xs
xsm
sm
md
lg

16 ส.ว.ถกเครียด กก.ที่ปรึกษาวุฒิ ข้องใจ กกต.ตีความเร็ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




ประธานกรรมการปรึกษากฎหมายวุฒิสภา ถกเครียด 16 ส.ว.ถือหุ้นพ่นพิษ ข้องใจ กกต.ตีความเร็วผิดสังเกต โบ้ยปัญหาอยู่ที่คนตีความกฎหมายไม่เกี่ยวกฎหมายบกพร่อง นัดระดมต่อสู้คดีอีกครั้ง 24 มิ.ย.ด้าน “วรวุฒิ” เปิดใจ ถือหุ้นสัมปทานรัฐไม่ขัดรัฐธรรมนูญ จวก กกต.ไม่ฟังมติอนุ กก.ที่ยกคำร้อง

วันนี้ (19 มิ.ย.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 15.30 น.ส.ว.บางส่วนจาก 16 คนที่ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีคำวินิจฉัยให้พ้นสมาชิกภาพ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 48 และ 265(2) จากกรณีที่ถือหุ้นสัมปทานของรัฐ และการถือหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชน นำโดย นายวรวุฒิ โรจนพานิช นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ได้เข้าหารือกับคณะที่ปรึกษากฎหมายของวุฒิสภา อาทิ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานกรรมการที่ปรึกษาฯ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การตีความของ กกต.ผิดสังเกต เพราะ ส.ว.จำนวน 30 กว่าคน ซึ่งต้องวินิจฉัยเป็นรายบุคคล แต่กลับเสร็จอย่างรวดเร็วในคราวเดียวกัน เกรงว่า จะไม่รอบคอบ หากวินิจฉัยสถานภาพของ ส.ส. ส.ว.อย่างนี้เป็นเรื่องที่น่าห่วง ทั้งนี้ จะมีการประชุมของ ส.ว.ทั้ง 16 คน เพื่อหารือในเรื่องข้อกฎหมายอีกครั้ง ในวันพุธที่ 24 มิ.ย.นี้ เพื่อเตรียมความพร้อมเอกสารและหลักฐานที่จะนำไปชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากความบกพร่องของรัฐธรรมนูญ 50 หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 48 ประกอบมาตรา 265(2) (4) มีมานานแล้ว ซึ่งการบัญญัติไว้ไม่ใช่ปัญหา แต่คนที่ตีความกฎหมาย คือ ปัญหา ที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้มีการพิจารณารายละเอียดของรัฐธรรมนูญก่อนที่จะตัดสิน เพราจะทำให้เกิดความยุ่งยากและขยายผลปัญหาระหว่างสถาบันนิติบัญญัติและองค์กรอิสระ

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า เรื่องนี้แม้จะมีการวินิจฉัยจาก กกต.แล้วก็ตาม แต่สุดท้ายก็อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้วินิจฉัย โดยพิจารณาเป็นรายๆ อยู่ที่การถือหุ้นของของแต่ละคนซึ่งแตกต่างกัน ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าแนวทางใดถูกต้อง

นายวรวุฒิ หนึ่งใน 16 ส.ว.ที่ถูก กกต.วินิจฉัย กล่าวว่า หลังจากที่ นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย และ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนไปยัง กกต. ตนได้นำหุ้นบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีซีแอล จำนวน 1 พันหุ้น ขายไปในราคาหุ้นในราคาทั้งสิ้น 400 บาท และเมื่อมีการตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนของ ส.ว.ตนจึงได้ทำเอกสารชี้แจงซึ่งเป็นที่เข้าใจเรียบร้อยแล้ว และรู้สึกสบายใจ เพราะบริษัทดังกล่าวไม่ใช่บริษัทที่มีสัมปทาน ทั้งนี้ ตนขอแสดงเจตนารมณ์ว่าไม่ได้ทำการค้ากำไร หรือมีหุ้นในบริษัทสัมปทานแบบผูกขาด แต่เมื่อจะถึงขั้นที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตนอยากวิงวอนให้มีการพิจารณาโดยรอบคอบในรายละเอียด ตนจึงจะยอมรับ แต่ ณ ตอนนี้ตนรับไม่ได้

“ผมเสียใจเพราะมูคค่าหุ้นที่ผมมีตอนนั้น แค่ 400 บาท แต่ต้องถูกขับออกจาก ส.ว.มันตลก ซึ่งเอกสารที่มีคนนำไปยื่นนั้น ไม่รู้ว่า กกต.ได้ตรวจสอบดีแล้วหรือไม่ ผมจึงอยากจะขอความเห็นใจด้วย” นายวรวุฒิ กล่าวและว่า ตนได้รับทราบข้อมูลมาว่า กกต.ได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณา 2 ชุด เพื่อพิจารณาสถานะของ ส.ส.5 คน และของ ส.ว.5 คน ซึ่งอนุกรรรมการพิจารณาแล้วก็ยกคำร้องทั้งหมด แต่ปรากฏว่า กกต.กลับฟังเสียงข้างน้อยแค่ 2 เสียง แล้วมาวินิจฉัยสถานะของพวกเรา ไม่เข้าใจว่าเมื่อตั้งอนุกรรมการแล้วทำไมไม่ฟังมติของอนุกรรมการเป็นตัวตั้ง

ด้าน พล.ต.อ.โกวิทย์ ภักดีภูมิ ส.ว.อ่างทอง ผู้ถือหุ้นบริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตนขอฟังคำวินิจฉัยของกกต.ให้ชัดเจนเสียก่อนว่าจะมีบทสรุปอย่างไร แต่ทั้งนี้ ตนเคยได้ประชุมร่วมกับนักกฎหมายของวุฒิสภา และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยให้ความเห็นว่าการถือหุ้นของตนนั้นไม่มีเจตนาเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ ตนจึงได้ทำหนังสือชี้แจงทรัพย์สินทั้งหมดไปยังกกต.รวมทั้งชี้แจงหุ้นสัมปทานที่ถูกกล่าวหาอยู่ด้วยเพื่อแสดงเจตนารมณ์ ซึ่งขั้นตอนการไต่สวนของ กกต.ยังอยู่อีกไกล เนื่องจากต้องมีขั้นตอนการยื่นเรื่องมายังประธานวุฒิสภา และเป็นหน้าที่ศาลที่ต้องให้ความเป็นธรรม

“ผมรับราชการมา 35 ปี จะทำอะไรก็ต้องคิดถึงส่วนรวมและบ้านเมืองให้รอบคอบกว่าทุกคนดังนั้นการจะทำอะไรให้เป็นข่าวในขณะที่บ้านเมืองวิกฤตผมไม่รู้ว่าคนที่ทำคิดอะไรอยู่” พล.ต.อ.นายโกวิทย์ กล่าว

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การตีไม่ควรตีความโดยใช้กฎหมายเพียงมาตราเดียว แต่ต้องตีพิจารณาภาพรวมทั้งหมดและดูที่เจตนาของกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งน่าจะถามคนที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ 50 จะได้ชัดเจนมากขึ้น









กำลังโหลดความคิดเห็น