ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งสถานเบาแค่ตักเตือน “พัชรวาท-บก.มติชน” ละเมิดอำนาจศาล เนื่องจากเห็นใจจากเหตุการณ์บ้านเมืองที่อยู่ในช่วงวิกฤต ชี้อาจทำให้ขาดความรอบคอบ จึงอ้างคำสั่งศาลปกครองที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง
วันนี้ (19 พ.ค.) ที่ศาลปกครองสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อเวลา 15.00 น. นายวิชัย ชื่นชมพูนุท ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ได้อ่านคำสั่งศาลปกครอง กรณีนายสุวพงษ์ จั่นฝังเพ็ชร บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์มติชน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-2 สืบเนื่องจาก นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 21 เม.ย.52 หน้า 2 ตีพิมพ์บทความ “คำแถลง สนง.ตร.แจงเหตุคดีเหลือง-แดง” ทำนองว่า “ดีสเตชั่นถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนเอเอสทีวีมีข้อจำกัดไม่สามารถจับกุมดำเนินคดีได้ เนื่องจากได้รับความคุ้มครองตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด”
โดยศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า หลังจากที่ได้เรียกทั้ง 2 มาชี้แจงต่อศาลแล้วเห็นว่า สำหนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.พัชรวาท และพวกได้ให้มีการจัดแถลงข่าวในทำนองเดียวกันกับบทความในหนังสือพิมพ์ที่ปรากฏ ซึ่งมีผลให้ทั้งสองเผยแพร่บทความที่คลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริงและกระทบต่อองค์กรศาลปกครองในภาพรวม การกล่าวอ้าวถึงคำสั่งศาลปกครองสูงสุดผิดจากความเป็นจริง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อศาลปกครองสูงสุด แม้ทั้ง 2 จะแถลงต่อศาลว่าไม่มีเจตนาจะกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลปกครอง และกล่าวอ้างว่าไม่ทราบถึงรายละเอียดคำสั่งของศาลปกครอง แต่การกล่าวอ้างนั้นมีผลผูกพัน พล.ต.อ.พัชรวาท และพวก จนไม่อาจจับกุมดำเนินคดีและตัดสัญญาเอเอสทีวี ซึ่งขัดแย้งกับความเป็นจริง และความถูกต้อง ตามมาตรา 71 แห่ง พ.ร.บ.การจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ดังนั้นจะกล่าวอ้างว่าไม่ทราบ เพียงเพื่อให้พ้นจากความรับผิดไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 64 ในฐานะผู้กล่าวอ้างข้อความที่ขัดต่อความเป็นจริงและไม่ถูกต้องตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด จึงต้องรับผิดตามผลการกล่าวอ้าง ประกอบกับการจัดให้มีการแถลงข่าว อันสืบเนื่องมาจากนายกรัฐมนตรี มีบัญชาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินคดีระหว่างกลุ่มเสื้อเหลืองกับกลุ่มเสื้อแดงให้มีมาตรฐานในการดำเนินการไม่แตกต่างกัน
จึงได้กล่าวอ้างคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้รัฐบาลพ้นข้อกล่าวหาว่าดำเนินการกับกลุ่มบุคคลสองมาตรฐานเป็นการส่อแสดงว่าประสงค์กล่าวอ้างเพื่อให้เกิดความชอบของการปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริงและความถูกต้องก่อให้เกิดความเสียหายแก่ศาลปกครองสูงสุด ย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นการวิจารณ์หรือการกล่าวอ้างคำสั่งศาลปกครองสูงสุดด้วยวิธีการทางวิชาการ จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม ม.65 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2552 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 จึงไม่พ้นจากการมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล หรือดูหมิ่นศาลหรือตุลาการ ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ในฐานะ บก.ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา หนังสือพิมพ์รายวันฉบับที่ลงข่าวต้องรับผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเช่นเดียวกับ พล.ต.อ.พัชรวาท ตาม ป.วิธีพิจารณาความแพ่ง ม.32 แต่เมื่อได้คำนึงถึงเหตุวิกฤตวุ่นวายในบ้านเมือง และผบ.ตร. มีภาระหน้าที่รับผิดชอบต่อปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้น ย่อมทำให้ขาดความรอบรอบไปบ้าง การกระทำของผู้ถูกกกล่าวหาทั้งสองจึงสมควรได้รับความเห็นอกเห็นใจและสมควรปฏิบัติต่อผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองด้วยความเห็นอกเห็นใจ เพื่อมิให้เป็นการบั่นทอนกำลังใจต่อการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นภาระที่หนักยิ่งต่อไป
ดังนั้น การกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองจึงสมควรได้รับการลงโทษเพียงสถานเบา เพียงแต่ให้ลงโทษตักเตือน ต่อไปไม่ควรกล่าวอ้างคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือบุคคลอื่นโดยไม่ตรงกับความเห็นจริง โดยเฉพาะการโฆษณาเผยแพร่คำกล่าวอ้างและให้ถือคำสั่งฉบับนี้เป็นการตักเตือนผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองแล้ว ไม่จำต้องมีคำตำหนิเป็นลายลักษณ์อักษรอีก จึงมีคำสั่งว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ม.64-65 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2552 ประกับ ม.32 ป.วิธีพิจารณาความแพ่ง ให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองด้วยการตักเตือน และให้ถือคำสั่งฉบับนี้เป็นการตักเตือนผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองจึงมีคำสั่งว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ม.64-65 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2552 ประกอบ ม.32 ป.วิธีพิจารณาความแพ่ง ให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองด้วยการตักเตือน และให้ถือคำสั่งนี้เป็นการตักเตือนผู้ถูกกกล่าวหาทั้งสอง