 1 ชั่วโมง
ภายหลังการประชุมนายสุเทพ ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นการประชุมเพื่อคัดเลือกผู้สมัครของพรรค โดยได้มีการติดตามและประเมินสถานการณ์ กระแสนิยมของผู้สมัครแต่ละเขต แต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ว่ามีผู้สมัครที่มีความเหมาะสม หรือไม่อย่างไร ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมในการคัดเลือกผู้สมัคร โดยหลังจากนี้จะมีการประชุมทุก 15 วัน เป็นระยะๆ โดยเป้าหมายเพื่อให้ผู้สมัครลงพื้นที่ตั้งแต่เนิ่น และได้มีเวลาทำงาน และทำความรู้จักกับประชาชน รวมทั้งสร้างคะแนนนิยมล่วงหน้า เพราะผู้สมัครของพรรคเป็นหน้าใหม่จึงต้องใช้เวลาในการหาเสียงหน้า โดยการประชุมคัดเลือกผู้สมัครเป็นการเตรียมการล่วงหน้า 2 ปี เพื่อให้ผู้สมัครของพรรคแต่ละเขต แต่ละพื้นที่เตรียมการเลือกตั้งแต่ละพื้นที่ได้
ต่อข้อถามว่า พื้นที่ภาคอีสานถือเป็นจุดบอดของพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเอาอะไรมาเป็นจุดขาย นายสุเทพ กล่าวว่า ในชั้นนี้เอาให้ได้ผู้สมัครรับเลือกตั้งก่อน ส่วนจุดขายจุดด้อยค่อยมาว่ากัน ซึ่งพรรคก็มีวิธีการของพรรค เพราะการหาผู้สมัคร ไม่ใช่หากันได้ง่ายๆ จะต้องมีการกวดขัดกันเป็นระยะ ๆ
“พรรคก็พยายามทำให้คนอีสานรัก ยุทธวิธีทำให้คนรักแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เช่นการจีบสาว หากเขาชื่นชอบอะไรก็เอาสิ่งนั้นไปให้ หากชอบดอกไม้ ก็เอาดอกไม้ไปให้ ถ้าชอบอาหารใต้ก็เอาแกงเหลืองไปให้ ถ้าคนอีสานชื่นชอบอะไร เราก็จะพยายามทำให้เข้าถึงคนอีสาน”
ส่วนการทีนายอภิสิทธิ์ เตรียมลงพื้นที่ในจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นยุทธศาสตร์ นายสุเทพ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกันเพราะการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรี เป็นการทำงานของรัฐบาล และคณะรัฐมนตรี ไม่เกี่ยวกับการทำงานของพรรค
เมื่อถามว่าการเตรียมการล่วงหน้า 2 ปี แสดงว่าจะยังไม่มีการเลือกตั้งในเร็วๆ นี้ นายสุเทพ กล่าวว่า ใช่ครับ เพราะการทำงานการเมืองจะต้องการมีการเตรียมการล่วงหน้า
ด้านนายบัญญัติกล่าวว่า การเตรียมผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในครั้งนี้ ไม่ได้ทำเพื่อเตรียมรับการเลือกตั้งแต่อย่างใด เพราะจากการที่พรรคร่วมรัฐบาลร่วมกินข้าว ที่โรงแรมโอเรียลเตล ก็ระบุชัดว่าในปีนี้จะไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น แต่การเตรียมพร้อมของพรรคประชาธิปัตย์ มีจุดประสงค์ 2 อย่างคือ ส่งผู้สมัครลงเป็นตัวแทนไปชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ เพื่อลดความสับสนในสถานการณ์บ้านเมือง และนำปัญหาของชาวบ้านมาแจ้งให้รัฐบาลรับทราบ ในการประชุมพบว่าในภาคกลางส่วนใหญ่จะเป็นผู้สมัครคนเดิม ขณะที่ภาคอีสาน ยังไม่มีการรายงานเข้ามา แต่กำหนดให้รายงานผลเข้ามาภายใน 15 วันหลังจากนี้ และยอมรับว่าในภาคอีสานมีผู้สมัครเดิมของพรรคสอบตกซ้ำซาก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าจืด จึงต้องมีการปรับทีมและยังไม่สิ้นหวังในภาคอีสาน เพราะคะแนนสัดส่วนของพรรคยังดีอยู่ แต่คงต้องดูว่าจะส่งลงสมัครในทุกเขตเหมือนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาหรือไม่ เพราะจากประสบการณ์พบว่าบางเขตเลือกตั้ง เมื่อส่งคนลงสมัคร ก็สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ แต่ถ้าไม่ส่งจะมีปัญหาเรื่องคะแนนส.ส.สัดส่วน จึงเห็นตรงกันว่าในเขตที่ไม่ส่งผู้สมัครก็ จะให้ผู้สมัครส.ส.สัดส่วน ลงพื้นที่หาเสียงในเขตนั้นๆ
ทั้งนี้นายบัญญัติ ยืนยันว่าการจะไม่ส่งผู้สมัครให้ครบทุกเขต ไม่มีเรื่องการหลีกให้พรรคภูมิใจไทย และจะไม่มีส่งผู้สมัครไปฝากให้ใครเลี้ยง และเราก็ไม่เคยรับฝากเลี้ยงใคร อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับคะแนนเสียงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะประชาชนตั้งความหวังไว้สูงว่าหากพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้น่าจะคลี่คลายไปได้ดี ซึ่งตรงนี้ทำให้เราหนักใจ และหนทางเดียวที่จะแก้ปัญหาได้คือการลงพื้นที่บอกความจริงกับประชาชนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่สามารถแก้ได้ภายใน 3-6 เดือน และพรรคประชาธิปัตย์ กำลังปรับวิธีการแก้ปัญหาด้วยการใช้การพัฒนานำการเมืองและการทหาร
นายบัญญัติยังกล่าวว่า ในที่ประชุมยังได้แสดงความเป็นห่วงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะวินิจฉัยเรื่องส.ส.ถือหุ้นสัมปทานรัฐ โดยเห็นว่าหากมีปัญหาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าผิด ส.ส.ที่อยู่ในข่ายก็ต้องขายหุ้นและลงรับเลือกตั้งซ่อม ไม่ใช่เรื่องที่ทำผิดร้ายแรง แต่ขัดกับตัวบทกฎหมายจึงไม่มีปัญหา บางคนมีไม่กี่ร้อยหุ้น และไม่สามารถอยู่ในฐานะที่จะไปครอบงำกิจการได้ หรือกรณีการถือหุ้นบริษัทสัมปทานกับรัฐ ก็เห็นว่าแต่ละบริษัทก็เริ่มมีการเปลี่ ยนแปลงจากที่เคยผูกขาดธุรกิจมาเป็นมีการแข่งขันกับบริษัทเอกชน ทำให้มีการแข่งขันกัน ทำให้ไม่เข้าข่ายในกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจ
“ตอนแรกทุกคนตกใจว่าเยอะแยะมากมาย แต่หลังจากตั้งหลักได้ ก็เห็นว่าคงไม่มากมายอย่างทิ่คิด และ ที่ดีที่สุดคือปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกพรรค ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ดังนั้นสัดส่วนของส่วนต่างจำนวนส.ส.จึงไม่ต่างกัน และอย่าไปตื่นเต้นอะไรที่ยังอยู่ภายใต้กลไกลแก้ไขปัญหาได้ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ ใครที่ขาดสมาชิกภาพไปก็เลือกตั้งซ่อมได้ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ถือเป็นการทดสอบกระแสของพรรคไปในตัวด้วย ในส่วนของพรรคเท่าที่ประเมินดูแล้วไม่น่าจะถึง10คน แต่ก็ต้องรอฟังศาลรัฐธรรมนูญว่าจะวินิจฉัยอย่างไร พรรคก็ยอมรับเท่านั้ น”