xs
xsm
sm
md
lg

"สาวิทย์" ชัด "มาร์ค" เอาปชช. เป็นตัวประกัน แปรรูปรัฐวิสาหกิจเอื้อประโยชน์เอกชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"สาวิทย์" แฉแปรรูปรถไฟวางแผนแยบยลฮั้วนักธุรกิจ รู้อีก 50 ปีน้ำมันหมดขนส่งทั้งหมดต้องลงระบบราง ซัด รบ.ชุดนี้สมานฉันท์เอกชน ทำให้ปชช.เดือดร้อน จนสหภาพ ร.ฟ.ท. ต้องลุกฮือปกป้อง โต้เรื่องทุกอย่างไม่เอี่ยวเมือง "สมศักดิ์" ไม่ได้อยู่เบื้องหลังหยุดเดินรถ แต่เป็นมติการเคลื่อนไหวสหภาพฯ


คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ "คนในข่าว" - "สาวิทย์" ซัด "มาร์ค" เอาปชช.เป็นตัวประกัน แปรรูปรัฐวิสาหกิจเอื้อประโยชน์เอกชน

รายการ “คนในข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน ช่วงเวลา 20.30-21.30 น. วันที่ 23 มิถุนายน โดยนายเติมศักดิ์ จารุปราน เป็นผู้ดำเนินรายการ ได้มีการร่วมวิเคราะห์ถึงการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดการแปรรูปรัฐวิสากิจ ซึ่งสหภาพแรงงาน ร.ฟ.ท. ได้หยุดเดินรถเป็นเวลา 2 วัน ทำให้รัฐบาลยอมทบทวนและเจรจาเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ โอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย มาร่วมพูดคุย

นายสาวิทย์ กล่าวว่า ผลการหารือกับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่ง แต่ยังต้องไปคุยรายละเอียดกับทางการทางรถไฟแห่งประเทศไทยอีกครั้ง เพื่อจะได้ทราบถึงความต้องการของสหภาพฯ โดยจะเขียนสิ่งที่ต้องการทั้งหมด แล้วมาหารือกันจนได้ข้อสรุปที่น่าพอใจ แล้วจะนำไปเสนอต่อ พล.ต.สนั่น นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

"ถึงแม้ว่าเรื่องดังกล่าวจะมีการทบทวนหรือยกเลิกไปในตอนนี้ ก็ต้องมีการเสนอใหม่อยู่ดี เพราะฉะนั้นทางออกที่ดีที่สุด คือ ต้องหยุดแผนฟื้นฟูไว้ก่อนแล้วกลับมาหารือกันใหม่ จนได้ข้อสรุป แล้วจึงค่อยเริ่มกระบวนการใหม่" นายสาวิทย์ กล่าว

นายสาวิทย์ กล่าวต่อว่า ได้มีการตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามกฎหมายแรงงานไว้ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2550 ว่าการจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรต้องตกลงกับสหภาพแรงงานร.ฟ.ท. ก่อน แต่กระบวนการ ณ ปัจจุบัน มุ่งแต่จะผลักดันให้ผ่านไป โดยที่ไม่ได้ตกลงอะไรเลย รวมทั้งไม่ได้มีการระบุถึงสิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปด้วย ดังนั้น จะเห็นได้ว่าแผนฟื้นฟูดังกล่าวเกี่ยวข้องกับหลายส่วน ทั้งในเรื่องของวัน เวลา เงื่อนไข และสภาพการจ้างงานทั้งหมด

นายสาวิทย์ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการตกลงกับสหภาพแรงงานชุดก่อนแล้ว โดยมีการพูดคุยกันมาพอสมควร แต่ยังไม่ได้ลงลึกถึงรายละเอียด ที่สำคัญ คือ แผนฟื้นฟูนี้ไม่ได้มีการตกลงอะไรกับทางสหภาพแรงงาน ร.ฟ.ท. แถมยังมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ครม.อีก ในวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยที่ตนยังไม่ได้รับการแจ้งหรือบอกกล่าวให้ทราบแต่อย่างใด

นายสาวิทย์ กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นการจัดตั้งบริษัท โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เพราะถือเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เนื่องจากปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าจะมีการตั้งบริษัทหรือไม่ แต่ต้องลองพิจารณาดูให้ถี่ถ้วนว่าปัญหาเกิดจากอะไร จะได้แก้ได้ถูก อาทิ กรณีการบริการในราคาต่ำกว่าต้นทุนตามกฎหมายรถไฟ พ.ศ 2494 ซึ่งเป็นที่ทราบดีอยู่แล้วว่า การบริหารงานลักษณะเช่นนี้ หนีไม่พ้นสภาพขาดทุนแน่นอน และรัฐบาลก็ต้องมีหน้าที่จ่ายเงินชดเชยในส่วนที่ขาด แต่ตลอด 4 - 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้ชดเชย หรือชดเชยแต่ก็ล่าช้า ไม่ทันการณ์ ปล่อยให้ ร.ฟ.ท. ต้องแบกรับภาระหนักเช่นนี้มาโดยตลอด

นายสาวิทย์ กล่าวต่อว่า อีกประเด็น คือ ปัญหาการขาดทุนเรื่องการเช่าที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นบริเวณสามเหลี่ยมพหลโยธิน สวนจตุจักร มักกะสัน รัชดาฯ ที่มักมีปัญหาเรื่องสัญญาเช่าหรือเก็บค่าเช่าไม่ได้ และในพื้นที่บางส่วนเป็นของนักการเมือง ตรงนี้เป็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาการขาดทุน สำหรับเรื่องที่ดินบริเวณเขากระโดง จ.บุรีรัมย์นั้น เป็นความผิดชัดแจ้ง อยู่แล้ว ดังนั้น ต้องหาวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตรงนี้ให้ได้ว่าจะทำเช่นไร

สำหรับกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่าถึงแม้จะจัดตั้งบริษัท แต่ ร.ฟ.ท.ก็ยังคงถือหุ้น 100 % และไม่ได้เป็นการเอื้อให้แก่นักลงทุน นายสาวิทย์ กล่าวต่อว่า ตนมองว่าเป็นวาทกรรม ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะต้องทำความเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริงก่อน อย่าทำแบบไม่อยากแตกหัก ต้องการสมานฉันท์ บนความเดือดร้อนของประชาชน เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ทางสหภาพแรงงาน ร.ฟ.ท. ทนไม่ได้ ต้องลุกขึ้นออกมาปกป้อง เนื่องจากพี่น้องประชาชนถูกจับเป็นตัวประกัน โดยการออกมาเรียกร้องในครั้งนี้ อยากให้ทุกฝ่ายเห็นว่าในอนาคต หากเกิดการแปรรูป จะมีการปรับค่าโดยสารเพิ่มขึ้นอีก 10% และอีกใน 3 ปีจะมีการปรับขึ้นอีก 10 % จึงอยากถามว่าหากเกิดเช่นนั้นจริงใครจะเดือดร้อน ทั้งๆที่รัฐมีหน้าที่ต้องบริการประชาชน ไม่ใช่เอาประชาชนไปแบกรับภาระ

นายสาวิทย์ กล่าวถึงสาเหตุที่ต้องใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดในการหยุดเดินรถทั่วประเทศ ว่า เหตุที่ต้องทำเช่นนั้น เพราะเล็งเห็นแล้วว่าในอีก 50 ปีข้างหน้า น้ำมันจะหมดไปจากโลก ดังนั้น การขนส่งทุกรูปแบบจำเป็นต้องลงสู่ระบบลางทั้งหมด เพราะจะช่วยประหยัดลดค่าใช้จ่าย ในการขนส่งสินค้าได้ครั้งละมากๆ ซึ่งจากข้อมูลเหล่านี้ มันเป็นเรื่องที่ปิดไม่มิด ดังนั้น ทุกอย่างที่เกิดขึ้นไม่ได้เกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับเรื่องทางการเมืองแต่อย่างใด โดยจากปัจจัยน้ำมันหมดโลก ทำให้นักการเมืองพยายามหาช่องทางด้วยการแก้กฎหมายรถไฟ พ.ศ. 2464 รวมถึงร่างกฎหมายว่าด้วยการขนส่งต่างๆ แล้วจดเป็นบริษัทเอกชนเข้ามาถือหุ้น หรือมีบทบาทในการให้บริการ ซึ่งตรงนี้ถ้าหากคัดคัานไม่สำเร็จจะทำให้มี พ.ร.บ.ขนส่งออกมา รวมทั้งการสัมปทานคมนาคมที่มีอยู่ทั้งหมดจะถูกถ่ายโอนไปให้คณะกรรมการที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมาดูแลเรื่องนี้พิเศษ โดยในความเป็นจริงแล้วคณะกรรมการชุดดังกล่าวมีการวิ่งเต้น แย่งชิง ซึ่งพวกนักธุรกิจจะพยายามแทรกซึมเข้าไปอยู่ในจำนวนนั้นด้วย ดังนั้น เมื่อมีการขอสัมปทานก็จะเอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุนของตนเอง และที่สำคัญไม่ว่าหน่วยงานไหนก็จะเข้าไปใช้ต้องขอสัมปทานกับรัฐ นี่คือ การวางแผนอย่างแนบเนียน เป็นเชิงลึกที่ประชาชนไม่มีโอกาสได้รู้ ส่วนการแยกกิจการแล้วไปตั้งบริษัทลูกจะลงเอยเช่นไรนั้น ให้ดูความจริงว่าปัญหามันอยู่จุดไหน อะไรที่สามารถทำเป็นรูปแบบบริษัทได้ ทั้งในแง่การบริหาร การจัดการและการควบคุม

นายสาวิทย์ กล่าวถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อ นายยุทธนา ทับเจริญ ผู้ว่าการฯ ร.ฟ.ท. คนปัจจุบัน ว่า ตนเคยนั่งรถไฟลงใต้กับนายยุทธนา เพื่อเจรจาแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมทั้งปัญหาตลาดซันเดย์ ด้วย ซึ่งจากการทำงาน ไม่ได้มีปัญหาอะไรต่อกัน แต่สิ่งที่ทำให้ตนแคลงใจและสงสัย คือ ทำไมกระบวนการดำเนินการต่างๆ ถึงได้รีบเร่ง นายยุทธนาไม่ได้มีการบอกกล่าว หรือทำสิ่งที่ถูกต้อง ดังนั้น จะต้องมีการหารือ เพื่อพิจารณากันใหม่

นายสาวิทย์ กล่าวถึงกรณีที่มีหลายฝ่ายระบุว่าเหตุการณ์ทุกอย่างเกี่ยวพันกับเรื่องการเมือง ว่า ไม่มีนัยยะทางการเมือง แต่ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นมติของสหภาพแรงงาน ร.ฟ.ท. โดยประเด็นการเคลื่อนไหวครั้งนี้จริงๆ คือ การคัดค้านแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งยืนยันว่าไม่มีผู้หนุนหลังทางการเมืองแน่นอน

นายสาวิทย์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีหลายฝ่ายสงสัยถึงความสัมพันธ์ของตนกับพรรคการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ ที่ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อดีตประธานสหภาพแรงงาน ร.ฟ.ท. เข้าไปนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคชั่วคราว ว่า อดีตประธานสหภาพแรงงานฯ ทุกท่านเมื่อพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว จะมีการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษา เพราะถือว่าเป็นปูชนีย์บุคคลที่มีคุณค่าและไม่สามารถทอดทิ้งได้ โดยจะเห็นได้ว่าแต่ละเป็นผู้มีประสบการณ์ และมีแนวทางการต่อสู้ที่ชัดเจน โดยข้อกำหนดการคัดเลือกที่ปรึกษานี้แล้วแต่มติคณะกรรมการว่าจะรับรองใคร ไม่สำคัญว่าจะเป็นพันธมิตรฯ หรือไม่ ขอเพียงเป็นฝ่ายที่พร้อมจะเคลื่อนไหวเพื่อผลประโยชน์ประชาชน อาจเป็นขบวนการภาคประชาชนที่มีลักษณะเกื้อหนุน หรือออกแถลงการณ์สนับสนุนก็ได้ อาทิ ทางสหภาพแรงงานที่เคยล้มเหลวจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ทั้งในประเทศญี่ปุ่น อินเดีย ฟิลิปปินส์ และอังกฤษ ได้ส่งแรงใจเข้ามาให้การสนับสนุน ซึ่งจากการที่ตนเคยไปร่วมประชุมที่กรุงเจนีวา ซึ่งมีการหารือประเด็นเกี่ยวกับ วิกฤตการณ์เศรษฐกิจและการจ้างแรงงาน โดยท้ายสุดมีข้อสรุปว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นการสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา

นายสาวิทย์ กล่าวต่อว่า อยากขออภัยสื่อมวลชน ให้ช่วยนำเสนอข่าวตามความจริง ไม่ใช่ตามกระแส ต้องดูเชิงลึกว่าทำไมถึงต้องมาประท้วงกัน แล้วทำข่าวให้เห็นความแตกต่างของทั้งสองฝั่ง ว่า มีความคิดเห็นเป็นอย่างไร โดยอยากให้เห็นใจพี่น้องประชาชนให้มากๆ เพราะพวกเขาเหล่านั้นไม่มีช่องทาง ไม่มีสื่อเป็นของตัวเอง ซึ่งถ้าหากสื่อมวลชนยังไม่มีความเข้าใจในมิติเชิงลึกแล้วนำเสนอข่าวแบบบิดเบือน ประชาชนก็ไม่มีโอกาสได้รับรู้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร เพราะคนดูอย่างเดียว ไม่ได้คิด ไม่ได้วิเคราะห์ เลยเกิดเป็นของสังคมในปัจจุบัน

นายสาวิทย์ กล่าวถึงประเด็นการทำจะประชาพิจารณ์ ว่า ตนรู้สึกเห็นด้วย เพราะอยากให้ทุกฝ่ายมาช่วยกันคิดตามสิทธิในรัฐธรรมนูญที่ได้เขียนไว้อย่างชัดเจน ว่า การกำหนดนโยบาย เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และนโยบายสาธารณะ ต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพราะการปรับขึ้นค่าโดยสารมันเกี่ยวข้องประชาชนโดยตรง ดังนั้น จึงต้องให้โอกาสประชาชนรับรู้ด้วย รวมทั้งเรื่องเกี่ยวกับนโยบายบริการสาธารณะ ต้องระบุให้ชัดเจนว่าเอกชนไม่สามารถผูกขาดได้

นายสาวิทย์ กล่าวอีกว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เกิดเป็นปัญหาในปัจจุบัน แสดงให้เห็นได้ชัดว่าไม่สามารถนำพาประเทศไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้ ดังนั้น ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ต้องสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ททุกคนต้องช่วยกัน สิ่งใดที่เป็นนโยบายหลักให้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ สำหรับในส่วนการบริการสาธารณะทั้งหลาย รัฐบาลต้องใช้เป็นเครื่องมือให้เกิดประโยชน์ เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลไม่เคยใช้หน่วยงานเอกชนเป็นเครื่องมือในการให้บริการประชาชนเลย ไม่ว่าจะเป็นโครงการบ้านเอื้ออาทร หรือกองทุนหมู่บ้าน ก็ต้องใช้รัฐวิสาหกิจทั้งนั้น ดังนั้น ถ้าหากขายรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ไปแล้ว รัฐบาลจะเหลือเครื่องมืออะไรให้ใช้อีก และประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรจากการเสียภาษีให้รัฐทำเช่นนี้

กำลังโหลดความคิดเห็น