เป็นความรู้สึกช็อกกันไปตามๆ กัน เมื่อเห็นภาพข่าวคนร้ายกราดยิงเข้าไปในมัสยิด “ไอร์ปาแย” ตำบลจวบ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อค่ำวันที่ 8 มิถุนายน ลงมือขณะที่มีคนกำลังทำพิธีละหมาดกันเต็มมัสยิด ทำให้เสียชีวิตถึง11 ศพ บาดเจ็บอีกจำนวนมาก
เสียงกรีดร้อง กลิ่นคาวเลือดคละคลุ้งไปทั่ว!!
เป็นภาพที่สร้างความสะเทือนขวัญ สยดสยอง สะเทือนใจจนบรรยายไม่ถูก ขณะเดียวกัน ในด้านการลงมือของคนร้ายถือว่าอำมหิตโหดเหี้ยมที่สุด
มีเจตนาสร้างสถานการณ์ความรุนแรงเพื่อให้เกิดความรุนแรงตามมา หรือจงใจ “ฆ่าเพื่อให้เกิดการฆ่า”
อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะได้เห็นภาพดังกล่าว ก็ต้องมองย้อนกลับไปพิจารณาสถานการณ์เพื่อเปรียบเทียบก่อนหลังได้ชัดเจนขึ้น ก็ต้องบอกว่าความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากประเมินในภาพรวมแล้ว ในช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมาถือว่าสถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
มีสถิติความรุนแรงแต่ละวันลดน้อยลง
ขณะเดียวกันนับตั้งแต่รัฐบาลที่นำโดย พรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำก็ได้โหมยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา” มาปรับใช้อย่างเข้มข้นมากขึ้น พร้อมทั้งมีการตั้งคณะรัฐมนตรีภาคใต้ เพื่อดูแลปัญหาโดยเฉพาะ มอบหมายให้ สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ด้านความมั่นคง เป็นหัวหน้าทีม แล้วให้ ถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ทำหน้าที่ฝังตัว รวบรวมข้อมูล และปัญหาแล้วนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีชุดใหญ่โดยตรง
สำหรับงบประมาณก็ยังได้ทุ่มเทลงไปจำนวนมหาศาล ซึ่งถ้าฟังจากปากของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ให้ข้อมูลเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ว่ารัฐบาลได้เตรียมงบประมาณสำหรับพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้โดยตรงถึง 6.8 หมื่นล้านบาท
โดยจะมีทั้งการศึกษา สาธารณสุข การเกษตรฯ การคมนาคม สร้างอาชีพ ฯลฯ แทบทุกโครงการจะเน้นให้ชาวบ้านในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม สอดประสานไปกับวัฒนธรรมความเชื่อของท้องถิ่นเป็นหลัก
เน้นการเมืองนำการทหาร
ดูตามรูปการณ์แล้วทุกอย่างก็น่าจะดีขึ้น ความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้านก็มีแนวโน้มในทางบวก หน่วยงานของรัฐเริ่มเข้าไปในพื้นที่สีแดงได้มากขึ้น เรียกได้ว่าเริ่มรุกคืบเข้าไปในวงกว้างเรื่อยๆ
แต่จู่ๆ กลับมีสัญญาณพลิกผันเกิดเหตุร้ายแบบรุนแรงอย่างผิดสังเกต โดยไฟเริ่มโหมรุนแรงขึ้นอีกครั้งตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา นั่นคือในช่วงที่เริ่มเปิดภาคเรียนแล้ว เป้าหมายล่าสุดก็จะมุ่งไปที่ครู และเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นหลัก
ทำให้หลายฝ่ายเริ่มหันกลับมาตั้งข้อสังเกตว่ามันเกิดอะไรขึ้น เพราะเมื่อพิจารณาจากยุทธศาสตร์การแก้ปัญหา ก็ลงความเห็นว่า “มาถูกทาง” แต่ทำไมยังป่วน แถมยังพลิกกลับมาหนักข้อขึ้นเอาในช่วงนี้
อย่างไรก็ดี เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาสถานการณ์อย่างรอบด้านแบบย้อนหลังก็ต้องเข้าใจงบประมาณที่ทุ่มลงไปในพื้นที่แทบทั้งหมด เป็นงบพัฒนา เป็นหน่วยงานด้านพลเรือนเป็นหลัก
ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงก็จะถูกปรับยุทธวิธีกันครั้งใหญ่ หมายความว่า มีแนวโน้มจะใช้หน่วยงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งกำลังปรับเปลี่ยนโครงสร้างและชื่อใหม่ให้เหมาะสม เพื่อเข้าดูแลแก้ปัญหาในพื้นที่แทนฝ่ายทหารที่ถืออาวุธกระจายอยู่เต็มพื้นที่ เป็นภาพที่สร้างความตึงเครียด โดยจะเน้นงานทางด้านจิตวิทยา สร้างความไว้วางใจกับชาวบ้าน
แต่เมื่อพลิกผันกลับหลังหัน มันก็ต้องมาประเมินกันใหม่ว่าเกิดอะไรขึ้น และช่วยไม่ได้ที่มีการโฟกัสลงไปว่า นี่คือแผนการเมืองหวังโค่นรัฐบาลประชาธิปัตย์ เพราะรู้ดีว่า ภาพของพรรคนี้มีฐานเสียงหลักอยู่ที่ภาคใต้ ย่อมรู้ต้นตอ รู้ปัญหาดีอยู่แล้ว ดังนั้นมีทางเดียวที่จะดิสเครดิตให้พัง โดยใช้ชีวิตของชาวบ้านเป็นเดิมพัน บางครั้งก็อาจจำเป็นต้องทำ
และล่าสุดยังเป็นการลงมือหลังจากนายกรัฐมนตรีนำคณะไปเยือนมาเลเซีย ไปขอความร่วมมือแก้ปัญหา ยังไม่ทันนั่งเครื่องบินถึงบ้านด้วยซ้ำไป จงใจ “ตบหน้า” เยาะเย้ยชัดๆ
แม้ว่าจะเป็นข้อสันนิษฐานที่โหด แต่เพื่ออำนาจทางการเมืองก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่หรือ
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าสาเหตุของสถานการณ์ไฟใต้กลับมาคุโชนอีกครั้งจะมาจากอะไรก็ตาม การสร้างสถานการณ์อำมหิตเพื่อโค่นล้มรัฐบาล หรือเป็นการพัฒนารูปแบบของกลุ่มโจรก็ตาม ก็ช่วยไม่ได้ที่ต้องมีผู้รับผิดชอบ
โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงที่คุมด้านนโยบาย ไล่ลงไปตั้งแต่ รองนายกฯสุเทพ เทือกสุบรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งพ่วงตำแหน่งรอง ผอ.รมน. อันมีขอบข่ายกว้างขวาง ทรงอิทธิพล แต่เหตุร้ายที่เกิดขึ้นถี่ยิบในรอบสัปดาห์ ถือว่าล้มเหลว
จะปัดความรับผิดชอบไม่ได้เป็นอันขาด!!