xs
xsm
sm
md
lg

ปรับโฉมปิดบังรถเมล์เน่า ยังไงก็โกงอยู่ดี !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากดูกระแสสังคมในเวลานี้ต้องยอมรับว่าเริ่มมีเสียงต่อต้านโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน ในเวลา 10 ปี วงเงิน 69,788 ล้านบาท ขององค์การจนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) ที่ผลักดันโดย “เพื่อนเนวิน” ในพรรคภูมิใจไทย ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โสภณ ซารัมย์ อย่างสุดลิ่มทิ่มประตูอยู่ในเวลานี้

กระแสต้านเริ่มแรงขึ้นเรื่อยๆ นอกเหนือไปจากการที่ถูกส.ว.กลุ่มใหญ่ผนึกกำลังกับองค์กรเอกชนตั้งป้อมขัดขวางอย่างเต็มที่ถึงกับประกาศว่าจะดำเนินการทุกวิถีทางไม่ให้โครงการอัปยศดังกล่าวผ่านไปได้

นี่ยังไม่นับความเห็นคัดค้านจากคอลัมนิสต์อาวุโสตามสื่อต่างๆและออกมาชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลอย่างต่อเนื่อง

เพื่อให้เห็นภาพและเกิดความเข้าใจก็ต้องทบทวนข้อมูลคร่าวๆอีกครั้งว่า รถเมล์ 4 พันคันที่ ขสมก.จะเช่าจากเอกชนเป็นเวลา 10 ปี นั้นถูกวิจารณ์ว่าไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวงไม่ว่ามองในมุมไหน

เสียงด่าที่ดังกันขรมทั้งในเรื่องของค่าเช่าที่แพงมหาโหดตกคันละ 4,780 บาทต่อวันซึ่งรวมแล้ว 10 ปีก็ตกคันละ 17.44 ล้านบาท และในราคาเช่านั้นยังได้บวกค่าซ่อมถึงวันละ 2,250 บาท ยังไม่นับการลงทุนค่าอู่จอดรถ อีกจิปาถะ คิดเบ็ดเสร็จแล้วเช่าแพงกว่าซื้อขาดหลายเท่าตัว

นั่นหมายความว่าแม้ว่าจะเป็นรถใหม่ป้ายแดง เพิ่งถอยออกมาหมาดๆก็ตามก็ต้องคิดค่าซ่อมตั้งแต่วันแรก พิลึกสิ้นดี ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการเช่าถึง 10 ปี ซึ่งรถสาธารณะส่วนใหญ่แค่ 7-8 ปี ก็หมดสภาพแล้ว

นอกจากนี้ยังมีข้อครหาเรื่องล็อกสเปกที่กำหนดคุณสมบัติให้มีเพียงบริษัทเดียวสามารถเข้าประมูลได้เท่านั้น

ขณะเดียวกันหากสังเกตให้ดีตั้งแต่มีการเสนอโครงการเข้ามายังไม่เคยปรากฏว่ามีผู้บริหารเอกชนเจ้าของรถเมล์ออกมาชี้แจงถึงผลดี หรือเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชนหากมีการอนุมัติโครงการ

ที่ผ่านมามีเพียง โสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และอธิบดีกรมการขนส่งทางบกในฐานะบอร์ดขสมก.เข้ามาร่วมแรงกันผลักดันอย่างแข็งขันมาตลอด

แต่ที่น่าสงสัยก็คือในช่วงเข้าด้ายเข้าเข็มแบบนี้ผู้อำนวยการ ขสมก.พิเณศวร์ พัวพัฒนกุล ดันมาลาป่วยยาวถึง 1 เดือนเต็ม ซึ่งได้ยื่นใบลาต่อบอร์ดบริหารมาตั้งแต่กลางเดือนที่แล้ว(พฤษภาคม)

ความเคลื่อนไหวของ ผอ.ขสมก.ดังกล่าวย่อมมีสิทธิ์มองได้ว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับการเสนอโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคันด้วยก็ได้ เพราะในฐานะที่เป็นผู้บริหารองค์กรก็ต้องมีหน้าที่ชี้แจงต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีโดยตรงอีกแรง

และที่สำคัญหากเกิดความผิดพลาดขึ้นมาในอนาคตก็ต้องรับผิดชอบไปเต็มๆ มีสิทธิ์ถูกดำเนินคดีอาญา พูดง่ายๆมีสิทธิ์ติดคุกนั่นแหละ

บทเรียนก็มีให้เห็นเป็นตัวอย่างทั้งในกรณีของ ศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร และล่าสุดหมาดๆ ก็คือ ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ที่ถูกไล่ออกจากราชการ และงดบำนาญ จากผลงานโบว์ดำแต่งตั้งรองอธิบดีกรมสรรพากร โดยมิชอบ

เสียประวัติการรับราชการอย่างน่าอัปยศอดสูที่สุด

แต่กรณีของ ผอ.ขสมก.หากมีการตรวจสอบพบความผิดภายหลังอาจโยงใยไปถึงเรื่องการทุจริตอีกด้วย จึงอาจต้อง “ชิ่ง” เพื่อเอาตัวรอดไว้ก่อนก็เป็นได้

อย่างไรก็ดีแม้ว่า จะมีเสียงด่ากันขรม แต่แทนที่จะถอยหรือยกเลิกโครงการ แต่ตรงกันข้าม ล่าสุดหากฟังจากคำพูดของ ชวรัตน์ ชาญวีระกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย หรือ บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ยังยืนยันท่าทีว่าจะผลักดันให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติในวันพุธที่ 3 มิถุนายนนี้

สอดคล้องกับ โสภณ ซารัมย์ ที่ยังสำทับอีกว่าจะไม่ยอมลดราคาลงมาอีกแม้แต่บาทเดียว โดยอ้างว่าได้ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว

ทำเหมือนกับว่าตัวเองเป็น “นายหน้า” บริษัทเอกชนไม่มีผิด เพราะทำหน้าที่เสนอโครงการ ต่อรองราคา ทำนอง “ชงเอง-กินเอง” เสร็จสรรพ

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าพิจารณายิ่งไปกว่านั้นก็คือมีความเคลื่อนไหว “วูบวาบ” ในเงามืดของ สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ในฐานะ “ผู้จัดการรัฐบาล” ลงมาจับเข่ากับ “ก๊วนเนวิน” ขอให้ปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางอย่างเสียใหม่ เพื่อไม่ให้ “น่าเกลียด” เกินไปนัก โดยเฉพาะเป้าหมายเพื่อลดแรงต่อต้านลงมาในระดับหนึ่ง อย่างน้อยในกลุ่มผู้ประกอบรถยนต์ที่อ้างว่าจะใช้การประกอบภายในถึง 70 เปอร์เซ็นต์ อ้างว่ามีการจ้างงานเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี ความเคลื่อนไหวดังกล่าวที่เกิดขึ้น หากฉายภาพให้เข้าใจง่ายก็แค่ “สับขาหลอก” ให้สังคมอยู่ในอาการงงงวยชั่วครู่ เป็นการพยายามหลอกต้มให้เห็นว่ามีการปรับเปลี่ยนแก้ไขลงมาจนน่ายอมรับกันได้ ให้ออกมาดูดีมากขึ้นเท่านั้น แต่หากตั้งสติพิจารณาจะพบว่าเป็นการเกี๊ยเซียะของนักการเมือง ยังรวมหัวกันหาประโยชน์เช่นเดิม

ลักษณะเปลี่ยนแค่ท่วงทำนอง แต่ไม่ได้เปลี่ยนเนื้อร้อง

อย่าหลงประเด็นเป็นอันขาด !!

ดังนั้นก็ต้องจับตามองว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่มี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯนั่งเป็นประธานอยู่หัวโต๊ะจะยอมให้ผ่านหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาก็มีแต่เสียงทักท้วง วิพากษ์วิจารณ์กันต่างๆนานา

หากรัฐบาลยอมค้อมหัวให้กับ “กลุ่มการเมือง” ที่ส่อเจตนามิชอบ ก็เท่ากับว่ากฎเกณฑ์ต่างๆที่นายกรัฐมนตรีเคยกำหนดเอาไว้เพื่อป้องกันการทุจริต เท่ากับไม่มีความหมาย

หรือเป็นแค่ถ้อยคำสวยหรูเพื่อสร้างภาพทางการเมืองเท่านั้น

ซึ่งก็ต้องรอดูกันว่าจะ“ไฟเขียว” ให้โครงการอัปยศนี้ผ่านไปหรือไม่ เพราะถือว่าเป็นการท้าทายกระแสต้านจากสังคม ที่เริ่มขึ้นสู่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ

แต่ถ้ารัฐบาลชุดนี้อยากพังกับรถเมล์เน่าๆ ก็เชิญ !!

กำลังโหลดความคิดเห็น