xs
xsm
sm
md
lg

สุเทพเปิดทางยกร่างรธน.ใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวถึงกรณี ที่นายชุมพล กาญจนะ ประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ออกแถลงการณ์ แสดงความไม่พอใจบทบาทคณะกรรมการมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 8 คน ของพรรคที่ไม่ดำเนินการตามมติพรรค ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า นายชุมพล คงทราบข้อมูลที่คณะกรรมการทั้ง 8 คนไปทำไม่ครบทุกแง่มุมก็ได้ ซึ่งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ มีความเห็นแตกต่างกันมาก ทั้งในพรรคประชาชน หรือสื่อมวลชน แต่เราพยายามให้ทุกคนได้มีโอกาส แสดงความคิดเห็น และให้รับฟังความเห็นคนอื่นด้วย ก็ถือว่าเป็นเรื่องยากเรื่องหนึ่ง
อย่างไรก็ตามคงไม่เรียกทั้ง 8 คนมาคุยเพราะไม่คิดว่าทั้ง 8 คน ได้ทำอะไรผิดต่อมติพรรค สำหรับจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องนี้ก็คือถ้าเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พุ่งเป้าไปที่การช่วยเหลือคนใด หรือกลุ่มใด เราคงไม่เห็นด้วย แต่การแก้ไข ต้องเป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ เอาประโยชน์ของชาติเป็นหลัก
ผมคิดว่าในที่สุดคงหนีไม่พ้นที่จะต้องถามความเห็นของประชาชนทั้งประเทศเป็นประเด็น ๆ ไป และคิดว่าทางออกหนึ่งที่ดีก็คือประเด็นต่างๆ ที่เป็นปัญหาไปถามประชาชน และยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ให้ตรงตามที่ประชาชนให้ความเห็นเอาไว้ อย่างนี้ก็จะแก้ปัญหาได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากนายชุมพล ออกแถลงการณ์ดังกล่าว ปรากฎว่า สร้างความไม่พอใจให้ส.ส.พรรคบางส่วน โดยเฉพาะสายที่ใกล้ชิด นายสุเทพ เทือกสุวรรณ ถึงขนาดเรียกนายชุมพลมาชี้แจงเหตุผลในการออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีแกนนำพรรคประกอบด้วย นายสุเทพ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค นายชำนิ ศักดิ์เศรษฐ์ ส.ส.สัดส่วน ประธานวอร์รูมพรรค นายชินวรณ์ บุญเกียรติ ประธานค วิปรัฐบาล และนายอาคม เอ่งฉ้วน ส.ส.กระบี่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุเทพ ได้ถามถึงเหตุผลที่ออกแถลงการณ์ นายชุมพล ชี้แจงว่า เกิดจากความอึดอัดใจของ ส.ส.บางส่วนในการทำงานของ 8 ส.ส.ที่ไปเป็น กรรมการสมานฉันท์ฯ ที่ไม่รายงานความคืบหน้าให้พรรคทราบ จึงต้องการให้ทำ รายงานทุกอย่างให้สมาชิกได้รับรู้ ไม่ได้มีเจตนาให้เกิดความแตกแยก หรือเกิดรอยร้าวในพรรค แต่ต้องการสะท้อนความเห็นของสมาชิกพรรคในฐานะที่เป็นประธานส.ส. และส.ส.หลายคนไม่เห็นด้วยในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลายมาตราโดยเฉพาะมาตรา 237 และแนวทางนำไปสู่การแก้กฎหมาย นิรโทษกรรมอดีตนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิ์ แต่ดูเหมือน 8 ส.ส.ของพรรค ที่เข้าร่วมเป็น กรรมการฯ กลับไม่แสดงทาที่ในเรื่องนี้อย่างชัดเจน จึงต้องการให้มีการมาหารือและทำความเข้าใจกับสมาชิกพรรคในประเด็นนี้ และที่สำคัญการตัดสินใจอย่างหนึ่ง อย่างได ของ 8 ส.ส.จะต้องเป็นมติพรรคเท่านั้น
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการพูดคุยกันครั้งนี้ นายอาคม ได้แสดงความไม่พอใจ นายชุมพล เป็นอย่างมาก เพราะเห็นว่าการออกแถลงการณ์ดังกล่าว เป็นการตอกย้ำ ความแตกแยกภายในพรรคและทำให้เกิดรอยร้าวมากขึ้น ซึ่งการออกแถลงการณ์ดังกล่าวถือเป็นการทำเกินหน้าที่
ข่าวแจ้งว่า หลังจากรับทราบเหตุผลของนายชุมพลแล้ว นายบัญญัติ รับปากที่จะไปพูดคุยทำความเข้าใจกับ 8 ส.ส.ของพรรค เพื่อทำให้สมาชิกพรรคได้สบายใจ และจะมีการนำประเด็นทั้งหมดมาหารือในพรรคอีกครั้งเพื่อให้สมาชิกได้สอบถาม โดยจะมีการนัดหารือกันอีกครั้งในวันที่ 18 พ.ค.นี้
นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มติคณะอนุกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ให้ตัด วรรค 2 มาตรา 237 โดยยกเลิกการยุบพรรค นั้นในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วยว่าไม่ควรยุบพรรค แต่กรรมการบริหารพรรคทั้งชุดต้องรับผิดชอบหากกรรมการบริหารพรรคทุจริต ส่วนประเด็นเรื่องระบบการเลือกตั้ง พรรคเห็นว่าระบบการเลือกตั้งในปัจจุบันคือเขตเล็กเรียงเบอร์ นั้นมีข้อดีมากกว่าระบบเขตเดียวเบอร์เดียว
นายเทพไท กล่าวว่า สำหรับกรณีนิรโทษกรรมนั้น เป็นที่น่าสังเกตุว่า มีการสร้างกระแสให้นิรโทษกรรมอดีตกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบโดยอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่นกรณีนายศักดิ์ เตชาชาญ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ออกมาระบุว่ามีใบสั่งให้ยุบพรรค ทั้งที่นายศักดิ์ ไม่ได้อยู่ในชุดคดียุบพรรค แต่อยู่ในจุดคดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงเป็นไปได้ว่าการออกมาพูดเรื่องนี้ อาจสร้างให้เห็นความไม่ชอบธรรมจนนำไปสู่การนิรโทษกรรม
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ขณะนี้มีการล็อบบี้จากคณะกรรมการสมานฉันทฯ เพื่อให้ส.ว.สรรหาร่วมสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นต่างๆ ทั้งเรื่องการนิรโทษกรรมคดีการเมือง การแก้ไขมาตรา 237 และการแก้ที่มาของส.ส.และ ส.ว.เพื่อให้กลับมาใช้แบบรัฐธรรมนูญ 2540 โดยแลกกับการที่ส.ว.สรรหาสามารถอยู่ในตำแหน่งได้6 ปี เท่ากับ ส.ว.เลือกตั้ง จากเดิมที่อยู่ได้แค่ 3 ปี โดยอ้างว่า ส.ว.สรรหามีผลงานดี ซึ่งเรื่องดังกล่าว คิดว่า เป็นเรื่องที่ยั่วยวนและมีโอกาสทำให้ ส.ว. สรรหาแกว่งได้ เพราะหลายคน ที่มาจากการสรรหาเหลือเวลาในการทำงานเพียง 2 ปีเท่านั้นและไม่มีหลักประกันว่าหากลงสรรหาใหม่จะได้กลับมาอีก การที่ได้เป็นส.ว.อีก 3 ปี โดยอัตโนมัติอาจทำให้หลายคนหวั่นไหวได้
เรื่องการนิรโทษกรรมถือว่าเป็นประเด็นที่อ่อนไหวและประชาชนอาจจะไม่รับไม่ได้ ดังนั้นเพื่อน ส.ว.ต้องคิดว่าการที่ประเทศชาติต้องขาดนักการเมืองไป 200-300 คน บ้านเมืองจะไม่เจริญจริงหรือไม่ นักการเมืองไทยมีคุณภาพมีความรู้ ความสามารถแบบนั้นเลยหรือ
กำลังโหลดความคิดเห็น