xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.อย่าหลงลืมบทบาทองค์กรอิสระ !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถ้าลองนับนิ้วไล่ย้อนดูเหตุการณ์เข่นฆ่า ปราบปรามประชาชนที่หน้าอาคารรัฐสภาต่อเนื่องมาจนถึงหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล จนมาถึงลานพระบรมรูปทรงม้าในตอนค่ำวันที่ 7 ตุลาคม 2551 มาจนถึงวันนี้ก็ผ่านมากว่า 8 เดือนเข้าไปแล้ว แต่ยังไม่สามารถนำคนที่สั่งการ และคนที่กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย ตามกระบวนการยุติธรรมได้เลย

ที่ผ่านมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เคยชี้มูลความผิดกันกราวรูดตั้งแต่อดีตนายกรัฐมนตรี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกฯ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

ขณะที่ฝ่ายปฏิบัติการที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจรับคำสั่งก็ไล่ลงมาตั้งแต่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีคณะอนุกรรมาธิการของวุฒิสภาถึง 3 คณะก็ได้สรุปผลการสอบสวนก็ออกมาในแนวทางเดียวกันว่า รัฐบาลและตำรวจกระทำการรุนแรงและเกินกว่าเหตุ ซึ่งมีทั้งรายละเอียด หลักฐานให้เห็นมากมาย

และต่อมาคณะอนุกรรมการของป.ป.ช.ที่มี วิชา มหาคุณ เป็นประธานสอบสวนได้ชี้มูลความผิดออกมาในทำนองเดียวกัน แม้ว่าจะมีฝ่ายการเมืองและเจ้าหน้าที่ตำรวจบางรายที่หลุดรอดไปได้ เช่น พล.ต.อ.จงรัก และ พล.ต.ต.อำนวย เนื่องจากอ้างว่าหลักฐานเชื่อมโยงไปไม่ถึง

ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวมาข้างต้นได้พิจารณาและสรุปออกมาหลังเกิดเหตุการณ์ไม่นานนัก

จนกระทั่งมีการส่งต่อไปถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ที่มี ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธานก็เริ่มเห็นสิ่งผิดปกติ มีพิรุธมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่การสั่งสอบสวนใหม่หมดโดยให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องใหญ่ มีผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมากจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

แม้ว่าในช่วงแรกๆ หากพิจารณาดูแล้วยังมีเหตุผลพอรับฟังได้ แต่เมื่อเวลาล่วงเลยมาจนถึงวันนี้ ผ่านมากว่า 8 เดือนทุกอย่างยังเงียบฉี่ ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งที่มีบรรทัดฐาน มีแนวทางที่คณะกรรมการหลายชุด หรือแม้กระทั่งคณะอนุกรรมการของ ป.ป.ช.ได้เคยสอบสวนและสรุปสำนวนชงเรื่องเอาไว้ให้แล้ว แต่ก็ยังไม่ไปถึงไหน

ดูเหมือนมีการ “เตะถ่วง” หรือไม่

และยิ่งบังเอิญว่ามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูว่ามีวาระ “ต่างตอบแทน” ซึ่งกันและกันระหว่างคนที่สอบสวนกับคนที่กระทำผิด

นอกจากนี้หากเชื่อมโยงต่อ “จิ๊กซอว์” ไปถึงขั้วอำนาจใหม่ในปัจจุบัน เน้นไปที่ตัวบุคคลก็ย่อมถือว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ไม่ธรรมดา เพราะไล่ตามลำดับเครือญาติก็เป็นน้องชายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการทหารบก และเวลานี้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ขณะเดียวกันเมื่อมองไปที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ก็เติบโตมาในเส้นทางเดียวกันกับ พล.อ.ประวิตร เรียกได้ว่าอุปถัมภ์ค้ำชูกันมา

และในทางการเมือง ใน “วงการ” ก็รู้กันดีว่าแนบแน่นกับ เนวิน ชิดชอบ จากพรรคภูมิใจไทย มีโควตาคุมอำนาจในกระทรวงมหาดไทย ดังนั้นภาพที่ปรากฏจึงมีลักษณะเป็นเครือข่ายทั้งข้าราชการและการเมืองสอดคล้องต้องกัน

เพราะพิจารณาจากความเคลื่อนไหวทั้งที่ผ่านมาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ก็จะเห็นว่าเริ่มมีการโยกย้ายข้าราชการเพื่อกระชับอำนาจกันเป็นระยะตั้งแต่การย้ายผู้ว่าฯและรองผู้ว่าฯ รวมไปถึงการโยกย้ายในกองทัพ

ในส่วนของตำรวจในยุคของ พัชรวาท ก็ได้ปรับขบวนกันมาหลายครั้ง ซึ่งมีทั้งย้ายตามฤดูกาลเมื่อเดือนเมษายน และกำลังจะมาถึงอีกไม่นานหลังจากโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีผลบังคับใช้ นั่นหมายความว่า จะต้องมีการแต่งตั้งอีกกว่า 2 หมื่นตำแหน่งเฉพาะในระดับชั้นสัญญาบัตร

เมื่อแยกโฟกัสเฉพาะตัวของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ถือว่าเป็น “หมาก” สำคัญ แม้ว่าจะเกษียณอายุราชการในอีก 4 เดือนข้างหน้า แต่การจัดแถวในสำนักงานตำรวจแห่งชาติดังกล่าวต้องให้เสร็จสิ้นเสียก่อน เพื่อรองรับผลในวันข้างหน้า

ดังนั้นเมื่อเป็นตัวละครสำคัญ ก็ย่อมปล่อยให้ล้มไปก่อนไม่ได้เป็นอันขาด และนี่อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ ป.ป.ช.ยื้อคดีเหตุการณ์ 7 ตุลาทมิฬออกไปให้นานที่สุด

แต่คำถามมีอยู่ว่า ป.ป.ช.จะทำหน้าที่เป็นองค์กรอิสระ ยึดหลักกฎหมายและความถูกต้องหรือไม่ และโดยเฉพาะ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ จะต้องพิสูจน์มากกว่าใคร !!

กำลังโหลดความคิดเห็น