xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแนวนโยบาย “พรรคการเมืองใหม่” - “สมศักดิ์-สนธิ” ย้ำไม่ซูเอี๋ยพวกน้ำเน่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมศักดิ์ โกศัยสุข
“สมศักดิ์” เผยแนวนโยบาย “พรรคการเมืองใหม่” มุ่งเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ เปิดโอกาสคนดีปกครองบ้านเมือง ให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบทุกระดับ ให้ ปชช.ได้รับผลประโยชน์เท่าเทียม ยึดแนวทางพัฒนาแบบยั่งยืน ยันไม่ซูเอี๋ยการเมืองเก่าเพื่ออยู่รอด “สนธิ” ย้ำตั้งพรรคด้วยอุดมการณ์แน่วแน่จะสร้างการเมืองใหม่เพื่อคนส่วนใหญ่ อย่าเหมารวมว่าเป็นนักการเมืองต้องเลว ระบุประชานิยมไม่ผิด ถ้าให้ ปชช.มีอำนาจและเป็นเจ้าของโครงการเอง


 
 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายการคนในข่าว 

รายการ “คนในข่าว” ทางเอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน เวลา 20.30-21.30 น.วันที่ 2 มิ.ย.นายเติมศักดิ์ จารุปราณ ดำเนินรายการ โดยมีนายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในฐานะว่าที่หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ และนายบรรจง นะแส เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ในฐานะว่าที่กรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่ มาร่วมสนทนาในประเด็นการตั้ง “พรรคการเมืองใหม่” ที่เกิดจากประชามติของพันธมิตรฯ ทั่วประเทศ และเพิ่งแต่งตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชั่วคราวเพื่อไปแจ้งจดทะเบียนตั้งพรรคต่อ กกต.ในวันที่ 4 มิ.ย.นี้

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การประชุมคณะผู้ก่อการตั้ง “พรรคการเมืองใหม่” เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ถือว่าค่อนข้างเร็ว หลังจากพันธมิตรฯ มีมติเมื่อวันที่ 25 พ.ค. แต่ที่เร็วก็เพราะเราเป็นการเมืองใหม่ มีความพร้อม ไม่ใช่การเมืองเก่าที่รุ่มร่ามไม่กล้าตัดสินใจ หลังจากนี้ก็จะเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง คือภายใน 60 วัน ต้องเลือกกรรมการบริหารพรรคถาวร และตั้งสาขา 4 ภาค ซึ่งเราอาจทำได้เร็วกว่า 60 วันก็ได้ ทั้งนี้ กรรมการบริหารชั่วคราว 27 คน ก็อาจลงสมัครเป็นกรรมการบริหารถาวรได้

นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า นโยบายของพรรคการเมืองใหม่ จากการรวบรวมจากพี่น้องประชาชนและการจัดเสวนาเรื่องทิศทางการเมืองใหม่ที่ทำเนียบรัฐบาลระหว่างการชุมนุม ได้เอามาเป็นนโยบายบางส่วน สรุปคร่าวๆ นโยบายของพรรคการเมืองใหม่จะมีดังนี้ 1.จะเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.ให้คนดีเข้าไปมีอำนาจปกครองบ้านเมือง จะเปิดทางให้คนดี เสียสละ กล้าหาญ เข้ามาทำการเมือง ไม่ใช่มาเล่นการเมือง 3.ให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบนักการเมืองทุกระดับ สนับสนุนการรวมตัวขององค์กรประชาชนให้เข้มแข็ง

นอกจากนี้จะให้แต่ละพื้นที่เสนอผู้สมัครเอง ไม่ใช่กำหนดไปจากส่วนกลาง และไม่ใช่หิ้วถุงเงินมาแล้วมีอำนาจควบคุมพรรคเบ็ดเสร็จ รวมทั้งให้ประชาชนควบคุมนักการเมืองในสภา สนับสนุนให้ประชาชนรู้ข้อมูลอย่างเท่าเทียมตรงไปตรงมา ให้ประชาชนมีส่วนในการกำหนดนโยบายเรื่องการจัดการทรัพยากร การกระจายรายได้ การแบ่งปันผลประโยชน์ นโยบายการพัฒนาต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้น เอาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวปฏิบัติ ทั้งระดับจุลภาคและมหภาค

“นโยบายของเราจะไปถึงทุกกลุ่มชน ไม่เฉพาะประชาชนฐานราก ต้องเอื้อเฟื้อธุรกิจขนาดเล็กขนาดกลางด้วย เราสนับสนุนหมด ระบบสหกรณ์เราก็สนับสนุน หลักการเราไม่ยาก แต่คนบางกลุ่มไม่เข้าใจ เหมือนนักวิชาการที่เอาหัวใส่ลิ้นชักอยู่ก็จะคิดอีกแบบ แต่พันธมิตรเรา คนมีเงินก็เอาเงินมาบริจาค คนที่มีสติปัญญาก็มาช่วยคิด เรามีหลายระดับมาร่วม”

นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า ถ้าคิดแบบเก่าก็มุ่งว่าพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ จะได้กี่เสียง จะชนะหรือแพ้ แต่หน้าที่ของเราคือให้การศึกษาแก่ประชาชน ไม่ใช่ไปหลอกประชาขนเพื่อให้ชนะการเลือกตั้งแบบพรรคเฉพาะกิจหรือพวกนักเลือกตั้ง แต่เราต้องมองแบบรัฐบุรุษให้ประชาชนรู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แล้วให้ประชาชนตัดสิน เราจะไม่ซื้อ ไม่โกง แล้วมาดูว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร ซึ่งเราจะเน้นการให้ความรู้ประชาชน ให้เข้าใจระบบการเมืองที่ทำให้พวกเขาต้องลำบาก

นายสมศักดิ์กล่าวว่า นโยบายที่จะทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ มันไม่ใช่เรื่องยาก เช่น ปตท.แปรรูปแล้ว แม้กำไรเพิ่มขึ้นแต่ส่งรายได้เข้ารัฐลดลง ประชาชนบริโภคน้ำมันแพงขึ้น นายทุนร่ำราย เพราะฉะนั้นเราต้องเอา ปตท.กลับมา เป็นของประชาชน รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภค ต้องให้รัฐดูแลเพื่อให้ไม่ต้นทุนสูง ทุกคนเข้าถึงและได้ประโยชน์ หรือ การทุจริต ถ้าทำให้หยุดการโกงแค่ 3 ปี ก็เท่ากับว่าได้งบประมาณเพิ่มอีก 1 ปี

ส่วนที่พวกนักวิชาการบางคนมองว่าพันธมิตรฯ เป็นตัวแทนชนชั้นกลาง นายสมศักดิ์ กล่าวว่า แสดงว่าคนพูดไม่รู้ข้อมูล ไม่รู้บริบทและข้อเท็จจริงในการต่อสู้ของพันธมิตร 193 วันที่ชุมนุม เขาไม่รู้ว่ามีใครมาจากไหนบ้าง ทั้งที่มาให้เห็นชัดๆ ว่ามาจากทุกระดับแต่มีอุดมการณ์เดียวกัน ซึ่งไม่ว่าประเทศไหน การตั้งพรรคการเมืองของภาคประชาชนก็เป็นแบบนี้หมด แต่นักวิชาการพวกนี้ คิดแบบอคติ

แต่ประเด็นที่ว่าการเมืองภาคประชาชนต้องมองขาว-ดำชัดเจน ต้องประท้วงแตกหัก ส่วนการเมืองในสภาต้องประนีประนอมนั้น นายสมศักดิ์กล่าวว่า ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น การเมืองภาคประชาชนก็เจรจากันได้ เพราะตนอยู่ในสภาพแรงงาน มีข้อพิพาทเป็นหมื่นๆ ครั้ง แต่ประท้วงไม่ถึงร้อยครั้ง ทั้งนี้ การเมืองเป็นการใช้อำนาจจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่ว่าเข้าไปแล้วกลัวจะอยู่ไม่ได้ แล้วไปประนีประนอม นั่นคือการเมืองแบบเก่า และไม่ใช่การเมืองตามทฤษฎี ไปคิดแต่ว่าเข้าไปแล้วกลัวจะอยู่ไมได้ ต้อวงประนีประนอม เราไม่สนเรื่องแบบนั้น เพราะเราจะสร้างการเมืองใหม่ เดินไปข้างหน้า

“การเกิดพรรคการเมืองใหม่ ในภาวะการเมืองแบบนี้ ในภาวะที่มีทางเลือกน้อย อย่างน้อยที่สุด ก็เป็นทางเลือกหนึ่ง ที่พี่น้องจะร่วมกันพิจารณาและตัดสินว่าจะเป็นทางออกทางใหม่ที่จะนำพาพี่น้องประชาชนประเทศชาติไปข้างหน้า โดยทุกคนมีส่วนร่วมที่จะนำประเทศชาติเราอยู่รอดปลอดภัย มีเกียรติ์ มีศักดิ์ศรี และเจริญรุ่งเรื่องได้อย่างไร สิ่งที่เราจะทำ จะเป็นเรื่องใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบเนื้อหา อุดมการณ์ นโยบายจะเป็นของใหม่จริงๆ”นายสมศักดิ์กล่าว

ด้านนายบรรจง นะแส กล่าวว่า เดิมไม่คิดว่าจะมีการตั้งพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ มาก่อน แต่พอวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้รับประชามติของเสียงส่วนใหญ่ ให้ทำให้เสร็จ จึงนำมาสู่การรับภารกิจนี้ เป็นรูปแบบการจัดตั้งพรรคตามที่ระบุในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จึงอยากให้ทุกคนศึกษา เพราะมีความสำคัญมาก คนที่จะมาเล่นตรงนี้ ต้องมาจากหัวใจ ไม่ใช่ใครชักชวนมา หรือคิดว่ามีเงินแล้วเข้ามาแล้วหวังจะควบคุมทุกอย่าง

สำหรับนโยบาย “พรรคการเมืองใหม่” จะเริ่มจากเค้าโครงเดิมเรื่องการเมืองใหม่ที่เราทำมาตั้งแต่อยู่ทำเนียบแล้ว หลังจากนี้ จะมีการตั้งสาขาพรรค ตั้งกรรมการบริหารพรรค ซึ่งวันนี้บางคนอาจจะบอกว่าทำไมไม่ชวน แต่ที่จริงวันนี้เป็นแค่ขั้นตอนที่จะนำไปสู่การจดทะเบียนพรรค ตามมาตรา 8, 9, 10 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง หลังจากนั้น เราจะทำตามมาตรา 27 ให้มีการประชุมใหญ่ เพื่อทบทวนนโยบายพรรคและกรรมการบริหารพรรค ดังนั้นพี่น้องที่ต้องการมีส่วนร่วมไม่ต้องกังวล

ทั้งนี้ แนวนโยบายของพรรค เรื่องสีเขียว เราวิเคราะห์จากฐานของประเทศที่มีอยู่จริง สมาชิกที่กระจายอยู่ทุกภูมิภาค เขาอยากให้มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ใช่ให้เป็นอุตสาหกรรมแล้วทิ้งพี่น้องคนส่วนใหญ่ เราจะมุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมต้องดี ต้องดูแลคนรุ่นต่อๆ ไป การเมืองเก่าได้ให้บทเรียน กรณีมาบตาพุด ไม่เห็นหัวคนจน ทำลายธรรมชาติ แยกคนให้เป็นปัจเจกมากขึ้น ละเลยคนอื่น ซึ่งไม่ใช่วิธีคิดของคนไทย หรือคนพุทธ แต่คงเป็นเพราะรัฐไม่ให้หลักประกันเขา การเมืองใหม่ต้องคิดว่าคนที่มีโอกาสดี มีทรัพยากรเยอะ ต้องถูกจัดสรรด้วยระบบที่เป็นธรรม ให้กับคนส่วนใหญ่ที่ด้อยโอกาสหรือด้อยความสามารถกว่า

นายบรรจงกล่าวต่อว่า นโยบายเหล่านี้ เมื่อไปสู้กับประชานิยมที่เน้นการแจกเงิน มันเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่เมื่อย้อนคิดไปตอนเราชุมนุม ตากแดดตากฝน โดนยิงเสียชีวิต เสียอวัยวะ เรายังสู้เลย เพราะฉะนั้นโจทย์นี้ เมื่อตั้งพรรคแล้วอย่าเพิ่งคิดว่าจะได้บริหารประเทศเลย เพราะบางภูมิภาคคนยังอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ เขาอยู่กับระบบนี้มานาน บางหมู่บ้านค่าไฟไม่เสีย เพราะมีคนไปจ่ายให้ เพราะฉะนั้นพันธมิตรต้องไม่หวังชนะเลือกตั้งด้วยวิธีเหล่านี้ แต่ตนเชื่อว่าพันธมิตรได้แสดงให้ประจักษ์ถึงความตื่นรู้และกล้าหาญ ที่จะไม่สยบยอมให้กับสิ่งเหล่านี้อีกต่อไป

สำหรับข้อวิจารณ์ที่ว่าพันธมิตรฯ มีฐานเป็นชนชั้นกลาง แต่ถ้าอยากจะชนะต้องมีนโยบายประชานิยมเพื่อคนชั้นล่างนั้น นายบรรจงกล่าวว่า คงมาจากนักวิชาการบางส่วนที่ไม่ได้ร่วมการต่อสู้กับพันธมิตรฯ และยึดติดทฤษฎีชนชั้นแข็งๆ แบบยุโรปเกินไป ซึ่งสังคมไทยไม่ได้เป็นแบบนั้น แต่คนชั้นกลางที่มาร่วมสู้กับพันธมิตรฯ เพราะทนไม่ไหวกับข้าราชการที่คอร์รัปชั่น รีดไถ และสังคมไทยมีเรื่องศาสนามาเกี่ยวข้อง ไม่ได้แบ่งชนชั้นแบบเด็ดขาด ที่สำคัญทุกคนมาร่วมพันธมิตรฯ เพราะเห็นว่า ถ้าปล่อยไว้อย่างนี้ ประเทศไทยจะไม่มีอนาคต ทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพยากร อนาคตของเด็ก ถ้าการสู้เพื่อเรื่องพวกนี้ เป็นสิ่งดีงาม คนชั้นกลางก็พร้อมจะสู้ หรือว่า บางคนเสียภาษีทุกปีแล้วเห็นว่าถูกเอาไปโกง คนจำนวนหนึ่งจึงลุกขึ้นมา เพื่อจำกัดปัญหาที่เกิดขึ้น

นายบรรจงกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวภาคประชาชนกับพรรคการเมือง ไม่ควรจะแยกจากกันอย่างเด็ดขาด ภาคประชาชนจะเคลื่อนไหวโดยมีการตั้งองค์กรของตัวเองขึ้นมา กฎหมายไม่ห้าม แต่ถ้าเป็นพรรค มันมี 2 ระดับ คือการสู้ในนามพรรค แต่ประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคก็สามารถสู้ในพื้นที่ของเขาได้ เช่น ชาวประมง ชาวนา สามารถปฏิบัติในพื้นที่ของเขา ซึ่งมันไม่ขัดกับพรรคการเมือง มันเป็นการสร้างรูปธรรมในพื้นที่ เช่น ชาวประมงลุกขึ้นมาดูแลทะเลสาบในฐานะสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ ขณะเดียวกันก็เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ได้ด้วย

ด้านนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ แสดงความเห็นกรณีที่มีการตั้งคำถามว่า เมื่อพันธมิตรฯ เป็นพรรคการเมืองแล้ว จะต้องเข้าไปประนีประนอมกับพรรคการเมืองอื่นๆ ว่า เป็นการตั้งสมมติฐานว่าคนทุกคนเมื่อเข้าไปตรงนั้นแล้ว ทุกคนจะต้องแปรเปลี่ยนสีหมด เหมือนกับว่าคนที่ไปเป็นตำรวจก็จะชั่วเหมือนตำรวจคนอื่น ทั้งที่ในกลุ่มตำรวจเลวมันมีตำรวจดีอยู่ มีคนที่ไม่ได้เข้าไปโกงกิน ตั้งใจทำงานทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เหมือน พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ ที่ตนรู้จักมานาน และเป็นตำรวจที่เถรตรงมาก

“ผมอยากให้คนที่ตั้งธงว่า เมื่อเข้าไปสู่การเมืองแล้วจะต้องเน่าต่อไป ผมอยากให้เขาตั้งสตินิดหนึ่ง และถามพวกผมนิดหนึ่ง อย่างน้อยที่สุด พวกผม 5 คนนี่ ผม พี่สมศักดิ์ พี่พิภพ พี่จำลอง และอาจารย์สมเกียรติ รวมไปถึงคุณบรรจง นะแส ก็ได้ ไม่เสียหายอะไร ผมคิดว่าเหตุผลที่เรามารวมตัวกันได้ และต้องการจะทำการเมืองใหม่ก็เพราะว่า พวกเรามีอุดมการณ์ที่แน่วแน่ และผมเชื่อว่าอุดมการณ์พวกนี้ มันไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ เพียงเพราะว่าเราต้องการตั้งพรรคการเมือง

“มันเป็นอุดมการณ์ ซึ่งเราต่อสู้มาตั้งแต่ปี 48-49-50-51-52 ผมคิดว่า 4 ปี ของการผ่านน้ำตา เหงื่อ แล้วก็เลือด มันเพียงพอที่จะทำให้ผมคิดว่า และน่าจะไว้ใจได้ว่า พวกที่เอ่ยชื่อ รวมทั้งอีกหลายคนซึ่งเป็นแกนนำทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นแกนนำภาค แกนนำจังหวัด มีอุดมการณ์หนาแน่น และความหนักแน่นตรงนี้ มันจะคงทน เข้าไปเท่าไหร่ เข้าไปที่ไหนมันจะไม่หวั่นไหว

ก็เพราะว่าเราเห็นมันเป็นเช่นนั้นไม่ใช่หรือ เราถึงต้องการเข้าไปเพื่อไม่ให้มันเป็นเช่นนั้นไงหล่ะ ถ้าไม่งั้นแล้ว ถ้าเรารู้ว่าเราต้องเป็นเช่นนั้นเนี่ย เราคงไม่ฆ่าตัวตายด้วยการตั้งพรรค แล้วเดินเข้าไป แล้วกลายพันธุ์มาเป็นคนลิ้นสองแฉก ไม่ใช่อย่างนั้น”

นายสนธิกล่าวต่อว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่มีพรหมวิหารสี่ การเมืองไม่ได้เข้าไปฆ่ากันให้ตาย แต่การเมือง ถ้าจะพูดถึงว่าเป็นการประสานผลประโยชน์ก็ไม่ผิด แต่ผลประโยชน์นั้นอยู่กับใคร ถ้าเราเข้าไปเพื่อประสานผลประโยชน์เพื่อให้ประชาชนที่เขาไม่เคยได้ผลประโยชน์เลย ให้เขาได้เป็นครั้งแรกในชีวิต ให้แรงงานได้ หรือ ชาวประมงพื้นบ้านได้ เป็นสถานการณที่ทุกคนชนะ ชาติก็ชนะ เราไม่ได้เข้าไปเพื่อให้กรรมกรได้ฝ่ายเดียวแล้วนายทุนตายหมด แต่เรากำลังบอกว่า ถึงเวลาแล้วที่พวกคุณต้องหันมาดูแลผู้ใช้แรงงาน หันมาดูประมงพื้นบ้าน หันมาดูเกษตรกร และดูแลอย่างจริงจัง นี่เป็นคุณลักษณะการเมืองใหม่

นายสนธิกล่าวว่า นโยบายประชานิยม ไม่ผิด แต่วิธีทำนั้นผิด เช่น นโยบายกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้าน โดยความเห็นส่วนตัวอยากให้หมู่บ้านละ 3 ล้านด้วยซ้ำ แต่มีเงื่อนไขว่าจะเอาเงินส่วนใหญ่ไปทำสหกรณ์หมู่บ้าน ทางใต้ก็เป็นสหกรณ์สวนยางที่ดูแลทุกอย่าง ตั้งแต่ปลูกยางไปจนแปรรูปยาง หรือ ทำสหกรณ์ประมงพื้นบ้าน เป็นต้น ให้ประชาชนเป็นเจ้าของ แต่ประชานิยมที่มันล้มเหลว เพราะให้ประชานิยมแค่ต้องการเสียงจากประชาชน แต่ถ้าเราจะทำให้เพื่อประชาชนกินดีอยู่ดี แล้วกุมอำนาจการผลิตและการตลาดในมือเขา ก็ทำไปเถอะ มันจึงอยู่ที่เจตนา

“การเมืองใหม่ เราเข้าไปเจตนาเราทำเพื่อส่วนรวม เมื่อเจตนารมณ์เราทำเพื่อส่วนรวมแล้ว คำถามอะไรถามมาเราตอบได้หมด” นายสนธิกล่าว

นายบรรจงกล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นที่พันธมิตรต้องทำคือให้ข้อมูลประชาชนอย่างรอบด้าน จากประสบการณ์ที่เคยทำงานพัฒนาชนบทมา พบว่า ถ้าชาวบ้านมีข้อมูลมากก็จะมีการตัดสินใจที่ดีตามมา ส่วนเรื่องการประสานผลประโยชน์ก็มีขีดจำกัด เช่น กรณีสัมปทานน้ำมันในทะเลใกล้ชายฝั่งสงขลา ที่ประชาชนไม่รู้ข้อมูล ไม่มีส่วนร่วมตัดสินใจ การที่เราชูสีเขียว ก็ไม่ใช้ว่าจะอยู่กับการเกษตรเท่านั้น แต่เกษตรต้องสัมพันธ์กับอุตสาหกรรม และต้องไม่เอากากอุตสาหกรรมมาทำลายภาคเกษตร และได้ประโยชน์กับคนกลุ่มเดียว เราต้องให้ข้อมูลอย่างซื่อสัตย์กับประชาชน ให้รู้หลากหลาย ตรงไปตรงมา
บรรจง นะแส
กำลังโหลดความคิดเห็น